เสวนามาตรฐานผ้าย้อมครามสกลนคร:สะท้อนความคิดคนทำผ้าครามแห่งสกลนคร


ครามนั้นเป็น “ตัวนำ” ให้คนพัฒนาตนเองให้มีความสุข เป็นมาตรฐานของคนย้อมคราม ผ้าย้อมครามจะดีมีคุณภาพ อยู่ที่ “คน”

การเสวนามาตรฐานผ้าย้อมครามสกลนคร วันนี้เป็นมุมมองของคนสกลนครเอง ทั้งผู้ที่เป็นคนใช้ผ้า และ คนทำผ้าย้อมคราม

·        คุณประสาท ตงศิริ อดีตประธานหอการค้าจังหวัดสกลนคร ปัจจุบันมีธุรกิจส่วนตัวด้านจักรยานยนต์ เป็นผู้ที่หลงใหล ชื่นชอบผ้าย้อมคราม เรียกได้ว่าเป็นแฟนผ้าย้อมครามของทั้งทางลาวและไทย คุณประสาทเล่าว่าได้ซื้อผ้าย้อมครามเป็นเงินหลายแสนบาททีเดียว เสื้อตัวที่สวมใส่มางานนั้นซื้อจากยี่ห้อ “ละหา” ซึ่งเป็นแบบสากล เรียบง่าย เป็นผ้าฝ้ายครามและสีธรรมชาติชนิดอื่นผสมผสานกัน เสื้อตัวนี้ในราคาตลาดยุโรปหมื่นกว่าบาท แต่คุณประสาทซื้อนอกตลาดยุโรป(คือซื้อจากเมืองลาว)ราคาสองพันกว่าบาท ใช้มานานแล้ว

คุณประสาท ตงศิริ คือคนยืนตรงกลาง (ซ้ายสุดจำชื่อไม่ได้ เธอเป็นคนทำสื่ออิสระ ถัดมาคือ คุณจิ๋ว(คนสวมเสื้อขาว)

อีกข้างที่ยืนติดคุณประสาทคือ คุณสงบัณฑิต ยศมั่นคง ถัดไปคือ อ.อนุรัตน์ สายทอง)

·        คุณประสาทเล่าว่าที่ชอบผ้าย้อมครามอาจด้วยตนเองมีเชื้อสายภูไท เป็นคนบ้านหนองสาด เห็นผ้าย้อมครามมาแต่เด็กๆ คนในหมู่บ้านแทบทุกคนมือดำเพราะย้อมคราม คุณประสาทย้ำว่าคุณค่าในเรื่องจิตใจ จริยธรรมในการผลิต การมีศรัทธา เชื่อมั่นที่จะรักษาความดีและภูมิปัญญานั้นสำคัญมาก

·        คุณประสาทสนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับผ้าย้อมครามของทั่วโลก และเชื่อมั่นว่าความต้องการของตลาดนั้นมีมหาศาล เราสามารถสร้างเทรนด์การใช้ผ้าคราม สร้างให้ผ้าครามเกิดมูลค่าได้ เราจึงต้องปลูกฝังให้คนรุ่นลูก รุ่นหลานให้มาสนใจทำผ้าย้อมคราม สืบทอด ต่อยอดสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้แล้วได้ ดังนั้นเรื่องของการจะต่อยอดได้ ภูมิปัญญาที่มีอยู่จะต้องแน่นเป็นฐานที่มั่นคง

 

อาจารย์อนุรัตน์พยายามให้ผู้มาร่วมเสวนาทุกคนได้ถามปัญหาและแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ เพื่อไปสู่การทำความเข้าใจระหว่างกันว่าผู้ทำผ้าย้อมครามจะสร้างมาตรฐานผ้าย้อมครามสกลนครได้อย่างไร

·        คุณจิ๋ว (ผ้าย้อมครามแม่ฑีตา) ถามคุณสงบัณฑิตว่า การออกแบบนั้นทางบริษัท(บริษัทชื่อ “ทงละหาสิน” ผลิตภัณฑ์ติดป้ายเครื่องหมายการค้าว่า “ละหา”) ทำอย่างไร คุณสงบัณฑิตตอบว่า ต้องถามตัวเองก่อนว่า “จะขายให้ใคร” แล้วทำการศึกษาข้อมูลลูกค้าว่ามีบริบทอย่างไร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ชอบ/ไม่ชอบอะไร รู้จักวัฒนธรรมของลูกค้า

·        แม่คำพูน บอกว่าคนไทยเรายังไม่ไปถึงการสร้างรหัสกำกับอย่างที่ทางลาวทำ แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละหมู่บ้านที่ทำผ้าย้อมครามก็ทำแตกต่างกันไป (แบบสูตรใครก็สูตรใคร) และทำแตกต่างกันไปในแต่ละที เรียกว่าทำไปเรียนรู้ไป ทำเพื่อเรียนรู้ พยายามอนุรักษ์ภูมิปัญญากระบวนการทำ และ ทดลองวิธีการไปเรื่อยๆ

แม่คำพูน ใส่เสื้อทอเอง ย้อมเอง

·        ผู้เขียนเองได้สะท้อนความเห็นไปว่า ความที่เป็นคนรักผ้าย้อมคราม ใช้ผ้าย้อมครามด้วยความสุขใจเพราะนึกถึงความดีของคนทำผ้า(ทำผ้าย้อมครามคุณภาพนั้นต้องมีทั้งความอดทน มีจริยธรรม ไม่โลภ มีสมาธิ-สติ ตลอดกระบวนการทำ เหมือนการปฏิบัติธรรมเลยค่ะ) และผ้าก็สวยงาม ภูมิใจที่ได้มีโอกาสใช้ผ้าย้อมคราม ในฐานะนักวิชาการจึงชี้ถึงคุณค่าของการทดลองทำไป เรียนรู้ไป แต่อยากให้เพิ่มความสำคัญของการจดบันทึก การรวมกลุ่ม รวมพลัง การสร้างระบบ เพื่อให้สามารถอ้างถึงและจดจำได้ อีกทั้งยังเป็นหลักฐานให้ความรู้ไม่สูญหาย สามารถถ่ายทอดความรู้แก่คนรุ่นต่อไปได้ง่าย ซึ่งต้องมีผู้นำทางให้ชาวบ้านทำได้ (มีคุณอำนวย?)

·        สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นแล้วประหลาดใจมาก คือ ชาวบ้านคนหนึ่ง (จำไม่ได้ว่าเป็นแม่คำพูนหรือเปล่า) นำชุดวัดความเป็นกรด-ด่างของน้ำย้อม เป็นลักษณะแถบกระดาษเป็นชิ้นๆ มาถามในที่ประชุมว่าใช้อย่างไร ได้รับแจกมาจากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปส่งเสริมสิ่งทอให้ชาวบ้านทำเป็นอุตสาหกรรม แต่ชาวบ้านใช้ไม่เป็น สิ่งนี้คงไม่ต้องการขยายความว่า การพัฒนาโดยหน่วยงานของรัฐนั้นทำงานแบบไหนเมื่อทำงานกับชาวบ้าน/ชุมชน

·        ภาคบ่าย มีการนิมนต์ท่านอาจารย์พระสุริยา มหาปัญโญ แห่งวัดป่าโสมพนัส มาให้สติและข้อคิดว่า ผ้าย้อมครามสกลนครควรเป็นอย่างไร ชั่วโมงกว่าๆที่ท่านแสดงธรรม ได้ทั้งปัญญาและเสียงหัวเราะ ไม่น่าเบื่อเลย (ผู้เขียนได้ปฏิบัติธรรม เจริญสติ เป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อหลายปีมาแล้ว โดยมีท่านเป็นวิปัสสนาจารย์) ท่านยกฝันสิบหกประการของพระเจ้าปเสนธิโกศลมาแจกแจง(ใครห้ามถามเพราะผู้เขียนเป็นพวกจำเรื่องอย่างนี้ไม่ค่อยได้ค่ะ) แปลความให้พวกเราเข้าใจในประเด็นเหล่านี้

·        ท่านให้ข้อคิดว่า คุณภาพคน จะเป็นคุณภาพของผ้าคราม ขอให้ชาวบ้านอย่าหลงความรวย ท่านเป็นพระไม่เคยย้อมผ้า ย้อมแต่คน

·        คนโลภจะไปเร่งรัดธรรมชาติ ต้องรู้เหตุ-ปัจจัยในการทำทุกอย่าง พัฒนาตนเองไม่ให้เป็นทุกข์ ด้วยการเข้าถึงธรรมะ ควรไปปฏิบัติธรรมกันบ้าง (ท่านชวนชาวบ้านที่มาให้ไปวัดปฏิบัติธรรมกับท่าน ท่านจะให้เงินวันละสองร้อยบาท ทดแทนการขาดรายได้)

·        การทำงานต้องรู้จักประมาณตนเอง มีสติ เมื่อคิดทำเพื่อขาย ต้องรอบคอบ อย่าทุกข์กับส่วนเกินที่ผลิตเพื่อขาย ใจต้องเข้มแข็งกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ต้องฝึกใจ

·        โครงการดี อุดมการณ์ดี อย่าให้อวิชชาเข้ามาครอบงำให้เกิดทุกข์ ท่านเป็นห่วงว่าพอมีเรื่องของผลประโยชน์ ความรวย แล้วจะทำให้คนลืมตัว ความรู้ที่เพิ่มขึ้นนั้นมักไม่ทันกับกิเลส

 

ผ้าจากบ้านดอนกอย ซึ่งมีชื่อเสียงในการทำสีผ้าได้สวยมาก

สรุปความเห็นของชาวบ้านหลายๆคน กล่าวว่า

·        เรื่องการทำผ้าให้ถูกใจผู้ใช้ ยังไม่แน่ใจว่าทำอย่างไร แต่จะขอทำดีไว้ก่อน โดยทำให้ดีที่สุด เต็มความสามารถของตนเอง ไม่หลอกลูกค้า และพยายามทำให้ผ้ามีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าซึ่งมีต่างๆหลากหลาย เช่น บางคนชอบสีอ่อน บางคนชอบสีเข้ม

·        ครามนั้นเป็น “ตัวนำ” ให้คนพัฒนาตนเองให้มีความสุข เป็นมาตรฐานของคนย้อมคราม ผ้าย้อมครามจะดีมีคุณภาพ อยู่ที่ “คน”

·        ผ้าย้อมครามของสกลนคร อยากให้เป็นเส้นใยธรรมชาติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นครามแท้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กระบวนการย้อมอยากให้คงเดิมแบบอย่างภูมิปัญญา

·        ขณะนี้มีบางหมู่บ้านสามารถสร้างสัญลักษณ์ของผลงานกลุ่มได้ เช่น บ้านถ้ำเต่า จะทอแถบสีริมผ้าเป็นสีเขียว-เหลือง หรือกลุ่มแม่ฑีตา ก็มีป้ายเย็บติดผลิตภัณฑ์

โดยส่วนตัวของผู้เขียนรู้สึกดีใจที่การเสวนา “มาตรฐาน”ผ้าย้อมครามสกลนคร เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และค้นพบตนเอง(ของผู้ทำผ้าย้อมคราม)ในบางมุม จากการได้เปรียบเทียบวิธีคิด วิธีทำ วิธีดำเนินการกับสิ่งที่ คุณสงบัณฑิต ยศมั่นคง แห่ง “บริษัททงละหาสิน” สะหวันนะเขต ประเทศลาวได้มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์กับพี่น้องไทย รู้สึกโล่งอกที่การเสวนาไม่ใช่การพยายามมาสร้างมาตรฐานผ้าไทย แบบมีเกณฑ์ มีตัวชี้วัดอย่างสมัยใหม่ ที่หน่วยงานของรัฐมักทำกัน โดย คิดถึงแค่คุณภาพผ้า และมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ไม่เข้าใจชีวิตและบริบทของผู้ทำผ้า

************

หมายเหตุใครสนใจเรื่องวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงและรายการ Spirit of Asia ตอนเกี่ยวกับบริษัททงละหาสิน ขอเชิญไปหาความรู้และชมภาพสวยๆที่บล็อกของ ศาสตราจารย์ ดร.อรรถ นันทจักร์

 http://phupan.multiply.com/photos/album/21

หมายเลขบันทึก: 201221เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2008 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีค่ะ อ. พี่นุช

  • ขอบคุณมากเลยค่ะ
  • จะติดตามบล็อกที่อาจารย์แนะนำ
  • สกลนครอยู่ไกลจัง เห็นผ้าแล้วชวนน้ำลายไหล พรุ่งนี้ไปดูที่บ้านนาข่า ท่าจะดี
  • ป้าแดงรู้อย่างเดียวว่าชอบค่ะ แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปเลยว่าเริ่มต้นอย่างไร คงต้องอาศัยล็อกของพี่นุชติดตาม
  • ----
  • ธรรมะสอนใจ ดีจังค่ะ

บ้านนาข่า ก็มีลูกศิษย์แม่ฑีตา เธอก็ทำผ้าครามได้สวยค่ะ แต่เนื้อผ้าจะไม่นิ่มเท่าของป้าฑีตาค่ะ

 

สวัสดีครับพี่นุส คนไทยถ้าไม่ใส่ผ้าไทยแล้วใครจะใส่ว่ามั้ยครับพี่นุส

สวัสดีค่ะพี่นุช

มายกมือร่วมสนับสนุนการสร้างมาตรฐานให้ผ้าครามของไทยเลื่องลือไปไกล ดูรูป..ผ้าดอนกอยสีสันสวยงามจริงๆค่ะ

พี่นุชคะ คนไหนคุณจิ๋ว (ใช่คนเสื้อขาวหรือเปล่าคะ จำไม่ได้แล้วค่ะ..ขออภัย) และคุณสงบัณฑิตคะ

คุณแดงP  pa_daeng [มณีแดง คนสวย แซ่เฮ] ไปนาข่าได้ผ้าครามแล้วเอามาโชว์กันบ้างนะคะ พี่ไม่ได้ไปมานานนับสิบปีแล้วค่ะ ตอนไปเห็นผ้าเยอะแยะตาลายไปหมด

วันนี้งานเมดอินไทยแลนด์ ที่เมืองทองเป็นวันสุดท้าย พี่ได้ไปเดินสองครั้ง ก้ไปได้ผ้าครามของจิ๋วมาอีกค่ะ ผืนหนึ่งเขาทอเป็นพับ ใช้ตัดอะไรก็ได้ แต่พี่ซื้อทำผ้านุ่ง เป็นผ้าย้อมครามผสมมะเกลือมีลายในตัว และเชิงเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ผ้านิ่ม มีน้ำหนักดีมาก อีกผืนเป็นผ้าครามทอลายโบราณ สงสัยอีกหน่อยคงนุ่งแต่ผ้าคราม และผ้าสีธรรมชาติพวกเอิร์ธโทนค่ะ

ถ้าคุณแดงได้รู้เรื่องราวของผ้าจะใช้ด้วยความรัก และซื้อด้วยความเคารพ ทำให้รู้สึกดี มีความสุข กว่าการใช้ผ้าไทยแค่เห็นสวยนะคะ เชียร์เต็มที่ให้คนน่ารักอย่างคุณแดงมาใช้ผ้าไทย ใครๆจะได้มาใช้ตาม

ท่านอาจารย์สอนดีมากค่ะ พี่เก็บความได้ไม่เท่าไหร่ ท่านใช้ภาษาอีสาน ชาวบ้านหัวเราะกันใหญ่ที่ท่านจี้ใจตรงจุดค่ะ

ค่ะคุณแก้วP  แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช ผ้าแม่ฑีตานั้นทั้งสวยทั้งนิ่ม ใส่สบาย เป็นสิ่งที่คนทำผ้าครามส่วนใหญ่ที่แม้ทำได้สวย แต่ก็ยังไม่ได้ผ้าที่นิ่มเท่า

พี่เคยไปเจอคนรู้จักซื้อผ้าครามมาขาย โดยซื้อมาจากคนย้อมที่เคยอยู่ในกลุ่มแม่ฑีตาซึ่งแยกไปทำเอง ทำได้ดี นิ่มสวย และราคาถูกกว่ามาก แบบตัดราคา (เขาทำพวกผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ไม่ได้ทำผ้าทอเป็นพับๆ) แต่พี่ไม่เกิดความรู้สึกอยากซื้อเลยค่ะ กลับรู้สึกสงสารงานหัตถกรรมไทย ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ตกเข้ามาอยู่ในกระแสทุนนิยม และคิดเรื่องเงิน เงิน เงิน

คุณP กวิน พูดถูกที่สุดเลยค่ะ คนไทยถ้าไม่ใส่ผ้าไทยแล้วใครจะใส่  เป็นเรื่องแปลกที่เรามักเห็นคนต่างชาติมาปลื้มผ้าไทย ผ้าลาว และผ้าทางเอเชีย(ผ้าอินโดเนเชียก็สวยมากๆนะคะ) ใช้ทั้งแต่งตัว แต่งบ้าน 

มีคนรู้จักบอกว่ามีคนอเมริกันมาทำการวิจัยผ้าย้อมครามอยู่ที่เชียงใหม่ ทำเป็นเรื่องเป็นราว วันหลังไปเชียงใหม่จะไปเสาะหาซักหน่อยว่าเขาทำอะไร

สวัสดีค่ะ พี่นุช

ตามมาดูผ้าย้อมคราม สวยดีนะคะ ท่าทาง จะใส่สบาย

พี่ขอโทษค่ะคุณอุ๊P a l i n_x a n a =) ที่ไม่ได้ใส่ชื่อคนในภาพให้ครบในบันทึกนี้ เดี๋ยวจะไปใส่ให้ครบ คนไทยคนลาวหน้าตาไม่ต่างกันดูไม่ออกนะคะ

พี่คิดว่าหากชาวบ้านมีมาตรฐานในใจของตนเช่นนี้ ผ้าครามของสกลนครจะงดงาม มีชื่อเสียงขจรไกล และ ยั่งยืนนะคะ ดังที่ผศ.อนุรัตน์ท่านว่า มาตรฐานคน เป็นตัวกำหนดมาตรฐานผ้า

แต่จะขอทำดีไว้ก่อน โดยทำให้ดีที่สุด เต็มความสามารถของตนเอง ไม่หลอกลูกค้า

 

สวัสดีค่ะคุณP หน่อย อภิญญา ขอบคุณค่ะที่ใช้เวลาพักผ่อนวันหยุดมาแวะชมเรื่องราว และความงามผ้าย้อมครามด้วยกัน

หากได้ศึกษาเรื่องราวของผ้าย้อมครามแล้วจะทึ่งนะคะ เพราะไม่ใช่แค่สวย รู้แล้วจะอยากใช้ จะคิดว่ามีของดีขนาดนี้ ไม่ใช้ได้อย่างไร

ผ้าย้อมครามมักเป็นผ้าฝ้ายค่ะ ต้องเลือกที่เขาทอไม่หนา และทำเส้นฝ้ายได้นุ่ม เพราะไม่เช่นนั้นก็จะร้อนและผ้าแข็ง ต้องใช้ไปนานๆผ้าจึงจะค่อยๆนิ่มขึ้นค่ะ

สวัสดีค่ะ

อรเป็นดีไซเนอร์ เคยซื้อผ้าครามมาตัดเมื่อประมาณ 2 ปีได้แล้ว ตอนนี้สนใจอยากส่งผ้าไปย้อมไม่ทราบว่าติดต่อที่ไหนได้คะ?

http://painkillerbkk.wordpress.com/2007/08/21/with-love-from-my-french-lover-ss08/

รูปที่ 11 jacket ผ้าครามค่ะ

ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

อร

สวัสดีค่ะคุณอร ดีใจจังที่คนหนุ่มสาวสนใจผ้าคราม สีครามจากธรรมชาติมาใช้กับเสื้อผ้าแฟชั่นสมัยใหม่ เรื่องส่งผ้าไปย้อม น่าจะคุยกับคุณจิ๋ว-ประไพพันธ์ ได้ คุณกรุณาเขียนถึงพี่ทางอีเมล์ได้มั้ยคะ (ไปคลิกที่ อีเมล์ติดต่อ) พี่จะบอกเบอร์โทรศัพท์ของจิ๋วให้ค่ะ

ยุวนุช

อดิศร จันทร์เพ็งเพ็ญ

คิดถึง คุณย่า จัง

ดีใจที่ลูกหลานคุณยายฑีตามาอ่านพบเรื่องนี้ค่ะ

หนูเห็นที่ www.thaiindigo.com ก็ขายผ้าย้อมคราม

เห็นแบบเค้าสวยดี

เป็นที่เดียวกับแม่ฑีตารึเปล่าค่ะ

คิดว่าเป็นที่เดียวกันครับ

ดูจากคุณภาพเนื้อผ้าแล้วที่ www.thaiindigo.com

ดีเหมือนกันกับของแม่ฑีตา

ผมเคยซื้อมาแล้วทั้งคู่

ดิฉันก็เพิ่งซื้อจาก www.thaiindigo.com

เหมือนกันค่ะ ซื้อไป15ผืน เป็นของชําร่วยให้ลูกค้า

ลูกค้าชอบมากเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท