ไปดู KM โรงเรียนผัก ที่ปทุมธานี (ตอนจบ)


การดำเนินงานของกลุ่มที่ทำอย่างมีเพื่อน มีพี่เลี้ยงเป็นปัจจัยสำคัญที่ให้กลุ่มสามารถมีความคึกคัก ของการทดลองและเรียนรู้ จนเกิดความรู้ใหม่ ได้องค์ความรู้ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นการเฉพาะของแต่ละคน ซึ่งปลูกพืชต่างกัน เพราะบ้างทำสวน บ้างทำถั่ว บ้างปลูกข้าวโพด เป็นต้น แต่ความรู้ร่วมที่พวกเขาได้คือเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และเห็นว่าเป็นทางเลือกทางรอดของเกษตรกรในพื้นที่ที่เคยเสื่อมสภาพมาก่อนอย่างนี้ องค์ความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน การฟื้นสภาพดินจึงเป็นองค์ความรู้หลักที่พวกเขานำมาใช้อย่างเข้มข้น ผ่านการทดลองร่วมกันในแปลงทดลองซึ่งเป็นของทุกคน (แปลงทดลองนี้เช่าจากที่ดินของวัดซึ่งก็สนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่ม และในเร็ว ๆ นี้จะขยายแปลงทดลองออกไปในพื้นที่ใหม่ซึ่งวัดจัดสรรให้เช่าในราคาถูกจำนวน 40 ไร่ ) 
การเรียนรู้ร่วมกันทำให้เกิดความเข้มแข็งของกลุ่ม มีความถือและเชื่อมั่นในความรู้ที่ได้และ
พร้อมปฎิบัติเพื่อให้เห็นผลทั้งในแปลงทดลองและส่วนตัว จากนั้นนำผลมาคุยกันเมื่อมาทำกิจกรรมกลุ่มทุกวันศุกร์  เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันริมคันคลอง ริมแปลงผัก และในเวทีประชุมร่วมกัน  ซึ่งจะเห็นว่าการเรียนรู้ของกลุ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ  แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้การทำกิจกรรมกลุ่มแต่ละครั้งมีสมาชิกมาร่วมอย่างเหนียวแน่นและจำนวนมากขึ้นก็คือ แกนนำกลุ่ม ที่มีความคิดก้าวหน้า ทุกครั้งจะมีการเสนอความคิดในเรื่องต่าง ๆ ที่จะทำให้กลุ่มพัฒนาและอยู่ได้แบบที่เรียกว่า ทุกคนอยู่รอดได้รับผลประโยชน์เหมือน ๆ กัน
เช่น การเสนอเรื่องการสร้างตลาด ก็มีการไปสำรวจแหล่งรับซื้อซึ่งก็มีช่องทางจำหน่ายอยู่หลายแหล่งทั้งที่ตลาด ม.ธรรมชาติ  ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท และตลาดในชุมชนเองแล้ว ยังมีเป้าหมายทำผักอินทรีย์ส่งออกซึ่งในที่สุดพวกเขาก็ทำได้ และเป็นการทำในลักษณะของการรวมกลุ่ม อย่างไรก็ตามพวกเขาบอกว่าตลาดหลักที่มั่นคงก็ยังคงเป็นตลาดภายในซึ่งยังมีความต้องการอีกมาก   
นอกจากนี้ยังมีการช่วยคิดกันว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้กลุ่มเป็นตัวอย่างของการทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจรให้ได้     ไม่ใช่แค่คิดแต่ยังมีการเสนอขอรับความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งก็ได้รับการตอบสนองพอสมควร และพวกเขาก็พยายามทำให้เกิดผลที่จะขยายต่อไปยังที่อื่นได้  
ปัญหา/ความต้องการของเขาตอนนี้ คือ ทำอย่างไรจะสามารถนำต้นข้าวโพดที่หักฟักแล้วไปแปรรูปเป็นปุ๋ยในดินหรือเพิ่มมูลค่า ไม่ต้องปล่อยทิ้งเปล่าเป็นอาหารสัตว์   และอีกความต้องการคือ ต้องการทุนสนับสนุนเป็นกองกลางสำหรับกลุ่มในการมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ค่าน้ำ ค่าอาหาร หรืออาจจะพาสมาชิกไปดูงานที่อื่นได้บ้าง เพราะตอนนี้ผู้รับภาระค่าใช้จ่ายคือ ผู้ใหญ่เทียมที่นำเงินเดือนมาเป็นค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของโรงเรียนเกษตรกรแห่งนี้ คือ การมีผู้นำ มีแกนนำที่ดี เป็นนักพัฒนาที่น่าจะเรียกได้ว่า เป็นการนำ “การจัดการความรู้” มาเป็นกลยุทธ์ในการสร้างกลุ่มอย่างไม่รู้ตัว เพราะไม่หักด้ามพร้าด้วยเขา ไม่ขัดแย้งกับคนอื่น แต่ทำให้ดู  สร้างวิธีการดึงดูดคนเข้ามาร่วมด้วย “ใจ” ก่อน และใช้การทดลอง(แปลงทดลอง)กระตุ้นให้คนได้แสดงความรู้ ความคิดออกมา จนเกิดการยอมรับกันในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการเกษตรที่ทำ  อีกทั้งยังเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อหาปัจจัยสนับสนุนกิจกรรมกลุ่มให้ดำเนินการต่อไป โดยมีเป้าหมายจะเป็นตัวอย่างการทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจรและตรวจสอบได้ ขาย “คุณภาพ”ทั้งกระบวนการผลิตและผลผลิต
กระตุ้นให้เกิดโครงสร้างการบริหารจัดการกลุ่มที่ดีและมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา  สร้างกระแสความเชื่อที่ว่าอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ยั่งยืนและมั่นคง หากรู้จักจัดการ   เป็นอาชีพที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ควรมองข้าม เพราะอิสระและไม่ต้องเป็น “ลูกจ้าง”ใคร
“ต่อให้เรียนมาสูงแค่ไหน แต่ยังต้องไปเป็นลูกจ้างเขา กินเงินเดือน มันก็ไม่อิสระ และไม่แน่นอน แต่อาชีพเกษตรเราเป็นนายตัวเอง เรามีที่ดิน เรามีความรู้ ซึ่งก็สามารถทำให้มันเพิ่มพูนขึ้นมาได้” สมาชิกเกษตรอาวุโสกล่าวในที่สุด
                นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มเติบโตและเข้มแข็งคือการเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงอย่างไม่เป็นทางการของ พี่อ้อย หรือคุณสิริกาญจน์  โภคทรัพย์  สำนักงานเกษตรหนองเสือ ที่ยังคงติดตามและแวะเวียนมาร่วมกิจกรรมของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
                “มาเห็นแล้วมันชื่นใจ และเราก็ให้เขาเป็นตัวอย่างกับกลุ่มอื่น ๆ ที่กำลังจะเริ่มต้น ซึ่งในพื้นที่ก็มีโครงการจะขยายเปิดโรงเรียนเกษตรกรขึ้นอีกหลายแห่ง บางครั้งก็พาคนที่มี “ใจ” อยากจะเปลี่ยนแปลงมาดูกลุ่มนี้ แล้วให้เขาไปขยายผล เพราะการเปิดโรงเรียนเกษตรกรเราเน้นว่าเกษตรกรต้องมีใจพร้อมจะเปลี่ยนแปลงด้วย” พี่อ้อย กล่าวในที่สุด
โรงเรียนเกษตรกรแห่งนี้เป็นตัวอย่างความสำเร็จของการฟื้นสภาพดินเสื่อมให้กลายเป็นดินดีที่สามารถสร้างอาชีพเกษตรทางเลือกควบคู่ไปด้วยได้  และยังก่อผลกระทบในแง่ดีอีกหลายด้านที่นำไปสู่ชุมชนอยู่ดี มีสุขได้  จึงไม่แปลกที่โรงเรียนเกษตรกรแห่งนี้จะมีคนแวะเวียนมาร่วมเรียนรู้อยู่เสมอ และเกือบทุกครั้งจะมีทั้งเจ้าหน้าที่เกษตรและที่ดินปทุมฯ (ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร)ซึ่งยังคงติดตามและชื่นชมผลงานของกลุ่ม รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการต่อยอดความรู้ขึ้นไปอีก  (บางครั้งไม่อาจสนับสนุนเป็นโครงการหรืองบประมาณต่อได้เพราะติดเงื่อนไขว่าช่วยเหลือไปแล้วจะไม่มีการช่วยซ้ำในกลุ่มเดิม  จึงพยายามประสานไปยังหน่วยงานอื่นที่พอจะเข้ามาสนับสนุนได้ เช่นการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ  เป็นต้น) น
ข้อคิดเห็นต่อ โรงเรียนเกษตรกร กลุ่มนี้ คือ พวกเขาไม่กลัวว่าจะขาดความรู้หรือมีความรู้ไม่พอ เพราะเขารู้ว่าสามารถหาความรู้นั้นได้อยู่แล้ว  ปัญหาของเขาคือการจัดการและความเกรงใจผู้นำที่ยังคิดว่าการชักชวนให้เพื่อนสมาชิกมาทำกิจกรรมนั้นเป็นการเสียสละเวลาที่มีค่าของแต่ละคนซึ่งพวกเขาไม่ควรต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งที่จริงอาจเป็นความเข้าใจผิด เพราะพวกเขามาร่วมก็ด้วยเห็นประโยชน์ และหากจะมีการทำกิจกรรมอะไรเพิ่มเติมหรือการบริหารจัดการที่จะทำให้สามารถหาเงินกองกลางสำหรับเป็นค่าใช่จ่ายในการทำกิจกรรมกลุ่มได้ ก็คิดว่าสมาชิกของกลุ่มนี้น่าจะยินดี ซึ่งเชื่อว่าในที่สุดพวกเขาจะสามารถหาทางจัดการกับปัญหานี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจากใครอีก.

  การถ่ายทอดความรู้ของสมาชิกวัย 82 ปีกับเกษตรรุ่นกลาง
  เหนื่อยนักพักก่อน เวทีเรียนรู้ข้างแปลง
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20011เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2006 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท