บทเรียนจากนักเรียนชาวนา : บทที่ ๓ การจัดการวัชพืชในนาข้าว


การกำจัดวัชพืช ควรทำแบบผสมผสาน และพิจารณาผลรวมว่าสิ่งใดดีกว่ากัน ก็จะเป็นการทำนาแบบใช้ความรู้มากกว่าใช้ทุนที่เป็นตัวเงิน

ในความรู้สึกของคนทั่วไป จะพูดตรงกันว่า

 นาที่จะให้ผลผลิตดีควรปราศจากวัชพืชหรือหญ้า เจริญแข่งขันกับข้าว

ทั้งนี้ รวมถึงวัชพืชอื่นๆ ที่เป็นพืชใบกว้าง เช่น ผักบุ้ง ผักแว่น ผักตบ แพงพวย  หรือแม้แต่โสน

Oa024

ชาวนาดายหญ้าในนาอินทรีย์ จ. ยโสธร

Oa027

การสูบน้ำขุ่นๆเข้าแปลงนา ได้ทั้งตะกอนดินบำรุงนา ช่วยลดการงอก และการแข่งขันของหญ้า แทนการฉีดยาคุมการงอกของวัชพืช

(ในนาอินทรีย์ จ. ยโสธร)

Img_2501

การตัดหญ้าในระยะหญ้าออกดอก แต่ข้าวยังเป็น "กล้า" ก็ลดการแข่งขันของหญ้าได้อีกทางหนี่ง

(แปลงนาของผม เมื่อ ๒๓ กรกกฎาคม ๒๕๕๐)

เพราะความรู้สึกของชาวนาทั่วไปเชื่อว่า ถ้ามีวัชพืชในนาผลผลิตข้าวจะลดลง จึงเป็นสาเหตุให้มีการเน้นการกำจัดหญ้าในแปลงนาทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ประชากรหญ้าหรือวัชพืชลดลง ถึงระดับที่เจ้าของนาสบายใจ

ในสภาพนาก่อนที่จะพัฒนามาเป็นนาในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่จะเคยเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมถึงเป็นครั้งคราวมาก่อน แม้จะอยู่ในที่ที่ถือว่าเป็นนาดอน ก็จะเป็นส่วนที่ลุ่มกว่าของพื้นที่ดอนดังกล่าว 

ลักษณะเช่นนี้จะมีพืชธรรมชาติที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพน้ำแช่ขังเป็นครั้งคราว หรือเป็นฤดูกาล แล้วแต่สภาพพื้นที่

เมื่อมีการปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ลุ่มตามธรรมชาติ มาเป็นพื้นที่นา พืชเหล่านั้นก็จะยังคงเจริญเติบโตได้ดีพอสมควร แต่ก็ขึ้นอยู่กับความทนทานต่อการจัดการของเจ้าของนา ไม่ว่าจะเป็นการใช้สัตว์แทะเล็ม การไถพรวน การใช้น้ำขัง การถอนหรือดายหญ้า หรือแม้กระทั่งการใช้ยากำจัดวัชพืช

จากสภาพดังกล่าว พืชที่ขึ้นอยู่ จะมีทั้งพืชที่มีความอ่อนแอและทนทานต่อสภาพการจัดการ ที่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจ เช่น

·       พืชบางชนิด น้ำขังเพียงเล็กน้อยก็ตาย

·       พืชบางชนิด การไถพรวนหรือมีสัตว์เหยียบย่ำก็ตาย

·       แต่ก็มีพืชอีกหลายชนิดที่แม้แต่มีการแทะเล็มของสัตว์  มีการไถพรวน  มีการถอน  ก็ยังสามารถมีการเจริญเติบโตกลับคืนมาได้อีก

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีพืชชนิดใดที่เจริญเติบโตได้ในสภาพไม่มีแสง ทั้งเนื่องจากการแข่งขันกับพืชอื่น การปกคลุมด้วยวัสดุต่างๆ หรือแม้กระทั่งการใช้น้ำขุ่นแช่ขัง ที่ลดการสังเคราะห์แสงและการหายใจของพืช

ดังนั้น

·       การกำจัดวัชพืชจึงต้องพยายามเข้าใจขีดจำกัด จุดแข็ง จุดอ่อน ของพืชที่เจริญเติบโตกับข้าว และ

·       ใช้เทคนิคในการบริหารจัดการ โดยถือหลักการง่ายๆ ว่า การส่งเสริมให้พืชที่มีจุดอ่อนเจริญเติบโตมากๆ จะลดความสามารถในการแข่งขันของพืชที่มีจุดแข็งมากๆ

แนวคิดดังกล่าวนี้ ผมได้เรียนรู้มาจากกลุ่มเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่ใช้ระบบปุ๋ยพืชสด ที่ปราบได้ง่าย เช่น

พืชตระกูลถั่ว งา พืชใบกว้างที่ไม่ทนน้ำแช่ขัง ปลูกให้แน่นในแปลงนา จนพืชตระกูลหญ้าที่ทนต่อน้ำแช่ขังตายเนื่องจากการขาดแสง

ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้จุดแข็งไปทำลายจุดอ่อนของพืชที่เข้มแข็ง อาจจะฟังดูยากเล็กน้อย แต่ถ้าคิดตามอย่างช้าๆ ก็จะเริ่มเข้าใจว่าเราควรวางแผนจัดการวัชพืชอย่างไร

จากประสบการณ์การทำนาของผม พบว่า

วิธีการกำจัดวัชพืช ควรเริ่มจากการลดจำนวนประชากร ใช้จุดอ่อนเป็นตัวทำลาย และใช้การแข่งขันเป็นตัวกำจัด ซึ่งหลักการ ๓ ขั้นตอนนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้หลากหลายชนิด เช่น

๑.   การคลุมดินด้วยเศษพืช  ฟาง  หรือวัสดุอื่นๆ จะลดการเจริญเติบโตของพืชที่มีรากเหง้าอยู่ในดิน และลดการงอกของพืชที่เจริญเติบโตจากเมล็ด

๒.   การเก็บน้ำแช่ขังไว้ในแปลง จะลดการงอกของพืชจากเมล็ด แต่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชที่มีรากเหง้าในดิน

๓.   การหว่านเมล็ดพืชปุ๋ยสด จะลดการแข่งขันของทั้งพืชที่มีรากเหง้า และการงอกของพืชจากเมล็ด

๔.  การใช้สัตว์แทะเล็ม จะลดการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด และการเหยียบย่ำของสัตว์ จะทำให้พืชหลายชนิดตายและเจริญเติบโตไม่ได้

๕.  การตัดด้วยเคียว หรือเครื่องตัดหญ้า จะชะลอการเจริญเติบโตของพืชส่วนใหญ่

๖.   การไถพรวน จะทำให้พืชส่วนใหญ่ตาย ยกเว้นพืชที่มีเหง้าในดิน ที่อาจจะเจริญเติบโตช้าลง แต่จะเจริญเติบโตได้หลังจากดินพักตัว

๗.  การคราดกลบ จะทำให้พืชที่มีเหง้าหรือหัวจมลงไปในดินลึกและเน่าตายได้บางส่วน  ขึ้นอยู่กับระดับความลึกของการคราดกลบ

๘.  การฉีดยาคุมการงอกของหญ้า จะลดการงอกของวัชพืชส่วนใหญ่ จนกว่ายาจะมีฤทธิ์น้อยลง ซึ่งเป็นการชะลอการเจริญของหญ้าและลดการแข่งขันในระยะยาว

๙.   การฉีดยากำจัดหญ้า จะเป็นการฆ่าวัชพืชส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพืชที่ไม่มีรากเหง้าได้เป็นอย่างดี

๑๐.                  การจัดระดับความลึกของน้ำที่ขังไว้ในนา จะช่วยให้มีการเจริญเติบโตของพืชชอบน้ำ แต่จะเป็นการกำจัดของพืชที่ไม่ทนน้ำแช่ขัง

 

จากวิธีปฏิบัติทั้ง ๑๐ ข้อดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติกว้างๆ ที่อาจนำมาปรับใช้ได้ในสภาพของแปลงที่มีระบบทรัพยากรแตกต่างกัน ซึ่งอาจใช้ระบบผสมผสานให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าเดิม

แต่ในระบบเกษตรอินทรีย์นั้น สามารถหลีกเลี่ยงการใช้สารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ยังมีทางเลือกมากมาย ขึ้นอยู่กับความถนัดและระบบทรัพยากรของแต่ละครัวเรือน

กล่าวคือ

ครัวเรือนที่มีแรงงานก็อาจจะใช้ระบบการกำจัดด้วยแรงงานคน

หรือถ้ามีน้ำมากก็อาจใช้น้ำเป็นตัวควบคุม

หรือถ้ามีเศษพืช ก็ใช้เศษพืชคลุม ก็จะช่วยให้ลดความจำเป็นในการจัดการด้านอื่นลงได้บ้าง

หรือถ้าไม่มีทรัพยากรที่สะดวกในการจัดการ ก็อาจใช้การปลูกพืชปุ๋ยสด แล้วไถกลบก่อนการปักดำ ก็เป็นวิธีการที่ได้ผลดี ซึ่งจะช่วยให้ข้าวเจริญเติบโตได้ดี เนื่องจากมีอาหารสำรองอยู่ในเศษพืชก่อนการไถกลบได้มากกว่าการไถกลบเศษหญ้าธรรมดา

ดังนั้น วิธีการปฏิบัติเพื่อการแข่งขันของวัชพืช จึงมีหลายวิธีมากมายดังกล่าวข้างต้น

แต่ในความเป็นจริง เราไม่ควรจะเน้นการกำจัดวัชพืชให้หมดไปจากแปลง

เพราะพืชเหล่านั้นก็ยังเป็นพืชสำรองธาตุอาหาร เช่น กรณีของพืชปุ๋ยสด หรือพืชที่ลดการแข่งขันของพืชที่มีความยากลำบากในการกำจัด

จึงควรปล่อยไว้บ้างเพื่อทำให้การกำจัดวัชพืชอื่นๆ ทำได้ง่าย

ฉะนั้น หลักการที่สำคัญก็คือ การจัดการวัชพืชแบบผสมผสาน ให้ได้ประโยชน์หลายทาง

ทั้งด้านการบำรุงดิน การเลี้ยงสัตว์ และการรักษาระบบนิเวศ การลดการสูญเสียธาตุอาหารในช่วงที่ไม่ได้ปลูกพืช ซึ่งก็เป็นประโยชน์ของวัชพืชเช่นกัน

ผมจึงขอสรุปว่า การกำจัดวัชพืช ควรทำแบบผสมผสาน และพิจารณาผลรวมว่าสิ่งใดดีกว่ากัน ก็จะเป็นการทำนาแบบใช้ความรู้มากกว่าใช้ทุนที่เป็นตัวเงิน

 เพราะทุนความรู้ยิ่งใช้ยิ่งมีมาก ทุนที่เป็นตัวเงินยิ่งใช้ยิ่งหมด

แบบนี้น่าจะดีกว่า นะครับ 

หมายเลขบันทึก: 197426เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2008 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

ผมสนใจ งานด้านการเกษตรมากครับ แต่ ท่านครับ ปัญหาที่พบอยู่ในขณะนี้ คือปัญหาการใช้สารเคมี (ยาฆ่าหญ้า)  ทำไมไม่มีกฎหมายจัดการบ้างครับ  จริงแล้ว  ตัวที่จะกำจัดวัชพืชได้  คือความขยัน  ต่อเนื่อง  ครับ นอกจากจะควบคุมวัขพืชไดแล้ว  ยังส่งเสริมสุขภาพอีกด้วย ครับ 

 

 

ขออนุญาตเข้าร่วมขบวนการของท่านอาจารย์ด้วยอีกคนหนึ่งนะครับ..ด้วยความเคารพ และศรัทธา ครับ...ชยพร

สนใจก็ขอเชิญมาร่วมขบวนการเลยครับ

ผมกำลังหาเพื่อนอยู่ครับ

  • เข้ามาชื่นชมท่านอาจารย์แสวงค่ะ
  • นกตามอ่านตลอดนะคะ

ดิฉันชื่นชมความคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์ค่ะ และเชื่อว่า ทุกๆคนในฐานะผู้บริโภคก็อยากจะให้ชาวนาหรือเกษตรกรทุ่มทุนความรู้มากกว่าทุนที่เป็นตัวเงินเช่นกัน จะได้กินของดีๆมีคุณภาพ และตัวชาวนาเองก็หวังจะทำอย่างนั้นเช่นกัน จะได้ไม่ต้องจ่ายแพง (แต่ใครจะทำบ้าง--คุณลุงคุณป้าของดิฉันก็ทำนาเหมือนกัน แต่ไม่เห็นท่านคิดแบบนี้เลย)

เรื่องที่น่าคิด คือ เพราะอะไรเราจึงยอมรับสารเคมีมาใช้ในแปลงนา ทำไมชาวนาจึงยอมทุ่มทุนซื้อสารเคมีเหล่านี้มาใช้ ทั้งๆที่บ่นว่าแพงเหลือเกิน

เพื่อความสะดวก ไม่เสียเวลา เสียแรงกายดูแลวัชพืช ซึ่งต้องใช้ทั้งความตั้งใจความอดทน(เหมือนอาจารย์)เป็นอันมาก ใช้สารเคมีแล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้

หรือ

เพื่อให้สามารถจัดการกับวัชพืชทีละมากๆ ถ้ามีนาหลายไร่ ก็คงเป็นไปไม่ได้ที่จะดูแลอย่างทั่วถึง

หรือ...

ตราบใดที่ยังทำนาเพื่อการค้า เพื่อส่งข้าวขายตามระบบทุนนิยมเสรีซึ่งเน้นการลงทุนเพื่อให้ได้กำไรมากๆ ดิฉันคิดว่าคงพ้นการใช้สารเคมีนี้ไปไม่ได้ นอกจากเป็นนาทดลอง นาในเกษตรผสมผสาน นาที่ทำเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารเคมีสำหรับขายคนรวย ข้าวจากนาที่ลงทุนเงินซื้อสารเคมีมากๆจึงยังคงเป็นอาหารของคนชั้นกลางและรากหญ้าต่อไป

ดิฉัน(ซึ่งไม่มีความรู้ทางการเกษตร มีแต่จินตนาการ)จึงอยากเสนอให้อาจารย์หรือนักวิจัยด้านนี้ส่วนหนึ่งช่วยคิดค้นหาทางที่จะใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพด้วย (นอกจากเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นดุจความฝันของคนส่วนใหญ่ในยุคนี้(ที่มีเงินไม่มากแต่มีปากท้องต้องเลี้ยง)) คำว่า สารเคมี เป็นคำที่มีความหมายติดลบ เหมือน ยาฝรั่ง กับ สมุนไพร จริงๆแล้ว สมุนไพรจะรักษาโรคไม่ได้ถ้าไม่มีสารเคมี สารเคมีปราบศัตรูพืชก็เช่นกัน ถ้าใช้ให้ถูกวิธี หรือเป็นสารที่เป็นภัยกับแมลงแต่ปลอดภัยกับคนก็คงจะช่วยสังคมเกษตรอย่างเมืองไทยซึ่งปลูกข้าวขายได้มากเลยค่ะ

ครับ

ขอบพระคุณมากอีกครั้งครับ ในความเห็นที่เข้มข้นและจริงใจ

ตอนนี้เรากำลังคิดเรื่อง แนวทางการลดการใช้สารพิษ และถ้าไม่ใช้ได้น่าจะยิ่งดี

เพราะ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันรุนแรงมากในทุกระดับ ทั้งในระบบนิเวศ และตัวคน

และยังเป็นเหตุให้ "ลงทุนมาก กำไรน้อย" หรือ "ขาดทุน"

ผมจึงหันมาทำ "ลงทุนน้อย หรือ ไม่ลงเลยได้ยิ่งดี"

หรือ "ลงเฉพาะที่ตัวเองมี" ที่ไม่ต้องเสี่ยงมาก

แบบ เน้น "กำไรสูงสุด (กับทุกคน รวมถึงระบบนิเวศ)"

ที่ต้องพยายามหนี "ผลผลิตสูงสุด ที่ทำให้กำไรลดลง"

ผมยอมเอาตัวลองทำนำร่อง

ให้รู้ว่าอะไรได้ไม่ได้

นี่คือ สาระและประเด็นที่ผมพยายามนำเสนอครับ

ขอบคุณครับ

 

  • สวัสดีครับอาจารย์ดร. แสวง รวยสูงเนิน
    ตอนแรกแม่คิดจะทำนาเองในปีนี้ ทุกปีให้น้าสาวเป็นคนทำกิน  
  • แม่ลงทุนไปแล้วจนถึงขั้นตอนนั่งจักตอกมัดกล้า แล้ว น้าสาวเล่าให้ฟังเรื่องการกำจัดหอยเชอรี่ ต้องลงแปลงนางมหอยเชอรี่มาฆ่าทุกวัน มิฉนั้นจะกัดกินต้นข้าวเสียหายหมด
  • แม่เลยตัดสินใจเลิกทำในขณะนั้น ให้น้าสาวทำแทน ยอมเสียส่วนที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว
  • แม่บอกว่าไม่กล้าฆ่าหอยเชอรี่นะครับ (เพราะแม่ไม่ฆ่าสัตว์มานานแล้ว)
  • วิธีกำจัดหอยเชอรี่ก็ยุ่งยากต้องใช้ไม้แย่ปากให้หุบก่อนถึงจับ มิฉนั้นมันจะหนีบมือเอาเพราะตัวใหญ่มาก เคยเห็นอาจารย์ใช้ปลาจาระเม็ดน้ำจืดกำจัดหอย เลยอยากถามเพื่อนำไปแนะนำพวกญาติๆที่ทำนากันอยู่ครับ
  • และทำอย่างไรจะไม่ให้ปลาไปกินเบ็ดพวกที่ขโมยมาปักเบ็ดตามคันนาเราได้ครับ
  • พันธุ์ปลาหาซื้อได้ที่ไหน ต้องใช้ตัวโตขนาดไหนถึงจะกินหอยได้ครับ

ขอเรียนถามแค่นี้ก่อนนะครับ..ขอบคุณมากครับ

 

ครับ

๑ ต้องมีบ่อให้ปลาอยู่

๒ ขนาดที่มันกิน ก็ดูตามขนาดปากครับ

ผมเข้าใจว่ามันเริ่มตั้งแต่เล็กๆ มาเลย

พันธุ์น่าจะหได้ทั่วไป ภาษาทางการเขาเรียก "เปคูแดง" ครับ

เดิมเป็นปลาสวยงามครับ

ตอนนี้เป็นปลาบริโภคแล้วครับ

เรื่องกันไม่ให้คนมาปักเบ็ด ผมก็หมดปัญญา แต่ผมใช้ทุนทางสังคมคลุมไว้ครับ

ให้คนอื่นรู้ว่าเราหวงห้าม ก็ทำแค่นั้นครับ

  • ขอบพระคุณมากครับอาจารย์ ชื่อปลา"เปคูแดง"
  • ไม่ทราบว่าที่ประมงนครราชสีมา มีปลาพันธุ์นี้จำหน่ายหรือไม่ทราบครับ
  • จะแจ้งกลับไปทางบ้านครับ

สวัสดีครับคุณครูแสวง

ตอนนี้ผมรวมเล่มบันทึกของคุณครูและสำเนาไปแจกชาวสวนที่จังหวัดราชบุรีประมาณ100ชุดเรียบร้อยแล้ว และตอนนี้ก็กำลังรวมเล่ม2เกี่ยวกับบทเรียนชุดใหม่นี้อยู่ก็คงจะเอาไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องเกษตรกรและน้องๆนักเรียนนักศึกษาวิชาเกษตร เพราะผมมองว่าเวลานี้ในรั้วมหาวิทยาลัยมีสอนแต่ความรู้ในเชิงตะวันตก โดยลืมวิถีตะวันออกไปหมดแล้ว ไอ้ครั้นจะให้เด็กๆ หรือเกษตรกรไปเปิด net ดูก็คงยุ่งยากพอสมควร ก็เลยยอมเสียเวลารวมบันทึกของอาจารย์แล้วสำเนาแจกจ่ายฟรีไปเลย ก็คงจะค่อยๆทำไปตามกำลังทรัพย์และกำลังกายที่มีอยู่ ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆฝ่าย ถ้ารับแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ควรบอกต่อ ก็น่าจะขออนุญาตคุณครูแสวงก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ต่อ และผมขอเน้นว่า ฟรีๆ ครับ เพราะคุณครูก็ให้ความรู้เรามาแบบฟรี เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำตามถือซะว่าทำอะไรคืนให้กับสังคมไป

แต่เท่าที่ได้คุยกับเกษตรกรที่ราชบุรี ทุกอย่างที่คุณครูพูดถึง ส่วนใหญ่เค้าจะเข้าใจ แต่ไม่สามารถอธิบายถึงเหตุผลได้ และ มักจะมีข้ออ้างไม่นำไปปฏิบัติ โดยข้ออ้างที่น่าคิดที่สุดคือ ประหยัดเวลา เค้าบอกว่าใช้สารเคมี ใช้รถไถ ใช้รถเกี่ยวข้าวประยัดเวลากว่ากันเยอะเลย ตรงนี้น่ากลัวมาก เพราะจะย้อนกลับไปถึงบทความแรกๆของคุณครูว่า ชาวนาไทยหายไปไหน และ ชาวนาไทยทำงานกันปีละ 10 วัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของความยากจน

ผมจะคอยเป็นกำลังใจให้กับคุณครูแสวง และจะทำทุกอย่างเพื่อเผยแพร่บันทึกดีๆแบบนี้ให้กระจายไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ

สวัสดีครับคุณสะมะนึก

อ่านที่คุณสะมะนึกบอกว่าจะป้องกันพวกเบ็ดตกปลาที่มาตั้งไว้ในนายังไงก็นึกถึงคำศัพท์ที่ชาวสวนพูดคำหนึ่งคือ เพลี้ยกระสอบ โรคนี้จัดการได้ยากมากในสวนมะม่วง ยาอะไรก็ฆ่าไม่ตาย ใครรู้จักบ้างครับ แล้วผมจะเข้ามาเฉลย

ในวันเสาร์ที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๑ นี้ ในตอนบ่าย

ผมจะมีโอกาสนำเสนอเรื่องนี้ที่ ศูนย์ BITECH บางนา

คิดว่า อาจจะมีแนวร่วมเพิ่มขึ้นครับ

สำหรับ "เพลี้ยกระสอบ" นี่เป็นปัญหาใหญ่กับทุกวงการครับ

 

ใช่เลยครับคุณครู เพลี้ยกระสอบ นี้ตัวร้ายเลย ระบาดไปหมด ทั้งนาข้าว นากุ้ง สวนผลไม้ โดยเฉพาะฤดูเก็บเกี่ยว เหนือยจริงๆ

ศึกษาบทเรียนจากนักเรียนชาวนา ของท่านอาจารย์มาถึงบทที่3 แล้วค่ะ ขออนุญาตเข้าร่วมขบวนการของท่านอาจารย์ด้วยอีกคนหนึ่งนะคะ

อันนา

อาคม ( ชาวนา วิเชียรบุรี เพชรบูรณ์ )

ชาวนาป้ายแดงครับ ขออนุญาตเข้าร่วมอุดมการณ์ ของคุณครู ดร.แสวง ด้วยคนครับ ครูครับ ผมทำนาปีแรกครับ ( นาดำ )พบเจอปัญหามากมายเลย เป็นต้นว่า หลังจากดำนาเส็จ ประมาณสี่ ห้าวันเอานำเข้าเจอปัญหาหอยเชอรี่ต้อนรับน้องใหม่เลย ขนาดใช้กากชาหว่านทิ้งไว้สองคืน หลังจากปัญหาหอย ก็เจออีกด่าน หญ้าครับเขียวงามจริงๆ ถ้ามีประกวดหญ้างาม ผมน่าจะได้ที่หนึ่งครับ หญ้ามันเก่งจริงๆ มันเกิดทีหลังข้าวแต่ตอนนี้มันแซงหน้าไปแล้ว ผมยอมรับมันจริงๆ จะทำยังไงดี จะแก้ปัญหาอย่างไรดี ผมทำนาอยู่ 25 ไร่ ซื้อวัวมา มาลงกินหญ้าซะดีมั้ง เพื่อนชาวนาผู้มีประสบการณ์ก็แนะนำกันใหญ่ให้ใช้ยา อันโน้น อันนี้ดี ผมยังไม่อยากใช้ เพราะอากาศมันจะเป็นพิษ ยิ่งหนีจากมลพิษที่ กทม.มา จะมาเจอพิษมากกว่าหรือนี่ หนีเสือ ปะไอ้เข้แท้ๆ ผมทำบ้านอยู่กลางทุ่งนาครับ ชาวบ้านทั้งหลายเขาว่า หมอนี่มันบ้า ถ้าจะจริงของเขาแล้วหละครับคุณครู มีแต่สารพิษ ช่วยด้วยครับไม่อยากเจอ

ลองทำเล็กไปใหญ่ครับ

ทำมากเรียนไม่ทันครับ

ปัญหามันใหญ่เกินครับ

การทำเกษตกำลังมีปัญหามากขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อจะได้พัฒนาอาชีพ ดูแลซึ่งกันและกัน

ชื่นชมครับ กำลังถอนหญ้านาอยู่พอดี ทำเล็กไปใหญ่ครับ ถอนหญ้าไปพร้อมกับถอนที่ข้าวหนาแน่นไปปักที่ออกห่าง ข้าวนาปีทำเร็วขึ้นหน่อยจะได้มีเวลาจัดการ ค่อยเป็นค่อยไป สนุกกับมันจะได้ไม่เหนื่อยไม่ท้อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท