ห้องสมุด


การเรียนรู้ห้องสมุด

การจัดห้องสมุดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย

 (Self  Access  Learning  Center)

 

ธมลวรรณ ขุนไพชิต

 

การเรียนรู้  หมายถึง  การที่บุคคลมีความต้องการทำความเข้าใจรับรู้กับปัญหา  เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ได้ประสบมา ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มพูนของทักษะความรู้ความเข้าใจและการพัฒนาของบุคคลนั้น ๆ เช่น  การเรียนรู้ด้วยตนเอง  การเรียนรู้จากการทำงานหรือประสบการณ์ (ยืน ภู่วรรณ, และสมชาย นำประเสริฐชัย, 2546, หน้า 22)

การจัดการเรียนการสอนในเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ผู้เรียนจะต้องศึกษาจากสื่อและแหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวทั้งในและนอกสถานศึกษา  ในส่วนของห้องสมุดที่เป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ที่สำคัญ  ซึ่งนับได้ว่าเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมความรู้และสติปัญญาของนักการศึกษาจากทั่วโลก  ซึ่งปัญหาในปัจจุบันจะพบว่า  บุคคลโดยทั่วไปไม่มีนิสัยรักการอ่านและการใฝ่รู้มากเท่าที่ควร  ทั้ง ๆ ที่การอ่านเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ทั้งมวลและเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุบางประการ รวมทั้งปัญหาในการดำเนินงานของห้องสมุดที่เป็นปัจจัยบั่นทอน ไม่เอื้อต่อการแสวงหาความรู้ด้วย  ได้แก่  มีจำนวนสารสนเทศไม่เพียงพอ  ขาดคุณภาพ  บรรยากาศไม่เอื้ออำนวย  การบริการที่ไม่สนองต่อผู้ใช้อย่างเต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น  ซึ่งในปัจจุบัน  บรรณารักษ์ก็มิใช่แต่จะเป็นผู้จัดจำแนกสารสนเทศ     จัดหมวดหมู่    จัดเก็บและให้บริการเท่านั้น      ยังต้องมีบทบาทอื่น ๆ  โดยบรรณารักษ์จะเข้าไปมีบทบาทในการเอื้ออำนวยในการเรียนการสอนของผู้สอนและผู้เรียนอย่างมาก        บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องเป็นบรรณารักษ์ที่พัฒนาตนเองด้วยการเข้าร่วมประชุม     สัมมนา ค้นคว้า อ่านข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ   เพื่อให้โลกของบรรณารักษ์กว้างขึ้น  ประการสำคัญคือเมื่อโลกของบรรณารักษ์กว้างโลกของห้องสมุดก็จะกว้างตามไปด้วย  การจัดห้องสมุดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย  หรือ  Self  Access  Learning  Center  ก็เป็นไปได้ไม่ยาก

โลกและสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   การดำรงชีวิตของคนจึงต้องการเรียนรู้เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป  ดังนั้นการเรียนรู้จึงเป็นครรลองของชีวิตที่เกิดได้ทุกที่ทุกเวลาต่อเนื่องยาวนานตลอดชีวิต  เริ่มจากการเรียนรู้จากครอบครัว  ชุมชน  ศูนย์การเรียน  โรงเรียน  สถาบันการศึกษา  สถาบันศาสนา  และแหล่งความรู้ต่าง ๆ   การจัดการศึกษาในปัจจุบันยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนและพัฒนาตนเองได้  และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการจัดการศึกษาจึงต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ  เพื่อรองรับบทบาทการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เชื่อมโยงการศึกษานอกระบบและในระบบ  จึงต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายประการที่จะจัดห้องสมุดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้  เป็นการจัดสร้างบรรยากาศภายในห้องสมุดให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้   และท้าทายให้ผู้ใช้อยากรู้ด้วยรูปแบบต่าง ๆ      พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ. 2542  ในหมวด 3  ระบบการศึกษา  มาตรา 15  การจัดการศึกษา มี 3 รูปแบบ คือ  การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ  และการศึกษาตามอัธยาศัย     โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาตามอัธยาศัย   เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ  ตามศักยภาพ  ความพร้อมและโอกาส  โดยศึกษาจากบุคคล  ประสบการณ์  สังคม  สภาพแวดล้อม  สื่อหรือแหล่งความรู้อื่น ๆ โดยเน้นความสำคัญทั้งความรู้คู่คุณธรรม  กระบวนการเรียนรู้  และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา  ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งครอบคลุมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในด้านการจัดกิจกรรมก็ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง    ฝึกการปฏิบัติ   ให้ทำได้   คิดเป็น   ทำเป็น  รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง  การจัดการศึกษาดังกล่าวได้เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในโลกกว้างได้ตั้งแต่เกิดจนตาย  ให้ทุกคนได้มีโอกาสเป็นทั้งผู้เรียนและผู้สอนในเวลาเดียวกัน  ให้การศึกษากับการดำเนินชีวิตประจำวันหลอมรวมเข้าด้วยกัน

                จากเรื่องดังกล่าว สามารถนำมาประยุกต์การจัดห้องสมุดให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาได้  ด้วยการจัดให้เกิดมุมต่าง ๆ ที่หลากหลายขึ้นในห้องสมุด  ที่ผู้ใช้สามารถศึกษาหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างที่เรียกว่า  “Self  Access  Learning  Center”  ในโลกปัจจุบันและอนาคต  การรับรู้ข่าวสาร  ข้อมูล  หรือสารสนเทศ  ต่างมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำรงชีวิตในสังคม  เพราะจะทำให้เป็นคนฉลาด   ทันคน  ช่วยในการตัดสินใจ  ช่วยในการแก้ปัญหาทั้งปัญหาชีวิตส่วนตัวและการงาน  ช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานและทำให้เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์  การที่ผู้ใช้บริการสนใจศึกษาตามมุมความรู้ต่าง ๆ ที่ห้องสมุดจัดไว้ให้จะเป็นการเสริมสร้างความสนใจใฝ่รู้และเกิดความคิดสร้างสรรค์ในบุคคลนั้น ๆ ทีละเล็กทีละน้อย  ซึ่ง ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ได้ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ไว้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง  ความสามารถของสมองที่คิดได้กว้างไกลหลายแง่มุม  เรียกว่าความคิดแบบอเนกนัย  ซึ่งทำให้เกิดความคิดแปลกใหม่แตกต่างไปจากเดิม เป็นความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ รอบตัว  เกิดการเรียนรู้ เข้าใจ จนเกิดปฏิกิริยาตอบสนองให้เกิดความคิดเชิงจินตนาการ  ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของความคิดสร้างสรรค์อันจะนำไปสู่การประดิษฐ์หรือคิดค้นสิ่งแปลกใหม่  หรือเพื่อการแก้ไขปัญหา      ซึ่งจะต้องอาศัยบูรณาการจากประสบการณ์และความรู้ทั้งหมดที่ผ่านมา(ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์, 2546, หน้า 7)   มุมที่สามารถจัดให้มีในห้องสมุด      เช่น      มุมบริการ  มุมนิทรรศการ   มุมหรือห้องโสตทัศนูปกรณ์   มุมสืบค้น   มุมหนังสือทั่วไป  มุมหนังสืออ้างอิง  มุมหนังสือคู่มือ      มุมหนังสืออ่านนอกเวลา       มุมแบบเรียน      มุมวารสารและหนังสือพิมพ์   มุมอนุรักษ์หนังสือเก่า  มุมเด็กและเยาวชน  มุมอินเทอร์เน็ต  มุมศิลปะวัฒนธรรม  มุมข้อมูลชุมชน  มุมหนังสือใหม่  เป็นต้น      การจัดมุมต่าง ๆ ในห้องสมุดสิ่งที่สำคัญที่จะต้องคำนึงถึงในการจัด คือ

จะต้องไม่ลืมวัตถุประสงค์ในการจัด      ในส่วนของการแบ่งพื้นที่ในการจัดมุมก็ขึ้นอยู่กับขนาดและพื้นที่ของห้องสมุดนั้น ๆ

                บรรณารักษ์หลายท่านคงสงสัยว่า การที่จะจัดมุมต่าง ๆ ให้ได้ดีสามารถหาประสบการณ์ที่จะจัดมาจากไหนได้บ้าง  ซึ่งประสบการณ์ที่เป็นภาพรวม ๆ ที่จะทำให้ผู้รับผิดชอบเกิดความคิดที่จะจัดมุมต่าง ๆ ให้ผู้ใช้ได้เรียนรู้  ค้นคว้า  ให้เกิดความรู้ได้ด้วยตนเองนั้น  อาจจะเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ ด้าน      เช่น    จากการไปศึกษาดูงานห้องสมุดของหน่วยงานอื่น  การติดตามข่าวสารต่าง  ๆ ของห้องสมุด และจากการคิดและประมวลความรู้ในเรื่องห้องสมุดด้วยตนเองให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่      ปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุด  คือ  จากการคิดและประมวลความรู้ในเรื่องห้องสมุดด้วยตนเอง  ซึ่งผู้รับผิดชอบห้องสมุดแต่ละท่านจะใช้ระยะเวลาที่ต่างกัน   โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยการศึกษาดูงานห้องสมุดและปัจจัยการติดตามข่าวสารต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  เมื่อมีปัจจัยจากการคิดและการประมวลความรู้เกิดขึ้น  ห้องสมุดนั้น ๆ ก็สามารถเป็นอะไรก็ได้ตามที่ผู้รับผิดชอบต้องการและยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง   แต่ถ้าผู้รับผิดชอบหยุดอยู่กับที่ไม่ปรับเปลี่ยนบรรยากาศ สิ่งแวดล้อมภายในให้น่าสนใจและน่าเข้าไปใช้บริการ  ผู้ใช้ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายและถ้าไม่จำเป็นก็คงจะไม่เข้าไปใช้บริการ อีกทั้งมุมความรู้และกิจกรรมที่ห้องสมุดได้พัฒนานำมาใช้ต้องเอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกสบายในการใช้ให้มากที่สุดด้วย

                การจัดห้องสมุดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย  จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังผู้ใช้ให้เป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้รักการอ่านและพัฒนาตนให้ทันต่อการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการเสาะแสวงหาความรู้เพิ่มเติมที่ทันสมัยหรือทันต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ของโลก  ในความหมายที่ว่าตามอัธยาศัยนั้นเป็นการจัดการศึกษาให้กับผู้ใช้บริการ  ให้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ  ตามศักยภาพที่เขามีอยู่ตามความพร้อมและโอกาส ไม่เป็นการบังคับ จัดกิจกรรมให้น่าสนใจให้ผู้ใช้บริการเข้าไปศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองโดยเขาไม่รู้สึกว่ากำลังบังคับให้ต้องเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ

                การจัดห้องสมุดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย (Self Access  Learning  Center)  ห้องสมุดบางที่อาจจะปรับเข้าสู่ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ  และบางที่ไม่สามารถปรับเข้าสู่ระบบห้องสมุดอัตโนมัติได้เนื่องจากเหตุผลบางประการ  แต่ทางห้องสมุดก็ควรที่จะนำคอมพิวเตอร์มาไว้เป็นส่วนหนึ่งด้วย  ซึ่งการปรับห้องสมุดเข้าสู่ระบบห้องสมุดอัตโนมัติจะเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถสร้างการเรียนรู้ของผู้ใช้ให้สะดวกก้าวไกลและทันสมัยมากยิ่งขึ้น  ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ  หมายถึง  การทำงานของระบบงานห้องสมุดที่ทำงานร่วมกันหรือเชื่อมโยงกัน  ได้แก่  งานจัดหา  งานวิเคราะห์หมวดหมู่  งานบริการยืม-คืน  และงานบริการสืบค้นข้อมูล  และการจัดการหรือการบริหารระบบห้องสมุด  เป็นการบริหารระบบสารสนเทศรูปแบบหนึ่งที่ใช้กับระบบงานในห้องสมุด (น้ำทิพย์ วิภาวิน, 2545, หน้า 14) แต่การนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติมาใช้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็เกิดจากความพร้อมของบุคลากรห้องสมุด  การบริการด้วยความรับผิดชอบของบริษัทผู้แทนจำหน่าย  ความมุ่งมั่นของผู้บริหารห้องสมุดและเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์  รวมถึงการสนับสนุนด้านงบประมาณจากผู้บริหารองค์กร  โปรแกรมระบบห้องสมุดอัตโนมัติทุกระบบสามารถใช้งานได้ในห้องสมุดทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก  แต่ต้องพิจารณาว่าการนำระบบนั้นมาใช้มีความคุ้มค่าและเหมาะสมหรือไม่   และบุคลากรของห้องสมุดมีความพร้อมเพียงใด

                ในส่วนของห้องสมุดจะเป็นการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยได้นั้น  แนวทางการจัดจะต้องเป็นรูปแบบการจัดให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม  กระบวนการเรียนรู้  และนำมาบูรณาการตามความเหมาะสมกับผู้ใช้ด้วย  บทบาทของห้องสมุดที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กับพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนในสังคม  การเรียนรู้ในปัจจุบันเน้นแนวคิดของการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  โดยผู้เรียนมีแนวทางในการได้รับความรู้หลายรูปแบบ

                ดังนั้นห้องสมุดเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการให้บริการการเรียนรู้แก่ผู้มาใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึง  เพื่อสนองความต้องการของผู้มาใช้บริการให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้  เพราะการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ทั้งในด้านการศึกษาหาความรู้  การประกอบอาชีพ  การศึกษาต่อ  และการพักผ่อนหย่อนใจ     การเรียนรู้ยิ่งมากเท่าไร  ยิ่งเพิ่มพูนความรู้และสั่งสมประสบการณ์มากขึ้นเท่านั้น  บุคคลใดที่ต้องการจะสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของตนให้มีคุณค่าจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และศึกษาไปจนตลอดชีวิต  เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า  การศึกษาคือชีวิต  ดังนั้นห้องสมุดกับการศึกษาจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้

หมายเลขบันทึก: 197422เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2008 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท