อานาปานสติ กำหนดลมหายใจอย่างไร-ลมไม่หลุดง่าย


เป็นคนไทยก็ดีไปอย่างคือ ไปไหนในเขตมอญก็มีคนพูดไทยได้มาช่วยเหลือ หรือทักทายกันมากมาย ผู้เขียนเดินทางกลับไปย่างกุ้งทางรถไฟก็มีผู้หญิงชาวมอญที่ทำงานก่อสร้างในไทย ท่านกลับไปคลอดลูกที่เมืองพะโค(หงสาวดี)

...

พวกเราคงจะได้ยินได้ฟังเรื่องการอบรมเจริญอานาปานสติ หรือกำหนดลมหายใจมาแล้วไม่มากก็น้อย

อานิสงส์ของการอบรม เจริญ กระทำให้มากในอานาปานสตินั้นเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวพุทธทั่วโลก

...

การศึกษาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบผลดีของการฝึกสมาธิในพระพุทธศาสนามากมาย เช่น ทำให้สมองเสื่อมช้าลง ฯลฯ

การฝึกหายใจช้าๆ เป็นประจำส่งผลทำให้ความดันเลือดลดลง มีฝรั่งหัวใสทำเครื่องมือช่วยฝึก (Resperate) เป็นแถบรัดรอบหน้าอก มีเพลง มีจังหวะกำหนดให้คนไข้ฝึกหายใจช้าลงไปเรื่อยๆ จนอัตราการหายใจไม่เกิน 10 ครั้งต่อนาที ฝึกคราวหนึ่งประมาณ 15 นาที

...

คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (US FDA) อนุญาตให้ใช้เครื่องมือดังกล่าวช่วยเสริมการรักษาโรคความดันเลือดสูงได้

ผู้เขียนมีโอกาสตามไปส่งท่านพระอาจารย์อมร(พระไทย) พระไทยที่เคารพพระวินัยบัญญัติ ไม่รับเงินรับทอง และตั้งใจจะไปศึกษา ปฏิบัติธรรมต่อ ณ วัดพะเอ๊าะห์ ตอย่า วัดป่าที่มีพื้นที่ประมาณ 1,250 ไร่

...

วัดนี้อยู่ในเขตเมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ สหภาพพม่า โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร

ท่านมีลูกศิษย์จากชัยภูมิ(คุณก้อง)ไปส่ง ผู้เขียนจึงกราบเรียนท่าน ขออนุญาตติดตามไปปฏิบัติธรรมที่นั่นประมาณ 1 สัปดาห์ (15-21 กรกฎาคม 2551)

...

ภาพที่ 1: พระภิกษุสงฆ์ที่นั่นกำลังแสดงอาบัติ เพื่อชำระศีลให้บริสุทธิ์ คนใส่เสื้อ-กางเกงสีเทาเป็นพระเวียดนาม ท่านเป็นผู้มากด้วยความอ่อนน้อม เวลาเห็นพระรูปใดแสดงอาบัติจะเข้าไปกราบอย่างสุภาพ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในบรรดาพระพม่าทั้งหมดนั้น... พระที่เคารพพระวินัยบัญญัติเคร่งครัดที่สุดคือ พระมอญ รองลงไปเป็นพระพม่า และพระไทยใหญ่(รัฐฉานหรือ "ชาน")ตามลำดับ

...

ภาพที่ 2: ป้ายจารึกรูปหัวสิงห์ซึ่งต้นแบบมาจากเสาจารึกพระเจ้าอโศกมหาราชในอินเดีย-เนปาล ด้านล่างมีชื่อผู้บริจาครายใหญ่จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้ปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติส่วนใหญ่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวัน

ท่านผู้อ่านคงจะจำคนหัวหงอกนุ่งโสร่งมอญสีแดงสดในภาพได้... ถ้าท่านจำไม่ได้ โปรดดูรูปผู้เขียนในบล็อกอีกครั้ง ผู้เขียนสวมโสร่งมอญ เพื่อแสดงความระลึกถึงพระคุณของคุณป้า (สว่าง จิตสมบูรณ์) ของผู้เขียนที่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ

...

ภาพที่ 3: ผู้ปฏิบัติธรรมชาวพม่า (เรียกว่า "โยคี / Yogis") ยืนพนมมือ สวดแผ่เมตตา และขอบพระคุณท่านผู้บริจาคอาหาร ปัจจัย 4 (ทายก ทายิกา) ก่อนรับอาหารเช้า

คนในเขตมอญของพม่ามีประสบการณ์ทำงานในไทยค่อนข้างมาก ผู้ปฏิบัติธรรม(โยคี)ในภาพท่านหนึ่งมีประสบการณ์ทำงานที่สมุทรสาครประมาณ 8 ปีจนพูดไทยได้คล่องมาก

...

อีกท่านหนึ่งเป็นกัปตันเรือ มีภรรยาเป็นคนงาว จังหวัดลำปาง ท่านบอกว่า ตั้งใจจะบวชภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

พระในวัดที่เคยทำงานในไทยมีอย่างน้อย 2 รูป พระท่านหนึ่งเป็นชาวทวายทางใต้ของพม่า เคยทำงานที่ระนอง พระอีกท่านหนึ่งทำงานที่ระนองก่อน ต่อมาย้ายไปทำงานที่ภูเก็ต ตอนนี้ญาติของท่านก็ทำงานที่ภูเก็ต

...

เป็นคนไทยก็ดีไปอย่างคือ ไปไหนในเขตมอญก็มีคนพูดไทยได้มาช่วยเหลือ หรือทักทายกันมากมาย ผู้เขียนเดินทางกลับไปย่างกุ้งทางรถไฟก็มีผู้หญิงชาวมอญที่ทำงานก่อสร้างในไทย ท่านกลับไปคลอดลูกที่เมืองพะโค(หงสาวดี)

พระในวัดท่านหนึ่งเป็นชาวสวีเดนก็มีประสบการณ์ศึกษาธัมมะในไทย โยคีชาวฝรั่งเศสก็มีประสบการณ์ปฏิบัติธรรมในไทยมากจนพูดไทยได้ชัดมากแบบ "ชัดเปรี๊ยะ" เลย ท่านบอกความตั้งใจไว้ว่า จะกลับมาบวชพระที่เมืองไทย เพราะชอบใจวัดแถวๆ ระยองที่เป็นวัดเล็กๆ สงบ และสะดวกในการปฏิบัติธรรม

...

ขอถือโอกาสนี้ขอบพระคุณ และขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนช่วยเหลือ หรือปฏิสันถาร(ทักทาย)ด้วยดีมาที่นี้

...

โยคีต่างชาติที่เข้าไปปฏิบัติธรรมในพม่าส่วนใหญ่จะสื่อสารกับพระอาจารย์ หรือสยาดอผ่านภาษาอังกฤษ พม่า หรือบาลีก็ได้

สยาดอหรือพระอาจารย์ใหญ่ที่สอนชาวต่างชาติที่วัดนี้คือ ท่านพระอาจารย์เรวตะ พระเถระที่นั่นกล่าวว่า ท่านเป็นลูกครึ่งพม่า-ไทย พูดไทยได้ ทว่า... เวลาสอนจะสอนผ่านภาษาอังกฤษกับพม่าเป็นหลัก เพื่อฝึกอบรมพระอาจารย์อีก 3 รูปให้มีประสบการณ์การสอนไปด้วย

...

ผู้เขียนสังเกตว่า เวลากำหนดลมหายใจหรือเจริญอานาปานสติ ลมที่กระทบปลายจมูก (บางคนกระทบที่ริมฝีปาก) จะกระทบจมูกแรงไม่เท่ากัน เนื่องจากจมูกคนเราด้านซ้ายกับด้านขวาส่วนใหญ่มีขนาดไม่เท่ากัน

นอกจากนั้นเวลาเป็นหวัด หรือถ้าเป็นภูมิแพ้... เยื่อบุด้านในโพรงจมูกคนเรามักจะบวมมากคราวละ 1 ข้าง ขวาบ้าง... ซ้ายบ้าง สลับกันไป

...

การศึกษาก่อนหน้านี้ทำด้วยเครื่องตรวจสนามแม่เหล็ก-วิทยุ (MRI) พบว่า เยื่อบุจมูกคนเรามีจังหวะเวลาในการบวม และยุบบวมเป็นพักๆ ช่วงหนึ่งๆ กินเวลาหลายชั่วโมง (รอบหนึ่งๆ ประมาณ 4-5 ชั่วโมง)

วิธีสังเกตง่ายๆ คือ เวลาเป็นหวัด... จมูกของเรามักจะอุดตันคราวละ 1 ข้าง หายใจโล่งข้างเดียว

...

เมื่อกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์เรวตะ... ท่านกล่าวว่า คนเราส่วนใหญ่จะหายใจผ่านจมูก 2 ข้างแรงไม่เท่ากัน บางคราวแรงทางขวา บางคราวแรงทางซ้าย

หลักการนี้จะช่วยในการกำหนดลมหายใจได้มาก เพราะถ้าใส่ใจว่า ตอนนี้ลมผ่านจมูกข้างไหนมาก ข้างไหนน้อย... มักจะกำหนดลมหายใจได้ดีขึ้น ไม่ค่อยหลุด หรือหลับง่าย

...

คนที่มีโรคบางอย่าง เช่น เนื้องอกในโพรงจมูก ภูมิแพ้ ฯลฯ อาจจะหายใจหนักไปด้านเดียว (ซ้ายหรือขวา)

ก่อนพิจารณาเรื่องนี้... ผู้เขียนมักจะกำหนดลมหายใจไม่ค่อยได้นาน กำหนดไปๆ มักจะ "หลุด (รับรู้ไม่ได้ว่า มีหรือไม่มี)" หรือ "หลับ" ไปบ่อย

...

เมื่อกำหนดลมหายใจ และตั้งใจพิจารณาการกระทบสัมผัสว่า เวลานี้ลมหายใจหนักไปทางซ้าย หรือทางขวา... พบว่า ลมหายใจหลุดน้อยลง กำหนดได้มากขึ้น

เรียนเสนอให้ท่านผู้อ่านที่สนใจจะอบรม เจริญอานาปานสติ หรือกำหนดลมหายใจลองนำวิธีนี้ไปพิจารณาดู

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีโอกาสอบรม เจริญอานาปานสติ หรือกำหนดลมหายใจได้ดีต่อไป และขอกราบอนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

...

ที่มา

  • With high respect to Sayadaw Revata > Pa Auk Tawya Forest Monastery (Meditation Centre). Moulmein. Mon state. Myanmar. > [ Click ] , [ Click ] , [ Click ] , [ Click ] > July 25, 2008.
  • กราบนมัสการ และขอบพระคุณ > สยาดอเรวตะ (ท่านพระอาจารย์เรวตะ) วัดป่าพะเอ๊าะห์ ตอย่า เมาะละแหม่ง รัฐมอญ สหภาพพม่า. > 15-21 กรกฎาคม 2551.
  • กราบขอบพระคุณพระอาจารย์อมร และขอบคุณคุณก้องจากชัยภูมิ.
  • ขอขอบคุณ > คุณท็อป ร้านอาหาร 'Sabai Sabai' ("สบาย สบาย" ของไทย พม่าออกเสียง "สบ๊าย สบาย") ย่างกุ้ง สหภาพพม่า. ผู้เอื้อเฟื้ออาหาร + ศาลาที่พัก + ที่อาบน้ำ (ต้องนุ่งโสร่งไปอาบที่บ่อ ไม่ใช่ห้องน้ำ) > 14 กรกฎาคม 2551.
  • ขอขอบคุณ > อาแปะ อุปัฏฐากพระอาจารย์อมรชาวพม่า อดีตผู้ใช้แรงงานก่อสร้างในไทย 14 ปี (ท่านพูดไทยได้) เมืองเมาะละแหม่ง รัฐมอญ สหภาพพม่า > ผู้เอื้อเฟื้อที่พัก ที่อาบน้ำ (ต้องนุ่งโสร่งไปอาบที่บ่อ ไม่ใช่ห้องน้ำ) ยานพาหนะ อาหาร และน้ำตาล.
หมายเลขบันทึก: 197328เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2008 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณสำหรับเทคนิคครับอาจารย์ ช่วงที่ผ่านมานี้ผมสนใจเรื่องสมาธิมากขึ้นครับ แต่ยังเป็นแค่ผู้เรียนรู้เบื้องต้นเท่านั้นครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ธวัชชัย...

  • ในเรื่องสมาธินี่... ผมเองก็เป็น "มือใหม่" เช่นกัน

ที่สนใจไปถึงเมืองเมาะละแหม่ง เขตมอญของพม่าก็เพราะจะได้ถือโอกาสเที่ยวไปด้วย

  • ชาวพม่านี่... ไปไหนหลายๆ ท่านจะพกลูกประคำไปด้วย ว่างขึ้นมาก็บริกรรมไป นับลูกประคำไป นับว่า ได้สมาธิด้วย ได้บุญด้วย
  • นี่เป็นการอยู่แบบพอเพียงของพม่า

ชาวพม่าท่านหนึ่งบอกว่า

  • คนพม่าไม่มีโอกาสไปเที่ยวไหน แถมส่วนใหญ่ยังยากจน
  • ทางเลือกที่พอทำได้คือ ไปไหว้พระเจดีย์ สวดมนต์ นับลูกประคำ ทำสมาธิ...

หลังจากนั้นก็กลับไปนอนที่บ้าน...

  • พม่ามีสำนวนว่า "บะมา เอเอ เซเซ... กเลมวย" หมายถึงชีวิตคนพม่าอยู่แบบสบายๆ (จนหน่อย + อยู่บ้านทุกคืน) เด็กคลอด (หมายถึงลูกดกไปหน่อยนา)

ภาพประกอบวันนี้จะไม่แสดงผล เนื่องจากลิ้งค์กับต้นฉบับใน OKnation ซึ่งปิดทำการ เพื่อเปลี่ยนคอมฯ แม่ข่าย (server) ชั่วคราว

GotoKnow ก็กำลังจะได้เพิ่มกำลังเครื่องแม่ข่ายเช่นเดียวกันครับ ตอนนี้เราได้ทุนสนับสนุนจาก สสส. จึงสามารถขยายกำลังในการพัฒนาได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงบริการไซต์อื่นๆ ที่เรากำลังพัฒนาขึ้นด้วยครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ธวัชชัย...

  • ขอแสดงความชื่นชมกับทีมงาน Gotoknow ทุกท่านครับ... สาธุ สาธุ สาธุ

พัฒนาการขององค์ความรู้ไทยในยุคอินเตอร์เน็ตเป็นไปอย่างรวดเร็วมากๆ

  • เมื่อประมาณ 10-12 ปีก่อน... ผมมองว่า อินเตอร์เน็ตไทยคงจะไปไม่ถึงไหน เพราะบริการอินเตอร์เน็ตตอนนั้นช้า และแพงมากๆ

ยุคก่อนเปิดเสรีด้านโทรศัพท์... เบอร์โทรศัพท์หายากมากๆ ซื้อขายกันถึงเบอร์ละ 60,000-70,000 บาท (ราคาแพงพอๆ กับราคา SIM card ในพม่าปีนี้)

  • พอเปิดให้เอกชนเข้ามาทำโทรศัพท์แข่ง... ปรากฏว่า บริการดีขึ้นมาก
  • ทว่า... กว่าผมจะขอติดตั้งโทรศัพท์จาก TOT ลำปางได้ก็กินเวลานานนับเป็นปีๆ
  • ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ติดตั้งโทรศัพท์เลยครับ เพียงแต่ได้ข่าวดีว่า ให้ไปจ่ายสตางค์ก่อน คิดว่า คงจะได้ติดตั้ง

Gotoknow...

  • Gotoknow เป็นองค์กรอิสระที่พัฒนาไปเร็วที่สุดในบรรดาองค์กรอิสระที่รัฐให้การสนับสนุนในรอบ 46 ปีทีเดียวครับ...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท