รายงานการสรุปผล 7 จังหวัด การติดตามการออกเสียงประชามติเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550


โดยรวมแล้วหน่วยงานราชการมีบทบาทมาก ในขณะที่ผู้นำท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทน้อยที่สุด ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับการที่รัฐบาล คมช. ยังไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบของพรรคการเมือง เช่นเดียวกับนักการเมืองที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวมาก เพราะอยู่ในระหว่างการควบคุมบทบาททางการเมือง แต่ผู้วิจัยก็กล่าวสรุปไว้ว่า นักการเมืองมีบทบาทต่อการตัดสินใจของประชาชน ในส่วนขององค์กรเอกชนผู้วิจัยอภิปรายว่ามีบทบาทน้อยในการสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ฯ เพราะเห็นว่าหากรับรัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นการสนับสนุนรัฐบาลคมช. หรือร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ที่ออกมาจากการร่างของเผด็จการ

รายงานการสรุปผล 7 จังหวัด การติดตามการออกเสียงประชามติเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

                                                                                   

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ ประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) โดยพลเมืองทุกคนที่มีสิทธิทางการเมืองเข้ามามีส่วนในกระบวนการนิติบัญญัติ และประชาธิปไตยแบบผู้แทน (representative democracy) คือพลเมืองเลือกตัวแทนของตนไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ แต่การที่จะให้ประชาชนทุกคนเข้าร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติแบบประชาธิปไตยทางตรง เป็นสิ่งที่ทำได้ยากในปัจจุบัน ในทางปฏิบัติแล้วรัฐต่าง ๆ จึงเลือกรูปแบบประชาธิปไตยแบบผู้แทน โดยผ่านการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี ข้อดีของประชาธิปไตยทางตรงก็คือประชาชนทุกคนเข้าร่วมในกระบวนการนิติบัญญัติโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน ประเทศประชาธิปไตยยุโรปจึงมักนำประชาธิปไตยทางตรงมาใช้ในกรณีที่จะต้องมีการตัดสินตกลงใจในเรื่องสำคัญ ๆ ส่วนการลงประชามติเกี่ยวกับการให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญ ได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในมลรัฐ Massachusetts ในปี ค.ศ. 1778 และเขตปกครองท้องถิ่นในสวิสเซอร์แลนด์  ส่วนในประเทศไทย มีการนำประชาธิปไตยทางตรงมาใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 ในการออกเสียงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติจึงเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองการปกครองที่สำคัญ ควรได้รับการศึกษา เพื่อวิเคราะห์ถึงแนวทางการพัฒนาปรับปรุง  เพื่อเป็นการส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งยั่งยืน ในการนี้สถาบันพระปกเกล้า และเครือข่ายนักวิชาการจาก 7 จังหวัด จึงได้ทำการวิจัยติดตามผลการออกเสียงประชามติเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการคือ

๑)   เพื่อศึกษาบรรยากาศทั่วไป ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และความเคลื่อนไหวของประชาชนต่อการออกเสียงประชามติเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

๒)   เพื่อศึกษาถึงประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่เป็นเหตุให้ประชาชนตัดสินใจออกเสียงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

๓)   เพื่อศึกษาถึงปัจจัยสำคัญที่เป็นเหตุให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิและออกเสียงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

๔)   เพื่อศึกษาถึงบทบาทและการเคลื่อนไหวในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติของหน่วยงานภาครัฐ (เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และองค์กรเอกชน (เช่น พรรคการเมืองและนักการเมืองในพื้นที่) รวมถึงองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

๕)   เสนอแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการออกเสียงประชามติให้เป็นกระบวนการที่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยของประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน

จากการศึกษารายงานการวิจัยทั้ง 7 จังหวัด มีประเด็นหลักและข้อสังเกตดังต่อไปนี้คือ

1.   ข้อมูลทั่วไป จังหวัดตัวอย่างในการทำวิจัยถูกแบ่งออกไปทุกภูมิภาคของประเทศไทย  ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา สุรินทร์ อุตรดิตถ์ ตรัง เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยผู้วิจัยตระหนักถึงความแตกต่างทางบริบททางการเมือง ได้แก่ลักษณะพิเศษทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และพฤติกรรมทางการเมืองของประชาชนของแต่ละจังหวัด จึงได้มีการเปิดกว้างให้กับการกำหนดรูปแบบการทำวิจัย แต่เพื่อเอกภาพในการทำวิจัย ได้กำหนดให้คณะผู้วิจัยในแต่ละจังหวัดตอบคำถามตามวัตถุประสงค์ทั้ง 5 ข้อข้างต้น โดยเป็นโจทย์ตั้งต้นให้ผู้วิจัยนำไปพัฒนาเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละจังหวัด โดยผู้วิจัยสามารถกำหนดสมมติฐาน คำถามในการวิจัย แบบสอบถาม ขอบเขต และระเบียบวิธีการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลได้เองตามความเหมาะสม

2.   ผลตามวัตถุประสงค์

2.1 จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้วิจัยจากจังหวัดเพชรบูรณ์ทำการเก็บข้อมูลเป็นระยะ ๆ ทั้งหมด 4 ระยะ เปรียบเทียบก่อนและหลังการลงประชามติ เพื่อทำวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของประชากรที่มีต่อการทำประชามติ การทำวิจัยโดยใช้แบบสัมภาษณ์ สัมภาษณ์ประชาชนจำนวน 378 คน และเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการ จำนวน 234 คนและเป็นการพูดคุยกึ่งสัมภาษณ์กับผู้นำประชาชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อาสาสมัคร และคณะกรรมการประจำหน่วยลงประชามติ จำนวนหนึ่งโดยผลของการศึกษาสามารถบรรยายตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

2.1.1 บรรยากาศ ในช่วง 4 สัปดาห์แรก ประชาชนยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงประชามติ แต่ภายหลังการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการมีประชามติประชาชนเริ่มรับรู้มากขึ้น และในวันที่ลงประชามติสถานีวิทยุต่าง ๆ มีข่าวแสดงความเห็นมากขึ้น แต่ผู้วิจัยพบว่าบรรยากาศในวันลงคะแนนมีความสงบเงียบ ประชาชนไม่ตื่นตัวมากนักต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปที่มีการตื่นตัวกันอย่างกว้างขวาง

2.1.2 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ ในระยะเริ่มแรกประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ไม่ทราบประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ แม้ภายหลังการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ ประชาชนก็ยังไม่ทราบประเด็นในรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งถึงในวันที่ลงประชามติ ประชาชนก็ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ และหลังการลงประชามติประชาชนก็ยังไม่สนใจ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสรุปว่าประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่ได้มีบทบาทในการผลักดันให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ

2.1.3 ปัจจัยที่ทำให้มาออกเสียง ฯ ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาใช้เสียงตามคำสั่งและการผลักดันของผู้นำหรือหัวหน้าหน่วยงาน ส่วนปัจจัยที่ทำให้ไม่ไปก็คือ ความที่ประชาชนไม่เข้าใจในร่าง ฯ และประชาชนส่วนใหญ่มองว่าการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการแข่งขันทางการเมือง           

2.1.4 การเคลื่อนไหวของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่น ๆ  หน่วยงานภาครัฐมีบทบาทมากที่สุดในการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบข้อที่ 1 ที่ว่าบรรยากาศของการเคลื่อนไหวของประชาชนเกิดเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนการเลือกตั้ง และการประชาสัมพันธ์ภาครัฐเพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อนการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน และสอดคล้องกับการวิจัยของทั้ง 7 จังหวัดที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับการมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทย มีบทบาทนำในการรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์

2.1.5 แนวทางในการปรับปรุง ผู้วิจัยเสนอว่า ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในภาษากฎหมายซึ่งยากที่จะทำความเข้าใจ ภาครัฐจึงน่าจะทำให้สาระและรูปแบบของการเข้าถึงประเด็นในรัฐธรรมนูญทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ควรเปิดเวทีให้ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาแสดงความเห็นร่วมกัน ใช้สื่อให้หลากหลายมากขึ้นและการประชาสัมพันธ์ไม่ควรเน้นแค่การไปใช้สิทธิ์ แต่ควรมีการอธิบายเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ

2.2 จังหวัดนครราชสีมา ใช้แบบสอบถามเพื่อศึกษาข้อมูลทุกข้อจำนวน 700 คน  ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่และร้อยละ และคำถามปลายเปิด ผลของการหาข้อมูลสรุปตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

2.2.1 บรรยากาศ  ผู้วิจัยบรรยายว่า บรรยากาศของการลงประชามติในจังหวัดนครราชสีมาเกิดขึ้นจากการประชาสัมพันธ์ของหน่วยราชการซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ที่การเคลื่อนไหวการลงประชามติเกิดจากการผลักดันของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนข้อมูลจากแบบสอบถามพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 40.1) มีความเห็นเฉย ๆ ต่อการเคลื่อนไหวให้รับหรือไม่ให้รับรัฐธรรมนูญคน ในขณะที่คนเห็นด้วยมาก และมากที่สุดมองว่า เป็นวิถีทางของประชาธิปไตย (ร้อยละ 35.6) ส่วนประชาชนกลุ่มน้อยเห็นว่าการเคลื่อนไหวทำให้เกิดความวุ่นวาย (ร้อยละ 24.3) และส่วนใหญ่มีความเห็นด้วยกับการให้มีประชามติ

2.2.2 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ  ผู้วิจัยได้ยกประเด็นในรัฐธรรมนูญที่เป็นข้อถกเถียงเป็นประเด็นตัวอย่างที่ให้ประชาชนแสดงความเห็นคือ 

1.   พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
2.   การกำหนดจำนวนประชาชนในการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมือง
3.   การกำหนดให้สมาชิกสภามีจำนวน 480 คน
4.   การกำหนดให้สส.มาจากการเลือกตั้งจำนวน 400 คนและจากแบบสัดส่วนจำนวน 80 คน
5.   การกำหนดให้มีวุฒิสภา 150 คน
6.   การกำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนนอกนั้นมาจากการสรรหา
7.   การกำหนดให้รัฐให้การศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี
8.   การกำหนดให้ประชาชนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนมีสิทธิ์เขาชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพรบ.
9.   การกำหนดให้ประชาชนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนเข้าชื่อถอดถอนบุคคลตามมาตรา 270 ออกจากตำแหน่ง
10. ความเห็นอื่น ๆ

การระบุประเด็นในรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้น ถือเป็นการให้ความรู้กับประชาชนไปในตัว และทำให้เห็นความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ แต่ความเห็นนั้นไม่ได้วิเคราะห์โยงกับความเห็นเรื่องการลงประชามติ หรือวิเคราะห์โยงกับประเด็นที่ว่าประชาชนจะไปลงประชามติหรือไม่ ดังนั้นด้วยความเห็นส่วนตัวของผู้สรุปรายงาน ฯ เห็นว่าผู้วิจัยไม่ได้ตอบคำถามในวัตถุประสงค์ข้อนี้ เพียงแต่ให้คำตอบว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไรต่อประเด็นในตัวรัฐธรรมนูญ

2.2.3 ปัจจัยที่ทำให้มาออกเสียง ฯ  ในแบบสอบถาม มีคำถามเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้มาออกเสียงอยู่  2 ข้อ ซึ่งข้อ 1 เป็นเรื่องคำถามว่า “ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อม(เป็น)ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ”  ซึ่งเป็นเรื่องน่าจะอยู่ในส่วนที่ 1 (เรื่องบรรยากาศ) ส่วนคำถามที่ 2 มีความเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ข้อนี้ คือ ถามเรื่องปัจจัยที่ทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิและออกเสียงประชามตินั้น แต่มีข้อสงสัยคือเป็นคำถามปลายเปิด ซึ่งผู้วิจัยได้สรุปรายงานคำตอบไว้ดังต่อไปนี้

-     เป็นหน้าที่และสิทธิ
-     แสดงถึงพลังประชาธิปไตย
-     ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ
-     ต้องการให้มีการเลือกตั้ง
-     ต้องการประชาธิปไตย
-     ไม่ต้องการเสียสิทธิ

ในเมื่อเป็นคำตอบที่ได้จากคำถามปลายเปิด จึงทำให้ไม่เห็นความถี่ของคำตอบ จึงไม่แน่ใจว่าคำตอบที่ได้เรียงตามลำดับความสำคัญของประเด็นหรือไม่ และบางข้อก็มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น ข้อ 1 เป็นหน้าที่และสิทธิ์ กับข้อ 6 ไม่ต้องการเสียสิทธิ์ เป็นต้น

 2.2.4 การเคลื่อนไหวของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่น ๆ  เช่นเดียวกับจังหวัดเพชรบูรณ์  ในจังหวัดนครราชสีมาหน่วยงานภาครัฐมีบทบาทเด่นชัดที่สุดในการประชาสัมพันธ์ โดยข้าราชการในจังหวัดเริ่มดำเนินการประชาสัมพันธ์วันที่ 1 สิงหาม โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ การจัดสาธิตการลงคะแนน แจกเอกสาร สรุปรายละเอียด จัดอบรมครู โดยการประชาสัมพันธ์ทำโดยผ่านหน่วยงานรัฐเป็นส่วนใหญ่คือ แจกหนังสือร่างรัฐธรรมนูญ  รถประชาสัมพันธ์ จัดประชุมชี้แจง แจกแผ่นพับ ป้ายโฆษณา เดินรณรงค์ และผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

สำหรับหน่วยงานเอกชน ผู้วิจัยสรุปว่าให้ความร่วมมือโดยการอนุญาตให้พนักงานออกเสียงประชามติ ขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์ ส่วนนักการเมืองเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวให้รับและไม่ให้รับส่วนใหญ่เป็นในนามส่วนตัว โดยไม่ค่อยเป็นในนามพรรค เพราะอยู่ระหว่างข้อบังคับไม่ให้พรรคการออกมาเมืองเคลื่อนไหวทางการเมือง

 2.2.5 แนวทางในการปรับปรุง ผู้ศึกษาวิจัยเสนอเพื่อพัฒนาการทำประชามติว่า ต้องให้เวลาประชาชนทำความเข้าใจประเด็นต่างๆ  ในร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ให้ลึกซึ้งและกว้างขวางกว่านี้ โดยใช้ประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย เพราะการแจกร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ไปให้ประชาชนอ่าน อาจจะไม่ใช่วิธีการเดียวที่เหมาะสม ทั้งนี้ควรให้ความรู้โดยการสรุปข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ฯ เปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ควรมีการสาธิตการลงประชามติ และชี้แจงแสดงความสำคัญของการลงประชามติ โดยให้เจาะจงลงประเด็นที่ใกล้ตัวประชาชน แต่คำตอบที่ได้ในวัตถุประสงค์ข้อนี้ก็เช่นเดียวกับข้อที่ 4 คือ เป็นคำตอบที่ได้จากแบบสอบถามปลายเปิด ทำให้ไม่เห็นความถี่ของการให้ความเห็น

2.3 จังหวัดสุรินทร์ ในรายงานการวิจัยได้ระบุว่าสุรินทร์ เป็นจังหวัดที่มีผู้รับร่างรัฐธรรมนูญน้อยกว่าผู้ไม่รับร่าง โดยรับร่างเพียงร้อยละ 36. 55 และไม่รับร่างร้อยละ 61 และเป็นจังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิน้อยที่สุดในประเทศ รายงานการวิจัยฉบับนี้ใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง 1990 คน และสัมภาษณ์เจาะลึกรายบุคคล  ผู้วิจัยได้เสนอความเห็นไว้ว่า จังหวัดสุรินทร์เป็นเขตพื้นที่ที่มีความน่าสนใจที่จะวิเคราะห์ว่า เพราะเหตุใดจึงมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์ค่อนข้างน้อย และปัจจัยอะไรที่ทำให้ประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์ส่วนใหญ่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

2.3.1 บรรยากาศ โดยรวมประชาชนมีความสนใจการลงประชามติค่อนข้างน้อย  โดยการวิเคราะห์นั้นทำแบบตัวแปรคู่คือ  วิเคราะห์เรื่องการไปหรือไม่ไปออกเสียงร่วมกับภูมิลำเนาของประชากร แต่ผลที่ได้ไม่ได้ระบุค่านัยยะสำคัญทางสถิติจึงไม่ทราบผลว่าการที่ประชาชนจำนวนมากไม่ตอบคำถามนั้น มีความเกี่ยวข้องกับภูมิลำเนาหรือไม่ เช่นเดียวกับการแสดงความคิดเห็นในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิเคราะห์ร่วมกับตัวแปรด้านภูมิลำเนา ที่ไม่ได้ระบุค่านัยยะสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ในตารางที่แสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่มีต่อบทบาทของหน่วยงานต่าง ๆ ที่สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการไปออกเสียงประชามตินั้น พบว่า กกต. มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าหน่วยงานอื่น ๆ ทุกข้อ ในการกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศการออกเสียงประชามติ (หน้า 56) ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าจะนำมาวิเคราะห์โยงกันได้แต่ผู้วิจัยไม่ได้อภิปรายประเด็นตรงนี้ ทั้งที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานราชการในวัตถุประสงค์ข้อที่ 4

2.3.2   ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ  ผู้ทำการวิจัยสรุปว่า ประเด็นในร่าง ฯ ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจลงประชามติ เพราะผู้ตอบแบบสอบถามจะเว้นว่างไม่ตอบ  แต่ในส่วนของการสัมภาษณ์เชิงลึกจะได้คำตอบ โดยผู้วิจัยได้สรุปว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ 

2.3.3 ปัจจัยที่ทำให้มาออกเสียง ฯ ผู้วิจัยรายงานว่า ปัจจัยส่วนตัว ความเห็นส่วนตัว ปัจจัยทางสังคม ความผูกพัน ความชอบ ระบบอุปถัมภ์ และพรรคการเมืองในพื้นที่มีบทบาทต่อการตัดสินใจต่อประชาชน มีประเด็นเรื่อง อยากให้บ้านเมืองได้เลือกตั้ง และผู้วิจัยแสดงความเห็นว่าความผูกพันในพรรคการเมืองมีบทบาทในการลงประชามติ มากกว่าประเด็นในรัฐธรรมนูญ  

2.3.4 การเคลื่อนไหวของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่น ๆ   ผู้วิจัยสรุปว่ากกต. ทำงานตามแผนงาน แต่การรับรู้ประชาชนไม่ทั่วถึงและไม่เข้าใจ มีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบปกติคือ โปสเตอร์ แผ่นพับ วิทยุชุมชน วิทยุท้องถิ่น การอภิปราย เวที อบรมกลุ่ม ต่อประเด็นเรื่องสื่อโดยรวม คำตอบที่ได้จากแบบสอบถามพบว่าประชาชนทราบเรื่องการออกเสียงประชามติผ่านทางวิทยุมากที่สุด รองมาด้วยโทรทัศน์ และอันดับสุดท้ายคือ เวทีวิชาการ มีค่าเฉลี่ย 2.10 ซึ่งน้อยที่สุด

โดยรวมแล้วหน่วยงานราชการมีบทบาทมาก ในขณะที่ผู้นำท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทน้อยที่สุด ซึ่งน่าจะสัมพันธ์กับการที่รัฐบาล คมช. ยังไม่อนุญาตให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบของพรรคการเมือง  เช่นเดียวกับนักการเมืองที่ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวมาก เพราะอยู่ในระหว่างการควบคุมบทบาททางการเมือง แต่ผู้วิจัยก็กล่าวสรุปไว้ว่า นักการเมืองมีบทบาทต่อการตัดสินใจของประชาชน ในส่วนขององค์กรเอกชนผู้วิจัยอภิปรายว่ามีบทบาทน้อยในการสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ฯ  เพราะเห็นว่าหากรับรัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นการสนับสนุนรัฐบาลคมช. หรือร่างรัฐธรรมนูญ ฯ ที่ออกมาจากการร่างของเผด็จการ

2.3.6  แนวทางในการปรับปรุง  แนวทางในการปรับปรุงมาจากคำตอบในแบบสอบถามแบบปลายเปิด ว่าหน่วยงานราชการว่ายังทำงานในลักษณะตั้งรับอยู่มากเกินไป โดยคณะร่างรัฐธรรมนูญต้องศึกษาประเทศเพื่อนบ้าน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากระดับรัฐส่วนท้องถิ่น  ให้ความรู้กับประชาชนอย่างง่าย ๆ และนำเสนอว่าสื่อวิทยุจะเหมาะกับประชาชนมากกว่าหนังสือเป็นเล่ม ๆ และสรุปข้อเสนอเป็นข้อๆ ดังนี้ คือ 1 ให้ความรู้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง 2 สร้างกระบวนการร่วมกันระหว่างรัฐ ประชาชน และเครือข่ายต่าง ๆ  3 ประสานกับองค์กรส่วนท้องถิ่น 4 เรียกร้องนักการเมืองมีความจริงใจ 5 สนับสนุนองค์กรเอกชนให้มากขึ้น และ6 ปลูกฝังความสำคัญของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

2.4 จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้วิจัยของจังหวัดอุตรถิตถ์ใช้วิธีเทคนิควิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลหลากหลาย ขึ้นอยู่กับลักษณะ (Character) ของข้อมูลที่ต้องการเก็บ คือเป็นการใช้แบบสอบถามเมื่อต้องเก็บข้อมูลการศึกษาความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก ประเด็นในรัฐธรรมนูญ และปัจจัยที่เป็นเหตุให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ การใช้วิธีการสังเกต และการสัมภาษณ์ เพื่อเก็บข้อมูลบรรยากาศทั่วไป การศึกษาบทบาทของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้การสัมภาษณ์และการสังเกต

อนึ่ง ในชุดรายงานการวิจัยนั้น ผู้วิจัยไม่ได้แนบตัวอย่างแบบสอบถามมาให้ แต่จากการอ่านผลการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้เข้าใจว่าแบบสอบถามเป็นแบบปลายปิด เนื่องจากสามารถจัดอันดับการตอบได้

2.4.1 บรรยากาศ  การเก็บข้อมูลด้านบรรยากาศทั่วไป ใช้การเก็บข้อมูลโดยการสังเกต ผู้วิจัยสรุปผลว่าในระยะแรก ประชาชนยังไม่มีความตื่นตัวในเรื่องการลงประชามติ แต่เมื่อระยะเวลาใกล้การลงประชามติมากขึ้น ประชาชนก็มีความตื่นตัวขึ้นมา

ในส่วนของความรู้ความเข้าใจที่เก็บจากแบบสอบถามนั้น ผู้ศึกษาตั้งประเด็นการถามไว้ 5 ประเด็นในแบบสอบถามเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติ ได้แก่ ประชาชนทราบหรือไม่ว่าวันที่ 19 สิงหาคม 2550 เป็นวันลงประชามติ, การลงประชามติเป็นสิทธิหรือหน้าที่, การไม่ไปลงประชามติเป็นความผิดทางกฎหมายหรือไม่, การลงประชามติใช้สัญลักษณ์ใดในการออกเสียง, และเวลาในการลงประชามติ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ตอบถูก แสดงว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเลือกตั้ง

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ พบว่าประชาชนที่ไม่เคยใช้ประเด็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญพูดคุยกับครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือคนรู้จัก มีจำนวนร้อยละ 29.9 ซึ่งน้อยกว่าคนที่เคยนำประเด็นการลงประชามติไปพูดคุย และสอดคล้องกับความรู้สึกเห็นด้วยกับการลงประชามติ และความคาดหมายว่าจะออกไปใช้เสียงลงประชามติซึ่งสูงถึงร้อยละ 73.8

2.4.2 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ   ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจเห็นชอบเป็นอันดับหนึ่งคือ ประชาชนตรวจสอบนักการเมืองได้ ส่วนอันดับสองคือ เรื่องการกำหนดคุณธรรม จริยธรรม และบทลงโทษนักการเมืองทุกระดับ ซึ่งได้ระดับเดียวกับการกำหนดให้รัฐจัดการศึกษาภาคบังคับฟรี 12 ปี ส่วนประเด็นหลักที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างตัดสินใจไม่เห็นชอบได้แก่ การไม่กำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และการไม่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรี 

2.4.3 ปัจจัยที่ทำให้มาออกเสียง ฯ  ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนออกไปใช้สิทธินั้น พบว่าประชาชนต้องการให้บ้านเมืองมีความสงบสุข และความต้องการที่ให้มีการเลือกตั้งใหม่ มากที่สุด ส่วนปัจจัยที่เป็นเหตุให้ประชาชนไม่ออกไปใช้สิทธิ์อันดับหนึ่งได้แก่ ความเบื่อหน่ายการเมือง และที่มาของรัฐธรรมนูญ ที่มาจากเผด็จการ

2.4.4 การเคลื่อนไหวของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่น ๆ  ผู้วิจัยสรุปว่าหน่วยงานราชการในสังกัดกลุ่มงานปกครองจังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งในระดับอำเภอ หมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการรณรงค์การลงประชามติมากกว่า กกต. ซึ่งเป็นเจ้าภาพใหญ่ ในส่วนของรัฐวิสาหกิจและองค์กรเอกชน ได้มีการทำป้ายรณรงค์ เชิญชวนประชาชนให้ลงประชามติ ส่วนภาคการเมืองไม่มีการเคลื่อนไหวเนื่องจากถูกควบคุมจากทหารในพื้นที่ จะมีการเคลื่อนไหวอยู่บ้างในเขตของ สส. เขต 3 ที่จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ในเชิงสมานฉันท์

2.4.5 แนวทางในการปรับปรุง ผู้วิจัยเสนอว่า ควรมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่อง การลงมติ โดยให้ความหมายกับคำว่า รับร่าง หรือ ไม่รับร่าง ว่ามีผลต่อประชาชนอย่างไร, ร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาและรูปเล่มที่ไม่เหมาะสม ควรเร่งแจกคู่มือและร่างสำหรับประชาชนก่อนการลงประชามติ, ควรรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลงมติ เพิ่มการประชาสัมพันธ์แบบเคาะประตูบ้าน และควรมีรางวัลสำหรับหมู่บ้านที่ไปใช้สิทธิมากที่สุด

2.5 จังหวัดตรัง ผู้วิจัยจังหวัดตรัง มีการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยในการวิจัยเชิงคุณภาพคือการสัมภาษณ์เจาะลึก โดยมีแนวคำถามในการสัมภาษณ์ ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้แบบสอบถามและมีการรายงานข้อมูลโดยใช้ความถี่และร้อยละ

2.5.1 บรรยากาศ ผู้วิจัยรวบรวมบรรยากาศของการตื่นตัวของประชาชนจากคำสัมภาษณ์ และพบว่าผู้ให้สัมภาษณ์เกือบทั้งหมดกล่าวว่าประชาชนในจังหวัดตรังมีความตื่นตัวต่อการออกเสียงลงประชามติ โดยมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญได้ประมาณร้อยละ 30 ความรู้ความเข้าใจสวนใหญ่เป็นการรับรู้ผ่านสื่อมวลชน ประชาชนส่วนใหญ่ยังอ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่เข้าใจ ผู้ให้สัมภาษณ์มีความเห็นในส่วนนี้ว่าการอ่านร่างรัฐธรรมนูญให้เข้าใจต้องติดตามข่าวสารและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในอดีต ผู้ให้สัมภาษณ์บางคนมองว่าการเผยแพร่ข้อมูลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมีความโน้มเอียงไปทางภาครัฐ

คำตอบของผู้ให้สัมภาษณ์ข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลจากแบบสอบถาม ที่มีประชาชนร้อยละ 99.37 ที่ทราบเรื่องการลงประชามติ โดยรับรู้จากทางโทรทัศน์มากที่สุด รองลงมาคือวิทยุ

2.5.2 ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญ   จากการสัมภาษณ์ประเด็นในร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจเห็นชอบแบ่งคำตอบออกได้เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกมีความเห็นชัดเจนว่ามีประเด็นใดบ้างที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ กลุ่มที่สองบอกได้ว่าประเด็นใดหรือมาตราใดที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบแต่ไม่ได้ติดใจ และกลุ่มที่สามบอกไม่ได้หรือยังไม่แน่ใจ เพราะยังไม่ได้ศึกษา

จากการประมวลการให้สัมภาษณ์ ผู้วิจัยนำเสนอข้อสรุปว่า ประเด็นที่ประชาชนเห็นด้วยคือการลดบทบาทรัฐบาลและเพิ่มบทบาทของประชาชน, การเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน, การเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ง่ายขึ้น และการเปิดโอกาสให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจง่ายขึ้น ส่วนประเด็นที่ไม่เห็นด้วยคือความที่รัฐธรรมนูญเป็นอมาตยาธิปไตยสูง ซึ่งดูได้จาก ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา, ประเด็นมาตรา 309 (ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองคมช.), ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการสืบอำนาจของ คมช. และบทบาทขององค์กรตุลาการในองค์กรอิสระที่มีมากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา

ในส่วนของการอภิปราย ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าประชาชนในจังหวัดตรังส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มากนักทั้ง ๆ ที่ประชาชนมีความตื่นตัวในทางการเมืองค่อนข้างสูง  แต่ผู้วิจัยไม่ได้อธิบายเหตุผลเพิ่มเติมให้กับข้อสังเกตนี้

2.5.3 ปัจจัยที่ทำให้มาออกเสียง ฯ  ปัจจัยที่ทำให้ประชาชนออกไปใช้สิทธินั้น ผู้ให้สัมภาษณ์แสดงความเห็นว่าเพราะประชาชนชาวจังหวัดตรงออกไปลงประชามติเพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ พื้นฐานของภาคประชาสังคม และค่านิยมทางการเมือง ตามลำดับ ส่วนปัจจัยที่ทำให้ประชาชนไม่ไปออกเสียงประชามติได้แก่ เหตุผลส่วนตัว การประชาสัมพันธ์ เนื้อหารัฐธรรมนูญ การที่ประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง และภูมิอากาศ

ผลที่ได้จากการการสัมภาษณ์ข้างต้นนั้น พบว่าไม่สัมพันธ์กับผลจากการตอบบแบบสอบถาม โดยประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่าไปลงประชามติเพราะต้องการรักษาสิทธิ์ทางรัฐธรรมนูญ (ร้อยละ 73.58) รองลงมาคือเป็นหน้าที่ (ร้อยละ 60.38) ส่วนเรื่องของการแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมืองเป็นอันดับ 3 เท่านั้น (ร้อยละ 30.82) แต่ประชาชนมีความเห็นต่อปัจจัยที่มีผลต่อการไม่ลงประชามติค่อนข้างน้อย คือ เบื่อการเมือง (ร้อยละ1.89) รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดีอยู่แล้ว (ร้อยละ 0.63) ไม่ได้แก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง (ร้อยละ 0.63) และไม่เห็นด้วยกับประชาชน (ร้อยละ 0.63) แต่ผู้วิจัยไม่ได้อธิบายหรือเชื่อมโยงผลที่ขัดกันจากระเบียบวิธีวิจัยที่ต่างกันสองประเภทนี้

2.5.4 การเคลื่อนไหวของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนอื่น ๆ  ผู้วิจัยแบ่งสื่อประเภทต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติ โดยในหมวดของสื่อสิ่งพิมพ์ ประชาชนรับข้อมูลของรัฐธรรมนูญจากร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง รองลงมาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ หนังสือพิมพ์ และประชาชนประมาณ หนึ่งในสามรับข่าวสารจากแผ่นป้าย แผ่นผ้า ใบปลิว แผ่นพับ และโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่รับข้อมูลจากโทรทัศน์ รองลงมาคือวิทยุ และประชาชนน้อยกว่าหนึ่งในสิบรับทราบข่าวสารจากอินเตอร์เน็ต

ในส่วนของสื่อบุคคล พบว่าประชาชนประมาณ 1 ใน 5 รับทราบข่าวการลงประชามติจากเจ้าหน้าที่จังหวัดและอำเภอ ประชาชนมากกว่าหนึ่งในสามรับทราบข่าวสารจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ องค์การปกครองส่วนตำบล สำหรับพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลต่อประชาชนในจังหวัดตรังคือ พรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้รวบรวมบทบาทของสื่ออื่น ๆ ได้แก่ สภากาแฟ และเครื่องบินเล็กด้วย

สำหรับบทบาทของกลุ่มต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการรณรงค์นั้น ผู้วิจัยได้สรุปบทบาทของสภาร่างรัฐธรรมนูญ, กกต. จังหวัด, กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่หลักในการรับนโยบายจากส่วนกลาง, กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, องค์กรพัฒนาเอกชน, พรรคการเมือง โดยพรรคประธิปัตย์ มีหน้าที่กำหนดแนวทางในการลงประชามติ

2.5.5 แนวทางในการปรับปรุง  จากการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยได้แบ่งผู้มีแนวทางในการปรับปรุงเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีภาระหน้าที่โดยตรง ไม่มีความเห็นอะไรมากนักเกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงการออกเสียงประชามติเพราะเป็นการลงประชามติเป็นครั้งแรก ส่วนกลุ่มที่ไม่มีบทบาทโดยตรงมองว่าควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมากขึ้น โดยมีช่อง No vote และผู้ให้สัมภาษณ์ 2 คนมองว่าต้องมีการให้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย และความสำคัญของรัฐธรรมนูญ ต้องมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ และให้มีผู้นำในการปฏิบัติ อย่างไรก็ดีไม่มีการอภิปรายหรือวิพากษ์ความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มนี้

หมายเลขบันทึก: 197230เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2008 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมสนใจประเด็นพื้นที่ น่าจะครบทุกภาค แต่ถ้าเก็บข้อมูลใน 3 จังหวัดได้ น่าจะดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท