<p>ของเล่น คือ เพื่อนสนิทของเด็กทุกคน
ของเล่นจึงเป็นสื่อการเรียนรู้ืั้ดีที่สุดของเด็ก
ประเด็นอยู่ที่ว่าเขาจะ"เรียน"อะไรจากการเล่นได้บ้าง</p>
ขอมอบบทความนี้เป็นของขวัญต้อนรับบล็อกใหม่ที่มีชื่อว่า "ปฏิทิน" "สื่อสารสุุข" และ "pressthaikm" ที่สมัครเข้ามาร่วมชุมชนด้วยค่ะ
จากการจัดมุมกิจกรรม ของเล่นเล่าเรื่อง :ฉันทำงานอย่างไรในงาน Artifactเพื่อสร้างรูปแบบของการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ ให้กับสมาชิกในชุมชนซึ่งมีความสนใจและความสามารถอันหลากหลายได้แสดงตัว ในรูปแบบของตลาดนัดนิทรรศการที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เข้าไปร่วมเรียนรู้ ที่จัดขึ้นที่โรงเรียนเมื่อวันที่ ๙-๑๐ มีนาคมที่ผ่านมานั้น ช่วยให้ได้พบข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ
ประเด็นที่คาดหวัง ไว้เมื่อแรกคิดกิจกรรมชุดนี้คือ อยากจะเห็นอาการและชุดของคำอธิบาย ที่เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะทำความเข้าใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดของเด็ก ด้วยความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่เขามีอยู่ แล้วเขียนออกมาเป็นภาษาภาพ และภาษาเขียน เพื่อ แสดงความเข้าใจที่มีต่อของเล่นชิ้นที่เขาเป็นผู้เลือกหยิบมาทดลองเล่นเองตามความพอใจเพียง ๑ หรือ ๒ ชิ้นตามความต้องการ จากจำนวนของเล่นที่มีอยู่ทั้งหมด ๑๔ ชิ้น
สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นทันทีเมื่อเปิดโอกาสให้เขาได้อยู่กับของเล่นที่โปรดปราน อย่างแรกคือ การพาให้เขาได้รู้จักกับอารมณ์ขณะที่กำลังเกิด ฉันทะ คือมีความพอใจในความสนใจใคร่รู้ แล้วตามต่อมาด้วยความมี วิริยะ
คือความพยายามทำสิ่งนั้น พยายามจะทำความรู้จักกับของเล่นชิ้นนั้นให้ถ้วนทั่ว ด้วยการลองเล่นดูซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าจะเกิดความรู้จักมักคุ้น แล้วจึงเกิดจิตตะคือความเอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้น ในการเฝ้าสังเกตดูให้รู้ว่าของเล่นชิ้นนั้นทำงานอย่างไร วิมังสา คือความพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผลในสิ่งนั้น เป็นการใช้ปัญญาสอบสวน หรือการใช้ความรู้ทั้งที่เกิดจากการปฏิบัติจริง คือการได้ทดลองเล่น ประกอบกับหลักวิชาที่เคยเรียนมาจากในห้องเรียน มาอธิบายว่าของเล่นทำงานอย่างไรตามภูมิรู้ที่มี
ทันทีที่เสร็จงาน เด็กทุกคนจะรู้สึกว่าตนได้พบกับความสำเร็จ ที่ถึงแม้จะเป็นความสำเร็จเล็กๆน้อยๆ แต่ก็ช่วยสร้างความอิ่มเอมให้เกิดขึ้นในใจได้ไม่น้อยทีเดียว รสชาติของความสมหวังนี้เองที่จะเป็นพลังผลักดันให้เขาเกิดความรักที่จะเรียนรู้ต่อไป
และรสชาติเดียวกันนี้แหละที่จะเชื้อเชิญให้เขาเข้าไปทำความรู้จักกับของเล่นชิ้นอื่นๆ และงานประดิษฐ์ชิ้นอื่นๆด้วยความสนใจที่เกิดขึ้นจากความสนใจใฝ่รู้ของเขาเองได้ในที่สุด
การจะ"ตอบโจทย์"ที่ตั้งไว้ให้ครบถ้วนกระบวนความได้ เขาย่อมต้องผ่านหนทางแห่งอิทธิบาท หรือทางแห่งความสำเร็จ ที่จะเป็นเครื่องนำพาให้เขาไปพบกับความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ได้ในภายภาคหน้า
ประเด็นที่เกินคาด คือ การได้เห็นทักษะการเขียนอธิบายความที่น่าทึ่ง และเห็นความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางหลักภาษาที่เกิดขึ้นนอกบทเรียน อีกทั้งเป็นสิ่งที่ต้องนำมาใช้อย่างฉับพลันทันที ที่ทำให้ครูสามารถประเมินได้ทันทีว่า หลังจากที่ได้เรียนไปแล้วเขาแต่ละคนมีอะไรติดตัวกันแค่ไหน มีคำจำกัดแค่ไหน มีความแม่นยำในการถ่ายทอดภาษาจากเสียงสู่คำได้ในระดับใด
ลองมาอ่านคำอธิบาย ปลาเป่าฟอง ของเด็กนักเรียนชั้น ป.๑ เทอมปลายคนนี้ดู แล้วเรามาดูกันว่าเขาเรียนรู้อะไรไปแค่ไหนกัน
ท่าเราเป่าลมน้อยลูกป่องจะออกมาน้อยท่าเราเป่าลมมากลูกป่องจะออกมมากๆมันลอยได้เพราะมีอากาศอยู่ในฟองสะบู่อากาศมาจากลมที่เราเป่า (รักษาตัวสะกดตามต้นฉบับเดิม)
โปรดติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า ทางบล็อกชื่อเดียวกันนี้ !!
ไม่มีความเห็น