BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วัดเปลี่ยนไป ๘


วัดเปลี่ยนไป

๘. วันอุโบสถ

กิจกรรมในวัดอุโบสถหรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า "วันพระ" นี้ อาจแบ่งเป็นสองประเภทคือ วันอุโบสถของชาวบ้านซึ่งเป็นอุบาสก-อุบาสิกา โดยกำหนดเอาทุกวัน ๘ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ (หรือ ๑๔ ค่ำ  ในกรณีที่ดวงจันทร์มืดสนิทหรือจันทร์ดับในวันแรม ๑๔ ค่ำ) ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม ฉะนั้น วันอุโบสถของชาวบ้านจึงมี ๔ วาระต่อหนึ่งเดือน... ส่วนวัดอุโบสถของสงฆ์จะกำหนดเอา ๑๕ ค่ำข้างขึ้น และ ๑๔ หรือ  ๑๕ ค่ำข้างแรม ฉะนั้น วันอุโบสถของสงฆ์จึงมี ๒ วาระต่อหนึ่งเดือน แต่ก่อนที่จะเล่าถึงความเป็นไปของกิจกรรมวันอุโบสถ ผู้เขียนจะแทรกเรื่องประวัติวันอุโบสถก่อนเป็นลำดับแรก

คำว่า "อุโปสถ" ผู้รู้บาลีสมัยก่อนเคยแปลว่า "เข้าจำ" หรือ "อยู่จำ" หมายถึงการเข้าถึงการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่ตนศรัทธาเลื่อมใสอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ผู้เขียนสันนิษฐานว่าค่านิยมเรื่องวันอุโบสถในอินเดียน่าจะมีมาแต่โบราณก่อนที่พระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนาของเราจะอุบัติขึ้นมา เพราะมีนิทานเรื่องอุโบสถศีลตอนหนึ่งว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งหลังจากได้ฟังปกิณณกธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วก็นับถือพระองค์เป็นพระบรมครู เขาได้กราบทูลถามถึงอุโบสถกรรมในธรรมวินัยของพระบรมศาสดา พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่องอุโบสถศีล จำเดิมแต่นั้นมา อุโบสถศีลสำหรับชาวบ้านก็กลายเป็นธรรมเสียปฏิบัติส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา

กิจกรรมในวันอุโบสถหรือวันพระสำหรับชาวบ้านนี้มีการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน สมัยก่อนเมื่อผู้เขียนเล็กๆ จำได้ว่าถ้าวันไหนที่บ้านใช้ให้ไปซื้อชาร้อนมาให้พ่อเฒ่า แสดงว่าจะเป็นวันพระ เพราะวันนี้พ่อเฒ่าจะไม่กินข้าวตอนเย็น และเป็นหน้าทีของลูกหลานต้องซื้อชาร้อนใส่กระป๋องนมมาให้พ่อเฒ่า และผู้เขียนจะยินดีเป็นพิเศษเพราะทุกครั้งพ่อเฒ่าจะกินไม่หมด จะเหลือไว้ให้ผู้เขียนเสมอ และบางครั้งญาติหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็ซื้อมาฝากพ่อเฒ่าด้วย แต่คนที่กินจริงๆ ก็คือผู้เขียนมากกว่าจะเป็นพ่อเฒ่า เรื่องนี้ผู้เขียนมารู้เดียงสาเมื่อโตขึ้นว่าพ่อเฒ่ารักษาอุโบสถศีลซึ่งมีข้อวิกาลโภชนาฯ ที่งดเว้นจากการกินอาหารในเวลาวิกาล

กิจกรรมวันอุโบสถของบ้านบ้านนั้น จะเริ่มต้นเวลาประมาณเก้าโมงเช้า โดยบรรดาอุบาสก-อุบาสิกาจะมาประชุมกันยังศาลาการเปรียญ จะเริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ทำวัตรเช้าสำหรับชาวบ้าน หลังจากสวดมนต์ทำวัตรเสร็จแล้วก็จะเคาะระฆัง พระธรรมกถึกก็จะขึ้นธรรมาสน์บอกศีลอุโบสถแล้วแสดงะรรมเทศนา หลังจากการแสดงธรรมเทศนาจบลงก็อาจมีการเคาะระฆังอีกครั้งเพื่อให้พระภิกษุสามเณรหมดทั้งวัด หรือถ้าวัดนั้นมีพระภิกษุสามเณรจำนวนมากก็เฉพาะส่วนที่ได้รับการมอบหมายไว้ เข้าไปยังศาลาการเปรียญเพื่อทำพิธีรับสังฆทาน หลังจากการถวายสังฆทานเสร็จและพระสงฆ์อนุโมทนาแล้ว พระภิกษุสามเณรก็จะทำภัตรกิจ ต่อจากนั้น ญาติโยมก็จะร่วมกันรับประทานอาหาร

ธรรมเนียมข้างต้นที่ว่านี้ อาจแตกต่างกันบ้างในแต่ละวัด เช่น บางวัดอาจไม่มีการแสดงธรรมเทศนา บางวัดก็อาจมีพระธรรมเทศนาเฉพาะภายในเทศกาลเข้าพรรษา บางวัดพระภิกษุสามเณรจะลงไปฟังพระธรรมเทศนาด้วย หรือบางวัด (วัดยางทอง) อาจค่อยๆ ทยอยลงไปเมื่อเห็นว่าได้เวลาที่พระธรรมกถึกจะแสดงธรรมจบแล้ว เป็นต้น กิจกรรมภาคเช้าจะจบลงด้วยการที่พระภิกษุสามเณรทำภัตรกิจและญาติโยมร่วมรับประทานอาหาร

วัดที่มีเฉพาะกิจกรรมภาคเช้าเช่นนี้ หลังจากร่วมรับประทานอาหารเสร็จแล้วญาติโยมก็จะทอยกันกลับสู่บ้านเรือนของตน แต่ธรรมเนียมบางท้องถิ่น จะมีกิจกรรมต่ไปในภายบ่ายและภาคกลางคืนอีกด้วย กล่าวคือ ตอนบ่ายอาจมีพระธรรมกถึกมาแสดงธรรมอีกหนึ่งกัณฑ์ หรือบางวัดก็อาจใช้ญาติโยมที่มีความรู้ทางธรรม อาทิผู้เคยบวชเป็นมหาเปรียญในอดีตกล่าวปาฏกถาธรรมแทน เมื่อถึงตอนเย็นญาติโยมก็จะร่วมกันทำวัตรสวดมนต์เย็น และกลางคืนก็จะมีการแสดงธรรมเทศนาหรือกล่าวปาฏกถาธรรมอีกครั้ง ถ้ามีกิจกรรมภาคกลางคืนเช่นนี้แล้ว โดยมากคืนนั้นญาติโยมก็จะนอนพักแรมอยู่ในวัดโดยปรับเปลี่ยนภายในศาลาการเปรียญเป็นหอนอนเมื่อเสร็จกิจกรรมแล้ว

 

การทำกิจกรรมวันอุโบสถภาคกลางคืนนี้ ฟังว่าสมัยก่อนแถวบ้านเราก็ยังมีอยู่ทั่วไป ผู้เขียนก็เคยเห็นคนเฒ่าคนแก่ไปนอนวัดในคืนวันพระ และท้องถิ่นอื่นที่ผู้เขียนเคยอยู่เคยผ่าน เช่น กรุงเทพฯ ในหลายๆ วัดก็ยังคงมีกิจกรรมนี้อยู่ แต่บางวัด (เช่นวัดทองเพลงที่ผู้เขียนเคยอาศัยอยู่) อาจมีเฉพาะภายในพรรษาเท่านั้น ส่วนแถวบ้านเราก็ยังมีอยู่บ้างเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีเฉพาะบางวัดหรือบางช่วงเวลาเท่านั้น โดยมากขึ้นอยู่กับการดำริของเจ้าอาวาสและอุบาสก-อุบาสิกาผู้ชักนักในวัดนั้นๆ

ตามที่เล่ามาเบื้องต้นนั้น คือ ธรรมเนียมนิยมเก่าๆ ในวันพระที่พวกเรายึดถือว่าดีและมีคุณค่าสูง แต่กิจกรรมเหล่านี้ก็มีอุปสรรคและเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน เช่น ปัญหาเรื่องผู้นำการทำวัตรสวดมนต์ของชาวบ้าน บางวัดคนเก่าแก่ได้ล้มหายตายจากหรือชราภาพเกินกว่าที่จะมาวัดได้ คนใหม่ๆ ที่ชำนาญในการทำวัตรสวดมนต์ก็ศรัทธาที่จะไปอยู่วัดอื่นๆ กลายเป็นว่าบางวัดไม่มีผู้นำอุบาสก-อุบาสิกาในการทำวัตรสวดมนต์ทำให้กิจกรรมในวันพระค่อนข้างที่จะติดขัดไม่ราบรื่นเหมือนบางวัด จะเห็นได้ว่าบางวัดพระภิกษุภายในวัดก็มาช่วยเป็นผู้นำในการทำวัตรสวดมนตร์ของชาวบ้านในวันพระ แต่บางวัดอาจตรงกันข้ามเพราะผู้นำอุบาสก-อุบาสิกาชอบทำตัวเป็นผู้รู้มากกว่าพระธรรมกถึงเสมอ (ชอบสอนพระ) ทำให้พระธรรมกถึงบางท่่านรู้สึกเสียหน้าจึงส่งเสียงดังกลับไปบ้าง ทำให้เกิดภาวะช่องว่างระหว่างพระกับชาวบ้าน เช่นนี้ก็มี

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 195404เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2008 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท