บุญแห่เทียนเข้าพรรษาเมืองอุบลราชธานี กระบวนทัศน์ใหม่รับใช้สังคมอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย


หลังจากการแห่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมแล้ว การนำเทียนเพื่อไปทอดที่วัดก็ถือเป็นวัฒนธรรมเช่นเดิม ซึ่งสิ่งนี้ถ้าที่จะถือเป็นจุดแข็งทางวัฒนธรรมของชาวอุบลราชธานี ที่ถือว่า เป็นจุดกำเนิดของรากฐานวัฒนธรรมอีสานยุคใหม่ที่มีการสืบต่ออย่างต่อเนื่องและมีการปรับปรุงให้รับใช้สังคมได้อย่างลงตัว อย่างไรก็ตาม ปีนี้การถูกภาวะเศรษฐกิจโถมกระหน่ำอย่างรุนแรง ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงและเป็นปัจจัยที่ยากลำบากต่อการสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวมากพอควร แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้จะมีนักท่องเที่ยวน้อยหรือไม่มี วัฒนธรรมหรือ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ก็คงจะยังสืบเนืองในรากฐานวัฒนธรรมของชุมชนอีสานสืบต่อไป ใหญ่ บ้างเล็กบ้าง ตาม สภาพท้องถิ่นและชุมชน เพราะสิ่งเหล่านี้คือ วิถีครอบครัววิถีชุมชนที่สืบต่ออย่างต่อเนื่องตลอดไป

บุญแห่เทียนเข้าพรรษาเมืองอุบลราชธานี  กระบวนทัศน์ใหม่รับใช้สังคมอย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

อิศรา ประชาไท

 

 

บทนำ

         

ปีนี้มีโอกาสไปเดินดูต้นเทียนที่ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี เช่นทุกปี เพราะทุกเทศกาลเข้าพรรษา ผม ภรรยาและลูก ๆ มีโอกาสได้หยุดงานหลายวัน และพากันกลับไปเยี่ยมคุณยาย คุณแม่ของภรรยา เป็นประจำทุกปี  ทุกเช้าก่อนขบวนแห่ ที่จะจัดกันในวันเข้าพรรษา จะมีการนำต้นเทียนมาให้นักท่องเที่ยวได้ดูก่อนตั้งแต่ตอนเย็นในวันอาสาฬหบูชา งานแห่เทียนเข้าพรรษา ที่อุบลราชธานี ถือ เป็นการประสมประสานวัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่น คือ การแห่เทียน เพื่อถวายเทียนให้แก่ พระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นพุทธบูชาในการจำพรรษา 3 เดือน อันเป็น  ฮีต เดือน 8 ใน ฮีต 12 เดือนของคนอีสาน พร้อมกับการนำวัฒนธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือในการท่องเที่ยว สร้างงานและกิจกรรมให้เกิดขึ้นในเมืองอุบลราชธานี  กลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยวที่สำคัญนำรายได้เข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานีมากพอสมควรในแต่ละปี

 

ความจริงที่ปรากฏในปัจจุบัน

         

ความจริงแล้วงานแห่เทียนเข้าพรรษา ที่อุบลราชธานี นั้น มี กระบวนทัศน์ใหม่เกิดขึ้นหลายครั้ง ครั้งแรกเริ่มที่สุดก็คือ แต่เดิม อุบลราชธานี ถือเป็นเมืองประเทศราชของ กรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วได้นามพระราชทานว่า อุบลราชธานีศรีวลัยประเทศ ถือ เป็นเมืองประเทศราชที่สำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านทิศตะวันออก เลยทีเดียว ในช่วงนั้น การปกครองบ้านเมือง ยังใช้ระบบการเมืองแบบ อาญา 4 แบบราชอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งเจ้าเมืองนั้นก็สืบเชื้อสาย จาก กรุงศรีสัตนาคนหุตร่มขาว เวียงจัน

บุญเข้าพรรษา ถือ เป็น ฮีต เดือน 8  ที่รับเอาวัฒนธรรมแบบล้านช้างมาทั้งหมด เพราะคนอุบลราชธานี โดยพื้นฐานก็คือ กลุ่มชาติพันธุ์ ไทย-ลาว เมื่อถึงวันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ประชาชนก็จะนำ เทียน น้ำมันยาง และขี้เผิ้ง ขี้ไต้ ไปถวายพระ เพื่อให้เป็นปัจจัยก่อเกิด แสงสว่าง ในยามค่ำคืน ในช่วงจำพรรษา โดยแต่ละหมู่บ้าน แต่ละคุ้ม ก็จะนำเทียนที่ทำจาก ขี้เผิ้ง ที่ได้จากรังผึ้งหลวง มาเป็นวัตถุดิบ มัดรวมกันให้มาก ๆ เพื่อ จะได้ใช้พอเพียงกับสามเดือนในช่วงจำพรรษา และทำการทอดถวาย ตามกำลังศรัทธาที่มีอยู่

เทียนโบราณ รูปแบบเริ่มต้นของเทียน สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

ข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสาน โปรดให้รื้อฟื้นจัดการแห่เทียนเพื่อทอดถวายเหมือนในโบราณ

เทียนประเภทติดพิมพ์ อันเป็นอัตลักษณ์ศิลปกรรมการเอ้เทียนของเมืองอุบลโดยเฉพาะ

 

สัตว์ในจินตนาการ ความเชื่อ ในวรรณคดีพุทธศาสนา ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวประติมากรรมเทียนอย่างน่าอัศจรรย์

ความเชื่อ ผี พราหมณ์ พุทธ แยกไม่ออกในวิถีชาวอีสาน เพราะมันเป็นองค์รวม ที่หล่อหลอมให้คุณอีสานเป็นแบบนี้ นี่คือ วิถีครอบครัววิถีชุมชน

 

หิริโอม พิคเณศายะ นะมะ ชะยะ คเณศะ

 

วัฒนธรรมเพื่อต่อสู้กับนักล่าเมืองขึ้น

 

          ครั้นเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองอีสาน เมื่อปี พ.ศ. 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นแล้วว่า  ภัยคุกคามหัวเมืองลาว ในฝั่งขวาแม่น้ำโขง คงจะต้องประสบปัญหาอย่างแน่นอน และคงถูกนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสยึดเอาไปเป็นอาณานิคมของเขา เหมือนฝั่งซ้าย  พระองค์ จึงส่งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มาเป็นข้าหลวงใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณ หัวเมืองลาวกาว และเปลี่ยนเป็นหัวเมืองอีสานในระยะต่อมา  กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เข้ามาดูแลหัวเมืองอีสาน และมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ในด้านต่าง ๆ อันเป็นการวางยุทธศาสตร์ สู้กับนักล่าเมืองขึ้น  โดยใช้วัฒนธรรม การศึกษา และศาสนา นำการเมืองการทหาร หลายอย่าง เพื่อต่อสู้กับยุทธการล่าเมืองขึ้น สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ได้แก่

           โปรดเกล้าให้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) นำกองทัพธรรมปรับปรุงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาใหม่ โดยมี สมเด็จเจ้าพระคุณ พระมหาวีรวงส์ (ติสโส อ้วน) ต้นตระกูล แสนทวีสุข  และพระเถรานุเถระอีกหลายรูป เช่น พระอาจารย์ เสาร์ กันตสีโล  พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นต้น  วางรากฐานการศึกษาที่เป็นแบบแผนไว้ที่ วัดสุปัฐนาราม

                               

เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) และพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล

ผู้สร้างคุณูปการต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในหัวเมืองอีสาน

                                 

                                

สมเด็จพระมหาวีรวงส์(ติสโส อ้วน) พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และ สมเด็จพระมหาวีรวงส์ (พิมพ์ ธมมธโร)  พระอริยสงฆ์ ที่สืบสานพระพุทธศาสนาให้ดำรงอย่างยั่งยืนในแผ่นดินอีสาน 

             

 

วัดสุปัฐนารามวรวิหาร คือ สถานศึกษาของกุลบุตร ลูกหลานเจ้าเมืองและประชาชนในอดีต

 

 เป็นศูนย์กลางการศึกษา ให้ลูกหลานเจ้าเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสาน มาเรียนรู้วิชาการที่นี่ เปลี่ยนการปกครองแบบอาญา 4 แบบล้านช้าง มาเป็น การปกครองแบบ มณฑลเทศาภิบาล  ซึ่งก็ยังให้โอกาสลูกหลานเจ้าเมืองได้มีโอกาสสืบต่อการบริหารราชการอยู่  จึงทำให้การขัดขืน หรือ เกิด ความขัดแย้ง การเปลี่ยนแปลง ครั้งนี้ ไม่มากนัก แต่ก็มี กรณี กบฏผีบุญ ได้ปรากฏในหัวเมืองอีสานอยู่บ้าง  สิ่งที่เป็นวัฒนธรรมและการสืบศาสนา เพื่อเป็นสกัดการรุกเข้ามาของบาทหลวงฝรั่งเศส เพื่อนำผู้คนเข้ารีตศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ก็โปรดอนุญาตให้ดำเนินการได้ในขอบเขต ให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ต้องอยู่ในกรอบกติกาของการปกครองของไทย พร้อมกันนั่นก็ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้สอดคล้องและให้ทันสมัยต่อการเผยแผ่ศาสนา บุญแห่เทียน เข้าพรรษา จึงปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ให้ยิ่งใหญ่ขึ้น มีกระบวนแห่จากคุ้มเจ้าเมือง คุ้มต่าง ๆ เพื่อ นำไปถวายและทอดเทียนในวัดต่าง ๆในเมืองอุบลราชธานี เช่น ทุกวัน มีการเสพดนตรีแห่แหน ไปถวายเทียนอย่างสนุกสนาน เพื่อ แสดงให้เห็นว่า บ้านเมืองมีวัฒนธรรมและมีจารีตประเพณีสืบทอดอย่างชัดเจน  ลูกหลานเจ้าเมืองต่าง ๆ ก็ได้เรียนรู้รากฐานการปกครองระบบใหม่ ที่สำนักวัดสุปัฐนาราม เพื่อจบการศึกษาก็ได้นำวิถีการปกครองและรูปแบบ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ที่ได้รูปแบบจากเมืองอุบลราชธานี ไปสืบต่อในบ้านเมืองของท่านด้วย ทำให้มองเห็นว่า เมืองที่อยู่ในฝั่งขวาแม่น้ำโขง แม้จะมีรากเหง้าทางวัฒนธรรมจากล้านช้าง แต่ก็มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นมีความเฉพาะเป็นอัตลักษณ์ของคนฝั่งขวา ที่แตกแขนงออกมาเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส ไม่สามารถจะอ้างสิทธิในการครอบครองฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นของตนได้ เพราะความหลากลายทางวัฒนธรรมนั่นเองที่เป็นปัจจัยสำคัญ อันเป็นกุศโลบายสำคัญยิ่งของรัชกาลที่ 5 ที่พาชาติรอดพ้นภัย นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส ในยุคนั้นได้

เทียนแบบโบราณยังแสดงให้เห็นถึงการสืบรากฐานทางวัฒนธรรมที่ยังสืบต่ออยู่จนถึงปัจจุบัน

 

เทียนแกะสลักขนาดใหญ่ เน้นเรื่องราวตำนานพุทธศาสนา ซึ่งทำได้อย่างอลังการและงดงามยิ่งหาช่างฝีมือบ้านเมืองเมืองใดจะทำได้งดงามเท่า เพราะงานเหล่านี้มันถูกซึมซับเข้าสู่สายเลือดทางวัฒนธรรมอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว

กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อการดำรงอยู่

 

          การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่สำคัญที่ถือเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ และรับเอามาใช้จนถึงปัจจุบันก็คือ การนำ เอางานบุญมาใช้ผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมเพื่อรับใช้นโยบายการท่องเที่ยวเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยอย่างมหาศาล ตั้งแต่เราเปิดประเทศ เพื่อเป็นทุนนิยม และเมื่อก่อตั้ง องค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อสท และพัฒนาการเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย   กกท  จนถึงปัจจุบัน  งานบุญในอีต 12 หลายงานบุญถูกนำมาใช้เพื่อ ผลิตซ้ำ เช่น บุญเดือน4 บุญผะเหวดเทศน์มหาชาติ บุญเดือน 5 บุญสงกรานต์ บุญเดือน 6 บุญบั้งไฟ บุญเดือน 8 เข้าพรรษา บุญเดือน 11 บุญออกพรรษา ไหลเรือไฟ และปราสาทผึ้ง บุญเดือน12 ทอดกฐินและซ่วงเฮือ และก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศ อันส่งผลดีและผลข้างเคียงอยู่หลายประการ ผลดีก็คือ เกิดการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมที่มีมูลเหตุและผลของกิจกรรมเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นประการสำคัญ คือการสร้างมูลค่าและการนำรายได้เข้าสู่ประเทศอย่างมหาศาล ผลข้างเคียงคือ วัตถุประสงค์งานบุญเปลี่ยนจากเดิม และผู้คนในชุมชนถูกกำหนดการทำงานบุญด้วยเหตุปัจจัยอื่น การเข้าร่วมเป็นเจ้าของงานลดลง ซึ่งก็คงต้องดูผลต่อไปอีกว่า ด้วยวิธีการและรูปแบเช่นนี้ ในยุคสมัยกาลปัจจุบัน ผู้คนในชุมชนเมืองอุบลพอใจมั้ย ถ้าพอใจและถือเป็นวิถีชุมชนที่ปรับเปลี่ยนและรับได้ ก็คงไม่เสียหลายที่มีการปรับเปลี่ยน เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็กลายเป็นคุณค่าใหม่ในการสืบทอดบุญประเพณีที่ยังคงอยู่และสืบเนืองไปอีกยาวนาน

 

เทียนแกะสลักขนาดใหญ่ที่ยังปรากฎให้เห็นทำเป็นเรื่องราวตำนานพระพุทธศาสนา

การคงอยู่ตลอดไป  

 

เล่ามายืดยาวก็คงอยากให้เห็นวัฒนธรรมและกระบวนทัศน์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปีนี้เดินรอบทุ่งศรีเมือง เทียนที่เข้าร่วมงานประมาณ 50 ต้นเทียน ก็หมายความว่า ชาวบ้าน 50 คุ้ม หรือ 50 หน่วยงาน เข้าร่วมขบวนแห่ เทียนถูกจัดเป็นสามแบบเช่นทุกปี ตามลักษณะงานประติมากรรม หรือ ศิลปกรรมเอ้เทียน  คือ เทียนที่แกะสลัก เทียนตกแต่งด้วยพิมพ์ และเทียนมัดแบบโบราณ จากที่ผู้เขียนเดินดู ก็พบว่า มีทั้งสามแบบ แต่ปีนี้ดูน้อยหน่อย และขนาดเล็กลง แม้จะมีแบบเล็ก กลาง ใหญ่  แต่อย่างไรก็ตาม การดำรงอัตลักษณ์ ของประเพณีพิธีกรรมของงานบุญ ก็คงยังเหลืออยู่ หลังจากการแห่รอบทุ่งศรีเมือง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมแล้ว การนำเทียนเพื่อไปทอดที่วัดก็ถือเป็นวัฒนธรรมเช่นเดิม  ซึ่งสิ่งนี้ถ้าที่จะถือเป็นจุดแข็งทางวัฒนธรรมของชาวอุบลราชธานี ที่ถือว่า เป็นจุดกำเนิดของรากฐานวัฒนธรรมอีสานยุคใหม่ที่มีการสืบต่ออย่างต่อเนื่องและมีการปรับปรุงให้รับใช้สังคมได้อย่างลงตัว  อย่างไรก็ตาม ปีนี้การถูกภาวะเศรษฐกิจโถมกระหน่ำอย่างรุนแรง ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงและเป็นปัจจัยที่ยากลำบากต่อการสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวมากพอควร  แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้จะมีนักท่องเที่ยวน้อยหรือไม่มี วัฒนธรรมหรือ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ก็คงจะยังสืบเนืองในรากฐานวัฒนธรรมของชุมชนอีสานสืบต่อไป ใหญ่ บ้างเล็กบ้าง ตาม สภาพท้องถิ่นและชุมชน เพราะสิ่งเหล่านี้คือ วิถีครอบครัววิถีชุมชนที่สืบต่ออย่างต่อเนื่องตลอดไป

 

ขอบคุณอาจารย์วรรณศักดิ์พิจิตร บุญเสริม และhttp://www.dhammathai.org/monk/sangha25.php

ที่เอื้อเฟื้อภาพในบทความนี้

 

หมายเลขบันทึก: 195051เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • อยากจะไปชมด้วยตนเองสักครั้ง
  • งดงามจริงๆ
  • ขอบคุณสำหรับภาพสวยๆค่ะ

เล่าสู่กันฟังครับ เป็นมุมมองหนึ่งของความคิดคำนึงครับ พี่นงค์

เห็นจึงเก็บมาฝาก รู้จึงเล่าสู่กันฟัง

พรุ่งนี้อาจสายและอาจหายไปได้

เพราะ

ความตายนี้แขวนคอ ทุกบาทย่าง

ตื่นเช้ามา เหลียวเห็นหน้า จั่งได้ฮู้ว่าหยัง

ภาพสวยมากเลยค่ะ

*.*

นู๋ขอก๊อฟไปทำรายงานส่งอาจารย์.... คงได้ A

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท