BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

คุณค่าการบวชปัจจุบัน ๗


คุณค่าการบวชปัจจุบัน

๗. พระพุทธศาสนาหลังสมัยพุทธกาล (ต่อ)

นักประวัติศาสนาเล่าต่อไปว่า ต่อมาแนวคิดของชาวแคว้นวัชชีก็พัฒนาเป็น อาจาริยวาท คือยึดถือความเห็นของอาจารย์เป็นเกณฑ์ ต่างกับแนวคิดขงฝ่ายพระยสกากัณฑบุตรที่ยึดถือความเห็นของพระเถรสมัยพุทธกาลเป็นเกณฑ์ซึ่งเรียกกันว่า เถรวาท

แนวคิดของชาวแคว้นวัชชีนี้มีการประยุกต์พระธรรมวินัยเพื่อความเหมาะสม ต้องการผู้ศรัทธาเลื่อมใสให้มีจำนวนมากขึ้นจึงเรียกตัวเองว่า มหายาน คือฝ่ายที่มียานพาหนะขนาดใหญ่สามารถบรรทุกคนได้มาก และตำหนิแนวคิดฝ่ายเถรวาทว่า หินยาน คือ เป็นย่ายที่มียานพาหนะขนาดเล็กบรรทุกคนได้น้อย

อนึ่ง แนวคิดชาวแคว้นวัชชีนี้ ต่อมาเจริญขึ้นไปทางตอนเหนือของประเทศอินเดียจึงเรียกว่า อุตตรนิกาย (ฝ่ายเหนือ)... ส่วนแนวคิดที่ยึดถือตามหลักการเดิมของพระเถรสมัยพุทธกาลเจริญลงมาทางตอนใต้จึงเรียกว่า ทักษิณนิกาย (ฝ่ายใต้)

จะเห็นได้ว่าพระพุทธศาสนาค่อยๆ จำแนกออกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายอาจริยวาท มหายาน หรืออุตตรนิกายกลุ่มหนึ่ง พวกนี้จัดเป็น พวกหัวก้าวหน้า... และฝ่ายเถรวาท หินยาน หรือทักษิณนิกายอีกลุ่มหนึ่ง พวกนี้จัดเป็น พวกหัวอนุรักษ์นิยม

อนึ่ง มีข้อตกลงเมื่อไม่นานมานี้ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ได้กำหนดให้เรียกฝ่ายแรกว่า่ มหายาน และฝ่ายหลังว่า เถรวาท โดยฝ่ายแรกดำรงตั้งมั่นอยู่ในทิเบต จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ส่วนฝ่ายหลังดำรงตั้งมั่นอยู่ในลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร... ปราชญ์ท่านหนึ่งให้ความเห็นไว้ว่า "นกมีปีสองข้างจึงจะบินได้ฉันใด พระพุทธศาสนาก็มีสาองฝ่ายนี้แหละช่วยกันประคับประคองให้เจริญสืบต่อมาจนกระทั้งถึงพวกเราปัจจุบัน"

 

พ.ศ. ๒๑๘ ได้มีการทำสังคายนาครั้งที่สามที่เมืองปาฏลีบุตร สาเหตุก็คือในสมัยนี้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะพระเจ้าอโศกมหาราชผู้มีอำนาจสูงสุดของอินเดียในสมัยนั้นนับถือพระพุทธศาสนา ลาภผลต่างๆ จึงมีมากมายเหลือเฟือ ทำให้นักบวชนอกลัทธิของพระพุทธศาสนาหรือเรียกกันว่าพวกเดียรถีย์มีความเป็นอยู่ลำบากยิ่งขึ้น จึงมีการปลอมเข้ามาบวช โดยบางกลุ่มก็เข้ามาบวชอย่างถูกต้อง แต่มีวิธีปฏิบัติและคำสอนตามลัทธิเดิม หรือบางกลุ่มก็บวชเอาเองคือปลอมเข้ามาเฉยๆ ทำให้มีความเป็นอยู่ หลักคำสอน หรือความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ แตกต่างกันไป บางกลุ่มตั้งข้อรังเกียจบางกลุ่มถึงกับไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน เฉพาะวัดอโศการามไม่ได้ทำอุโบสถกรรมเป็นเวลาถึงเจ็ดปี

ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้ทรงปรึกษากับพระโมคคัลลีบุตรติสสะ และร่วมกันชำระเสี้ยนหนามของพระศาสนา หลังจากนั้นก็ได้จัดให้มีการทำสังคายนาครั้งที่สามขึ้นมา โดยประชุมสงฆ์หนึ่งพันรูป ทำอยู่เก้าเดือนก็สำเร็จ

เมื่อมีการทำสังคายนาเสร็จแล้ว พระเถระก็คิดว่าต่อไปพระพุทธศาสนาอาจไม่ตั้งมั่นอยู่ในชมพูทวีปก็ได้ จึงได้ปรึกษากับพระเจ้าอโศกมหาราชเพื่อเผยแพร่หลักธรรมคำสอนไปยังสถานที่ต่างๆ ตามประวัติได้ส่งสมษทูตไปเก้าสาย โดยสายหนึ่งมายังสุวรรณภูมิซึ่งปัจจุบันยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะเป็นย่านประเทศไทย พม่า หรือเป็นเกาะแถบอินโดนีเซีย เพราะตามประวัติเช่นในคัมภีร์สมันตปนาทิกาบอกว่า สายสุวรรณภูมินี้มีพระโสณกะและพระอุตตระเป็นประธานนำมา โดยขณะนั้นสุวรรณภูมิมีรากษสหรือผีเสื้อหน้าขึ้นมาจากทะเลเที่ยวอาละวาดจับเด็กไปกิน พวกชาวบ้านก็ถิออาวุธเพื่อป้องกันผีเสื้อน้า คุณะพระเถระจาริกไปพบเข้าจึงได้ขับไล่ผีเสื้อน้ำให้หนีไปแล้วก็ช่วยกันตั้งอารักขาป้องกันไว้รอบๆ เกาะ ต่อจากนั้นพระเถระก็ได้แสดงธรรมในพรหมชาลสูตรให้ฟัง เกิดมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสและให้เด็กๆในตระกูลบชจำนวนสามพันห้าร้อยคน หลักฐานที่อินโนนีเซียปัจจุบันก็มีมหาเจดีย์ปุโรพุทโธ (บรมพุทโธ) ส่วนฝ่ายที่เชื่อว่าอยู่ในย่านประเทศไทย ก็อ้างหลักฐานอย่างอื่นประกอบ เช่น ที่จังหวัดนครปฐมพบศิลาจารึกคาถา เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ... ฯ โดยจารึกไว้เป็นอักษรพราหมณีซึ่งเป็นภาษาอินเดียโบราณ เป็นต้น

อีกสายหนึ่งมีพระมหินท์เป็นประธานก็เดินทางไปยังเกาะลังกาซึ่งมีพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะปกครองอยู่ พระราชาองค์นี้เป็นพระสหายของพระเจ้าอโศกมหาราช ส่วนพระมหินทเถระเป็นโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ฉะนั้น พระพุทธศาสนาในลังกาจึงมั่นคงอย่งรวดเร็ว ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๖ จึงได้มีการสังคายนาขึ้นเป็นครั้งที่นี่ที่นี้ และอีกประมาณสองร้อยปีต่อมา คือในปีพ.ศ. ๔๕๐ ก็ได้มีการสังคายนาครั้งที่ห้า และได้จารึกพระธรรมวินัย คือพระไตรปิฏกและคัมภีร์อื่นๆ ไว้ในใบลานเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกโดยประการฉะนี้

 

กล่าวโดยย่อว่า หลังการสังคายนาครั้งที่สามก็ได้มีการส่งสมณทูตไปเก้าสายยังสถานที่ต่างๆ ความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในครั้งกระนั้น สามารถวัดระยะได้จากประเทศอัฟกานิสถานที่มีพระพุทธรูปองค์ยืนที่ใหญที่สุดในโลกซึ่งถูกพวกตาลีบันทำลายไปเมื่อปีที่แล้ว (ตามที่เขียนครั้งแรก ปี ๒๕๔๗) จนถึงประเทศอินโนนีเซียที่มีหาหเจดีย์บุโรพุทโธเป็นหลักฐาน ส่วนหลักฐานอื่นที่ีบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาในอดีตก็เช่น เรือไวกิ้งที่นักประดาน้ำงมมาได้ในทะเลสบบอนติกแถบสแกนดิเนเวียนั้น มีพระพุทธรูปทองคำองค์เล็กๆ อยู่จำนวนหนึ่งในเรือด้วย ฯลฯ

ผู้เขียนเล่าเรื่องเหตุการณ์หลังสมัยพุทธกาลมาเล็กน้อยเพื่อแสดงว่าพระพุทธศาสนามีความเป็นไปอย่างไร หัวข้อต่อไปจะเล่าเรื่องความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในเมืองไทย และจะนำมาสู่ความเห็นเรื่องคุณค่าการบวชต่อไป...

(มีต่อ)

หมายเลขบันทึก: 195046เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 10:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท