การปฏิบัติธรรม


การปฏิบัติธรรมคือการปรับปรุงตนเองให้เหมาะสมกับคำว่า "มนุษย์"

        การปฏิบัติธรรมคือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์  รักษาระดับจิตใจอย่าให้ต่ำกว่ามนุษย์  จึงจะได้เรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมา เราคนหนึ่งยังเป็นเสขบุคคล คือบุคคลที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และให้เต็มตามศักยภาพ ในการปฏิบัตินั้นท่านได้วางหลักไว้มากมาย  แต่เมื่อย่นย่อลงแล้ว  ก็คือการปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา  ซึ่งแบ่งออกเป็น  ศีล  สมาธิ  และปัญญา
         ศีล  คือ ความมีระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิต  และการอยู่ร่วมกันในสังคม  พูดง่าย ๆ ก็คือ ความเป็นผู้มีระเบียบวินัยและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาในการอยู่ร่วมกัน  เพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ดี  ชีวิตและสังคมจะได้มีความเรียบร้อยดีงาม  ศีลจึงมีหลายระดับ ท่านจัดไว้เพื่อให้เหมาะกับสภาพชีวิตและสังคม  หรือชุมชน นั้น ๆ  ในการที่จะปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของตน  เช่น ศีล 311 สำหรับภิกษุณี  ศีล 227 สำหรับพระภิกษุ  ศีล 10 สำหรับสามเณร  ศีล 8 สำหรับแม่ชีและผู้ถือศีลอุโบสถ และศีล 5 สำหรับชาวพุทธโดยทั่วไป 
         ศีล 5  จึงเป็นบรรทัดฐานของสังคม  เป็นกฎเกณฑ์ความสำคัญพื้นฐานในสังคม  เพื่อไม่ให้คนเบียดเบียนกันทั้งชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลอื่น อันเป็นฐานรองรับความมีสันติสุขของสังคม  ดังนั้นศีล 5  จึงกำหนดให้มี การไม่เบียดเบียนกันไม่ละเมิดต่อร่างกายและชีวิตกัน  การไม่ละเมิดต่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเงินทองของผู้อื่น  การไม่ละเมิดคู่ครองของกันและกัน  การไม่ใช้วาจาหลอกลวงป้ายสีกัน และการไม่คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่น ด้วยความสูญเสียสติสัมปชัญญะ  ทั้งหมดนี้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ  สำหรับจัดระเบียบชีวิตและสังคมของมนุษย์ให้อยู่ในสภาพที่เอื้อโอกาสขั้นื้นฐานในการที่นสร้างสิ่งที่ดีงามต่อไป
         สมาธิ  หมายถึง การฝึกฝนอบรมจิตใจใหสงบ แน่วแน่ มั่นคง ไม่หวั่นไหว  เพื่อให้จิตสามารถทำงานหรือใช้การได้ดี โดยเฉพาะในการคิดพิจารณาให้เกิดปัญญา หรือใช้ปัญญาอย่างได้ผล ในการฝึกฝนจิตใจนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน  ท่านจัดไว้เพื่อให้เหมาะกับจริตของแต่ละคน  อย่างง่าย ๆ ก็คือ พุทธานุสสติ คือเอาองค์คุณของพระพุทธเจ้ามาเป็นอารมณ์  ด้วยองค์ภาวนาว่า พุท-โธ เป็นต้น
        ปัญญา  ได้แก่ความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาพที่เป็นจริง  และการฝึกฝนอบรมหรือพัฒนาให้มีความรู้ความเข้าใจเช่นนั้น  ขั้นเริ่มต้น ปัญญาเกิดจากการศึกษาเล่าเรียน  ประสบการณ์ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ตลอดถึงความจำได้หมายรู้ และความรู้สึกนึกคิดที่ปรากฏหรือสั่งสมอยู่ในใจ  ขั้นกลาง พิจารณาวินิฉัยหรือคิดการณ์ต่าง ๆได้อย่างถูกต้องชัดเจน โดยไม่ถูกกิเลส ครอบงำชักจูง และมองสิ่งทั้งหลายทะลุปรุโปร่งถึงเหตุปัจจัยต่าง ๆ จนสามารถเชื่อมโยงความรู้ในสิ่งทั้งหลายมาใช้แก้ปัญหา  และทำการสร้างสรรค์ จัดดำเนินการต่าง ๆ ในขั้นสูงสุด รู้เท่าทันความเป็นจริงของโลก ที่เรียกว่า โลกธรรม หมดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย  เป็นอยู่ด้วยความปลอดโปร่งโล่งเบา เบิกบานผ่องใสอย่างแท้จริง
         ขอให้ทุกท่านปฏิบัติตามธรรมหลักไตรสิกขาอย่างถูกต้อง ท่านก็จะเข้าถึงชีวิตที่ดีงาม มีความสุขอย่างแท้จริง เป็นอมตธรรม.
 

หมายเลขบันทึก: 194717เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2008 13:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • นมัสการค่ะ พระคุณเจ้า
  • เข้ามาอ่านหลักธรรมของชีวิตค่ะ
  • จริง ๆ แล้วถ้าทุกคนปฏิบัติตามศีลพื้นฐานของชีวิตสังคมคงไม่วุ่นวายเหมือนทุกวันนี้นะคะ

 

นมัสการมาด้วยความเคารพค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ขอเพิ่มเติมศีลข้อ 3 นอกจากไม่ประพฤติล่วงละเมิดคู่ครองเขาแล้ว ต้องไม่ละเมิดลูกของเขาด้วย(ผู้ที่อยู่ในความอุปการะของพ่อแม่ ยังทำมาหากินเองไม่ได้)เช่น นักเรียน นักศึกษา ขอให้พระคุณเจ้า พระทุกวัดกรุณาช่วยเน้นศีลข้อนี้ให้มาก เพราะปัญหาสังคมที่มีมากในปัจจุบันนี้ เพราะเราไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงขาดการปฏิบัติศีลข้อนี้ จึงทำให้ผู้ที่ยังไม่รู้สมัครใจลงนรกกันหมด...

นมัสการค่ะ

ถ้าทุก ๆ คนทำได้ก็คงจะดีนะค่ะเพราะทุกวันนี้ดิฉันก็อยากจะสงบจิตสงบใจหรือว่าปลงกับกิเลสทั้งหลายเหมือนกันค่ะแต่พยายามเท่าไรก็ทำไม่ได้สักทีไม่รู้ว่าเป็นอะไร

  • นมัสการครับพระคุณท่านที่เคารพ
  • ทาน-ศีล-ภาวนา เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป
  • ศีล-สมาธิ-ปัญญา เหมาะสำหรับบุคคลที่มีเวลาและโอกาสมากขึ้น (ผู้ปลีกออกจากการครองเรือน)
  • แต่ยังไงก็ขอแค่พิเคราะห์ภารกิจแล้ว ปลง วาง ละ ทิ้ง ได้บ้าง ก็จะพบกับความเบาสบายได้นะ
  • ขอให้พบกับความเบาสบายด้วยกันทุกคนนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท