สุขภาพ-กฎหมาย-การเมือง


เป็นอันว่าที่คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณามาแล้ว 7 ครั้ง ก็ถือว่าเป็นการทำแบบฝึกหัดล่วงหน้า เพราะ ต้องเริ่มขั้นตอนนี้ใหม่ทั้งหมด ไม่เป็นไรครับ ไหนๆ ก็ใช้เวลามาเกือบ 6 ปีแล้ว รออีกสักหน่อยจะเป็นไรไป จริงไหมครับ

      วานนี้ ดิฉันได้รับจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 16 "ส่องสภาผู้แทน"  จากท่านผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ (นายแพทย์อำพล  จินดาวัฒนะ)  เป็นเรื่องเล่าที่น่าสนใจเกี่ยวกับ สุขภาพ-กฏหมาย-การเมือง และเป็นเรื่องเล่าที่แสดงให้เราได้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ต่อกันล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันหมดอาจเชื่อมโยงไปถึงนอกโลกและจักรวาลด้วยก็ได้  ลองอ่านดูนะค่ะ

28 กุมภาพันธ์ 2549
เรียน   เพื่อนภาคีปฏิรูปสุขภาพที่รักทุกท่าน

         1. ถึงวันนี้ การประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ผ่านไป 7 ครั้งแล้ว ในการประชุมครั้งที่ 5(9 ก.พ.49) และครั้งที่ 6 (16 ก.พ.49) ท่านวิวรรธนไชย ณ กาฬสินธุ์ รองประธานคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างกันเอง ราบรื่น และงานคืนหน้าไปเป็นอย่างดี
         ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ พิจารณาตามร่างของรัฐบาลเสร็จแล้ว  ที่ประชุมผ่านมาตรา 10 ที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต โดยมีการปรับปรุงแก้ไขเพียงเล็กน้อย ดังนี้
         "มาตรา 10 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน (ตัดข้อมความ "หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้" ออก)
          1.1 การพิจารณามาตรานี้  ที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง  กรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นด้วย  แต่มีการซักถามรายละเอียด เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันให้กระจ่าง สรุปความได้ว่า  สาระสำคัญในมาตรานี้  เป็นการยืนยันสิทธิการปฏิเสธการรักษาพยาบาลของประชาชน  ซึ่งที่จริงทุกคนมีสิทธินี้อยู่แล้ว ในขณะที่รู้ตัว  มีสติสัมปชัญญะดี  ก็สามารถปฏิเสธไม่ไปรับการรักษา  หรือไม่ขอรับการรักษาใดๆ ได้อยู่แล้ว  แต่เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  เมื่อไม่รู้ตัวแล้ว  สิทธิตรงนี้กลับหมดไป  กลายเป็นการตัดสินใจของแพทย์  และญาติตามลำพัง  ดังนั้นกฎหมายมาตรานี้  จึงให้สิทธิประชาชน (ที่ต้องการใช้สิทธิ)  เขียนหนังสือแสดงเจตจำนงล่วงหน้าว่า  ไม่ขอรับการรักษาอะไรบ้างเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในช่วงที่ตนไม่รู้สึกตัวแล้วเช่น  ไม่ขอใส่เครื่องช่วยหายใจ  ไม่ขอเจาะคอเป็นต้น  แพทย์จะต้องเคารพสิทธินี้  ไม่ให้การรักษาที่เข้าตัวได้ปฏิเสธไว้ล่วงหน้า  แต่แพทย์ยังต้องดูแลรักษาให้เจ้าของชีวิตจากไปอย่างสงบและเป็นธรรมชาติ  ไม่ทรมานใดๆ มิใช่การยุติการรักษาอย่างสิ้นเชิง
       ที่ประชุมให้นำข้อสังเกตของกรรมาธิการไปทำเป็นบันทึกแนบท้ายร่าง พ.ร.บ. ฯ เพื่อให้ประกอบการพิจารณา จัดทำกฎกระทรวงเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามมาตรา 10 ต่อไปด้วย
       ท่านวินัย  วิริยะกิจจา  อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข  สส.พรรคชาติไทยเล่าว่า  รู้สึกเสียดายและเสียใจมาจนถึงทุกวันนี้  เพราะเมื่อตอนคุณแม่ท่านจะถึงแก่กรรม  ท่านต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้การใช้เครื่องมือทางการแพทย์หลายชนิด  ไม่ได้มีโอกาสจากไปอย่างสงบและเป็นธรรมชาติ  คุณพ่อของท่านจึงแสดงความประสงค์ว่าถ้าวันนี้ท่านต้องจากไป  ท่านขอไปอย่างเป็นธรรมชรติ  ไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มายื้อยุดชีวิตของท่านถ้ามีกฎหมายนี้   ท่านก็สามารถเขียนเป็นหนังสือแสดงเจตนารมณ์นั้นไว้ล่วงหน้าได้
      ท่าน สส.ประสิทธิ์  ภักดีพาณิชพงศ์  ท่านไม่ค่อยเห็นด้วยกับมาตรา 10 นี้ เพราะท่านเป็นห่วงว่าอาจกระทบกับประเด็นด้านศาสนา  และวัฒนธรรมของคนไทยที่ญาติพี่น้องมีส่วนในการตัดสินใจ  เมื่อคนไข้จะถึงแก่กรรม  แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างรอบด้านแล้ว  ท่านก็บอกว่า "ที่จริงผมก็เห็นด้วยกับมาตรานี้  แต่อยากให้ดูให้รอบคอบ  โดยเฉพาะเมื่อไปออกกฎกระทรวง  ต้องออกให้รัดกุม  เพราะการบังคับใช้กฎหมายในบ้านเรายังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร อย่าให้เกิดช่วงว่าง  ช่องโหว่ใดๆ ที่จะเกิดผลเสียแก่คนไข้ได้"
       นับว่าเป็นความห่วงใยที่ผู้รักษาการณ์ตามกฎหมาย  จะต้องนำไปคิดคำนึงอย่างจริงจัง  เมื่อกฏหมายฉบับนี้ตราออกมาเป็นกฎหมายแล้ว
       ที่ประชุมได้เสนอว่า  ถ้าเป็นไปได้  ฝ่ายเลขานุการ และ สปรส. ควรจัดเวทีสาธารณะ  เชิญผู้คนจากหลายๆ ฝ่าย มาตั้งวงคุยกัน  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และทำความเข้าใจต่อสาระสำคัญของมาตรา 10 นี้ด้วย
       1.2  ในหมวดที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิหน้าที่ด้านสุขภาพนี้  ที่ประชุมได้นำสาระสำคัญที่ปรากฎอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับประชาชน และฉบับที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยเสนอในบางมาตรา วางไว้เพื่อกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เมื่อพิจารณร่างของรัฐบาลเป็นหลักเสร็จสิ้นแล้ว  เพื่อพิจารณาดูว่า  มีเรื่องใดที่สำคัญและเป็นประโยชน์มากจริงๆ ควรเติมเข้าไปในร่างฉบับรัฐบาลที่พิจารณาแล้วด้วย
       โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นสิทธิด้านสุขภาพของสตรีที่ระบุว่า
       "สุขภาพของหญิง ที่หมายถึง สุขภาพทางเพศและสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ของหญิง ซึ่งมีความจำเพาะซับซ้อน และมีอิทธิพลต่อสุขภาพหญิงตลอดช่วงชีวิต  ต้องได้รับการสร้างเสริม และคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม"
       ดูเหมือนว่าทั้งฝ่ายประชาชนและทุกพรรค รวมทั้งพรรคไทยรักไทยด้วย เห็นพ้องต้องกันในเบื้องต้นว่า มีความสำคัญ ควรเติมเข้าไปในร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้
 สาระสำคัญอีกประการหนึ่งที่มีการพูดถึงกันว่า น่าจะต้องเพิ่มเติมกลับเข้าไปคือ สาระสำคัญเกี่ยวกับ "ความมุ่งหมายและหลักการ" ซึ่งในร่างฉบับรัฐบาลไม่มี  ในส่วนนี้ ท่าน ส.ส.บุรณัชย์  สมุทรักษ์ จากพรรคประชาธิปัตย์  ท่านเสนอและติดตามอย่างแข็งขันตลอดเวลา
       เมื่อถึงการพิจารณาช่วงนั้น  ผมจะนำมาเล่าให้ท่านทราบต่อไป
       "ดีครับดี ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ไม่มีการแบ่งพรรคพวก ทุกคนช่วยกันทำให้กฎหมายนี้ออกมาดี ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างการออกกฎหมายแบบมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดี"

       พี่พิชัย ศรีใส  กรรมาธิการภาคประชาชนที่เกาะติดการทำกฎหมายฉบับนั้นตั้งแต่ปี 2544 ให้ความเห็น
       2. ข่าวล่ามาเร็ว 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาเสียแล้ว  จึงมีผลทำให้ร่าง พ.ร.บ.ฯ ทุกฉบับที่อยู่ในสภา ต้องยุติการพิจารณาเพียงเท่านั้น เพื่อรอรัฐบาลใหม่พิจารณาร้องขอต่อรัฐสภาภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุม และให้รัฐสภาเห็นชอบ ซึ่งเป็นไปตามบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 178 ถ้ารัฐสภาเห็นชอบ ก็ดูว่า ร่าง พ.ร.บ. นั้น  อยู่ขั้นตอนใด  ก็ต้องเริ่มขั้นตอนนั้นใหม่ ร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.....ของเรา ก็ต้องเริ่มที่การตั้งคณะกรรมการวิสามัญชุดใหม่ขึ้นมาเริ่มพิจารณาใหม่ทั้งฉบับครับ


       เป็นอันว่าที่คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณามาแล้ว 7 ครั้ง ก็ถือว่าเป็นการทำแบบฝึกหัดล่วงหน้า เพราะต้องเริ่มขั้นตอนนี้ใหม่ทั้งหมด ไม่เป็นไรครับ ไหนๆ ก็ใช้เวลามาเกือบ 6 ปีแล้ว รออีกสักหน่อยจะเป็นไรไป จริงไหมครับ

                                                    ด้วยความเคารพและปรารถนาดี
                                                    (นายแพทย์อำพล  จินดาวัฒนะ)
                                       ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ
                                                             28 กุมภาพันธ์ 2549


       สำหรับดิฉัน  ดิฉันชอบข้อความย่อหน้าสุดท้ายมากที่สุดเลยค่ะ

แหล่งข้อมูล : สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ National Health System Reform Office
                   ชั้น 2 อาคารด้านทิศเหนือของสวนสุขภาพ (ถ.สาธารณสุข6) ในบริเวณกระทรวง
                   สาธารณสุข ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000 http://www.hsro.or.th
  

หมายเลขบันทึก: 19460เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2006 13:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท