แค่โกงข้อสอบ


มีคำถามหนึ่ง ของอาจารย์ใหม่ ผู้คุมการสอบ และประสบปัญหาการทุจริตในการสอบของลูกศิษย์ กระทั่งขอคำปรึกษาจากรุ่นพี่ ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัย มีคำตอบเพียงบางเบา สำหรับคำว่าความรับผิดชอบ และ ความตระหนัก ที่เธอถามกลับมาว่า ในฐานะครูบาอาจารย์ เธอควรจะทำเช่นไร ในสิ่งที่ปรากฎอยู่ในแวดวงการศึกษา ปรากฎในวัฒนธรรมไทย และปรากฎอยู่ในสังคมไทย

แค่โกงข้อสอบ

อ้างอิง - ภาพ Kati1789

หลายเดือนก่อน

เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

ที่ผมยังคงได้ยินคำพูดประโยคเดิม

จากปากคำของบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ ที่บอกกล่าวถึงคำพูดของลูกศิษย์ เมื่อจับได้ไล่ทันว่า มีการโกงข้อสอบ เมื่อรุ่นน้องผู้หญิงคนหนึ่ง เริ่มต้นการทำงานในวิชาชีพอาจารย์ ในสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง ตอบความจริงในพฤติกรรมทางสังคม

เมื่อวิชาที่เธอคุมการสอนดูแลการสอบ

เกิดมีเหตุการณ์ทุจริตในการสอบ

มีลูกศิษย์โกงข้อสอบ

ในวิชาบริหารจัดการองค์การ ในฐานะอาจารย์ใหม่ เธอนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นปรึกษากับอาจารย์ในภาควิชา ที่ตอบความจริงแทบจะไม่แตกต่าง จากคำพูดของลูกศิษย์ในชั้นเรียน อาจารย์ผู้หญิงที่เธอขอคำปรึกษาด้วยนั้น ตอบว่า ก็แค่โกงข้อสอบ อาจารย์ก็ทำเป็นเรื่องใหญ่ไปได้ อาจารย์ก็ให้โอกาสลูกศิษย์สักหน่อยก็แล้วกัน เรื่องจะได้จบจบไป

คำตอบนั้น

ช่างดูเรียบง่าย

ดูผุดผ่องเหลือเกิน

สำหรับคำตอบแบบง่ายง่าย ไม่ต้องมีสาระสำคัญ ไม่ต้องมีนัยยะให้ยุ่งยากมากมาย และไม่มีคำอื่นใดมานั่งตีความ ในแต่ละความจริงเหล่านี้ เมื่อคำถามของรุ่นน้องผู้เป็นอาจารย์ ที่มีอายุห่างจากผมหลายปี ถามผมด้วยประโยคที่ต้องการทางออกต้องการคำตอบสำคัญ ว่าหากเป็นผม ผมจะทำอย่างไร ผมจะตัดสินใจอย่างไรกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้

ผมตอบคำถามของเธอด้วยคำคนอื่น

ผมตอบคำถามด้วยบทความ

จากข้อเขียนของ

อาจารย์ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งเคยเผชิญหน้ากับเหตุการณ์การโกงข้อสอบ ในรั้วมหาวิทยาลัยที่อาจารย์ดูแล และการอธิบายสิ่งที่อาจารย์ทำ เหมือนแรกของวิชาชีพอาจารย์วิชารัฐศาสตร์ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง ในมโนทัศน์ของรุ่นน้อง และของลูกศิษย์

บทหนึ่งในข้อเสนอ

คือการเริ่มต้นพูดคุยถกเถียง

แลกเปลี่ยนเพื่อหามุมมองความเข้าใจ

จากตัวตนของลูกศิษย์ที่ตัดสินใจ กระทำความผิดดังกล่าว พร้อมจุดยืนที่จะไม่ยอมถอยให้กับความผิดครั้งนี้ การแก้ปัญหาของอาจารย์เสกสรรค์ เริ่มต้นด้วยการถามหาความดี ความงาม และความจริง เหมือนเช่นที่คนทั่วไป ต้องถามว่า ระหว่างความดีความเลวมีเส้นแบ่งอย่างไร

แต่สำหรับหนทางแก้ไขแก้ปัญหา

ของการใช้กฎเหล็กเพื่อตัดสิน

ด้วยการพิจารณาให้ตก

โดยไม่ผ่านกระบวนการยอมรับ จากผู้ที่กระทำเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญ ที่อาจารย์เชื่อว่า ไม่ใช่หนทางออกของปัญหาดังกล่าว หลายครั้งหลายเหตุการณ์ อาจารย์ใช้วิธีการพูดคุยและถกเถียง กว่าที่จะสามารถหาข้อสรุปร่วมกัน ในความจริงของสังคมไทยเหล่านี้

นานหลายเดือน

สำหรับการพูดคุยกับรุ่นน้อง

กับสิ่งที่ค้างคาอยู่ในใจอาจารย์ใหม่

นานจนกระทั่งผมเกือบลืมเลือนเรื่องราวเหล่านี้ จนมีเหตุการณ์ อาจารย์วิชาวิศวะ บังคับนักศึกษา และล่วงละเมิดทางเพศ อาจารย์วิชาภาษาอังกฤษ ลวนลามนักศึกษา และพยายามล่วงละเมิดทางเพศ อาจารย์วิชาวิศวะ ขายข้อสอบให้กับนักศึกษา พร้อมเสนอขายคะแนนข้อสอบ

 

 

นานหลายเดือนหลังจากนั้น

มีคำอภิปรายในรัฐสภา

ถึงคุณสมบัติ

ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯหนึ่ง ในคณะรัฐบาล นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช กรณีที่มีคำกล่าวหา ว่าถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนนักศึกษา หลังจากมีพฤติกรรมโกงข้อสอบ และทุจริตในการสอบ โดยการใช้บัตรปลอมและแอบอ้างให้ผู้อื่นเข้าทำการสอบแทน

โดยก่อนนั้น

มีข้อหลักฐานข้อกล่าวหา

ระบุว่ามีรัฐมนตรีคนหนึ่งซื้อวุฒิการศึกษา

เรื่องราวเหล่านี้จึงวนไปวนมา และย้อนถามความรู้สึกของผม ขณะนั่งฟังบทสัมภาษณ์ของ อาจารย์สมพงษ์ จิตระดับ ซึ่งระบุความเปลี่ยนแปลง ในความเชื่อมั่นทางการศึกษา และผลการสำรวจพฤติกรรม ความคิดความเชื่อของนักศึกษาไทยในปัจจุบัน ซึ่งโกงข้อสอบ ความจริงในความเลวร้ายซึ่งในรายงาน ระบุว่าเป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาไทย

เพราะโดยส่วนใหญ่ของผู้โกงข้อสอบ

รับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความผิด

แต่ยังคงกระทำ

เพราะเชื่อว่า ผลจากการได้คะแนนการสอบที่สูง คะแนนการสอบดีดี จะทำให้เขาเหล่านั้นหางานทำได้ดี หรือกระทั่งได้รับการยอมรับจากสังคมโดยทั่วไป โดยพวกเขาเชื่อว่า การโกงข้อสอบ การทุจริตในการสอบ จะไม่มีใครจับได้ หรือหากจับได้ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เพราะคุ้มที่จะเสี่ยง

ในความด้านชา

ผมรู้สึกว่าหน้าผมชาขึ้น

และผมรู้สึกละอายใจกับคำตอบ

แม้ผมจะเคยเห็นการทุจริตในการสอบ เคยจดคำตอบคณิตศาสตร์ และเคยถูกครูบาอาจารย์จับได้ว่ากล่าว พร้อมสั่งสอน อบรม ตักเตือน จนเชื่อว่าการโกงข้อสอบ ไม่ใช่สิ่งดีงาม นับจากวันนั้น ผมไม่เคยรู้สึกสนุกกับเงื่อนไขของการทุจริต และพฤติกรรม ที่รู้ทั้งรู้ว่าไม่เคารพตนเอง

ในความจริงของสังคมที่เราเรียกร้อง

เพื่ออยากเห็นสังคมไทยที่ดีงาม

คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก

สำหรับการเรียกร้องให้ครูบาอาจารย์ สนอกสนใจลูกศิษย์ ในฐานะลูกศิษย์ลูกหา ลูกหลานในชีวิตของตน มากกว่าผู้ที่จ่ายเงินค่าจ้างการสอน จนแม้แต่ความจริงสำคัญ แม้ว่าลูกศิษย์จะกระทำความผิด โอกาสในการแก้ไขและปรับตัว เพื่อให้เขาเชื่อมั่นในหนทางที่ถูกต้อง ควรเกิดขึ้น

ไม่ใช่อย่างแน่นอน

สำหรับการแก้ปัญหาข้างข้างคูคู

และคำตอบแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่

เพื่อให้เรื่องราวของการทุจริตเหล่านี้ หลุดพ้นไปจากความรับผิดชอบของตัวเอง และหลบไปให้พ้นจากหูตาของครูบาอาจารย์ ที่กล้าพูดประโยคโดยไม่คิด โดยไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้น วันนั้นหลังการพูดคุยทางโทรศัพท์ ผมจำได้ว่าผมตอบเรื่องราวใดให้รุ่นน้องผู้เป็นอาจารย์ฟัง ในความจริงของประสบการณ์ตัวเอง ในความเชื่อมั่นส่วนตัว ผมตอบหลายคำ นอกจากให้กำลังใจ 

สำหรับหนทางของความเป็นครู

ที่รุ่นน้องควรจะเข้มแข็ง

และยืนหยัดในความเป็นครู

เพื่อแก้ปัญหาสำคัญอันเป็นหัวใจของครู

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 194546เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2008 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ความจริงมีมากกว่านั้น

ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เปิดสอนบริหารธุรกิจโลจิสติกส์เป็นแห่งแรก ในกรุงเทพฯ ทางอาจารย์ที่คุมสอบเอง เปิดโอกาศให้นักศึกษา โกงได้เต็มที่ ถามว่า สมศ จะรู้ได้ไหม ไม่รู้

แล้วนักศึกษาที่จบออกไป มันมีแต่ปริมาณไม่มีคุณภาพ

 

หวังใจอย่างยิ่งให้โรงงานนี้หยุดพฤติกรรม

 

มันเป็นเรื่องของจิตใจ คุณธรรม ของอนาคตของชาติ หากข้อสอบยังโกง ต่อไปก็ไปโกง บริษัท โกง ประเทศ..เข้มงวดดีแล้วครับ ช่วยกันสร้างเยาวชนของชาติครับ

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยที่กำลังกลายเป็นรากเง้าของปัญหาต่างๆ ในสังคมจริงๆ ครับ เรื่องที่ควรเป็นเรื่องใหญ่กลับกลายเป็นเรื่องเล็กไปได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท