ชิงหมาเกิด


หนึ่งคำ ในบทหนึ่งวรรณกรรมไทย หน้าหนึ่งแห่งคำประวัติศาสตร์ ซึ่งมีที่มาที่ไป ให้เราได้ร่วมตระหนักและใคร่ครวญ ในแต่ละแง่งามของถ้อยวรรณกรรมไทย แต่ละคำสะท้อน ของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และ ตำนานในการเดินทางผ่านกาลเวลา ให้เราได้ร่วมตระหนักรับรู้ ในแต่ละพลังคุณค่าของข้อเขียนทางวัฒนธรรม ในแต่ละแง่งามของวรรณกรรมไทย

ชิงหมาเกิด

อ้างอิง - ภาพ Kati1789

ช่างเป็นคำด่า

ซึ่งสมควรได้รับการจัดอันดับ

ยอมรับยกชั้นว่าเป็นคำกล่าวมือวาง

 

หากคำคำนี้ได้ถูกใช้ และด่าทอออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ถูกด่า ในแต่ละพฤติกรรมซึ่งถูกกล่าวหา ที่ดันผ่าแย่งชิงสุนัขมาเกิดเช่นนี้ ไม่นับรวมคำด่าทอเมื่ออยู่ท่ามกลางสาธารณชน ให้ต้องอับอายขายขี้หน้า หากถูกชี้นิ้วตะโกนด่า หรือทำหน้าถมึงทึง ก่อนปล่อยคำนี้ออกมา

ต้นเรื่องความเรียงและคำด่าทอบทนี้

ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่ง

ในคุณค่าของคำด่า

 

จากผลงานวรรณกรรมไทยเรื่องยิ่งใหญ่ เสภา เรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ซึ่งหากยกเหตุผลน่าสนใจ ในคุณค่าแห่งความงาม และคุณค่าประโยชน์ น่าจะนำมุมมองพระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ว่า

เอาเสภาเรื่อง

ขุนช้างขุนแผนมาอ่านเล่นในเวลาว่าง

เห็นว่าเป็นเรื่องดีและแต่งดีอย่างเอกทีเดียว

 

เคยอ่านมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ก็ยังอ่านสนุกไม่รู้จักเบื่ออยู่นั่นเอง มารู้สึกว่ามีประโยชน์อยู่ในหนังสือเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่ง สำหรับเค้าเรื่องซึ่งเดิมสันนิษฐานกันว่า เคยเกิดขึ้นจริงในสมัยกรุงศรีอยุธยา กระทั่งเล่าขานจดจำสืบต่อกันมา โดยมีผู้อ้างอิงว่าปรากฎในหนังสือคำให้การของชาวกรุงเก่า ซึ่งยิ่งเพิ่มเติมให้ชัดเจนในภายหลัง ตามการวิจัยเชิงเอกสารว่า

การเขียนเรื่องเสภา ขุนช้าง ขุนแผน

และคำให้การของชาวกรุงเก่า

เป็นสำนวนสมัยกรุงใหม่

 

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งคาบเกี่ยวประสบการณ์ร่วมในสมัยอยุธยา และนับเรื่องราวสอดคล้องขนบดั้งเดิม สู่การสร้างราชธานีและอาณาจักรใหม่ ซึ่งต้องใช้คุณค่าดั้งเดิมอันยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นฐานในการต่อยอด เหมือนเช่นคำยกย่องของ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ซึ่งมองว่า

เสภาขุนช้าง ขุนแผน

ช่วยต่อยอดความจริงในบันทึก

และคำบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ไทย

 

ในวิถีชีวิตพื้นถิ่น ขนบแบบชาวบ้าน ความคาดหวังของชีวิต และวิถีชีวิตโดยรวมของคนสยามในรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งต่อเนื่องเชื่อมโยงคุณค่ารากฐาน จากยุคสมัยอยุธยา ทำให้เราเห็นเค้าโครงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่สำคัญ ของชุมชนสยามยามนั้น

สังคมเกษตรกรรมลุ่มน้ำสู่สังคมชายป่า

กระทั่งข้ามสู่กลางป่าไปสู่เมืองอื่น

และเมืองอื่นสู่อาณาจักรอื่น

 

ความงดงามสัมพันธ์ของงานวรรณกรรมยิ่งใหญ่เรื่องนี้ ได้รับการนับเนื่องเชื่อมโยง ตีความ และวิพากษ์วิจารณ์มากมายหลากหลายแง่มุม หนึ่งในนั้น ในปี 2460 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงวิจารณ์ ตำนานเสภา ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า

คนชอบเรื่องขุนช้างขุนแผน

เพราะเป็นเรื่องจริงนั้นก็ถูกส่วนหนึ่ง

แต่เห็นว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามใจหวัง

 

ทำให้ใจผู้ฟังนั้นวับหวามด้วยส่วนหนึ่ง เรื่องขวางน้ำใจอยู่ดังนี้ ของเรามีอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น ประกอบด้วยคำแต่งเหมือนเรื่องคนจริงจัง จึงชอบกันไม่รู้จืด และจนแม้กระทั่งปัจจุบัน ก็ยังคงปรากฎผู้หยิบยกเรื่องราววรรณคดีเรื่องขึ้นมา เพื่อพินิจพิเคราะห์ครั้งแล้วครั้งเล่าตั้งแต่

 

 

 

ขุนวิจิตรมาตรา นาม สง่า กาญจนาคพันธุ์

ในนามปากกา กาญจนาคพันธุ์

ครูเปลื้อง ณ นคร

 

ในนามปากกานายตำรา ณ เมืองใต้ ส.ธรรมยศ ศุภร บุนนาค ส.ศิวรักษ์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ดวงมน จิตร์จำนงค์ ม.ร.ว.ศึกฤทธิ์ ปราโมช สุจิตต์ วงษ์เทศ รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ยิ่งเห็นความงดงามของเรื่องราวคำด่าทอแบบชาวบ้าน ซึ่งได้รับการจารึก

โดยระบุว่า

เป็นการจารึกคำด่าชาวบ้าน

ซึ่งชัดเจนเรียบง่ายแต่แจ่มแจ้งเช่นนี้

 

ยิ่งอยากให้ทุกท่านได้ร่วมกันทัศนา ตามที่ กาญจนาคพันธุ์ และ นายตำรา ณ เมืองใต้ ได้ระบุว่า เป็นการแกล้งด่าประชด อย่างไม่มีการขัดเกลาสำนวน และกวีท่านก็แต่งอย่างไม่มียั้ง เช่นว่า หมามันจะเกิดชิงหมาเกิด มึงไปตายเสียเถิดอ้ายห้าเบี้ย ว่ารู้สึกหนักมือไปหน่อย

แต่ได้ยินว่า ธรรมเนียมเสภาแต่ก่อนเขาไม่ถือกัน

ว่าไปแล้วก็เป็นการถ่ายแบบความเป็นจริง

ในชีวิตมาแสดงนั่นเอง

 

เมื่อคิดได้ดังนั้น จึงอยากให้ทุกท่านได้แลเห็น บทประพันธ์เสภา ขุนช้าง ขุนแผน ในตอนที่ 6 พลายแก้วเข้าห้องนางสายทอง ในเรื่องราวของขุนช้าง ซึ่งเข้าไปกราบกรานหาแม่ศรีประจัน จะสู่ขอนางพิมเป็นคำรบสอง จนกระทั่งนางพิมเยี่ยมกรายคำพูดซึ่งชัดเจนออกมา

คำพูดเจ็บแสนประโยคนั้น

ซึ่งด่าทอต่อหน้าชายชื่อ ขุนช้าง

 

อ้ายเจ้าชู้ลอมปอมกระหม่อมบาง          ลอยชายหางเที่ยวเกี้ยวหมา

ชิชะแป้งจันทร์น้ำมันทา                         หย่งหน้าสองแคมเหมือนหางเปีย

หมามันจะเกิดชิงหมาเกิด                       มึงไปตายเสียเถิดอ้ายห้าเบี้ย

หน้าตาเช่นนี้จะมีเมีย                              อ้ายมะม่วงหมาเลียไม่เจียมใจ

ยิ่งอ่านเรื่องราว

ยิ่งได้พินิจถ้อยคำเขียน

ยิ่งประจักษ์ในคุณค่าอันยิ่งใหญ่

 

ของบทประพันธ์เสภา ซึ่งบันทึกถ้อยคำความงาม ในวิถีชีวิตชาวสยาม และความจริงของวัฒนธรรมไทย ที่ทำให้เราตระหนักต่อวัฒนธรรมของเรา และความจริงซึ่งแอบซ่อน ในการประดิษฐ์ประดอยคำด่า สรรหาเรื่องราวคำพูด ใส่รหัสซ่อนนัยยะทางวัฒนธรรม ชวนให้ผู้ฟังเจ็บช้ำน้ำใจ

ซึ่งเชื่อมโยงประเด็นสำคัญคำด่าเหล่านั้น

ว่าคิดอะไร เช่นไร และคิดอย่างไร

ในคุณค่าทางวัฒนธรรม

 

นอกเหนือจากความตระหนัก และคุณค่ามุมมองทางวัฒนธรรม ที่เราคนไทยแต่ละคนได้ร่วมรับรู้ ถึงแง่งามพลังคำไทย ที่ได้รับการกล่าวขานไว้ ในบทเสภาบทนี้ คือ เป็นการระบุคำว่า ชิงหมาเกิด คำแรกที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรทางประวัติศาสตร์ ครั้งแรกมีในคำไทย

และเมื่อเราคนไทย

ได้ตระหนักถึงคุณค่าอันงดงามนี้

ก็อย่าพึงนำคำประโยคนี้ ไปใช้ด่าทอผู้อื่น

ให้ได้เจ็บช้ำน้ำใจเช่น ขุนช้าง เถิด นะครับท่าน

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 194543เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2008 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท