ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ คำทำนายพิบัติภัย


 

พี่ดาว - ดาวลูกไก่ ชื่นชมยินดี ได้ให้เกียรติผม โดยขอให้แสดงความคิดเห็น

เกี่ยวกับข่าวที่มีผู้ที่อ้างว่าสามารถทำนายภัยพิบัติทางธรรมชาติล่วงหน้าได้

ดังที่ปรากฏในบันทึก วันนี้คุณบริโภคข่าวจากหนังสือพิมพ์แล้วยังคะ? [อ้างอิง 1]

 

ผมคิดว่าคำตอบในลักษณะที่ว่า เชื่อ ไม่เชื่อ เฉยๆ

หรือไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร ฯลฯ นั้น

ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นเอาไว้พอสมควรแล้ว

จึงอยากลองมองภาพให้กว้างและลึกขึ้นอีกสักนิด

ทั้งนี้ ผมได้ค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ โดยนำไปบันทึกไว้ในเรื่อง

ข้อมูลอ้างอิง กรณีคำทำนายของ ดร.กัญจีรา [อ้างอิง 2]

 

เราลองมาเริ่มจากข้อเท็จจริงกันก่อน
จากนั้นจึงจะแสดงการวิเคราะห์ & ความคิดเห็น ต่อไปครับ


ข้อเท็จจริง (Facts)

1. ปรากฏการณ์ธรรมชาติ & ภัยพิบัติ

(1.1) ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมักมีผลกระทบต่อมนุษย์ สังคม & สภาพแวดล้อม 

- บางแบบอาจส่งผลแง่บวก (เป็นหลัก) เช่น ฝนที่ตกลงมาอย่างพอเหมาะ (ทำให้ทำนา ทำสวน ทำไร่ ได้ดี) หรือสายรุ้งแสนสวยที่ทำให้ผู้พบเห็นชื่นใจ

- บางแบบอาจส่งผลแง่ลบ (เป็นหลัก) เช่น ภัยพิบัติต่างๆ ดังที่ทราบกันดี

- บางแบบอาจส่งผลทั้งบวกและลบพอๆ กัน เช่น ไฟป่า ซึ่งทำลาย & ทำร้ายพืช สัตว์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ และทรัพย์สิน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้ชีวิตใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น เพราะสิ่งที่ตายไปกลายเป็นปุ๋ย เมล็ดพืชบางชนิดมีแว็กซ์เคลือบอยู่ ซึ่งต้องได้รับความร้อนให้แว็กซ์ละลาย จึงจะงอกเป็นต้นอ่อนออกมาได้ ฯลฯ

เนื่องจากในที่นี้ สังคมจะให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ที่เป็นพิบ้ติภัย ในหัวข้อต่อๆ ไปจึงจะกล่าวถึงปรากฏการณ์ที่สร้างความเสียหายให้แก่มนุษย์ สังคม และสภาพแวดล้อมเท่านั้น

(1.2) ภัยพิบัติทางธรรมชาติอาจมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน

- บางอย่าง "เตือน" ล่วงหน้าได้พอสมควร เช่น หากพายุโซนร้อนจากเวียดนามเคลื่อนที่ผ่านลาวเข้าสู่ไทย ก็จะกลายเป็นพายุดีเปรสชัน ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในแถบภาคเหนือ & ภาคอีสานตอนบนของไทย (เป็นอย่างน้อย)

- บางอย่าง "เตือน" ล่วงหน้าได้ โดยรู้ว่าจะเกิดที่ไหน แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไร เช่น หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ก็มักจะมีแผ่นดินไหวตาม (aftershock) เกิดขึ้นอีกหลายครั้งหลังจากนั้นไม่นาน

- บางอย่าง "ระบุ" ล่วงหน้าได้ โดยรู้ช่วงเวลาโดยประมาณ และรู้ว่าจะมาในแถบไหนอย่างกว้างๆ เช่น ช่วงเดือนพฤษภาคม (ถ้ามี) พายุหมุนเขตร้อน ก็จะเข้ามาทางด้านทะเลอันดามัน แต่ถ้าเป็นเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ก็จะมาทางทะเลจีนใต้ โดยเข้าทางประเทศเวียดนามก่อน ฯลฯ

- บางอย่าง "ระบุ" พื้นที่เสี่ยงภัยได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เช่น ดินถล่ม-โคลนถล่ม มักจะเกิดในพื้นที่ที่ติดกับภูเขา ซึ่งมีความลาดเอียงเกินกว่า 25 องศาขึ้นไป โดยพื้นดินมักจะเป็นชั้นดินหนาซึ่งวางตัวอยู่บนชั้นหินที่ผุง่ายและสูญเสียความแข็งแกร่งไป (เช่น หินดินดาน หินเถ้าภูเขาไฟผุ หรือหินแกรนิตผุ) [อ้างอิง - หนังสือ รับมือธรณีพิบ้ติภัย หน้า  37]


แผนที่เสี่ยงภัยดินถล่ม-โคลนถล่ม

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของพฤติกรรมของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีหลักฐานทางสถิติที่อ้างอิงและตรวจสอบได้


2. ผู้ให้ข่าว

ผู้ให้ข้อมูล และ/หรือ ข่าวอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

2.1) หน่วยงาน องค์กร หรือนักวิชาการที่มีหน้าที่รับผิดชอบในประเด็นหนึ่งๆ โดยตรง เช่น

     - กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ลักษณะลมฟ้าอากาศ ประกาศเตือนภัย
     - กรมทรัพยากรธรณี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับดินถล่ม-โคลนถล่ม หลุมยุบ
     - ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก

 2.2) หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลที่ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบประเด็นหนึ่งๆ โดยตรง เช่น

    - สื่อสิ่งพิมพ์ และ NGOs ที่แสดงทัศนะเกี่ยวกับพิบัติภัยจากธรรมชาติ
    -
 นักวิชาการสาขาต่างๆ ที่แสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน
    - อดีตผู้บริหารองค์กรของรัฐ (เช่น อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาท่านหนึ่ง) ที่ยังสนใจประเด็นเรื่องภัยพิบัติจากธรรมชาติ
    - "นักพยากรณ์" (เช่น กรณีของ ดร. กัญจีราฯ) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้ข่าวในลักษณะนี้กับคนใกล้ชิด หรือสื่อสารมวลชน โดย "นักพยากรณ์" มักจะอ้างว่าสามารถหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าจากการฝึกจิตตามแนวที่ตนเองเชื่อถือ และอาจสำทับว่า ตนเองได้ "ศึกษาข้อเท็จจริงและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้ง เช่น ภูมิศาสตร์ อุตุนิยมวิทยา นิเวศวิทยา รวมถึงการนำผลวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาประกอบ..." (ข้อความจาก [อ้างอิง 2])

 

3. สื่อสารมวลชน & "สื่อประชาชน"

สื่อสารมวลชน ในที่นี้หมายถึง ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ รวมทั้งเว็บไซต์ที่อิงกับสื่อกระแสหลักเหล่านี้

สือประชาชน ในที่นี้หมายถึง เทคโนโลยีที่ทำให้ข้อมูลข่าวสารจากคนๆ หนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่ง ถูกส่งต่อไปยังคนอื่นๆ ได้ เช่น e-mail, blogs, เว็บไซต์ส่วนตัว, โทรศัพท์มือถือ และสื่อใหม่ๆ ที่จะมาในอนาคต

(3.1) ในปัจจุบัน ทั้งสื่อสารมวลชนและสื่อประชาชนในบ้านเรา ได้ให้ความสำคัญกับพิบัติภัยที่เกิดจากธรรมชาติมากขึ้น ทั้งนี้อาจจะเป็นได้จากเหตุการณ์ 2 อย่าง ได้แก่ สึนามิ & กระแสโลกร้อน

(3.2) อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนมักจะเน้น "ข่าว" ที่เป็นเหตุการณ์เฉพาะเป็นเรื่องๆ ไป โดยจะนำเสนอประเด็นหนึ่งๆ เมื่อเกิดเป็นข่าวขึ้นมาแล้วเท่านั้น (เช่น ในช่วงหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวใหม่ๆ จะมีข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวออกมามากมาย แต่พอทอดเวลาไปได้ระยะหนึ่ง ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใส่ใจในการให้ข้อมูล หรือสร้างความอย่างต่อเนื่องเท่าที่ควร)

(3.3) สื่อสารมวลชนมักจะไม่ได้ให้ข้อมูลในแง่ของการป้องกันตัว การเตือนภัย และการปฏิบัติที่ถูกต้องมากเท่าใดนัก หรือ ถ้าให้ข้อมูล ก็มักจะมีความคลาดเคลื่อน หรือถึงกับผิดพลาด เช่น สอนว่า "การสวมใส่สร้อยโลหะ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า เพราะสร้อยโลหะเป็นตัวล่อฟ้าผ่า" (ข้อความนี้ไม่ถูกต้อง) เป็นต้น

(3.4) สื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง (เช่น หนังสือพิมพ์หัวสี) มักจะให้ความสนใจกับการพยากรณ์ (หรือคำทำนาย) ของคนบางคนเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากการที่มีข่าวที่ปรากฏออกมาเป็นระยะ

(3.5) การให้ข่าวผ่านสื่อสารมวลชนมีข้อสังเกตว่า ข้อความที่นำเสนอออกไป 

         - อาจเป็นเพียงเป็นบางส่วน เช่น นสพ. มีเนื้อที่จำกัด ทีวีมีเวลาจำกัด
         - อาจมีการใช้คำที่คลาดเคลื่อน เช่น ในกรณีแผ่นดินไหว เมื่อนักวิชาการพูดว่า "แผ่นดินไหวขนาด 7 ตามมาตราริกเตอร์" ก็จะถูกแปลงไปเป็น "แผ่นดินไหวมีความรุนแรง 7 ริกเตอร์" ในกรณีเช่นนี้ควรรู้ไว้ว่า ในทางวิชาการ ขนาด (magnitude) และความรุนแรง (intensity) ของแผ่นดินไหวเป็นปริมาณ 2 อย่างที่มีหน่วยวัดแตกต่างกัน
         - อาจมีการเพิ่มเติมข้อมูล และ/หรือข้อความบางอย่างที่เป็นความรู้หรือความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนข่าวเพิ่มเติมลงไป

      (3.6) สื่อประชาชน มักจะแสดงความคิดเห็นโดยอิสระตามภูมิรู้ & ทัศนคติที่ตนมี และอาจจะนำเสนอความรู้ & ความคิดเห็น (มักจะเป็นความคิดเห็นเป็นส่วนใหญ่) ผ่านสื่อที่ตนมีใช้ เช่น เขียนไว้ในบล็อก เว็บไซต์ หรือส่งต่อ (forward) ข้อมูลให้เพื่อนๆ ผ่าน e-mail

      (3.7) สื่อประชาชนอาจแทรกข้อคิดเห็นของตนแทรกลงไป โดยมักจะเป็นข้อความสั้นๆ แสดงความรู้สึก ซึ่งไม่ใช่การวิเคราะห์อย่างละเอียดตามหลักวิชาการ

 

4. ผู้บริโภคข่าว

       (4.1) ผู้บริโภคข่าว หมายถึง ทุกคนซึ่งได้รับข่าวสารต่างๆ ทั้งจากสื่อสารมวลชนกระแสหลัก (TV วิทยุ นสพ. ฯลฯ) และสื่อประชาชน (บล็อก เว็บไซต์ส่วนตัว ฯลฯ โดยอาจนับรวม การบอกกันแบบปากต่อปาก)  

       (4.2) ความรู้ & ทัศนคติเกี่ยวกับภัยพิบัติหนึ่ง ๆ ของแต่ละคนมักจะแตกต่างกัน ขึ้นกับประสบการณ์ตรง (ใครที่เคยประสบเหตุมาโดยตรง จะมี "ความรู้สึก" เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ มากกว่าคนที่ไม่เคยประสบเหตุ) รวมทั้งการติดตามข่าวสารข้อมูลจากสื่อต่างๆ และการนำไปครุ่นคิด ถกเถียง หรือนำไปทดลองปฏิบัติตามคำแนะนำ

       (4.3) คนไทยส่วนหนึ่งมีความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับคำพยากรณ์ ตั้งแต่เรื่องส่วนตัว ไปจนถึงเรื่องส่วนรวมและเรื่องทั่วไป


 



[วิเคราะห์ & ข้อคิดเห็น เกี่ยวกับคำพยากรณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ]


[1] ทำไมเรื่อง "คำทำนาย" ในลักษณะนี้เป็นข่าวขึ้นมาเป็นระยะๆ?

วิเคราะห์ & ข้อคิดเห็น :

การที่เรื่อง "คำทำนาย" เป็นข่าวขึ้นมาเป็นระยะๆ น่าจะเกิดจากการที่สังคมไทยส่วนหนึ่งชอบฟังเรื่องแนวนี้ (4.3) จึงทำให้สื่อสารมวลชนส่วนหนึ่งจับเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นระยะๆ (3.4)

ในอีกมุมหนึ่ง ก็เป็นไปได้ว่า ผู้ที่ให้ข่าวได้สร้างกระแสขึ้นมา ด้วยความเชื่อมั่นในการหยั่งรู้ล่วงหน้าของตนเอง การสร้างกระแสนี้หากได้รับการตอบรับโดยสื่อสารมวลชนกระแสหลัก ก็จะขยายผลกลายเป็นข่าวที่ป้อนให้กับสังคมอีกครั้งหนึ่ง

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า

       สำหรับสื่อกระแสหลักประเด็นคำทำนายนี้มักจะทิ้งช่วงห่างพอสมควร ไม่ถี่เกินไป คือ ไม่ได้โผล่ออกมาให้ได้ยินทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือแม้แต่ทุกเดือน แต่จะกลับมาอีกเมื่อคนลืมๆ กันไป

       สำหรับ "สื่อประชาชน" นั้น หากมีการนำข้อมูลไปขยายผล เช่น ส่ง link หรือเนื้อข่าวจาก นสพ. ให้เพื่อนทาง e-mail หรือ นำไปโพสต์ไว้ในเว็บหรือบลของตนเอง ก็จะมีข้อมูลในลักษณะนี้มาอย่างสุ่มๆ ในลักษณะของ junk mail

[2] ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับคำทำนาย

วิเคราะห์ & ข้อคิดเห็น :

น่าสังเกตว่า ข่าวและคำทำนายจากนักพยากรณ์มักจะมีลักษณะดังนี้

- เต็มไปด้วยเรื่องร้ายๆ แทบทั้งสิ้น ไม่เคยปรากฏว่ามีคำพยากรณ์ที่กล่าวถึงผลกระทบในแง่บวก (1.1) แต่อย่างใด  ทำให้สามารถตั้งคำถามต่อไปได้ว่า ผู้ที่สามารถหยั่งรู้อนาคตนั้น สามารถหยั่งรู้อนาคตในแง่บวกได้บ้างหรือไม่? ถ้าได้ ทำไมจึงไม่กล่าวถึงบ้าง? หรือถ้ากล่าวถึง แล้วสื่อสารมวลชนไม่นำเสนอ ก็สมควรที่จะออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะมีโอกาสเช่นนั้นเป็นระยะอยู่แล้ว 

  มิฉะนั้นแล้ว ผู้ให้ข่าวจะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองในแง่ร้ายว่า สร้างชื่อเสียงเล่นกลับความกลัวของคนโดยมิได้ตั้งใจ


- ผู้ทำนายมักจะให้คำทำนายมากมายหลายอย่างพร้อมๆ กัน โดยหากมีสักคำทำนายหนึ่ง "ถูก" หรือ "ใกล้เคียง" ก็จะนำไปสู่การเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงได้ในวงกว้าง โดยส่วนที่ทายผิด จะถูกลืมเลือนไป หรือแก้ข่าวไปว่า สื่อนำเสนอผิดเพี้ยนจากที่ให้ข้อมูลเอาไว้

- ข้อมูลค่อนข้างตื้นเขิน และไม่มีรายละเอียดทางวิชาการ เช่น

        หากกล่าวถึงแผ่นดินไหว ก็ไม่สามารถระบุได้ว่ามีขนาดกี่ริกเตอร์? จุดศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปเท่าใด? มีอาฟเตอร์ช็อคหรือไม่? ถ้ามี อาฟเตอร์ช็อคจะตามมากี่ครั้ง? ขนาดเท่าไร?




        หากกล่าวถึงพายุหมุนเขตร้อน (tropical cyclone) ก็ไม่เคยระบุว่า พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้นที่ใด? ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุแบบต่างๆ ได้แก่ ดีเปรสชัน โซนร้อน และไต้ฝุ่น เมื่อไร? พายุพัดผ่านเพื่อนบ้านแถบใดบ้างก่อนเข้ามาสู่ประเทศไทย?

การให้ข้อมูลแบบง่ายๆ ที่แม้แต่ชาวบ้านทั่วไปก็พูดได้ เช่น เกิดอุทกภัยตรงนั้นตรงนี้ จึงขัดกับคำกล่าวอ้างที่ว่า ผู้ทำนายได้ศึกษาข้อเท็จจริงและศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (อุตุนิยมวิทยา ภูมิศาสตร์ ฯลฯ) มาอย่างลึกซึ้ง  

- การระบุช่วงวันเวลา เช่น "วันที่ 13-23 ตุลาคม จะเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่..." เป็นการใช้ข้อมูลที่รับทราบกันโดยทั่วไปในวงการวิชาการอยู่แล้ว มาสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง เพราะในช่วงเดือนตุลาคมนั้น ร่องความกดอากาศต่ำ (low pressure trough) จะพาดผ่านแถบภาคใต้ตอนบน ซึ่งจะทำให้ฝนตกในบริเวณนั้นอย่างแน่นอนอยู่แล้ว และหากร่องความกดอากาศต่ำมีกำลังแรง ก็จะทำให้ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และอาจเกิดดินถล่ม-โคลนถล่มในบางพื้นที่ได้

ดภาพใหญ่ที่นี่

[3] ข้อความที่ว่า "...ซึ่งภายหลังบุคคลผู้นี้ก็ออกมายืนยันว่าเป็นคำพูดของตนเองจริง แต่ข้อมูลที่เผยแพร่มีความผิดเพี้ยนไป..."

วิเคราะห์ & ข้อคิดเห็น :

ข้อกล่าวอ้างเช่นนี้พอรับฟังได้ในเบื้องต้น เนื่องจากกระบวนการทำข่าวของสื่อสารมวลชนอาจทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยนไปจากที่ผู้ให้ข่าวตั้งใจ (3.5) และสื่อประชาชนอาจมีการตัด/เพิ่ม/ดัดแปลงข้อมูลก็เป็นไปได้ (3.6) & (3.7)

อย่างไรก็ดี หากข้อมูลของสื่อ 2 แห่งขึ้นไปตรงกัน ผู้ที่ให้ข่าวก็ควรจะพิจารณาตนเองว่า เหตุใด ข้อมูลเนื้อหาของข่าวในสื่อต่างๆ จึงผิดเพี้ยนตรงกันได้เช่นนั้น

ในกรณีที่ ผู้ให้ข่าวอ้างว่า ข้อมูลที่นำไปเผยแพร่เกิดความผิดเพี้ยนอันเนื่องมาจากกระบวนการสัมภาษณ์และเขียนข่าวของสื่อสารมวลชน ก็ควรจะตีพิมพ์คำทำนายของตนเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วจึงให้ข่าว หรือ นำคำทำนายของตนขึ้นแสดงบนเว็บไซต์ที่ตนควบคุมเนื้อหา เพื่อให้สามารถอ้างอิงและตรวจสอบได้ว่า เหตุการณ์ต่างๆ เป็นไปดังคำทำนายหรือไม่ 

หากมิทำเช่นนี้ เมื่อมีผู้พบว่า คำทำนายในครั้งต่อๆ ไปไม่ถูกต้อง แล้วผู้ให้ข่าวแก้ต่างว่า ทำนายถูกต้อง แต่เนื้อหาข่าวผิดพลาดอีก ก็ย่อมจะบั่นทอนความน่าเชื่อถือของผู้ให้ข่าวลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดไปในที่สุด

[4] คำทำนายบางอย่างเช่น "...ส่วนในวันที่ 29 ตุลาคม (ปี 2548) อาจมีพายุทอร์นาโดเข้ามาทางอ่าวไทย ทุกภาคจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีความรุนแรงมากกว่าช่วง 500 ปีที่ผ่านมา หนักกว่าทุกครั้งที่เคยเห็น ภาคใต้หนักสุดที่นครศรีธรรมราช ภาคเหนือหนักสุดที่เชียงราย"

วิเคราะห์ & ข้อคิดเห็น :

การกล่าวถึง "พายุทอร์นาโดในอ่าวไทย" แสดงให้เห็นว่า ผู้พูดขาดความรู้พื้นฐานทางด้านอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับการเกิดทอร์นาโด ซึ่งจะเกิดจากเมฆชนิดซูเปอร์เซลล์ (supercell) อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนผ่านของมวลอากาศขนาดใหญ่ ดังเช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือประเทศจีน

สมมติต่อไปว่า ผู้ทำนายเห็นภาพนิมิตของพายุคล้ายๆ ทอร์นาโด ในอ่าวไทยจริง ก็ควรรู้ต่อไปว่า พายุนั้นน่าจะเป็น พายุนาคเล่นน้ำ (waterspout) ซึ่งมีผลกระทบเฉพาะบริเวณแคบๆ ที่เกิดพายุเท่านั้น

สมมติต่อไปว่า เรียกชื่อพายุผิด กล่าวคือ พายุที่พูดถึงคือ พายุไต้ฝุ่น ก็ควรรู้ด้วยว่า ผลกระทบของไต้ฝุ่นที่มีกำลังแรงมาก ได้แก่ การเกิดน้ำทะเลทะลักเข้าสู่ชายฝั่ง (storm surge) ซึ่งผู้ทำนายไม่ได้กล่าวถึงแม้แต่น้อย แต่กลับไปพูดถึง ผลกระทบจากอุทกภัยในทั่วทุกภาคแทน

[5] หน่วยงานของรัฐมักไม่ให้น้ำหนักกับคำทำนายเหล่านี้

วิเคราะห์ & ข้อคิดเห็น :

คงพอจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบ (authority) ในการจัดการกับพิบัติภ้ยต่างๆ จะไม่ให้น้ำหนักกับคำพยากรณ์เหล่านี้

เพราะแม้คำทำนายบางอย่าง (ในหลายต่อหลายอย่าง...ย้ำ! ผู้ทำนายมักจะให้คำทำนายจำนวนมากมาย...เผื่อฟลุ๊ก?) จะใกล้เคียง แต่ก็ไม่ได้เกินความคาดหมาย เช่น ในเดือนตุลาคมจะเกิดน้ำท่วมหลายแห่ง

กล่าวโดยย่อคือ คำทำนายเหล่านี้ไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มใดๆ เลย รังแต่จะทำให้เกิดความตื่นเต้น ตื่นตระหนก เมื่อได้ฟังครั้งแรก

แต่หากได้ฟังบ่อยๆ เข้า ความตื่นเต้น ก็จะเปลี่ยนไปกายเป็น ความเบื่อหน่าย เอือมระอาแทน ("อีกแล้วหรือนี่?")


 

ทั้งหมดนี้ เป็นการนำเสนอเบื้องต้นเพื่อให้เห็นแนวคิดหลักๆ ในการวิเคราะห์

หากเพื่อนๆ ท่านใดสนใจนำไปคิดต่อ แล้วเกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ

ก็อย่าลืมนำมาฝากกันบ้าง

ขอบคุณครับ ^__^

 

 


 

คำสำคัญ (Tags): #คำทำนาย
หมายเลขบันทึก: 194351เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2008 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท