Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๔๖)_๑


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๒)

การจัดการความรู้เรื่องดิน
โครงการฟ้าสู่ดิน จ.บุรีรัมย์


         (โปรย) “สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เช่นชุดความรู้ควายเนื้อ เอามาใช้กับควายเหล็กไม่ได้ เพราะควายเนื้อชอบนอนปลักนอนโคลน แต่ควายเหล็กกระโจนลงน้ำเมื่อไหร่ เสียเงินทันที ฉะนั้นคนชนบทต้องมีการเรียนชุดความรู้ใหม่ ในขณะเดียวกันก็สังเคราะห์ความรู้เก่ามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับยุคสมัย และนี่เองคือการจัดการความรู้ระดับชุมชน”

ทำไมชาวบ้านต้องจัดการความรู้
         “ดิน” เป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่เครือข่ายชาวบ้านในเขต อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ เห็นว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมร้อยกับการทำมาหากินและชีวิตของชาวบ้านในภาคอีสานเป็นอย่างมาก เนื่องจากดินในถิ่นอีสานไม่อยู่ในสภาพที่เอื้อให้การเพาะปลูกได้ผลดีนัก และแม้พบว่าชาวบ้านมีความรู้ แต่ความรู้นั้น กลับยังไม่เพียงพอและไม่สอดคล้องกับกาลเวลาที่เปลี่ยนไป และหากยังต้องการยึดอาชีพเกษตรกรต่อไป ก็ต้องทำให้ดินดี เพื่อให้ปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกอะไรก็งอกงาม  หนทางออกของปัญหานี้ก็คือต้องหาความรู้ และสร้างความรู้ขึ้นใช้เองให้เหมาะสมกับบริบทของชาวบุรีรัมย์ 
         กระบวนการจัดการความรู้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดินจึงเริ่มต้นขึ้น โดยการทบทวนความรู้เรื่องดิน และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากชาวบ้าน พร้อมทั้งตั้งคำถามต่อเครือข่ายเกษตรกรชาวบุรีรัมย์ว่า  “ดินดี คือ ดินอย่างไร” และปัญหานี้เองจึง เป็นโจทย์สำคัญของโครงการ “การจัดการความรู้ระดับชาวบ้าน หรือโครงการฟ้าสู่ดิน” ที่สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เป็นผู้ให้การสนับสนุน โดยมี นายสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ เป็นหัวหน้าโครงการ
แผนการจัดการความรู้เรื่องดิน
         ใช้หลักการของการจัดการความรู้ระดับชุมชน ที่จัดพื้นที่ให้ สมาชิกได้มาพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์จริง จากการปฏิบัติจริง และเปลี่ยนทัศนคติแห่งการหวงความรู้มาเป็น การรู้จักแบ่งปัน  ทั้งนี้เพื่อศึกษาการสร้างและการจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชาวบ้านโดยใช้กรณีศึกษาในเรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน และความรู้อื่นๆ  เชื่อมโยงกับการทำมาหากิน ในชีวิตจริงใน 5 ฐานการเรียนรู้ของสถาบันภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ในช่วงระยะเวลา 1 ปี และเพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมและความรู้ต่างสู่เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านสู่นักวิชาการ สู่เยาวชน พร้อมกับประมวลความคิด กิจกรรม และความรู้ที่เกิดขึ้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง 
  
พื้นที่เป้าหมาย เพื่อจัดฐานทัพประชิดความรู้
  แบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ 5 ฐาน  ใน จ.บุรีรัมย์ และจ.นครราชสีมาได้แก่ 
ฐานการเรียนรู้บ้านส้มกบ   นายวันชัย แสวงชัย   เป็นหัวหน้าฐาน
ฐานการเรียนรู้บ้านหนองตาเพ็ง  นส.วรรณมาศ ปรัชญพฤทธิ์   เป็นหัวหน้าฐาน
ฐานการเรียนรู้บ้านแสงจันทร์  นายไพรัตน์ ชื่นศรี    เป็นหัวหน้าฐาน
ฐานการเรียนรู้บ้านหนองดุม  นายประสงค์ อาจหาญ                  เป็นหัวหน้าฐาน
ฐานการเรียนรู้บ้านไพล   นายเจิด ภูมิกระจ่าง   เป็นหัวหน้าฐาน

โจทย์ที่ตั้งไว้แลกเปลี่ยนความรู้

แต่ละฐานการเรียนรู้จะต้องเรียนรู้ดังนี้


โจทย์ที่ตั้งไว้แลกเปลี่ยนความรู้

การสร้างหน้าดินเลียนแบบธรรมชาติ  1.สร้างหน้าดินด้วยระบบแปลงหมัก วัสดุบำรุงดินเท่าที่จะหาได้
2.สร้างหน้าดินด้วยระบบกองเป็นคันคู
3.สร้างหน้าดินในแนวระนาบในรูปของการยกร่องแปลงผัก
 
การฟื้นฟูดิน  1. ลด ละ เลิก การใช้ปุ๋ยเคมีและ สารเคมี
2. ทดลองฟื้นฟูดินในถังซีเมนต์
3. ทดลองฟื้นฟูดินในแปลงปลูกไม้ผลและแปลงผัก
4. การฟื้นฟูดินในแปลงปลูกไม้ยืนต้น
5. การฟื้นฟูดินในไร่นาเครือข่ายสมาชิก
 
การบำรุงดิน  1.บำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์
2.บำรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก
3.บำรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ
4.บำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสด
5.บำรุงดินด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว
6.บำรุงดินด้วยการคลุมด้วยใบไม้ กิ่งไม้
7.บำรุงดินด้วยการปลูกไม้ยืนต้น
8.บำรุงดินด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน
9.บำรุงดินด้วยการพักดินเป็นครั้งคราว
10.การปล่อยวัชพืชให้คลุมดิน
การใช้ที่ดินอย่างประณีต  1. การทำแปลงสาธิต 1 ไร่ เพื่อที่จะได้ออกแบบการเรียนรู้เรื่องดินเชิงประจักษ์
การตรวจสอบคุณภาพและผลผลิตที่เกิดจากดินแปลงตัวอย่าง 1.การนำดินไปในห้องวิเคราะห์
2.การนำข้าว ไปตรวจหาสารอาหาร
3.นำใบไม้ชนิดต่างๆ ไปตรวจหาคุณสมบัติที่มีต่อการบำรุงดิน
 

เรียนรู้ดูต้นแบบที่แปลงเกษตรปราณีต 1 ไร่
         ทั้งนี้แต่ละฐานจะมีต้นแบบอยู่ที่สวนป่านายสุทธินันท์ ซึ่งมีแปลงทดลองเกษตรปราณีต 1 ไร่ ทดลองปรับปรุงดินด้วยกรรมวิธีต่างๆ เท่าที่จะคิดได้ แล้วปลูกพืชที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันสำหรับ 1ครัวเรือนไว้ เป็นสถานที่ศึกษาดูงานในกลุ่มฯ ซึ่งเมื่อมาศึกษาดูแนวทางการพัฒนาดินได้แล้ว แต่ละฐานการเรียนรู้จะต้องไปฝึกคิด และทดลองกรรมวิธีการปรับปรุงดินในแบบฉบับของแต่ละฐาน เพื่อแก้ปัญหาดินของแต่ละพื้นที่ซึ่งแม้จะอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันเรื่องคุณภาพอย่างสิ้นเชิง 
         วิธีการในการดูดซับความรู้ในเรื่องต่างๆ ข้างต้นของแต่ละกลุ่ม จะมีการนัดประชุม หารือกันเองระหว่างผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ในแต่ละฐานการเรียนรู้ โดยการระดมสมองทั้งระดับชุมชน ค้นหาภูมิปัญญาผู้รู้เรื่องดินในชุมชน ระดมสมองเชิงวิชาการ กับนักวิชาการ และครูผู้รู้เรื่องดิน รวมถึงระดมความรู้ที่มีอยู่ทั้งโลก ว่าทั้งโลกมีความรู้อย่างไรบ้างในเรื่องดิน ,มีการจัดเวทีชี้ชวนนักวิชาการ นักวิจัย และส่วนราชการในกรม กองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรมมาระดมความคิด ความเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันและกัน และนำสมาชิกไปศึกษาดูงานจากเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ  และทุกๆ 1 เดือน สมาชิกในแต่ละฐานการเรียนรู้ จะมาแบ่งปันความรู้ที่ได้ไปทดลองกัน เวทีปันผลความรู้นี้จึงเปรียบเสมือนตำราเล่มใหญ่ให้ทุกคนได้เรียนรู้กันอย่างตื่นตา และตื่นใจ

เรียนรู้ดูงานจากแหล่งความรู้ภายนอก
         แม้ว่าขณะนี้โครงการในระยะแรกได้จบสิ้นลง และอยู่ระหว่างการต่อโครงการระยะที่ 2 การไขว่คว้าหาความรู้ ของสมาชิกฟ้าสู่ดินก็ยังไม่สิ้นสุด ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ที่ผ่านมา  อาจารย์ วันชัย แสวงชัย  หัวหน้าฐานการเรียนรู้บ้านส้มกบ ก็พาลูกทีม เช่น พ่อสมพงษ์ ,และพ่อกว้าง ฯลฯ ไปเรียนรู้ข้ามเครือข่าย โดยไปเรียนรู้เรื่องการคัดพันธุ์ และการผสมพันธุ์ข้าวแบบข้ามสายพันธุ์กับ นักเรียนโรงเรียนชาวนา ถึง จ.สุพรรณบุรี งานนี้ ครูบาสุทธินันท์ บอกว่า พอกลับมา พวกนี้กระดี้ กระด๊า เที่ยวมาเล่าให้เพื่อนสมาชิกฟ้าสู่ดินที่ จ.บุรีรัมย์ ฟังว่าปลูกข้าวมาเกือบทั้งชีวิต ไม่เคยคัดพันธุ์ข้าว ได้รู้วิธีคัดพันธุ์ข้าวและผสมพันธุ์ข้าวมาแล้วกับมือ ก็อยากจะลองทำจริงๆ บนที่นาของตนเอง บ้างไม่แน่ในอนาคตเราอาจเห็น พระเอก นางเอกที่บุรีรัมย์ คัดพันธุ์ข้าวเป็นอย่างนักเรียนชาวนา จ.สุพรรณบุรีบ้างก็ได้

         นี่คือหนึ่งตัวอย่างเล็กๆ ที่เกิดขึ้นหลังการเรียนรู้ ของแต่ละคน ไม่ว่าจะไปดูงาน ไปรู้เรื่องอะไรดีๆ ที่ไหน ก็จะมาเล่าและเติมไฟให้กับการเรียนรู้ของตนเอง และสมาชิกฟ้าสู่ดินเสมอ

ความรู้จากนักวิชาทำนักวิชาการ
         ดร.แสวง รวยสูงเนิน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงความรู้วิชาการกับความรู้ระดับชาวบ้านเข้าด้วยกัน พร้อมทั้งอธิบายความรู้ของชาวบ้านที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนรู้เรื่องดินให้เป็นที่ประจักษ์ได้ โดย ดร.แสวงจะเป็นผู้นำชาวบ้านเรียนรู้เรื่องชั้นของดิน และอธิบายเรื่องการสะสมธาตุอาหารในดิน พร้อมทั้งเสนอแนะวิธีการพัฒนาปรับปรุงดินให้ชาวบ้านทดลองบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือ ดร.แสวงกลับเห็นว่า หลังจากเข้าร่วมกิจกรรม การเรียนรู้ของสมาชิกฟ้าสู่ดินกลับเป็นฝ่าย ให้ความรู้เชิงประจักษ์แก่นักวิชาการอย่างตน ซึ่งน่าทึ่งและต่างไปจากความรู้ทฤษฎีที่ตนเรียนมา ทั้งนี้เนื่องจากตนพบกระบวนการคิด และการพัฒนาองค์ความรู้เป็นการกระทำที่มีความจริงจังในเนื้อหาและการปฏิบัติที่ชัดเจน และเป็นความรู้สำหรับชาวบ้านใช้เองจริงๆ

หมายเลขบันทึก: 19242เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2006 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท