ชีวิตที่พอเพียง : ๕๔๓. ชีวิตที่สุขง่าย ทุกข์ยาก


 

          คนส่วนใหญ่มีชีวิตแบบ “ทุกข์ง่าย สุขยาก”    หรือมีชีวิตแบบแสวงหาความสุขที่นำไปสู่ความทุกข์ ที่เรียกว่าอบายมุข


          อบายมุข คือสิ่งที่ให้ความสุขเดี๋ยวเดียว    แล้วมีความยุ่งยากและความทุกข์ตามมาอีกเรื้อรังยาวนาน หรือตลอดชีวิต


          ผมใช้ชีวิตเป็นนักเรียน หาวิธีมีชีวิตแบบ สุขง่าย ทุกข์ยาก    โชคดีที่ยิ่งอายุมากขึ้น ก็พบวิธีการหรือแนวทางมากขึ้น 

  
          ผมพบว่าความรู้เกี่ยวกับ ชีวิตที่ “สุขง่าย ทุกข์ยาก” มีอยู่มากมาย หาได้ทั่วไป    แต่เรามักจะไม่เข้าใจ   เรามักจะโดนความเย้ายวนดึงไปสู่วิถีแห่ง ทุกข์ง่าย สุขยาก  


          หรือบางคนก็หลงอ่านหนังสือ ท่องตำรา เพื่อหาวิถีแห่ง สุขง่าย ทุกข์ยาก    ซึ่งผมเชื่อว่าจะหาไม่เจอ   ตำรา สุขง่าย ทุกข์ยาก ไม่ได้มีอยู่ในหนังสือครับ    แต่อยู่ในการปฏิบัติ อยู่ที่การทดลองปฏิบัติ พากเพียรปฏิบัติ    ตำราเป็นเพียง “ตัวช่วย” ไม่ใช่ “ตัวจริง”


          พูดใหม่ ความรู้เพื่อชีวิตที่สุขง่าย ทุกข์ยาก เป็น “ความรู้ที่ไม่มีในตำรา” ครับ    ความรู้ชนิดนี้พูดหรือเขียนออกมาได้ไม่หมด   เป็นความรู้ที่ถ่ายทอดจากภายนอกได้ไม่ครบถ้วน    ต้องงอกงามจากภายในจึงจะรู้จริง

 

          อารัมภบทมายืดยาว    เพื่อจะบอกว่า ผมกำลังเสวยสุข จากความปิติที่ตนเองได้มีโชค เข้าไปร่วมกันพัฒนาเรื่องเล็กๆ คือ R2R ของศิริราช เมื่อ ๔ ปีก่อน   เป็นการร่วมกันทำงานแบบทำไปเรียนไป   แล้วก็ฟลุ๊ก เกิดการระบาดเปรี้ยงปร้างของ R2R   จนตอนนี้ สวรส. เข้ามา “จัดการการระบาด”   ที่น่าจะเกิดคุณค่ายิ่งต่อสังคม


          ยิ่งกว่านั้น เครื่องมือจัดการการระบาดที่สำคัญคือ KM ซึ่งผมก็มีส่วนร่วมสร้างอีก   ทำให้ยิ่งมีความสุข


          ที่จริงผมหล่อเลี้ยงชีวิตด้วยความสุขแบบนี้มาตลอดชีวิต    แต่ไม่กล้าบอกใคร    กลัวเขาจะว่าอวดเก่งหรือยกหาง    แต่บันทึกชุดนี้เป็นบันทึกการ AAR ชีวิตของตนเอง   เพื่อ ลปรร. ว่าชีวิตที่พอเพียงเป็นอย่างไร    ชีวิตที่หาความสุขได้ง่ายจากการทำประโยชน์แก่ผู้อื่นหรือแก่สังคม    แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่ไม่มีคนเห็น หรือไม่จำเป็นต้องเอาไปอวดใคร (มนุษย์ระดับ ๖ ของ Lawrence Kohlberg) เป็นชีวิตที่พอเพียง

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓ ก.ค. ๕๑

           

หมายเลขบันทึก: 191982เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2008 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ได้ไปเรียนรู้เรื่องR2R จากอาจารย์มาค่ะ ฟังแล้ววิจัยน่าทำขึ้นอีกเยอะเลยคะ
  • แต่ขอเป็นวิจัยเชิงปริมาณก่อนนะค่ะ
  • ยอมรับว่าเชิงคุณภาพยังไกลตัวอีกมากคะอาจารย์

“สุขง่าย ทุกข์ยาก” คนอยากหา

ต่างตั้งตาตั้งหน้าหาไปทั่ว

แล้วลืมไปว่าสิ่งนั้นอยู่ใกล้ตัว

มันพันพัวอยู่ที่ใจของเราเอย

  • หนูพบคำตอบที่ว่าทำไมอาจารย์ถึงมี ชีวิตที่สุขง่าย  ทุกข์ยาก ค่ะ..... "ชุมชน R2R ในฝันของผม".....นี่เป็นคำตอบค่ะ  เพราะอาจารย์มีฝัน  และทำให้ฝันเป็นจริง....

เห็นทีหนูจะ AAR ตัวเองบ้างแล้วค่ะ  ถึงแม้จะมีความสำเร็จ(เพียงน้อยนิด)....จากการเริ่มต้นการพัฒนาคุณภาพแบบง่ายๆพื้นๆ..เริ่มต้นจากการร้องยี้ของสมาชิกทีมกรรมการHA....สู่ HA...และตามมาด้วยกิจกรรมกลุ่มคุณภาพที่ตอบโจทย์ สไตล์ R2R ...(ประสบการณ์โหด หฤหรรษ์ในโรงเรียนแพทย์กับช่วงเวลาทำคุณภาพตั้งแต่ปี2543) ...ยาวนานและที่มีคุณค่ายื่งค่ะ

  • ขอบพระคุณอาจารย์ที่ช่วยกระพือไฟแห่งการพัฒนางานเพื่อสังคมค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์

กระผมนักส่งเสริมการเกษตร พบเกษตรกรที่มี ทุกข์มาก ยากจะแก้ไข อะไรหนอ ที่จะผลักดันให้มีความสมบูรณ์ได้ บทบาทที่ทำ ทำอย่างแรงกล้า เช้ายันคำ่ ดื่มดำ่กับความยากของเกษตรกร ไม่ท้อ แต่ยากนาน ครับ km เราใช้ได้ทุกกรณี แต่ผลที่ได้ มาก น้อย ตามศักยภาพครับ สูตร สู้ที่ใจ ครับ ทำงานอย่างมีความสุขตลอดไปครับ ให้ขวัญและกำลังใจกระผมด้วยครับ ขอบพระคุณยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท