เลี้ยงลูกให้มีความฉลาดทางอารมณ์


ผู้เลี้ยงดูเด็กทุกคนต้องหมั่นฝึกความฉลาดทางอารมณ์ของตนเองเพื่อเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานได้มีการแสดงออกของความฉลาดทางอารมณ์อย่างถูกกาลเทศะ บังเกิดผลต่อพัฒนาการสังคมของมนุษยชาติ

ก่อนอื่นต้องขอโทษเพื่อน ๆ ชาว blog ทุกท่านที่หายหน้าหายตาไปนาน ภาระกิจมากอาจเป็นเพราะเพิ่งเปิดภาคการศึกษาจึงหมดเวลาไปกับการเตรียมสอน งานสอน งานตรวจวิทยานิพนธ์ งานบริการวิชาการที่เดินสายตั้งแต่เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาคกลางจนจรดใต้กันทีเดียว ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ท่านเคยแนะนำแล้วว่าต้องเพิ่มตัวคูณ พยายามอย่างยิ่งเลยค่ะ แต่ทุกที่ทั้งขอ และแกมบังคับว่ามาเองได้มั๊ยคะ/ครับ จึงเป็นดังนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องร่วมด้วยช่วยกัน เติมเต็มความจริงในด้านวิชาการ ช่วยกันติดอาวุธทางปัญญาให้พี่น้องร่วมสังคมประจักษ์ และนำไปใช้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ถึงเหนื่อยก็ต้องทำ และทำอย่างภาคภูมิใจ เต็มไปด้วยความสุขที่แท้ 

วันนี้เห็นทีจะมาคุยถึงเรื่องเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนในกำลังนี้!!!

ความฉลาดทางอารมณ์ หรือวุฒิทางอารมณ์ในทัศนะของนักประสาทวิทยาศาตร์ จะต้องมองไปที่ภาวะสมดุลทางการแสดงออกทางอารมณ์ในแต่ละสภาวการณ์ (เอ...จะเป็นภาษาที่ซับซ้อนไปหรือเปล่า ผู้เขียนเขียนเองยังต้องอ่านสองรอบ!!) จะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย สิ่งเหล่านี้เป็นมรรคเป็นผลมาจากพัฒนาการทางสมอง 

ในวัยเด็กสมองจะมีพัฒนาการอย่างมากในด้านอารมณ์ คือระบบลิมบิก (limbic system) แต่กำลังพัฒนาของสมองส่วนหน้า (frontal cortex) จะเห็นได้จากการแสดงออกของเด็กโดยทั่วไป ซึ่งยากจะยับยั้งชั่งใจ ไตร่ตรอง ก่อนกระทำ มีตัวอย่างปัญหาให้เห็นอย่างมากมาย สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกฝนความฉลาดทางอารมณ์ได้ ตั้งแต่เล็ก ๆ ฝึกบ่อย ๆ เพราะสมองต้องการการฝึกบ่อย ยิ่งใช้ยิ่งแข็งแรง และมีประสิทธิภาพ ตอบสนองอย่างรวดเร็ว การฝึกให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมคือ เริ่มจากการรู้จักรอ การรู้จักขอโทษ การรู้จักให้อภัย การรู้จักให้ การแบ่งปัน การไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การเบียดเบียนนี้ไม่ได้หมายถึงการเบียดเบียนทางกาย วาจาเท่านั้นนะคะ แต่รวมถึงการเบียดเบียนทางความคิดด้วย คิดแยบยล คิดแยบคายเพื่อประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้งแบบนี้เป็นสร้างร่องรอยสมองของการเบียดเบียนอย่างฝังรากลึก จนเป็นนิสัยจะแก้ไขยาก

คุณพ่อ คุณแม่ คุณครู ผู้เลี้ยงดูเด็กทุกคนต้องหมั่นฝึกความฉลาดทางอารมณ์ของตนเองเพื่อเป็นแบบอย่างให้ลูกหลาน เพราะอย่างน้อยเราอายุมากกว่า สมองเจริญเติบโตมากกว่า มีร่องรอยประสบการณ์มากกว่า ยกเว้นว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยถูกฝึกเลย ควบคุมการแสดงออกของอารมณ์ไม่เป็นเลย จึงเป็นแบบอย่างไม่ได้!!! อย่างนี้ขอแนะนำว่าอย่าทำงานด้านพัฒนาการเด็ก เยาวชน หรือพัฒนาการมนุษย์เลย เพราะจะบังเกิดความเสียหายต่อสังคมของมนุษยชาติ ดังนั้นพวกเราทุกคนต้องหมั่นฝึกลูกหลานอย่างเป็นนิจ ในทุกสภาวการณ์ ใช้และสร้างร่องรอยของสมองส่วนหน้าซึ่งเป็นส่วนจิตวิวัฒน์ คิดวิเคราะห์ให้มาก ๆ เพราะสมองส่วนหน้าของมนุษย์เรามีโอกาสพัฒนาได้จนกระทั่งอายุ 20 ปี บางตำราให้ไปถึง 25 ปี ทีเดียว (เจ็ดพันถึงเก้าพันกว่าวัน มากทีเดียว มากเสียจนเป็นอัจฉริยะได้) เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่จะได้สามารถแสดงออกทางอารมณ์อย่างถูกต้อง ถูกกาลเทศะ เมื่อเติบใหญ่เป็นผู้นำจะได้เป็นผู้นำที่แท้ (Authentic Leadership) นำทั้งความคิด และบุคลิกภาพ ไม่มีใครอยากได้ผู้นำที่ไม่ฉลาดทางอารมณ์หรอกค่ะ ไม่ได้เสียดสีผู้ใด แต่ฝันอยากมีผู้นำในทุกองค์กรของสังคมไทยที่เป็นผู้นำที่แท้ สงบ สุขุม บู๊ปัญหาต่าง ๆ ด้วยจิตวิวัฒน์  จึงจะบังเกิดพลังความสุขในทุก ๆ ที่ ทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน ชุมชน สังคม และขับเคลื่อนประเทศชาติให้พัฒนาอย่างมีวิวัฒน์

มาช่วยกันส่งเสริมความฉลาดทางอารมณ์ตั้งแต่เล็ก ๆ กันดีกว่านะคะ

หมายเหตุ สมองถ้าไม่ถูกสร้างร่องรอยหรือ วิถีคิดไว้ หรือเคยสร้างแต่ไม่หมั่นฝึกฝน หมั่นใช้จะไม่เกิดประสิทธิภาพใด ๆ เลย บุคคลนั้นจะสูญเสียโอกาสแห่งการพัฒนาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะส่งผลสะเทือนสังคมที่เขาอยู่เขาเป็น

หมายเลขบันทึก: 191430เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2008 18:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 21:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะอาจารย์

  • มาเชียร์อาจารย์สร้างตัวคูณทางสังคมครับ
  • อยากให้อาจารย์มาเขียนบ่อย
  • จะได้แนะนำคนมาอ่านครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท