มานพ เกตุศรีเนียม กับ ข้าวหอมมะลิแดง


ข้าวหอมมะลิแดง

มานพ  เกตุศรีเนียม กับ ข้าวหอมมะลิแดง

                แม่น้ำยมและน่านที่ไหลมาจาก จ.พิจิตร ไปรวมกันที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ แล้วกลายเป็นแม่น้ำน่านส่วนแม่น้ำปิงและวังไหลรวมกันก่อนที่จะลงไปเจอกันกับแม่น้ำน่านที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ แล้วเรียกชื่อใหม่ว่า แม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นอีกหนึ่งของความภาคภูมิใจของคนนครสวรรค์  แต่เบื้องหลังของความภาคภูมิใจนั้น ก็แฝงไปด้วยคราบน้ำตาของพี่น้องเกษตรกรปีแล้วปีเล่า  ที่ต้องมาสูญเสียผลผลิตทางการเกษตรและทรัพย์สินอื่นๆ จากภาวะน้ำท่วมนับไม่ถ้วน ครั้นจะทิ้งถิ่นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่คนรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ได้บุกเบิกเอาไว้ก็ใช่ที่  ดังนั้น การปรับตัวให้กลมกลืนสามารถอยู่ได้กับความโหดร้ายของธรรมชาติจึงเป็นปมปัญหาที่ท้าทาย 

จนกระทั่งไปพบ นายมานพ เกตุศรีเนียม อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 6 หมู่ 7 บ้านเกยไชยใต้ ต.เกยไชย         อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เกษตรกรหนุ่มใหญ่หัวก้าวหน้าก็เช่นเดียวกันที่ปักหลักอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด เนื่องมาจากที่นี่จะเกิดน้ำท่วมแทบทุกปีในช่วงหน้าฝน จึงไม่สามารถทำนาปีได้จะทำนาได้ก็ต้องรอหลังน้ำท่วมหรือเข้าสู่หน้าแล้งเป็นนาปรังเท่านั้น ด้วยความอยากเอาชนะธรรมชาติและสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในพื้นที่เดิม  เมื่อทราบข่าวการปลูกข้าวหอมมะลิแดง ซึ่งเป็นข้าวนาปีหรือข้าวไวแสง ที่สามารถนำมาทำนาปรังได้ จึงเป็นการจุดประกายความหวังขึ้นมาลึกๆ ในใจ จนกระทั่งโอกาสเปิดให้เมื่อปี 2549 ได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิแดงจากคนที่รู้จักมา 3 ก.ก. จึงได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก ใช้วิธีการกระเทาะเปลือกออกคัดเอาเฉพาะเมล็ดตรง สีเข้ม ผิวมัน ไม่หัก มีจมูกข้าว แล้วก็นำเปลือกไม้ประดู่ป่ามาประมาณ 1 ขีด นำมาแช่น้ำสะอาดไว้ 1 คืน จากนั้นก็เอาเปลือกประดู่ทิ้งไปเหลือแต่น้ำ นำเมล็ดข้าวที่กระเทาะเปลือกแล้วมาแช่ไว้ 1 คืน น้ำเปลือกประดู่จะช่วยกำจัดโรคที่ติดมากับเมล็ด จากนั้นนำข้าวขึ้นมามาห่อผ้าบ่มไว้อีก ๑ คืน ข้าวก็จะเริ่มงอกก็นำไปหว่านบนดินแห้งที่เตรียมไว้ดีแล้ว ใช้ขี้เถ้าแกลบโรยกลบ หรือจะเพาะในกระบะทรายก็ได้ โดยให้ความชื้นระดับปานกลางใช้เวลา 20 30 วัน จึงนำไปปักดำจับละ 1 ต้น ระยะ 25 + 25 หรือ 30 + 30 ซ.ม. ปักดำได้ 2 งาน ส่วนนี้จะเก็บเอาไว้ทำพันธุ์ในปีต่อไป การกระเทาะเปลือกก็เป็นการคัดเมล็ดที่ดีในชั้นต้น เพื่อให้คงสายพันธุ์เดิมให้มากที่สุด

ส่วนที่ 2 เมล็ดข้าวส่วนนี้จะไม่กระเทาะเปลือกนำมาแช่น้ำ 1 คืน แล้วนำขึ้นมาบ่มอีก 1 คืน แล้วนำไปตกกล้าใช้เวลา 20 30 วัน จึงนำไปปักดำจับละ 12  ต้น ปักดำได้ 2 งาน ปลูกเพื่อสำหรับเอาไว้รับประทานเองที่เหลือก็นำออกจำหน่าย เนื่องจากข้าวหอมมะลิแดงเป็นข้าวนาปี การเพาะเมล็ดจะต้องเพาะก่อนวันที่ 20 ธันวาคม จึงจะสามารถนับวันเก็บเกี่ยวได้ ตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลา 125 – 130 วัน หากเพาะเมล็ดหลังวันที่ 20 ธันวาคม ข้าวก็จะไปออกรวงและเก็บเกี่ยวเดือน ตุลาคมพฤศจิกายน หรือหากจะนำไปทำนาปีปกติก็จะให้ผลผลิตที่ดียิ่งกว่า เมล็ดข้าวทั้ง 2 ส่วนนี้ ได้ตกกล้าเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2549

การเตรียมดิน ก็เตรียมเหมือนกับการทำนาตามปกติมีการไถดะ คราด ทำเทือก กำจัดวัชพืช แล้วหว่านปุ๋ยชีวภาพที่ทำขึ้นเองรองพื้นก่อนปักดำ 50 ก.ก.  การเตรียมดินสำหรับการทำนานั้น จะต้องเตรียมให้ดินเพราะเมื่อปักดำไปแล้วต้นข้าวจะสามารถดูดธาตุอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตได้เต็มที่

การดูแลรักษา หลังปักดำไปแล้ว 15 -20 วัน ก็ใส่ปุ๋ยชีวภาพอีก 30 ก.ก. พร้อมกับฉีดพ่นปุ๋ยน้ำหมักทางใบที่ทำมาจากหอยเชอรี่ อีกส่วนหนึ่งก็ใช้น้ำหมักใส่ละลายในขณะที่ปล่อยน้ำเข้านา อีก 1 เดือนต่อมาข้าวก็จะเริ่มแต่งตัว ก็จะใช้น้ำหมักที่ทำมาจากปลาฉีดพ่นทางใบ และใส่น้ำหมักละลายในขณะไขน้ำเข้านา การปลูกข้าวหอมมะลิแดงที่ผ่านมายังไม่พบโรคแมลงรบกวน เนื่องมาจากระบบนิเวศวิทยาในนาข้าวมีความพอดีอยู่แล้ว เมื่อข้าวอายุได้ 45 วัน ก็เริ่มออกรวงจะฉีดสารชีวภาพเป็นฮอร์โมนทางด่วนซึ่งทำขึ้นมาเอง เพื่อช่วยให้เมล็ดข้าวสมบูรณ์และตากเกสรได้เร็วขึ้น เมื่อข้าวออกรวงได้ 20 วัน ก็ไขน้ำออกจากนาให้แห้งทั้งหมด อีกประมาณ  10 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตที่ได้รับอยู่ที่ 460 ก.ก.ต่อไร่  ถือว่าได้รับผลผลิตระดับปานกลาง ราคาจำหน่ายได้ขณะนั้นเกวียนละกว่า 1 หมื่นบาท เป็นราคาที่พึงพอใจเพราะยังสูงกว่าราคาข้าวทั่วไป 2,000 3,000 บาท

นายมานพ เกตุศรีเนียม  กล่าวต่อไปว่า ต่อมาเมื่อเดือน ธันวาคม 2550 ก็เริ่มปลูกข้าวหอมมะลิแดงเป็นครั้งที่ 2 ปลูกในพื้นที่ 4 ไร่ โดยใช้วิธีการปลูกและปฏิบัติดูแลรักษาเหมือนกับปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้เตรียมแปลงเมล็ดพันธุ์โดยกระเทาะเปลือกเอาไว้ 1 ไร่ ส่วนที่เหลือก็เพาะปลูกตามปกติ จะสามารถเก็บเกี่ยวประมาณวันที่ 10 15 กุมภาพันธ์นี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตดีกว่าเดิมหรือประมาณ 600 ก.ก.ต่อไร่  ส่วนในปีต่อไปก็จะขยายพื้นที่ปลูกในสมาชิกในโรงเรียนชาวนาออกไปอีก คาดว่าอนาคตการตลาดน่าจะดีกว่าข้าวทั่วไป และในปีต่อไปก็จะทดลองนำข้าวหอมมะลิ 105 ปลูกโดยใช้วิธีการเดียวกันบ้างเพื่อเป็นการศึกษาเปรียบเทียบ

การตลาด  เมื่อได้รับผลผลิตก็จะนำมาสีเป็นข้าวกล้องส่วนหนึ่งเอาไว้รับประทานเอง ที่เหลือก็จะจำหน่ายให้สมาชิกในกลุ่มโรงเรียนชาวนา  แปลงนี้ยังเป็นแปลงเรียนรู้ของสมาชิกของโรงเรียนชาวนาสมาชิก 23  คน ซึ่งจะมีการขยายในหมู่สมาชิกอย่างกว้างขวางในปีต่อไป ขณะนี้ราคำหน่ายเป็นข้าวกล้อง ราคา 30 บาทต่อ ก.ก.  ถ้าจำหน่ายเป็นข้าวเปลือกราคาไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 1 หมื่นบาท  สูงกว่าราคาท้องตลาด

ช่วงท้ายของการพูดคุย นายมานพ เกตุศรีเนียม ได้นำข้อมูลทางวิชาการมาให้ดูจึงทราบเพิ่มเติมอีกว่า ข้าวหอมมะลิแดง เป็นข้าวสายพันธุ์เชียงใหม่และสุรินทร์ ใบเกลี้ยง สีเขียว กาบใบมีสีเขียว ทรงกอตั้ง ลำต้นสูง ๑๖๗ ซม. ข้อต่อใบแข็งปานกลาง ใบธงตั้งตรงใบแก่ช้า ไม่ต้านทานโรคขอบใบแห้ง ไหม้คอรวง อายุการเก็บเกี่ยว 125 -130 วัน เป็นข้าวนาปี ข้าวหอมมะลิแดงสามารถต้านโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง แก้โรคเหน็บชา และชะลอความแก่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ นาย มานพ เกตุศรีเนียม เบอร์โทร. 08-9271-7102  

                                                                               

                                                                                                                                นายธนภัทร  ภคสกุลวงศ์   รายงาน 

คำสำคัญ (Tags): #ข้าวหอมมะลิแดง
หมายเลขบันทึก: 190015เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2008 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 07:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ****ข้าวหอมมะลิแดงที่คุณมานพปลูกนั้นคนละพันธุ์กันครับกับสายพันธุ์เชียงใหม่-สุรินทร์ เพราะรับจากอ.พรรณภัทร ใจเอื้อ ซึ่งรับไปจากมูลนิธิข้าวขวัญ โดยการขอไปในครั้งนั้นเพื่อไปปลูกนอกฤดู เนื่องจากมาร่วมกิจกรรมกันที่มูลนิธิฯแล้วได้คุยกับอ.เดชา ถึงการปลูกข้าวมะลิแดงนอกฤดู ก่อนกลับจากได้ขอพันธุ์ข้าวกลับไป พร้อมทั้งข้อมูลการปลูกนอกฤดูไป

เท่าที่ทราบ จากข้อมูลที่ได้อ่าน จึงขอเพิ่มเติมข้อมูล แหล่งที่มา และ ข้อมูลการปลูกข้าวนอกฤดู ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ขอบคุณมากครับที่ให้ความรู้

1.ผมเพิ่งพาชาวบ้านลงแขกดำนาข้าวหอมมะลิแดงเมื่อ 24 สิงหา 53 ที่ผ่านมา พื้นที่ 4 ไร่ ข้าวก่ำ 4 ไร่

2.ผมได้พันธุ์ข้าวมาจาก แม่ไอ้กุ๊ ต.ผไทรินทร์ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์

3.แช่ข้าวปลูก 29 กค. ยกสะเด็ดน้ำ 30กค.หว่านกล้า 1สค. ดำคน 24 สค.

4.อยากทราบประวัติและคุณสมบัติของ ข้าวหอมมะลิแดง(อีสานเรียกอีแดงน้อย) ข้าวก่ำต้นขาว

5.อยากขอความช่วยเหลือให้เปรียบเทียบคุณสมบัติ ข้าวหอมมะลิ ข้าวดอกมะลิ105 ข้าวหอมมะลิแดง ช่วยด้วยเถอะครับผมเขลามากจริงๆ

6.เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิแดงได้ยังไงบ้างครับ

กราบขอบพระคุณในวิทยาทาน

เชื่อมั่น-ศรัทธา-คารวะ

ยิ่ง เมืองยาง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท