มองระบบ : ปศุสัตว์เปลี่ยนอนาคต


ปศุสัตว์ไทยจะเป็นพลังเปลี่ยนอนาคต เป็นคำตอบของสังคม

หลังจากที่บทความมองระบบ ได้นำเสนอในสาส์นไก่และสุกรมาระยะเวลาหนึ่ง พี่น้องเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องได้มีข้อเสนอแนะที่เต็มเปี่ยมด้วยความปรารถนาดี อยากให้ผมสรุปมุมมองระบบปศุสัตว์ไทย                 จะได้แก้ไขปัญหาที่ระบบ..ทั้งระบบ

 

เพราะวันนี้ กระแสใหญ่ไหลลง คนที่แก้ไขต้องจับหลักให้ได้ และปศุสัตว์ไทยจะเป็นพลังเปลี่ยนอนาคต เป็นคำตอบของสังคม  สำหรับปัญหาและการเปลี่ยนแปลง คงต้องหาสาเหตุ ทั้งที่มาจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน ที่ส่งผลกระทบถึงเรา

 

ปัจจัยภายนอก ที่ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ที่ธนาคารชาติให้ความสำคัญ ทั้ง 5 อย่างคือ

 

1.      ราคาน้ำมันที่ขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการผลิต และการขนส่งสูงขึ้น ถ้าเรามองผลกระทบ จะมีทั้งมุมบวก และมุมลบ กล่าวคือ วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สามารถนำไปทำไบโอดีเซลล์ได้ จะขาดแคลน และราคาสูงขึ้นอย่างรุนแรง คุณภาพของการเลี้ยงสัตว์จะอ่อนด้อยไปทันที เราต้องปรับตัว และแก้ไขให้ได้

2.      วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในสหรัฐฯ สภาพปัญหาจะคล้ายกับวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในไทย แต่รุนแรงมากกว่า จะกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย กระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศ ผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว ทำให้ประเทศคู่ค้าได้รับความเดือดร้อนด้วย ผู้ส่งออก จะได้รับผลกระทบดังนั้นเราต้องติดตามมาตรการของภาครัฐอย่างใกล้ชิด

3.      ข้าวยากหมากแพง เป็นสิ่งท้าทายรัฐบาลโดยตรง รัฐบาลต้องรีบสร้างผลงาน ดังนั้น โครงการประชานิยม เม็กกะโปรเจ็ค จะช่วยระดมเงินออกสู่ระบบมากขึ้น แต่จะช่วยบรรเทาปัญหากำลังซื้อ                และอัตราเงินเฟ้อได้หรือไม่ ก็ต้องวัดผลงาน และผลการประสานงานของหน่วยงานต่าง ๆ

4.      อัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผลต่อต้นทุนสินค้า และความสามารถในการส่งออก นโยบายการเงิน               การคลัง ต้องจับตาใกล้ชิด เพราะนี่คือเหตุปัจจัยของปัจจัยภายนอกที่จะส่งผลต่อเรา

5.      ความเชื่อมั่น มั่นใจ เพราะภายหลังเรามีวิกฤตการการเมือง และอยู่ภายใต้รัฐบาลเฉพาะกิจ               ความเชื่อมั่น มั่นใจ ต่อประเทศไทยลดลงมาก วันนี้ เมื่อทุกอย่างเริ่มใหม่แล้ว ทุกประเทศในโลก พร้อมจะเข้ามาร่วมมือกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน อินเดีย สิงคโปร์ ยุโรป สหรัฐ เป็นต้นเราพลาดโอกาสนี้ไม่ได้ เพราะอีกนานจึงจะกลับมาอีกครั้ง

 

เรามีโอกาส..อยู่ที่ว่าเราจะอยากได้หรือไม่ นี่คือโอกาสของทุกคนครับ

 

สำหรับปัจจัยภายในของเรา ผมขอสะท้อนจากความไม่พร้อมของพวกเราเอง ซึ่งทำให้เรามีโอกาสไม่เท่ากัน และไม่สามารถฉกฉวยโอกาส บางครั้งหลายคนอาจบอกเป็นเรื่องความจำเป็นบีบบังคับ แต่ที่สุด นี่คือ ฝีมือการจัดการภายใน ที่เราต้องชนะ และยืนครบยก

 

เพราะคนที่กล้า และเก่งเร็ว คือ ชนะได้โดยไม่ต้องใช้วิธีรุนแรง

ด้านหนึ่ง ต้องร่วมมือกัน แต่อีกด้านคือ ต้องแข่งขันกันทำให้ได้

ปัญหาที่เป็นความยากในปัจจัยภายในของเราวันนี้ คือ

1)      ต้องวางพื้นฐานฟาร์มให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่ติดโรคระบาด เพราะเมื่อติดโรค นั่นคือ ความเสียหาย ขาดโอกาส ซึ่งบางครั้งอาจต้องปรับปรุงสภาพฟาร์ม ปรับการจัดการภายใน เพราะเราคือผู้ผลิต ถ้าเราผลิตไม่ได้ ทุกอย่างก็เอวัง เช่น กรณีหลังสุด โรคท้องเสียระบาดในสุกร ที่ติดต่อผ่านคนจับหมู หรือคนงานต่างชาติจากฟาร์มที่เป็นโรคสัมผัสกับคนของเรา สุดท้ายเราเสียหาย เราจะยอมเสียง่าย ๆ แบบนี้ต่อไปไม่ได้

2)      เราไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบที่ดีมาใช้ในฟาร์มได้ ทั้ง ๆ ที่ เรารู้ทิศทาง และแนวโน้มวัตถุดิบ                     เราจะให้เกิดซ้ำซ้อนอีกไม่ได้ เพราะภาระจะหนักมาก คำตอบง่าย แต่ทำยาก ตั้งแต่การเตรียมกำลังเงิน การหาพันธมิตรธุรกิจ การจัดหาวัตถุดิบ หรือบางครั้งต้องจ้างปลูกก็ต้องทำ ...ข้อแตกต่างข้อนี้คือ ช่องว่างระหว่างผู้ผลิตรายใหญ่กับรายเล็ก หรือผู้มีโอกาสมากกับผู้ถูกจำกัดโอกาส

3)      เรื่องยากสุดท้ายของการจัดการซึ่งเปรียบเสมือนกระเป๋าสตางค์ และช่องทางของรายได้คือ        ไม่สามารถตั้งราคาขายเองได้หรือไม่สามารถจัดการช่องทางจัดจำหน่ายที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ของฟาร์มได้ เราอาจจะเป็นผู้ผลิตที่เก่ง แต่ไม่ใช่คนที่ได้รับผลงานชิ้นใหญ่ โดยเฉพาะเมี่อเปรียบเทียบกับคนที่ขายให้ผู้บริโภคคนสุดท้าย ทำกำไรได้มากกว่าเรา

เพราะเราอยู่ในฝั่งอุปทาน (Supply) สินค้าทั่วไปของเราดูเหมือน ๆ กัน แต่คนที่อยู่ในมุมอุปสงค์ (Demand) เขาสามารถขายสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภคได้มากกว่า และทำกำไรได้มากกว่า ตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ

 

ไข่ไก่    สมมุติว่าต้นทุนการผลิตไก่ไข่วันนี้อยู่ที่ 2.20 บาท

§         เราเก่งสุด ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตก็ได้เพิ่ม 10% คือได้ 2.20 x 10% = 22 สตางค์

§         กลับกัน คนขายที่ตลาด  ไข่สดทั่วไปได้ 3 บาท กำไรทันที 80 สตางค์ มากกว่าเรา  4 เท่า

§         ยิ่งกว่านั้นถ้าขายไข่ออกแบบได้4 บาท/ฟอง กำไรทันที 1.80 บาท มากกว่าเรา 9 เท่า

หมู       ต้นทุน 55 บาท ลดต้นทุนได้ 10% ลดได้ 5 บาท

§         ที่เขียงขาย 120 บาท กำไรเพิ่มจากเรา 2 เท่า

§         หรือเป็นหมูพิเศษ 160 บาท กำไรเพิ่มจากเรา 3 เท่า

 

ดังนั้น คำตอบวันนี้ไม่ได้อยู่ที่การทำอุปทาน (Supply) อีกแล้ว วันนี้ต้องเร่งด้านอุปสงค์ (Demand) ทำสินค้าตรงตามตลาด และจัดส่งถึงผู้ซื้อคนสุดท้าย กำไรสูงกว่า ทำของดี มาตรฐานสูงที่ผู้บริโภคต้องการ เพราะนั่นเราทำเพื่อตัวเราเอง มาตรฐานที่เราทำได้เหนือกว่า และผู้บริโภคต้องการจะเป็นจุดได้เปรียบที่ยั่งยืน เราอย่าหลงประเด็นกับกฎระเบียบข้อบังคับ  

  เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว เราก็พอยืนหยัดได้แล้ว ก้าวต่อไปก็คือ การก้าวเข้าสู่โลกกว้างและ  ปัญหาคอขวด เรือ้รัง ที่ส่งผลกระทบกับการทำงานของเรา ยอมรับว่า นี่คือสิ่งที่หนัก ต้องทำให้ได้ในปีนี้ เช่น

 

·         ปศุสัตว์ที่มีคณะทำงานหรือบอร์ดอยู่ (สุกร ไก่ไข่ ) ..วันนี้ บอร์ด อยู่ในระบบราชการที่ยังไม่ทำงาน   ไม่มีผลงาน เราจะยอมให้อยู่ในสภาพนี้ไม่ได้ เพราะปัญหาโครงสร้างปศุสัตว์ยังไม่ถูกแก้ไข  ต้องใช้พลังในการทำงานมาก  (ต้องผลักดันให้ทำงานให้ได้)

      (บางครั้งการบรรลุเป้าหมายถ้าสามารถทำได้โดยพวกเรากันเอง จะได้ผลดีกว่าให้ผู้อื่นหรือภาครัฐเข้ามาเกี่ยวข้องครับ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน .)

·         ธุรกิจสุกร สิ่งที่เป็นตราบาป และขัดขวางความสำเร็จของภาพรวม คือ ระบบโรงฆ่าสัตว์ เป็นประหนึ่งคอขวดของระบบคุณภาพ ระบบจัดจำหน่าย และอิทธิพลท้องถิ่น วันนี้เมื่อภาครัฐกำลังจะเข้ามาลดต้นทุนเพื่อผู้บริโภค น่าจะฉวยโอกาสนี้สร้างระบบสู่โรงฆ่ามาตรฐาน เพราะต่อไปนี้เมื่อมีฟาร์มมาตรฐาน โรงฆ่ามาตรฐาน ระบบจัดจำหน่ายมาตรฐาน ผู้บริโภคจะได้สิ่งที่ดีกว่ามาก

·         ธุรกิจไก่ไข่ต้องหาความสมดุลย์ของปริมาณไข่เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้ เพราะถ้าเป็นแบบวันนี้ ผู้ผลิตครบวงจรที่มีระบบตลาด (ที่มีกำไรมากกว่า) เท่านั้น จะอยู่รอด ส่วนที่เหลือรายกลาง และย่อย ต้องร่วมเป็นสหกรณ์ และเมื่อระบบสหกรณ์สร้างพลังเอื้อประโยชน์กัน ทุกอย่างก็จะเข้าสมดุลย์ ดังนั้น เกษตรกรต้องยอมเปลี่ยนแปลง และไข่ไก่ที่มีความหลากหลาย ไข่ออกแบบได้ จะสร้างความพอใจในคุณภาพ และราคาสู่จุดลงตัวใหม่ในที่สุด

·         ธุรกิจไก่เนื้อ วันนี้ กำลังอยู่ในความพอดีบนเศรษฐกิจพอเพียง ต้องปรับความคุ้มกันโรค และ   ความพอประมาณ ก็จะยั่งยืนนาน แต่ความหนักหนาจะอยู่ที่ค่าเงินบาทในตลาดส่งออก                        แต่ด้วยทักษะการสร้างคุณภาพเพื่อตลาดจะเป็นกำลังของตลาดไก่เนื้อไทยครับ

·         สิ่งที่ผมอยากให้เกิดจริง ๆ เพราะนี่คือจุดเปลี่ยนจริง ๆ คือ นโยบายชาติด้านวัตถุดิบ เพราะวันนี้ประเทศไทยเราเสียดุลย์การค้า เรื่องน้ำมันกว่า 8 แสนล้าน ถ้าเราผลิตน้ำมันจากพืชทดแทนไม่ว่าจะเป็น พืชน้ำตาล พืชน้ำมัน จากวัตถุดิบหลัก เช่น อ้อย ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปาล์ม สบู่ดำ ฯลฯ               ได้สัก 20% (E20) เราจะประหยัดเงินนำเข้าเกือบสองแสนล้านทันที คุ้มมาก ๆ และปศุสัตว์ไทยก็นำ สิ่งที่เหลือใช้จากน้ำมันมาใช้ แต่ก็ต้องดูแลด้านคุณภาพ การปนเปื้อนสารพิษเชื้อรา หรือใช้เอ็นไซม์ช่วยย่อย ทุกอย่างก็จะเกิดประโยชน์ แต่การกระทำนี้ต้องอาศัยมากกว่า 3 กระทรวง คือ กระทรวงพลังงาน เกษตร พาณิชย์ ซึ่งทำงานได้ต้องเป็น นโยบายชาติเท่านั้นครับ รีบ ๆ เถิดครับ วางแผนการผลิต การปลูก ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ผลประโยชน์ก็จะอยู่กับทุกคน ที่นี่เอเชียครับ

·         สุดท้ายคือ ระบบตลาด ถ้ามุมมองเพื่อผู้บริโภค ทุกฝ่ายจะเร่งสร้างยอดขาย เพิ่มส่วนแบ่งตลาด และให้ลูกค้าเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ตนเอง จะเกิดการสร้างคุณภาพ มาตรฐาน และระบบราคายุติธรรมขึ้น การควบคุมการทำงานจะน้อยลง เพราะผู้บริโภคคือผู้ตัดสินใจสุดท้าย

 

จากคำกล่าวของปราชญ์ชาวบ้านว่า

แม้สภาพจะไม่เอื้อ กำลังจะไม่พอ เราจะไม่ท้อ ไม่อับจนหนทาง

 

เมื่อเราเป็นมืออาชีพของการปศุสัตว์ ปศุสัตว์เป็นนาทีทอง ก็จะเปลี่ยนอนาคตของเราทันที

โดยพวกเราอยู่ได้ สังคมไทยทั้งหมดอยู่ได้ และสุดท้ายเราจะลงเอยที่ กินดีอยู่ดีกันทุกคน

ดังนั้นช่วงขั้นการปฏิบัติสู่ความสำเร็จ ปศุสัตว์เปลี่ยนอนาคต มี  3 ช่วงขั้น 9 กลวิธี คือ

 ช่วงขั้นที่ 1      ระดมกำลังแก้ปัญหาเพื่อให้เกษตรกร..เริ่มอยู่ได้

กลวิธี    1          ฉลาดใช้ เท่าทันปัญหา ควบคุมต้นทุนการผลิต

กลวิธี    2          จัดการภายใน แบบมืออาชีพ

กลวิธี    3          ลงเอย ที่สร้างผลกำไร สร้างสภาพคล่อง

 

ช่วงขั้นที่ 2       แก้ปัญหาโครงสร้าง ร่วมประสานงานกัน,,,เพื่อสังคมอยู่ได้

กลวิธี    4          ประสานการทำงานให้คณะกรรมการบอร์ด ทำงานได้มีผลงาน

กลวิธี    5          การแก้ปัญหาคอขวดของแต่ละอุตสาหกรรม

กลวิธี    6          ผลักดันนโยบายชาติด้านวัตถุดิบ 3 F: Food Feed Fuel”

 

ช่วงขั้นที่ 3       สร้างระบบใหม่ ที่เอื้อ การอยู่ดีกินดี

กลวิธี    7          การใช้ผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง สร้างมูลค่า และมาตรฐาน เพื่อสร้างตลาด

กลวิธี    8          ปศุสัตว์ไทยเป็นเศรษฐกิจพอเพียง

กลวิธี    9          ไทยคือผู้นำ สร้างพลัง และแนวร่วมอาเซียน

            ปศุสัตว์ไทย เป็นอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ และด้วยความเข้าใจในระบบและวงจรทั้งหมด เราจะสร้างมิติการทำงานใหม่ โดยมีส่วนที่ร่วมกันทำ และแยกกันทำ บนแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และความร่วมมือของชาวเอเชีย

 

            ทุกอย่างไม่ใช่เรื่องยาก และปศุสัตว์จะเปลี่ยนอนาคตครับ

 

            มั่นใจ 140%

หมายเลขบันทึก: 187982เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2008 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท