ต้องทำให้ได้..เพื่อหาพลังงานทดแทนและธัญญพืชแห่งชาติ


ประเทศไทยต้องทำอะไรบ้าง เพื่อสามารถแก้ปัญหาทั้งระบบได้

วันนี้.เหตุการณ์บ้านเมืองเดินทางมาถึงทางแยกที่สำคัญอีกครั้ง เราต้องตัดสินใจสู่ความชัดเจนด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อพัฒนาการที่ยั่งยืน ท่ามกลางความผันผวนที่ถาถมสู่ประเทศไทย และเราต้องควบคุมให้ได้ ตั้งแต่
       
       การจัดการภาวะราคาน้ำมันที่อาจจะมากกว่า 40 บาทต่อลิตรที่ส่งผลกระทบประเทศทั้งระบบ
       
       การลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนพร้อมกับความผันผวนของสภาพอากาศ เช่น ภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบภูมิภาคเอเชียเราอย่างคาดไม่ถึง เหตุการณ์ภัยวิบัติพายุไซโคลนนาร์กีสที่ทำลายพม่าหรือกรณีแผ่นดินไหวที่จีนสร้างความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 คน
       
       การรับมือวิกฤติการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่สร้างปรากฏการณ์แปลกๆให้กับหลายประเทศ เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา การขนส่ง ความมั่นคง
       
       พบว่า สิ่งที่ท้าทายความอยู่รอดของแต่ละประเทศต้องอาศัยการตัดสินใจที่ถูกต้อง จิตเที่ยง และต้องอยู่บนเจตนารมย์ ที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาวันนี้ ไม่ก่อปัญหาในอนาคต
       
       จากนโยบายการหาพลังงานทดแทนและธัญพืชแห่งชาติของรัฐบาล ยังไม่มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนว่า "ประเทศไทยต้องทำอะไรบ้าง เพื่อสามารถแก้ปัญหาทั้งระบบได้"
       
       ผมขอวิพากย์ผลกระทบและสิ่งที่ต้องกระทำและต้องทำให้ได้
       
       1. นโยบายนี้ต้องมีเจ้าภาพชัดเจน
       ปกตินโยบายแห่งชาติจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเพราะมีอำนาจสั่งการได้เต็ม แต่วันนี้รัฐบาลได้แต่งตั้งรองนายกมิ่งขวัญเป็นประธาน ซึ่งต่อมาก็พบความแตกต่างในระบบสั่งการ
       
       ดังนั้นประธานต้องพิสูจน์ ว่าสามารถสั่งการได้จริงและเร่งรีบโชว์ผลงานที่ท้าทายการบูรณาการให้เต็มที่ รวดเร็ว เพราะปัญหานี้มีกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมาย
       
       สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นวันนี้ คือ นโยบายและโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจนที่หน่วยงานสามารถปฏิบัติเชื่อมโยงและนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจน
       
       2. ต้องลงรายละเอียดการปฏิบัติเป็นรายธัญพืช / อุตสาหกรรม ขั้นต่ำ 6 ชนิด
       
       การประกาศแบบรวม ๆ กลาง ๆ ผู้ปฏิบัติไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะ
       แต่ละอุตสาหกรรมมีปัญหาและความพร้อมต่างกัน เพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืนภาครัฐต้องสรุปว่า ต้องการพลังงานทดแทนเท่าไร เพื่อกำหนดผลผลิตธัญญพืชแต่ละชนิด การกำหนดพื้นที่เพาะปลูกและระบบที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต สนับสนุนด้านระบบชลประทาน และการดูแลราคาไม่ให้ผันผวน
       
       นโยบายนี้ จะต้องไม่ทำงานตามกระแสหรือสนองความต้องการของตนเองฝ่ายเดียวแต่ต้องทำให้ทุกฝ่ายต้องอยู่ได้ ธัญพืชที่อย่างน้อยต้องมีความชัดเจน ได้แก่
       
       * ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศเกี่ยวข้องกับคนทั่วไป ต้องดูแลปัจจัย ปริมาณข้าวในระบบทั้งบริโภคภายในและส่งออกให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ระดับราคามีความผันผวนสูง เพราะข้าวมีวงจรชีวิตสั้นและสามารถผลิตได้ในหลายประเทศ ดังนั้นการควบคุมอุปสงค์ให้สอดคล้องกับความต้องการจึงมีความสำคัญมาก ถ้าจัดการไม่ดี ราคาข้าวตก ชาวนาเดือดร้อน รัฐบาลจะรับมืออย่างไร
       
       เกษตรกรต้องมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ดังนั้นไทยต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งด้านพันธุ์พืช ดิน น้ำ ปุ๋ย เพราะนาทีนี้..เราแพ้นานาชาติอยู่
       
       * ปาล์ม ช่วงนี้เสมือนหนึ่งจะขาดแคลนทำให้ราคาขึ้น แต่กลับกันพอวันที่เกษตรกรจะขายผลผลิต ราคากลับตก ทำให้เกิดการประท้วงรุนแรง นี่คือตัวอย่างขั้นต้นของการไม่เตรียมตัวทั้งระบบ
       
       * มันสำปะหลัง วันนี้ทุกภาคหันมาปลูกมากขึ้น เพราะราคาดี
       
       * ข้าวโพด ต้องติดตามตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพราะข้าวโพดเป็นธัญพืชที่ขึ้นกับราคาตลาดโลก เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความผันผวนสูง ที่ต้องบริหารจัดการ วันนี้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านปลูกมากขึ้น เพราะมีความต้องการสูง
       
       * อ้อย เป็นผลผลิตหลักที่ใช้ผลิตเอทานอลความต้องการจะเปลี่ยนแปลงรุนแรง ส่งผลต่อระบบราคาแน่นอน ดังนั้นระบบบริหารจัดการตั้งแต่กระบวนการปลูก การหีบน้ำตาล ราคา จะกระทบแน่นอน
       
       * ถั่วเหลือง ระบบถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง การผลิตภายในและตลาดโลก คือปัจจัยสำคัญ
       
       * ยางพารา
       
       3. การบริหาร 3F
       
       * อาหารคน (Food) ต้องมีราคาไม่แพง จัดหาให้ประชาชนบริโภคอย่างเ พียงพอ
       
       * อาหารสัตว์ (Feed) ปศุสัตว์สามารถเปลี่ยนอนาคตประเทศได้ จะเป็นส่วนที่นำผลิตภัณฑ์ที่เหลือใช้จากการทำเอธานอลมาใช้เลี้ยงสัตว์ ดังนั้นต้องต่อยอดเรื่องคุณภาพและวิธีการนำไปใช้ได้และภาครัฐต้องจัดการด้านราคาและปริมาณ เพราะถ้าปล่อยปละละเลย ผู้ประกอบการส่วนนี้ก็อยู่ไม่ได้
       
       * อาหารเครื่องจักร (Bio-fuel) ประเทศไทยต้องเร่งปฏิบัติและวางแผนเรื่องปริมาณการผลิต เพราะเป็นเครื่องมือแรกที่จะรับภาระวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันลงได้ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงได้ แถมประเทศไทยยังสามารถใช้คาร์บอนเครดิตหาประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น
       
       4. แก้ปัญหาเฉพาะหน้า"ข้าวยากหมากแพง"และช่วยเหลือผู้อ่อนแอในสังคม ได้แก่
       
       * ผู้บริโภค กับปัญหาค่าครองชีพ รายรับรายจ่าย "ข้าวยากหมากแพง"
       
       * เกษตรกร ไม่ให้กลุ่มคนกลางฉวยโอกาสกดราคา โดยเฉพาะช่วงผลผลิตสู่ตลาด ดังนั้นต้องสร้างระบบการตลาดและการรวมตัวของเกษตรกรเป็นสหกรณ์ มีแผนงานรองรับที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก
       
       * ผู้ประกอบการรายย่อย ที่จะได้รับผลกระทบแน่นอนเนื่องจากศักยภาพไม่เอื้ออำนวย และไม่สามารถดูแลได้ทั้งระบบ เพราะปัญหาราคาน้ำมันแพงครั้งนี้จะกระทบต้นทุนการผลิตทางตรง เช่น การขนส่ง ประมง การผลิต การเงิน และการคลัง
       
       5. นโยบายต่อเนื่องเพื่อการแก้ปัญหาระยะกลางที่ต้องสำเร็จภายใน 3 ปี
       
       * ระบบชลประทาน เพราะการปลูกพืชต้องอาศัยน้ำ จากข้อมูลปัจจุบันฝนจะตกในภูมิภาคเพิ่มขึ้นแต่ไม่เป็นฤดูกาล ดังนั้น ถ้าไม่มีระบบชลประทาน นโยบายแห่งชาติต้องสร้างความชัดเจนเรื่องนี้ครับ
       
       * การพัฒนาระบบสหกรณ์ เพื่อสร้างความแข็งแรงแก่เกษตรกรรายย่อยให้สามารถยืนหยัดในระบบนี้ ดังนั้น สหกรณ์ต้องทำงานได้ ไม่ใช่คอยรับความช่วยเหลืออย่างเดียว
       
       * ระบบการซื้อขายล่วงหน้า เพื่อปรับระบบจัดซื้อและจัดจำหน่าย สินค้าธัญญพืชจะเกี่ยวข้องกับตลาดโลกอยู่ในระบบตลาดล่วงหน้าที่มีระบบการเก็งกำไร เราอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้ จะต้องติดต่อสัมพันธ์กับนานาชาติ ดังนั้นต้องเปลี่ยนระบบโครงสร้างบริหารจัดการภายในประเทศ มิฉะนั้นจะไม่สามารถจัดการปริมาณ และแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้
       
       * การควบคุมคุณภาพครบวงจร เพราะ ระบบ"ปริมาณ ราคา คุณภาพจะมาพร้อม ๆ กัน" ดังนั้นเกษตรกรต้องสร้าง ธัญพืชมีคุณภาพ ไม่มีการปนเปื้อน สู่ผู้บริโภค
       
       6. การขยายผลสู่ความเพียงพอบน"ความมั่นคง" ของประเทศ
       ก้าวย่างเรื่องนี้จะเป็นความมั่นคงทางอาหารและศักยภาพทางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศได้ การจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดต้องอาศัย "เศรษฐกิจพอเพียง" ดังนั้น
       การสร้างประเทศไทยให้อยู่ได้ "สบาย ๆ" ในโครงสร้างสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ จะต้องสร้างความพอดี ไม่ประมาท มีภูมิคุ้มกัน บนพื้นฐานความรู้ และคุณธรรม ให้ได้ครับ
       
       แนวปฏิบัติทั้งหมดหกด้านต้องปฏิบัติแล้วครับ
       เราหมดเวลาที่จะทะเลาะกันแล้ว
       สิ่งที่ท้าทายประเทศชาติกำลังรอคอยความสำเร็จจากพวกเราทุกคนครับ

                                     **************************
หมายเหตุ: บทความนี้ลงในผู้จัดการรายสัปดาห์ ปีที่ 21 ฉ.1124 วันที่ 16-22 มิ.ย. 2551

หมายเลขบันทึก: 187977เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2008 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท