นู๋นาย
นาง นภาพร นู๋นาย มหายศนันท์

เป็นซีโอพีดีก็มีความสุขได้


ซีโอพีดี

เป็นซีโอพีดี.......ก็มีความสุขได้

เมื่อมีอาการเหนื่อยหอบทีไรอยากตายให้พ้นทุกครั้ง  มันทรมานมาก  พ่นยาที่บ้านหลายครั้งอาการไม่ดีขึ้น ต้องเหมารถมานอนโรงพยาบาล  เป็นคำพูดของผู้ป่วยรายหนึ่งที่วนเวียนเข้ามารับการรักษาด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่โรงพยาบาลท่าวังผา จังหวัดน่านในปี 2547  นอกจากนี้ยังพบว่าโรคนี้มีความรุนแรงสูง (high risk) เป็นโรคที่ต้องใส่ท่อทางเดินหายใจแล้วส่งต่อโรงพยาบาลน่านมากที่สุดถึง 93 รายต่อปี มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเป็นอันดับหนึ่งของโรงพยาบาล (high cost)

ทำให้ทีมสหสาขาวิชาชีพได้กลับมาทบทวนและสืบค้นหาวิธีการที่จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี  สามารถดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุขได้อย่างไร  ในบริบทของโรงพยาบาลชุมชนที่มีข้อจำกัดหลายด้าน    ซึ่งพบว่าแนวทางนั้นคือ  การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดโดยอาศัยความรู้เชิงประจักษ์   ตามแนวทางของสมาคมการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอดของสหรัฐอเมริกา (American Association of Cardiovascular and Pulmonary Rehabilitation, 1999)  ที่ประกอบด้วย การให้ความรู้เกี่ยวกับโรค  การออกกำลังกาย  การดูแลตนเองและการจัดการกับอาการหายใจลำบาก เทคนิคสงวนพลังงาน การพ่นยาที่ถูกวิธี  การเลิกบุหรี่  การดูแลด้านจิตสังคม และการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน มีการหาตัวชี้วัดที่สามารถประเมินผู้ป่วยเป็นรูปธรรมได้ เช่น คุณภาพชีวิต  6 MWT  การรับรู้อาการหายใจลำบาก  จึงมีการจัดเตรียมบุคลากรให้เข้าใจเกี่ยวกับวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดตั้งแต่แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย รวมถึงญาติและผู้ดูแลผู้ป่วย  มีการฝึกวิธีกายภาพบำบัดให้เจ้าหน้าที่เนื่องจากขาดแคลนนักกายภาพบำบัด  เตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และจัดสถานที่แยกส่วนเป็นคลินิกโรคซีโอพีดีในวันจันทร์ภาคเช้า  ต่อมาได้ดำเนินการนำร่องในผู้ป่วยซีโอพีดีจำนวน 30 ราย พบว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อัตราการนอนโรงพยาบาลลดลง เมื่อมีอาการหอบเหนื่อยสามารถจัดการตนเองด้วยการพ่นยาขยายหลอดลมที่มีประสิทธิภาพ สามารถร้องขอความช่วยเหลือได้ทันท่วงที   จึงนำโปรแกรมดังกล่าวขยายผลสู่ผู้ป่วยซีโอพีดีรายอื่นที่มารับบริการในโรงพยาบาลท่าวังผา ตั้งแต่ตุลาคม 2548 จนถึง ธันวาคม 2550  จำนวน 252 ราย   

ผลลัพธ์การดำเนินการพบว่าค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตภายหลังการเข้าร่วมโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดมีค่ามากกว่าก่อนเข้าร่วมโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (pair t-test) อัตรา Re-admitted ลดลงร้อยละ 20 ระยะเวลาวันนอนเฉลี่ย ลดลงร้อยละ 23.63   อัตราการกลับมารักษาแบบฉุกเฉินลดลงร้อยละ 5.13  ค่ารักษาในโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังลดลงร้อยละ 13.94  ความพึงพอใจในบริการพบว่าผู้ป่วยและญาติพึงพอใจในบริการ ร้อยละ 93.50   เจ้าหน้าที่มีความพึงพอใจร้อยละ 89.50  กลุ่มเสี่ยงต่อโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ร่วมโครงการเลิกบุหรี่จำนวน 27  ราย นอกจากนี้ยังดำเนินการเสริมสร้างพลังอำนาจในผู้ป่วยที่มีปัญหาซับซ้อนที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้  และให้การดูแลผู้ป่วยซีโอพีดีที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตให้มีคุณภาพชีวิตดีเสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ปีนี้นอนโรงพยาบาลครั้งเดียว  เดินเที่ยวข้างบ้านได้  ตอนนี้หมอให้เป็นคนสอนพ่นยา   เป็นคำพูดผู้ป่วยรายเดิม  

สิ่งที่ทีมงานได้รับคือ   การพัฒนาคุณภาพบริการทำได้ภายใต้ทุกบริบท  ความสำเร็จเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลากรทุกระดับรวมทั้งญาติและผู้ดูแลผู้ป่วย  ผู้ป่วยมีความสุข...เจ้าหน้าที่ก็มีความสุข

คำสำคัญ (Tags): #copd ท่าวังผาน่าน
หมายเลขบันทึก: 187973เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2008 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท