องค์กรพัฒนาเอกชนทำงานพัฒนา แล้ว..ได้อะไร...


อันเนื่องมาจากน้องกาเหว่าตั้งคำถามตามชื่อหัวเรื่อง ผมจึงขอมาตอบเป็น สาระ Blog นี้ครับ   เพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไป จึงขออธิบายโดยสรุปถึงพัฒนาการของงานพัฒนาชนบทโดยองค์กรพัฒนาชนบท ดังนี้

 

1)           บนฐานสังคมไทยเรามีวัฒนธรรมการช่วยเหลือ การสงเคราะห์ การให้ การบริจาคฯลฯ ซี่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเอื้ออาทร ทุนทางสังคม..

 

2)           ในอดีตนานมาแล้ว เกิดสมาคมสงเคราะห์ขึ้นมากมาย เมื่อถึงน้ำท่วม ฝนแล้ง หนาว ไฟไหม้ ฯลฯ สมาคมเหล่านี้ก็ออกไปสงเคราะห์ หน่วยงานราชการออกไปสงเคราะห์ เอกชนออกไปสงเคราะห์ คือการออกไปช่วยเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

 

3)           เมื่อบ้านเมืองพัฒนาไป เกิดมีนักวิชาการ ผู้นำความคิดออกมาวิภาควิจารณ์การพัฒนาสังคมว่า คนจนมีมากมาย โดยเฉพาะชนบท แต่ทำไมถึงแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้สักที ต่างออกมาวิเคราะห์ว่า เพราะการแก้ปัญหาไม่ถูกที่ถูกจุด และการสงเคราะห์ก็ไม่ได้แก้ปัญหาความยากจนที่แท้จริง ต้องปรับวิธีคิดใหม่ในการแก้ปัญหาความยากจน

 

4)           ผู้ที่เป็นผู้นำการปรับเปลี่ยนวิธีการการแก้ไขปัญหาชนบทนั้น คือ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ท่านก่อตั้ง Thailand Rural Reconstruction Movement (TRRM) หรือที่เรียกว่า โครงการบูรณชนบทแห่งประเทศไทย ที่จังหวัดชัยนาท โดยนำหลักการมาจาก Philippines Rural Reconstruction Movement (PRRM) ที่มี ดร. Y.C James Yen เป็นผู้นำความคิด ซึ่งนำเสนอคำว่า Credo อันเป็นหลักการทำงานเพื่อการพัฒนาชนบท ดร. Yen เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัล The Ramon Magsaysay ในปี 1960(ท่านที่สนใจรายละเอียด ดร. Yen กรุณาดูที่ IIRR ผ่าน Google ได้ครับ) วิธีการของท่านนั้นจะไม่สงเคราะห์ชุมชน แต่จะสร้างนักพัฒนาเข้าไปทำงานกับชาวบ้าน ไปหาประเด็นปัญหากับชาวบ้านแล้วร่วมกันสร้างกระบวนการแก้ปัญหาความยากจนกันขึ้นทั้งในด้านการเกษตร อนามัย ทุน โดยผ่านระบบกลุ่มต่างๆ ฯลฯ  ผู้ที่เข้าร่วมการทำงานกับโครงการนี้ที่ชัยนาท ปัจจุบันคือพี่ใหญ่ของ อพช. หลายท่าน คนหนึ่งคือ พี่บำรุง บุญปัญญา หรือพี่เปี๊ยกของเรา  ที่นี่

 

5)           ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ได้สร้างบรรยากาศในสถาบันการศึกษาให้มาสนใจการบ้านการเมืองสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้อุดมการณ์ ทางการเมืองพุ่งขึ้นสูงมาก รวมทั้งแนวความคิดในการแก้ไขปัญหาความยากจน นี่เป็นจุดสร้างให้คลื่นนักศึกษาจำนวนมากมายออกชนบทด้วยอุดมการณ์ เข้าไปเพื่อร่วมในการคิดแก้ปัญหาความยากจน  แม้ว่าจำนวนมากในขณะนั้นเป็นการออกไปเพื่อศึกษาปัญหาชนบท และเขาเองก็ไม่มีประสบการณ์ในการเข้าร่วมแก้ปัญหาชนบท หลังจากนั้นก็เกิดกลุ่มนักศึกษาที่มีความตั้งใจสูงส่งที่เรียกว่า อุดมการณ์ เข้าทำงานกับองค์กรพัฒนาชนเมื่อจบการศึกษา ทั่วทุกภูมิภาค แม้งานค่ายในมหาวิทยาลัยก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาก อาจจะเรียกว่า เป็นผลกระทบจากสาระที่สถาบันการศึกษาถกเถียงกัน ในเรื่องการพัฒนาสังคม

 

6)          หลังสงครามปลดแอกในอินโดจีน วงการพัฒนาชนบทเอกชน เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งปริมาณและคุณภาพ ในด้านคุณภาพหรือแนวคิด หลักการพัฒนาชนบทนั้นมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศมากมาย ทั้งจากอิสราเอล ที่เรียกว่า กิบบุช และโมชาร์ป  จากประเทศศรีลังกาที่เรียกว่าซาโวดายา  จากเกาหลีใต้เรียกเซมาเอิล อัลดงจากบลังกาเทศที่เรียกกรามินแบงก์องค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นแนวหน้าในขณะนั้นคือ  CCTD หรือสภาคริสจักรแห่งประเทศไทย และบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยหรือ TRRM

 

7)          เมื่อตั้งคำถามว่า องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนา ทำแล้วเค้าได้อะไร จากฐานพัฒนาการดังอธิบายมานั้น จะเห็นว่า ยุคแรกๆขององค์กรพัฒนาชนบทนั้น ต่างลงไปทำงานด้วยอุดมการณ์  โดยไม่ได้คิดถึง ความก้าวหน้าในการทำงาน หรือไม่ได้คิดต้องการค่าตอบแทนที่สูงๆ จนเมื่อทำงานไปหลายปี เข้าก็มีการหยิบประเด็นความมั่นคงของคนทำงานพัฒนาชนบทมาคุยกัน ช่วงหนึ่งถึงกับมีการตั้งกองทุนนักพัฒนาขึ้น  แต่ก็ไปไม่รอด

 

8)         ในช่วงต่อมา วงการพัฒนาชนบทในประเทศไทยได้รวมตัวกันในระดับภูมิภาค ตั้งเป็น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาชนบทเอกชน หรือ กป.อพช.ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน ภาคใต้ และ กป.อพช.แห่งชาติ วงการได้ยกระดับกระบวนการพัฒนาชนบทที่สอดคล้องกับท้องถิ่น ชุมชน ภูมิภาคของเราเองอย่างมากมาย การนำเข้าประสบการณ์งานพัฒนาจากต่างประเทศลดน้อยลง  ตรงข้ามต่างประเทศมาศึกษาดูงานบ้านเรามากขึ้น เช่น งานด้านพัฒนาสาธารณสุขมูลฐาน การวางแผนครอบครัว ประเทศกำลังพัฒนาในอัฟริกามาศึกษาดูงานบ้านเราเยอะ 

 

9)          ในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ มีการตั้งคณะหรือภาควิชาพัฒนาชุมชนขึ้นเพื่อผลิตนักศึกษาออกไปทำงานพัฒนาชนบททั้งในระดับปริญญาตรี โท บางแห่งมีถึงระดับปริญญาเอก บัณทิตสาขานี้จำนวนมากก็ไปทำงานกับองค์กรพัฒนาชนบทเอกชน ที่ตั้งคำถามนี่แหละ

 

10)      มาถึงปัจจุบันงานพัฒนาชนบทเป็นอาชีพหนึ่ง เหมือนกับอาชีพอื่นๆไปแล้ว มิใช่อาสาสมัครเหมือนในยุคแรกๆ ต่างกันตรงที่จะเลือกสังกัดหน่วยงาน ซึ่งก็มีหน่วยงานของรัฐบาล ก็เป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำ หรือ องค์กรพัฒนาชนบทเอกชน ทั้งในระดับเล็กๆ และใหญ่ๆ จนถึงระดับนานาชาติ เช่น Foster Parent Plan, Save the Children, Care, World Vision, ฯลฯ  

 

 

11)   สรุปเปรียบเทียบการทำงานพัฒนาชนบทโดยองค์กรพัฒนาเอกชนกับอาชีพอื่นๆดังนี้

 

 

 

12)      ทำงานนี้แล้วเค้าได้อะไร?  แต่ละคนอาจจะตอบคำถามนี้ต่างกัน แต่โดยอนุมาณจากการที่คลุกคลีกับวงการนี้มานานมากกว่า 30 ปี ผมเชื่อว่ามีคำตอบดังนี้  

 

·        หนึ่ง ได้ตอบสนองอุดมการณ์ของการตั้งใจทำงานเพื่อชนบท เพื่อคนยากจน

 

·        สอง  เป็นอาชีพที่เลือกเพื่อสนองอุดมการณ์ แม้จะไม่ได้ทำให้ร่ำรวย แต่ก็พออยู่ได้  จึงเป็นอาชีพเพื่อคนอื่นตามอุดมการณ์

 

·        สาม  ได้เรียนรู้ ได้พัฒนาความรู้เพื่อนำไปร่วมกับประชาชนที่ยากจนแก้ปัญหาของครอบครัว ของชุมชน รวมทั้งเสนอแนวคิด ประสบการณ์เพื่อพัฒนาประเทศชาติต่อไป

 

หากท่านต้องการความร่ำรวย เส้นทางนี้คงไม่ใช่

หากท่านต้องการยศ ตำแหน่ง เส้นทางนี้คงไม่ใช่

แต่ถ้าท่านต้องการเรียบง่ายพอมีพอกิน

และมีความสุขที่เห็นกลุ่มคนเป้าหมายเติบโต

มีส่วนกระตุ้นให้คนยากจนเกิดการแก้ปัญหาของเขาได้

งานพัฒนาชนบท... มีที่ว่างมากมายสำหรับ ท่านที่สนใจอาชีพนี้

  

(ทั้งหมดนี้ทำการสรุปแบบคร่าวๆ มีรายละเอียดมากมายที่ไม่ได้กล่าวถึง รวมทั้งการพัฒนาการต่างๆก็ไม่ได้ใส่ช่วงเวลาไว้ เพราะเพียงทบทวน ไม่ได้ค้นคว้าอ้างอิงเลยครับ)

 

หมายเลขบันทึก: 187779เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2008 02:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ติดใจข้อ 6-11 ครับ

จากมุมมองของ "คนนอก" ผมเห็นปัญหาในลักษณะเดียวกับคำถามว่า ทำแล้ว ได้อะไร

คิดหาทางออกไว้บ้างเหมือนกัน แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเขียนออกมา -- ถึงเขียนออกมาได้ คนทำงานพัฒนาคงจะขำกลิ้งเพราะเห็นข้อบกพร่องมากมาย แต่ผมก็ยังอยากเสนอโครงสร้าง+ปฏิสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งให้พิจารณาดู เชื่อว่าน่าจะช่วยแก้ปัญหาบางอย่างได้บ้างครับ

ขอเวลาผมเรียบเรียงความฝันหน่อยนะครับ แล้วจะเขียนบันทึกแยกออกไป

ยินดีแลกเปลี่ยนครับ

พี่สรุปแบบคร่าวๆนะครับ หากคิดต่างอย่างไรก็ยินดีครับ

พี่ปรับปรุงไดอะแกรมไปบ้างแล้วครับ

พีบู๊ดค่ะ

เหว่าขอบพระคุณมากเลยนะคะ

ประสบการณ์ของพี่มีประโยชน์กับน้องมากเหลือเกิน จะขอคำแนะนำไปเรื่อยๆ นะคะ

กรุณาน้องต่อไปด้วยค่ะ

ด้วยความยินดีครับน้องกาเหว่า

งานบางอย่าง ทำแล้วมีชื่อเสียง แต่อยู่ไม่สุข

งานบางอย่าง ทำแล้วมีเกียรติยศ แต่ไม่ยั่งยืน

งานบางอย่างทำแล้วร่ำรวย แต่ไม่สบายใจ

งานบางอย่างทำแล้วมีความสุข แต่ไม่ร่ำรวย

งานหลายอย่าง...คนทำทำเพราะทนทำ

งานหลายอย่าง..คนทำได้ทน

งานหลายอย่าง..คนทนๆจึงได้ทำ

งานหลายอย่าง..มีคุณค่า..แต่ไม่มีคนมาทำ

มุมมองของพ่อ อีแซว นี่เด็ดจริงๆนะครับ

ขอบคุณครับ

สรุป และเข้าใจได้ง่าย ขอบคุณท่านอาจารย์ครับ

สวัสดีครับพี่บางทราย

ปัญหาเรื่องความยากจนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย แต่ก็สงสัยกันว่า คำว่า "ยากจน" นั้นใช้ตัวชี้วัดอะไร เพราะว่าปัญหามันมีหลายมิติ จึงทำให้แก้ปัญหาได้ยาก หาคนทำยากเพราะว่าเรื่องมันมีหลายมิตินี่เอง ทำให้คนทำท้อ พานหมดกำลังใจหมดอุดมการณ์ไปเลย บางครั้งความหมายของความยากจนมันไปติดกับคำว่าไม่รู้จัดพอ ถึงจะมีทรัพทย์สินเงินทองมากแค่ไหนก็ยังมีความยากจนอยู่ดี คนในชนบทที่ห่างไกลพอได้รับความเจริญทางเทคโนโลยี ก็มีความรู้สึกยากได้ ยากมี แต่ไม่มีความรู้ ความสามารถ ทำให้ต้องหาเงินในทางลัด ที่ผิดกฏหมาย ส่วนพวกที่มีความรู้มากกว่าก็เอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า เพราะฉะนั้น เราต้องการคนที่ทำงานทางด้านนี้สักกี่คนถึงจะเพียงพอ สำหรับวิธีการแก้ไขเราก็มีอยู่มากมายหลายวิธี แต่ก็ยังไม่สำเร็จเลย นั้นเพราะอะไร เราคิดว่าต้องให้ความรู้ ต้องให้การศึกษาถึงจะแก้ไขความยากจนได้มันจริงหรือ สุดท้ายถึงแม้นจะมีความรู้ก็ยังถูกเอาเปรียบในสังคม อีกระดับหนึ่งอยู่ดี (ผมอาจมองมากเกินไป ขอโทษด้วยครับ)ตราบใดที่เรายังไม่ให้การศึกษากับเยาวชนของเราในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมให้มากพอ ๆ กับความรู้ที่เขาได้รับ เพื่อควบคุมไม่ให้นำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด และวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องนำมาใช้ในกลุ่มคนต่าง ๆ ควบคู่กันไป เพื่อให้ประสพผลสำเร็จ

สวัสดีครับ P 9. ภูคา

ยินดีครับอาจารย์ภูคา

ปัญหาเรื่องความยากจนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย แต่ก็สงสัยกันว่า คำว่า "ยากจน" นั้นใช้ตัวชี้วัดอะไร

ในทางวิชาการก็ต้องยึดหลักของสภาพัฒน์ที่ใช้ความยากจน เรียกเส้นความยากจน หรือ Poverty line ครับ ซึ่งค่านี้เปลี่ยนแปลงไปทุกปีตามการประกาศของสภาพัฒน์ฯครับ มีคำอธิบายเพิ่มเติมดังนี้

1. เส้นความยากจนพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงความต้องการอาหารและสินค้าอุปโภคจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำของสมาชิกแต่ละคนในครัวเรือนที่มีความแตกต่างกันทั้งอายุ เพศ และราคาที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคและพื้นที่ เส้นความยากจนจึง ชี้ให้เห็นถึงต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของปัจเจกบุคคลในการได้มาซึ่งอาหารและสินค้าจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำ และใช้เป็นเกณฑ์ ในการชี้วัดความยากจน โดยเส้นความยากจนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอด เนื่องจากโครงสร้างของประชากรและราคาสินค้า อุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป (ข้อมูลจากที่นี่)

2. คนจน หมายถึง คนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อหาอาหารและสินค้า จำเป็นได้ตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐานขั้นต่ำ ซึ่งจากเกณฑ์เส้นความยากจนสามารถนำมาคำนวณหาจำนวนและ สัดส่วนคนยากจน

การทำงานเราสามารถตรวจสอบกับกรมการพัฒนาชุมชน หรือพัฒนาชุมชนจังหวัดได้ว่าหมู่บ้านใดที่มีประชากรอยู่ในฐานะต่อกว่าเส้นความยากจนครับ (อาจารย์คงทราบดีอยู่แล้วน่า..)

 

เพราะว่าปัญหามันมีหลายมิติ จึงทำให้แก้ปัญหาได้ยาก หาคนทำยากเพราะว่าเรื่องมันมีหลายมิตินี่เอง ทำให้คนทำท้อ พานหมดกำลังใจหมดอุดมการณ์ไปเลย บางครั้งความหมายของความยากจนมันไปติดกับคำว่าไม่รู้จักพอ

เป็นความจริงที่สุดเลยครับที่อาจารย์กล่าวนี้  นี่คือประเด็นใหญ่ที่ว่าเพราะอะไรเขาจึงหลงไหลการได้มาซึ่งสิ่งเกินความจำเป็นการดำรงชีวิตในเงื่อนไขของเขา  เป็นงานใหญ่ที่คนทำงานพัฒนาค้นหากระบวนการมาสร้างสำนึกเขาให้ตระหนักในสิ่งที่เหมาะสม สอดคล้องกับสิ่งที่เขามีอยู่  ซึ่งปัจจุบันเราใช้การสัมมนาปลุกจิตสำนึกโดยเอาข้อมูลที่เป็นจริงมาศึกษาไปด้วยกันกับชาวบ้าน ที่ผมเคยกล่าวว่าเป็นกระบวนการ Conscientizing Process และเมื่อผมเห็นกระบวนการของสถาบันขวัญเมืองก็สนใจมากขึ้นว่าจะดัดแปลงมาใมช้กับชาวบ้านได้มากน้อยแค่ไหนครับ   คำว่า ไม่รู้จักพอ นั้นคือผลที่มาจากกระแสบริโภคนิยม จึงเป็นเหตุที่ทำให้เขาใขว่ขว้าในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อวิถีชีวิตเขา

ถึงจะมีทรัพทย์สินเงินทองมากแค่ไหนก็ยังมีความยากจนอยู่ดี คนในชนบทที่ห่างไกลพอได้รับความเจริญทางเทคโนโลยี ก็มีความรู้สึกยากได้ ยากมี แต่ไม่มีความรู้ ความสามารถ ทำให้ต้องหาเงินในทางลัด ที่ผิดกฏหมาย ส่วนพวกที่มีความรู้มากกว่าก็เอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า เพราะฉะนั้น เราต้องการคนที่ทำงานทางด้านนี้สักกี่คนถึงจะเพียงพอ สำหรับวิธีการแก้ไขเราก็มีอยู่มากมายหลายวิธี แต่ก็ยังไม่สำเร็จเลย

สังคมเราซับซ้อนมากขึ้นจนแกะไม่ออก เริ่มตรงไหนก็ถูก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และแก้ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ไม่เพียงพอ ต้องแก้หลายๆอย่าง หลายๆด้าน  อย่างที่ผมกล่าว  เราเอาชาวบ้านไปผ่านกระบวนการปลุกจิตสำนึก แล้วหลายคนบอกว่า เหมือนเกิดใหม่ หูตาสว่าง และมีเป้าหมาย มีกำลังใจจะอยู่ต่อไปในการทำมาหากินเบบพอเพียง  แต่ปัจจัยต่างๆยังยั่วยุให้เขาบริโภคแบบเบื่อๆอยากๆ ลูกอยากได้มอเตอร์ไซด์ อยากได้มือถือ เป็นต้น.. หลายคนก็กลับไปอยู่ในสภาพเดิมครับ 

นี่ไงผมจึงใส่วงเล็บนามแฝงผมว่า คนเข็นครกขึ้นภูเขา เข็นขึ้นไปแล้ว ครกมันก็ไหลย้อนกลับมาอีกได้...อิอิ

นั้นเพราะอะไร เราคิดว่าต้องให้ความรู้ ต้องให้การศึกษาถึงจะแก้ไขความยากจนได้มันจริงหรือ สุดท้ายถึงแม้นจะมีความรู้ก็ยังถูกเอาเปรียบในสังคม อีกระดับหนึ่งอยู่ดี (ผมอาจมองมากเกินไป ขอโทษด้วยครับ)ตราบใดที่เรายังไม่ให้การศึกษากับเยาวชนของเราในเรื่องคุณธรรม จริยธรรมให้มากพอ ๆ กับความรู้ที่เขาได้รับ เพื่อควบคุมไม่ให้นำความรู้ไปใช้ในทางที่ผิด และวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องนำมาใช้ในกลุ่มคนต่าง ๆ ควบคู่กันไป เพื่อให้ประสพผลสำเร็จ

การให้การศึกษาถูกต้องที่สุดครับ  การสร้างระบบคุณธรรมก็ถูกที่สุด  คำถามคือว่า ระบบการศึกษาปัจจุบันมีกระบวนวิธีการเรียนการสอนที่ดีอย่างไรในการสั่งสอนแล้วเกิดมหัศจรรย์เด็กดีไปหมด ?? กระบวนการเรียนการสอนในเรื่องนี้มันก็แค่เอาคะแนนเท่านั้นหรือเปล่า  เอาสาระไปสร้างเป็นอุปนิสัยของเด็ก ของคนเลยหรือไม่  มันแค่ความรู้  แต่ไม่ใช่คุณสมบัติด้านในของคน...นี่คือคำถามใหญ่ต่อวงการศึกษาบ้านเรา

จึงมีการสร้างโรงเรียนแบบใหม่ๆขึ้น  จึงเกิดกระบวนการใหม่ๆขึ้นเพื่อเข้าถึงแก่นแกนการสร้างวอุปนิสัย มิใช่เพียงความรู้เท่านั้น 

อาจารย์กล่าวถูกที่สุดครับว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดครับ

นี่แหละที่ท่านครูบาพยายามสร้างกระบวนการใหม่ๆขึ้นมาครับ

ขอบคุณมากที่มาแลกเปลี่ยนกันครับ

ประเด็นอาจารย์ดีเหลือเกินครับ เลยเอาดอกกล้วยไม้ช้างแดงมาฝากครับ ผมซื้อต้นมาจากการเพาะเนื้อเยื่อครับ  มีกลิ่นหอมใช้ได้  แต่ฟอร์มไม่สวยครับ

ขอบคุณมากครับพี่บางทรายที่เข้ามาให้ความกระจ่างมากขึ้นครับ ขอบคุณสำหรับช้างแดงต้นใหญ่ ๆ ดอกและฟอร์มสวยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท