ทำขวัญนาค ก่อนเข้าโบสถ์วันบวช


บรรยากาศแห่งความอบอุ่น ความสุขใจที่เต็มไปด้วยจิตศรัทธาของสาธุชนคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา

 

ทำขวัญนาค

ก่อนเข้าโบสถ์

วันบวช งานบวชนาค

ตั้งแต่ขอสมาจนถึงอนุโมทนา

 

          ในเทศกาลบวชนาค หรืออุปสมบทปีนี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานทำขวัญนาค ในฐานะผู้ประกอบพิธีทำขวัญนาค (โหรา) ได้รับเชิญไปเป็นพิธีกรบนเวที และได้รับเชิญให้นำวงเพลงพื้นบ้านไปแสดงในงานอุปสมบทหลายต่อหลายครั้ง  ผมได้เห็นภาพแห่งความประทับใจที่มีญาติพี่น้องประชาชนมาร่วมในงานอุปสมบทเป็นจำนวนมาก น่าปลื้มใจและภาคภูมิใจกับคนไทยที่ได้เกิดมาในบวรพระพุทธศาสนา

 

          เมื่อมีอายุครบ 20 ปี บริบูรณ์หรือมากกว่า (ส่วนมากจะบวชเมื่ออายุครบ 20 ปี) พ่อ แม่ก็จะพาลูกชายไปฝากวัด เพื่อท่องขานนาค และเรียนรู้วิธีปฏิบัติของสงฆ์ โดยมีพระพี่เลี้ยงเป็นผู้อบรมความรู้ให้ ในยามเช้าตรู่ได้เดินเท้าหิ้วปิ่นโตไปรับบิณฑบาตกับพระ และเมื่อกลับมาก็มาปฏิบัติกิจตามที่ได้รับมอบหมาย อันเป็นการเตรียมตัว เตรียมใจก่อนที่จะถึงวันบวชจริง ๆ ในสมัยก่อน การเป็นนาควัดใช้เวลาเป็นเดือน ๆ บางคนก็บวชเป็นเณร (บรรพชา) เพื่อฝึกห่มจีวรและท่องสวดมนต์ไปด้วย

 

          ก่อนที่จะถึงวันบวชพระ หรือเรียกว่า บวชนาค ทางบ้านก็จะจัดเตรียมขบวน อาจมีแตรวง เครื่องดนตรีเป่าร้องไปรับนาคจากวัดกลับมายังบ้าน โดยทั่วไปจะจัดขบวนออกไปรับนาค ซึ่งผู้เป็นนาคจะต้องเข้ากราบลาหลวงพ่อ หรือพระอุปัชฌาย์ที่วัดนั้น ๆ เพื่อไปประกอบพิธีสำคัญตามแบบโบราณคือ การทำขวัญนาค มาถึงยุคปัจจุบัน ราว 20 ปีที่ผ่านมา ความนิยมบางสถานที่เปลี่ยนไป เป็นการนิมนต์พระคุณเจ้ามาเทศนาสอนนาค (แทนการทำขวัญ) ความจริงแล้วให้ความรู้ ในสาระเดียวกัน เพียงแต่ การทำขวัญนาค มีโหรานั่งร้องด้วยทำนองต่าง ๆ ให้อารมณ์ที่หลากหลายส่วนการเทศนาโดย พระคุณเจ้า เป็นการพูดสอน ที่เรียบง่าย

 

          ก่อนที่จะถึงวันบวช งานบวชนาค มีระเบียบปฏิบัติ ตามประเพณีนิยมหลายขั้นตอน ความจริงมิใช่ข้อบังคับก่อนที่จะบวช แต่เป็นประเพณีนิยมที่สืบทอดกันมานับร้อยปี (เกือบ 200 ปี) ส่วนที่ว่าการจัดงานจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับกำลังของเจ้าของงาน เพราะนั่นคือส่วนประกอบ แต่โดยประเพณีนิยม พอจะมองเห็นการดำเนินงานในวันทำขวัญนาค ดังนี้

         

 

           

           

           

          พิธีรับนาคจากวัดกลับบ้าน ขบวนแห่ที่ไปรับนาค นิยมเดินเท้าจากบ้านไปยังวัด รับนาคออกจากวัดเดินทางกลับบ้านด้วยความสุขใจ มีเสียงแตร เสียงดนตรีบรรเลงนำหน้า มีผู้คนร่วมร้องรำทำท่าทางนำหน้าขบวนไปจนถึงบ้าน บางทีมีการเล่นต่ออีกเพื่อขอให้เจ้าภาพมาดูแลด้วยเครื่องดื่ม

 

          พิธีอาบน้ำให้นาค ขั้นตอนนี้ จะมีพิธีกรประกาศเรียนเชิญญาติผู้ใหญ่ (ปู่ ย่า ตา ยาย) มานั่งยังเก้าอี้ที่จัดเตรียมเอาไว้ แล้วให้นาคกราบขอสมาลาโทษจากท่าน แล้วรดน้ำลงไปที่มือ ที่เท้า และที่ตัว (บางทีอาจจะจดน้ำเฉพาะที่มือและเท้า) ต่อจากนั้นพิธีกรก็จะเรียนเชิญบิดา มารดา มานั่งให้นาคกราบขอสมา แล้วอาบน้ำให้กับพ่อแม่ที่เลี้ยงดูมาจนอายุ 20 ปี ต่อจากนั้นจึงจะเป็นพิธีการอาบน้ำให้นาค โดยบิดา มารดา เป็นผู้รดน้ำก่อน ตามด้วยญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ร่วมกันขัดสีฉวีวรรณให้นาคด้วยความปลื้มใจ

 

          เมื่อเสร็จพิธีการอาบน้ำให้นาคก็จะเข้าสู่พิธีการทำขวัญนาค เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของคน 3 คน คือพ่อ แม่ ลูกและรวมไปถึงญาติพี่น้องที่มาร่วมงาน บทร้องทำขวัญนาค เป็นบทเรียนแห่งความรู้ที่กล่าวถึงความผูกพันของบิดา มารดาที่มีต่อบุตร ไม่ว่าจะเป็นงานไหน ๆ จะได้เห็นคนเป็นพ่อ เป็นแม่นั่งอยู่เคียงข้างลูกด้วยความปลื้มใจ เมื่อตอนที่ได้ร่วมพิธีทำขวัญนาค ได้ฟังหมอขวัญกล่าวถึงความเป็นมาตั้งแต่ลูกยังไม่คลอดออกมาจากท้องของมารดาจนกระทั้งคลอดและเลี้ยงดูมาจรเติบใหญ่จนถึงวันนี้ การทำขวัญนาคมีหลายตอน บางตอนสนุก บางตอนมีคติ บางตอนเศร้า ต้องเสียน้ำตาร้องไห้ หมอทำขวัญจะใช้เวลาในการประกอบพิธี 2-4 ชั่วโมง (ปัจจุบันเรื่องของเวลาตามที่เจ้าภาพกำหนด)

         

 

         

          

          ในเวลาค่ำ จะเป็นตอนร่วมอนุโมทนา ในสมัยก่อน ๆ หลังจากที่เสร็จพิธีทำขวัญนาค จะมีญาติพี่น้องเดินทางมาร่วมอนุโมทนา นำปัจจัยมาร่วมทำบุญและเจ้าภาพก็จะจัดสำรับกับข้าว จัดอาหารมาเลี้ยงดู (กินเลี้ยง) มาถึงยุคปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นการร่วมรับประทานอาหารแบบโต๊ะจีน มีเวทีการแสดง มีวงดนตรีบรรเลง มีนักร้องให้ความสุขกับผู้ที่มาทานเลี้ยงมีการนำเสนอเรื่องราวเฉพาะที่สำคัญของนาค ผู้ที่จะบวชตั้งแต่เด็กจนถึงวันนี้ผ่านจอรับภาพที่ส่งมาจากเครื่องโปรเจ็คเตอร์

        

 

        

สำหรับการแสดงบนเวที หลายสถานที่ปรับเปลี่ยนจากการแสดงดนตรี มีนักร้อง นักเต้นที่เร่าร้อนมาเป็นการแสดงเพลงพื้นบ้าน แต่เน้นการแสดงที่ความสนุกสนานดังที่สโมสร ในสนามกอล์ฟ ทหารบก ที่ผมได้นำคณะนักแสดงไปร่วมงานมาแล้ว และยังมีอีกหลายงานที่นำเอาศิลปะพื้นบ้าน ที่เป็นวัฒนธรรมไทยเข้ามาร่วมงานที่เป็นประเพณีไทยซึ่งสามารถที่จะเข้ากันได้อย่างลงตัว

 

จะอย่างไรก็ตาม บนเวทีในงานทานเลี้ยง มุ่งหวังที่จะได้ให้ผู้ที่มาร่วมงาน ได้ร่วมอนุโมทนากับพ่อนาค ผู้ที่จะบวชในวันรุ่งขึ้น แต่แขกผู้มีเกียรติมากันเป็นจำนวนมาก จึงนิยมเรียนเชิญตัวแทนจำนวนหนึ่งขึ้นไปแสดงความยินดี กล่าวคำแสดงความยินดีบนเวที และให้พ่อนาคกล่าวคำขอสมาทุกท่านที่ได้ล่วงเกินทั้งกาย วาจา และใจ เป็นการขออโหสิกรรมที่ได้กระทำผิดพลาดมา เป็นภาพแห่งความสวยงามและประทับใจอย่างยิ่ง (สาธุ)

 

ผมได้นำเอาภาพบรรยากาศในงานบวชนาค ที่ผมได้ไปร่วมประกอบพิธีและมีส่วนร่วมในงาน ณ สถานที่ต่าง ๆ มาให้ท่านได้เห็นบรรยากาศความอบอุ่น ความสุขใจที่เต็มไปด้วยจิตศรัทธาของสาธุชนคนไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา

 

นายชำเลือง มณีวงษ์ ผู้มีผลงานดีเด่น ราชมงคลสรรเสริญ พานพุ่มพนมมาลาปี 2547

 

หมายเลขบันทึก: 187581เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2008 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับอาจารย์ชำเลือง

  • เข้ามาอ่านบทความและชมภาพแล้ว เกิดอยากจะบวชเสียแล้วซิครับ
  • เคยไปงานบวชที่สุพรรณจะจัดงานประเพณีแบบนี้ใหญ่โตมากๆ
  • ขอจองคิวอาจารย์ไว้เป็นหมอทำขวัญนาคและเพลงอีแซวไว้ล่วงหน้าตอนนี้เลยนะครับ
  • ผมอายุปูนนี้แล้วยังไม่ได้บวชเลย คิดว่าใกล้ๆเกษียณอายุจะขอลาบวชสักพรรษา ดีไหมครับอาจารย์

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะ ท่าน อ. ชำเลือง

อย่าลืมที่รับปากน้องไว้นะคะ จะมาเป็นหมอขวัญให้ลูกชายคนเดียวของครูนงเยาว์ไงคะ ตอนนี้ลูกชาย อายุ 12 ปีแล้วค่ะ  อีก 8 ปี เองค่ะ

สวัสดีครับ คุณสะมะนึก ที่รักยิ่ง

  • แหมหายไปเสียนานโข คิดอย่างไร ถึงจะบวชหลังเกษียณ  ก็ดีครับ เป็นความตั้งใจที่ดี
  • แต่ว่าอย่าลืมเรื่องสำคัญนะ ไล่ทหารเสียก่อน ถ้าไม่ถูกทหารค่อยมาวางแผนเรื่องงานบวชกันอีกที  จะกันคิวเอาไว้ให้
  • ขอบคุณมากครับที่เข้ามาเยี่ยมในบล็อกทำขวัญนาค ผมหวังว่าประสบการณ์ที่ผมได้รับมา คงเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาทางนี้ได้บ้าง ตามสมควร

ครูนงเยาว์ ครับ

  • ขอบคุณครับ และไม่ลืมแน่ แต่ว่าอีก 8 ปี จะไปไหวหรือไม่เท่านั้นแหละ
  • ช่วงนี้ออกไปประชุมติด ๆ กันยาวหน่อย ยังมีเรื่องราวและภาพในงานทำขวัญนาคมานำเสนออีก ในตอนต่อ ๆ ไป ครับ

อ่านครั้งใด ก็ประทับใจครับ 

พอยิ่งอ่านยิ่งรู้ว่า ไม่ใช่อยู่ๆ จะมาทำหน้าที่หมอทำขวัญได้เลยต้องมีที่มาจริงๆ ต้องขอยกย่องคุณครู ว่าเก่งมากครับ

ตัวผมเองได้มีโอกาสสัมผัสกับการดำเนินเรื่อง บอกเล่าเรื่องราว ที่มาของการบวช โดยตรงจากคุณครูหลายครั้งตอนครูไปทำขวัญ  ยอมรับว่าคุณครูนอกจากดำเนินเรื่องการทำขวัญนาคได้น่าสนใจ  สนุกสนานแล้ว  ยังมีเนื้อหาที่ครบถ้วนสมบูรณ์อีกด้วย

สุดยอดจริงๆครับ

สวัสดีค่ะอ.ชำเลือง

  • มาร่วมอนุโมทนากับการบวชนาค
  • อาจารย์สบายดีนะคะ 
  • ระลึกถึงทั้งอาจารย์และคุณแม่ขวัญจิตค่ะ

ผมกำลังจะบวช

เร๊วๆนี้

ขอบคุณมากนะครับที่มีขั้นตอนมาบอก

การทำขวัญนาค

ตอบความเห็นที่ 6 คนไม่มีราก

ภาพที่เห็นในส่วนบน เป็นงานบวชลูกของเพื่อนที่สุพรรณฯ ครับ อาจารย์ เคยเป็นครูศิลปะมาด้วยกันตั้งแต่ยุคสอบ ว.อ.(วาดเขียนเอก)ที่ เพาะช่างเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ได้ไปร่วมประกอบพิธี จึงนำเอาบรรยากาศมาเล่าให้ฟัง

ผมสบายดีครับ และขอขอบคุณท่านอาจารย์มาก ที่ให้ความเห็น ให้กำลังใจเสมอมา

ตอบความเห็นที่ 7 คุณใหม่มะนาวทอง

ผมขออนุโมทนาด้วยนะครับที่คุณใหม่จะเข้าสู่พิธีบรรพชา อุปสมบทในเร็ว ๆ นี้ และยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับงานบวชที่ผมลงไว้ในบล็อกนี้อีกหลายตอน ล้วนแต่นำมาจากประสบการณ์ตรงในชีวิตการทำงานทั้งหมด เปิดอ่านได้ครับ

ตอบความเห็นที่ 5 ครูบรรเจิด พุ่มพันธ์สน (คนเก่งมาก)

ได้รับรู้และทราบในความเห็นของครูบรรเจิดแล้ว ขอยมรับว่า นอกจากจะทำหน้าที่บรรเลงดนตรีรับร้องตอนทำขวัญนาคแล้วครูบรรเจิดยังจับเนื้อหา ใจความ เรื่องราวและมีอารมณ์สนุกสนานคล้อยตามไปได้ด้วย ไม่น่าเชื่อ ในความสามารถที่แยกแยะได้และเป็นความจริงด้วย

ขอบคุณในความเห็นและกำลังใจที่มีให้คนแก่ ๆ อย่างครู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท