การพัฒนาสมรรถนะของตนเอง สำหรับครู(2)


ใครพัฒนาตนเอง จนได้เกรด 4.00 ในทุกสมรรถนะ หรือทุก ตัวชี้วัด โอ...เขาจะเป็นครูที่วิเศษเลยครับ ลูกศิษย์จะเป็นเลิศอย่างแน่นอน แถม ผลงานทางวิชาการจะมีเพียบด้วย

      เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2551 ได้ไปบรรยายเรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะและการพัฒนางานทางวิชาการของครู” ในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรเพื่อการเลื่อนวิทยฐานะ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กทม. เขต 2 ณ โรงเรียนสารวิทยา 

ตามที่ได้เคยนำเสนอแล้วว่า ในการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ  ครูจะถูกประเมินด้าน สมรรถนะในการปฏิบัติงาน ด้วย ซึ่ง ครู คศ.2-3 จะถูกประเมินใน 7 สมรรถนะ คือ

1. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ :  ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานในหน้าที่ให้มีคุณภาพ ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์  มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และมีการพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 

2. การบริการที่ดี :  ความตั้งใจในการปรับปรุงระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ      

3. การพัฒนาตนเอง :  การศึกษา ค้นคว้า หาความรู้  ติดตามองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในวงวิชาการและวิชาชีพเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนางาน

4. การทำงานเป็นทีม :  การให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุน เสริมแรง ให้กำลังใจแก่เพื่อนร่วมงาน การปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่น หรือแสดงบทบาทผู้นำ ผู้ตาม ได้อย่างเหมาะสมสมรรถนะประจำสายงาน

5. การออกแบบการเรียนรู้ : วิเคราะห์ปัญหาการเรียนการสอน แสวงหาวิธีสอนใหม่ ๆ วางแผนการสอน ใช้สื่อประกอบการสอน ปฏิบัติการสอนด้วยเทคนิคที่หลากหลาย และประเมินการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

6. การพัฒนาผู้เรียน : วิเคราะห์ศักยภาพผู้เรียนในความรับผิดชอบ พัฒนาเด็กให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งด้านสมอง จิตใจ อารมณ์ สังคม และร่างกาย

7. การบริหารจัดการชั้นเรียน  : บริหารจัดการชั้นเรียนอย่างเป็นระบบทั้งการจัดการสอนในรายวิชาและในบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา

   

     ถ้าขอตำแหน่งที่สูงขึ้น คือ ครูเชี่ยวชาญ(คศ.4) หรือ เชี่ยวชาญพิเศษ(คศ.5) จะถูกประเมินเพิ่มอีก 1 รายการ คือ

 

8. การวิเคราะห์และสังเคราะห์ :  ความสามารถในการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ แล้วแยกประเด็นเป็นส่วนย่อย ตามหลักการหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนด  สามารถรวบรวมสิ่งต่างๆ จัดทำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน  รวมทั้ง สามารถวิเคราะห์องค์กรหรืองานในภาพรวมและดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

 

       ในห้องประชุม มีคนถามว่า “ทำอย่างไร จึงจะได้คะแนนผ่านการประเมิน”

 

       ผมตอบว่า

1)  ตามปกติ เท่าที่ดูข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา เฉพาะการประเมินคุณภาพการปฏิบัติงาน หรือสมรรถนะในการปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่จะผ่านนะครับ  ยกเว้นการขอ คศ.4-5 จะมีการดูในรายละเอียดและหลักฐานเชิงประจักษ์มากหน่อย

2) ครูจะต้องศึกษานิยามสมรรถนะต่าง ๆ ให้เข้าใจ  พร้อมศึกษาเกณฑ์การให้คะแนน ตามแบบประเมินที่ กคศ.กำหนด ดังตัวอย่างข้างล่างนะครับ 

                                                                                

3. ด้านการพัฒนาตนเอง :     การศึกษา ค้นคว้า หาความรู้  ติดตามองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในวงวิชาการและวิชาชีพ เพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนางาน

3.1 การศึกษา ค้นคว้า หาความรู้

     ด้วยการเข้าประชุมทางวิชาการ

     อบรม สัมมนา  หรือวิธีการ

     อื่น ๆ

4--มีชั่วโมงเข้าประชุม อบรม สัมมนาไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง/ปี และ มีการจัดทำเอกสารนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างน้อย 2 รายการ/ปี

3--มีชั่วโมงอบรมไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง/ปี และมีการจัดทำเอกสาร นำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างน้อย 1 รายการ/ปี

2--มีชั่วโมงอบรมไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง/ปี หรือ มีการจัดทำเอกสาร นำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างน้อย 2 รายการ/ปี

1--มีชั่วโมงอบรมน้อยกว่า 20 ชั่วโมง/ปี หรือ มีการจัดทำเอกสาร นำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 1 รายการ/ปี

1. ตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงการเข้าประชุม อบรม สัมมนา  เช่น บันทึกการส่งเข้าประชุม/อบรม

เกียรติบัตร วุฒิบัตร บทความ/งาน

เขียนที่นำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เป็นต้น

2. สอบถาม/สัมภาษณ์เจ้าตัว

    เพื่อนร่วมงาน และผู้เกี่ยวข้อง

        ......จากข้อมูลข้างต้น เป็นการประเมินสมรรถนะด้านการพัฒนาตนเอง

ตัวชี้วัดที่ 3.1 ซึ่งได้ระบุเกณฑ์การให้คะแนน 4  3  2  และ 1 ไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งได้ระบุไว้ด้วยว่า คณะกรรมการจะตรวจให้คะแนนจากหลักฐานอะไรบ้าง 

3)  ให้ลองประเมินตนเองทุกปี นะครับ ดูว่าเราได้คะแนนเท่าไร 2.60   2.80   3.00   หรือ 3.20  ถ้าเกิน 3.20 แสดงว่าเรายอดเยี่ยม มีสิทธิ์เป็น คศ.5 นะครับ(มากกว่าร้อยละ 80)

 

..........ใครพัฒนาตนและพัฒนางานอย่างดี จนได้เกรด 4.00 ในทุกสมรรถนะ หรือทุก ตัวชี้วัด   โอ...เขาจะเป็นครูที่วิเศษเลยครับ  ลูกศิษย์จะเป็นเลิศอย่างแน่นอน แถม ผมเชื่อว่า ผลงานทางวิชาการจะมีเพียบด้วย

 

โดยนัย ดังกล่าวข้างต้น ในเรื่องการประเมินสมรรถนะ ถ้าเราศึกษา ตัวชี้วัด และเกณฑ์การให้คะแนน ทุกรายการ ครูน่าจะทราบครับว่า ต้องพัฒนางาน  เตรียมตัว หรือ รวบรวมแฟ้มสะสมงาน เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันความชำนาญการหรือความเชี่ยวชาญ ได้อย่างไรบ้าง

 

หมายเลขบันทึก: 186283เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2008 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • เยี่ยมเลยครับอาจานย์
  • เมื่อวานมีคุณครูสนใจหลายท่าน
  • ส่งเมล์มาถาม
  • ผมเลยส่ง link ของอาจารย์ไปให้อ่าน
  • ได้ประโยชน์มากๆๆเลยครับ
  • ขอบคุณ อ.ขจิตครับ ที่ติดตามและคอยแนะนำเพื่อนครูอีกแรงหนึ่ง
  • ใน G2K ขณะนี้ เข้าใจว่ามีสมาชิกเป็นครูมากเลย ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดี "ถ้าครูใฝ่เรียนรู้" และมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมาก ๆ ผมคิดว่า เทคนิคการสอน หรือลีลาการปฏิบัติงาน น่าจะเปลี่ยนไปอย่างมาก ในอนาคต

- ถึงเกณฑ์ขั้นเงินเดือนจะยังไม่ถึงแต่บทความ 2 เรื่องล่าสุดนี้ก็ทำให้มีความรู้มากขึ้นเยอะเลยครับ

- ถ้าเราใช้เกณฑ์ดังกล่าวโดยถือว่าเพื่อพัฒนาตนเองกับความเป็นครูเป็นหลัก โดยคิดถึงค่าตอบแทนเป็นผลพลอยได้ เด็กๆของเราคงจะมีความสุขมากแน่ๆครับ

เรียน คุณจิรเมธ

  • ขอบคุณมากที่ติดตาม  "ผมภูมิใจในความคิดของคุณ"
  • จริง ๆ แล้ว ที่สุดยอด คือ ครูบรรจุใหม่ ปฏิบัติตนได้อย่างมาตรฐาน ตามมาตรฐานวิชาชีพครู หรือตามเกณฑ์สมรรถนะครู จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมหาศาล 
  • ลองนึกภาพดู ถ้าครูอายุ 23 แม้จะยังไม่มีโอกาสเลื่อนวิทยฐานะ แต่ได้พัฒนาตนเองจนมีสมรรถนะเปี่ยมล้นทั้ง 7 สมรรถนะ....เขาจะมีเวลาทำงานแบบยอดเยี่ยมถึง 37 ปี ซึ่งแน่นอน ในทุกวัน ในชีวิตครูของเขา เขาจะยอดเยี่ยมเพิ่มขึ้นเรื่อย  ๆ อย่างแน่นอน  วิทยฐานะคงจะเป็นเพียงผลพลอยได้ในชีวิตเขา(ในอนาคต ครูเช่นนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาคงจะเสนอขอวิทยฐานะให้เอง

 

 

    ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากบันทึกของอาจารย์เรื่องที่แล้ว เกี่ยวกับสมรรถนะเฉพาะ(ประจำวิชา)ต่อเนื่องนะครับ
    ผมเห็นด้วยกับ ดร.สุพักตร์ว่าถ้าเอาสมรรถนะเฉพาะแต่ละวิชามาประเมินเลื่อนวิทยฐานะตรงนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยากซึ่งจะเกิดปัญหาองคาพยพกว้างใหญ่ คุมยากอย่างที่เห็น(ซึ่งจริงๆตอนนี้เราประเมินผลงานวิชาการกัน เราก็ดูที่สมรรถนะเฉพาะแต่ละวิชากันอยู่แล้ว แม้จะไม่ได้ประกาศเป็นทางการก็ตาม)
    ถ้าเราใช้การประเมินแบบ สกศ.ที่ประเมินผู้บริหารต้นแบบ(อาจารย์คงเคยไปประเมินมาแล้ว) โดยเน้นสมรรถนะหลักและประจำสายงาน องคาพยพอาจไม่ต้องกว้างขวางมาก ใช้ผู้ทรงคุณวุฒิมาประเมินไม่มาก แต่ต้องเก่งและเที่ยงธรรมจริงๆ(สามารถตบสีข้างม้าทีสองทีก็รู้ว่าม้าดีหรือไม่ดี) ซึ่งได้ตัวอย่างผอ.ต้นแบบรุ่น 1 เช่น ผอ.นคร ตังคพิภพ  เป็นต้น แล้วท่านเหล่านั้นก็ทำวิจัยพัฒนาต่อเนื่อง และเผยแพร่ แบ่งปันองค์ความรู้แก่ผู้อื่นได้อย่าสง่าผ่าเผย  
     ส่วนสมรรถนะเฉพาะแต่ละวิชาก็ให้องค์กรวิชาชีพ และหน่วยงาน เช่น ศูนย์วิชา หรือโรงเรียน หรือเขตพื้นที่ ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรหรือใช้ประเมินความก้าวหน้าของบุคลากรในหน่วยงานตนโดยเฉพาะก็คงดี (เหมือนประกันคุณภาพภายใน)
     แต่พอจะไม่ประเมินแยกเป็นรายวิขาเฉพาะแต่ละสาขาวิชาหลายคนก็จะไม่ยอมรับเกรงจะไม่ได้ความเก่งตามแก่นแท้ของวิชานั้นๆ ก็จึงเป็นปัญหา "เหมือนลิงแก้แห" ใช้ผู้ประเมินมาก  จากหลายสังกัด ซึ่งคุมยาก อย่างทุกวันนี้ ...ใจจริงผมยังชอบการประเมินแบบ สกศ.นะ...อาจารย์คิดยังไงครับ

  • ผมเห็นด้วยกับวิธีการที่ สกศ.ใช้ ดังที่อาจารย์ให้ข้อมูลครับ
  • สำหรับการประเมินสมรรถนะเฉพาะแต่ละวิชา น่าจะมีการกำหนดสมรรถนะในด้าน "ความรู้ในเนื้อหาวิชา" ทดสอบโดยศูนย์ E-testing ระดับเขตพื้นที่ก็ได้ และ "การออกแบบการเรียนรู้" (ปัจจุบันกำหนดอยู่แล้ว) โดย น่าจะดูจากบันทึกการนิเทศ หรือบันทึกการประเมินผลภายใน ที่มีการตัดสินให้คะแนนปีละ 1 ครั้ง)
  • การประเมินสมรรถนะในการปฏิบัติงาน น่าจะใช่ร่วมกับการประเมินเพื่อตอบแทนความดีความชอบในรอบปี
  • อันที่จริง ระบบ ก.ค.ศ. ยอดเยี่ยมกว่าของ สกอ(อุดมศึกษา)ที่ "มีการประเมินสมรรถนะ"... แต่จุดอ่อน คือ เท่าที่สังเกต ผมคิดว่ายังไม่มีการทำกันอย่างจริงจัง และไม่ได้ใช้โอกาสนี้ในการสร้างเงื่อนไขในการพัฒนาครู
  • ผมคิดว่าต้อง สัมมนาผู้บริหารโรงเรียนและทีม ศน.ครับ เรื่อง "การประเมินสมรรถนะ" จะต้อง กระตุ้นให้มีการใช้เรื่องนี้เป็นเงื่อนไข หรือเครื่องมือในการยกระดับวิชาชีพครู กันอย่างจริงจัง

เรียนดร.สุพักตร์ที่เคารพ

ติดตามมาอ่านค่ะ เลยได้ความรู้เพิ่ม เพราะอยู่มหาวิทยาลัยฯ และยังไม่ได้ทำตำแหน่งทางวิชาการ เลยไม่ค่อยรู้เรื่องการประเมินแบบนี้ ได้ความรู้มากเลยค่ะ

สวัสดัค่ะ ท่านอาจารย์สุพักตร์

เมื่อวันที่อาจารย์บรรยายที่ ร.ร.สารวิทยา ดิฉันเป็นผู้ฟังอยู่ด้วยคนหนึ่งค่ะ อาจารย์พูดได้ชัดเจนดีมาก ทำให้มีกำลังใจมากยิ่งขึ้นค่ะ แต่ตอนนี้ยังงงๆอยู่เพราะต้องทำ ค.ศ.4 พบกำลังใจจากที่ท่านอาจารย์แนะนำ ขอขอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะ ตอนแรกแค่คิด ตอนนี้คาดว่าคงพอไหวค่ะ ...ครูมัธยมค่ะ

เรียน อ.ฟ้าใส

  • ในระดับอุดมศึกษาเรา ไม่ได้จริงจังกับการประเมินสมรรถนะครับ เน้นการดูที่ผลงานทางวิชาการมากกว่า
  • จริง ๆ แล้ว ถ้ามีการตกลงให้ชัดเจน ว่า อาจารย์อุดมศึกษาจะต้องมีสมรรถนะที่สำคัญ ๆ อะไรบ้าง เช่น  ด้านการออกแบบการเรียนรู้  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้  การวิจัยในชั้นเรียน  การวิจัยเพื่อพัฒนางาน  การเป็นวิทยากร   การนำเสนองานทางวิชาการ  การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร ฯลฯ แล้วมีการประเมินกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งมีการพัฒนา หากพบว่าสมรรถนะด้านใดบกพร่อง...ผมเชื่อว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยจะเก่งขึ้นอย่างมหาศาล

อาจารย์ Preeda ครับ

  • ขอบคุณมากครับ ที่ตามเข้ามาเยี่ยม
  • ดีใจครับ ที่การพูดของผม ทำให้อาจารย์มุ่งมั่นมากขึ้น
  • มีอะไรก็เข้ามาแลกเปลี่ยนนะครับ ยินดีครับ
  • กำลัง งง ว่าอาจารยืไม่ได้เขียนบันทึกใหม่
  • เข้าใจว่างานยุ่ง
  • มาทักทายเฉยๆๆ
  • อาจาย์สบายดีนะครับ

การพัฒนาสมรรถนะของตนเอง สำหรับครู กับการพัฒนาสมรรถนะของตนเอง สำหรับอาจารย์ที่สอนในมหาวิทยาลัยเปิดมีความแตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท