คู่มือผู้บริหารโครงการ "พัฒนาการจัดการความรู้ใน รพ. ภาคเหนือตอนล่าง" (ตอน 1)


        คู่มือผู้บริหารโครงการ "พัฒนาการจัดการความรู้ใน รพ. ภาคเหนือตอนล่าง" (HKM)  เล่มนี้ได้ถอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ของการทำหน้าที่ผู้บริหารโครงการฯ  ของ คุณไพฑูรย์   ช่วงฉ่ำ   ซึ่งทำบทบาทผู้บริหารโครงการเครือข่าย  HKM  ของทั้ง 17 รพ. มาเกือบ 2 ปี  จนตอนนี้พี่ไพฑูรย์   กลายเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน KM  ที่ให้คำปรึกษา, เป็นวิทยากร ให้กับเครือข่าย รพ. ต่างๆ, และหน่วยงานราชการอื่นๆ ด้วย

                                                          

บทที่ 1
มารู้จัก “เครือข่ายการจัดการความรู้”

       ในบทนี้จะนำท่านมารู้จักความหมาย, หลักการ, กระบวนเรียนรู้และวงจรชีวิตของเครือข่ายการจัดการความรู้เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจธรรมชาติของเครือข่ายการจัดการความรู้ก่อนที่จะเข้าสู่การบริหารเครือข่ายการจัดการความรู้ในลำดับต่อไป

ทำไมการจัดการความรู้ต้องทำเป็นเครือข่าย ?

ในการไขปริศนาคำถามดังกล่าว ก่อนอื่นผู้เขียนใคร่ขออธิบายความหมายของคำสำคัญ
ที่เรียกว่า “เครือข่าย” หมายถึง การที่สมาชิกที่มีความสนใจในประเด็นความรู้ มาพบปะกัน ทั้งในเวทีจริงและเวทีเสมือนจริง โดยมีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย อาทิเช่น การประชุม เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน มีจุดมุ่งหมายและด้วยแรงปรารถนา เดียวกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสมาชิก  อันจะเป็นแรงผลักดันนำไปสู่การค้นหาวิธีการแก้ปัญหา รวมทั้งการแสวงหาวิธีปฏิบัติที่ดีจากเพื่อนร่วมเครือข่ายเดียวกัน

    หากจะกล่าวถึงความหมายของการจัดการ ความรู้” แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ตามชนิดของความรู้ ได้แก่

1. การจัดการความรู้ชนิดฝังลึก (Tacit knowledge) ซึ่งวิธีการจัดการความรู้ประเภทนี้ ต้องอาศัยความรู้ที่อยู่ในคน (People) และนำกระบวนการ (Process) แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยเฉพาะการปฏิสัมพันธ์กันทางสังคม มาช่วยสนับสนุนให้เกิดการดึงเอาความรู้จากตัวคนออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยอาศัยเทคนิคของการพูดคุย  การเล่าเรื่องราว  การฟัง  การถาม  และการจับประเด็น เพื่อถอดเอาความรู้จากตัวคนถ่ายทอดออกมา  เมื่อรวมตัวกันหลายคนก่อเกิดความสัมพันธ์กันในลักษณะของการโยงใยความสัมพันธ์เป็นเครือข่าย  ซึ่งเป็นที่มาของ  “เครือข่ายความรู้”

      จากความเป็นเครือข่ายที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้จะทำให้เกิดการไหลเวียนของความรู้ไปมาระหว่างสมาชิกเครือข่ายและสุดท้ายความรู้เหล่านี้จะถูก  สร้าง  และพัฒนากลายเป็นขุมความรู้วิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practice) อันนำไปสู่การพัฒนางานต่อไป

2. การจัดการความรู้ชนิดชัดแจ้ง (Explicit knowledge) เป็นความรู้ได้มาจากการบันทึก รวบรวม  จัดเก็บ  เผยแพร่ ในระบบเอกสารของสมาชิกเครือข่ายซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทความรู้ระหว่างสมาชิกเครือข่าย ทั้งภายในและภายนอกองค์การ อันนำไปสู่การเพิ่มพูนความรู้ให้กับสมาชิกทีมงานและองค์กร

       เมื่อรวมความหมายของเครือข่ายและการจัดการความรู้เข้าด้วยกันและจากหลักฐานข้อมูล

เชิงประจักษ์ พบว่าในการจัดการความรู้ที่ฝังลึก และชัดแจ้งจะก่อให้เกิดอำนาจหรือพลังที่ซ่อนเร้นอยู่ในแรงปรารถนาของสมาชิกที่มารวมตัวกันเป็นเครือข่ายซึ่งจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาในงานที่ปฏิบัติจนกระทั่งบรรลุภารกิจที่กระทำร่วมกัน และอีกทั้งการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ของสมาชิกที่ดำเนินการในลักษณะเครือข่ายเช่นนี้จึงเป็นเสมือนกลไกที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาการยกระดับความรู้ที่ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

       ฉะนั้น การจัดการความรู้ที่ต้องทำเป็นเครือข่าย และด้วยเหตุผลที่ว่าการทำงานในลักษณะของเครือข่ายนั้นเป็นการทำงานแบบประสานพลังที่มาจากแรงปรารถนาของสมาชิกก่อให้เกิดพลังที่สร้างสรรค์ช่วยนำไปสู่ผลลัพธ์ของงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากดำเนินการจัดการความรู้ในลักษณะเครือข่ายจะเกิดประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจน อาทิเช่น การทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ ทักษะที่มาจากความหลากหลายของสมาชิกในเครือข่าย ส่งผลให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มองเห็นหลายแง่หลายมุมมองจากสมาชิกในหลายองค์กร นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคี  ความไว้วางใจ  การรู้จักเป็นผู้ให้  ผู้รับ การแบ่งปันทรัพยากรความรู้ และทรัพยากรอื่น ๆ ก็จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต

คำสำคัญ (Tags): #คลังความรู้
หมายเลขบันทึก: 18608เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2006 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท