โศกนาฎกรรม ชาวพม่า


มีข่าวพายุนาร์กีสถล่มพม่า ก็เลยนำบทความเกี่ยวกับพม่ามาบอกกล่าวต่อ
‘คอนแทรค ฟาร์มิ่ง’ ไทย : กำไรจากหยาดเลือดชาวพม่า

 

 
เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีรายงานชื่อว่า ทุ่งร้าง หรือ Deserted Field ออกมาจากองค์กรที่เข้าไปทำงานในดินแดนลึกลับอย่างประเทศพม่า - คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและบรรเทาทุกข์รัฐฉาน (SRDC/ Shan Relief and Development Committee)

 

หน่วยงานนี้ได้เข้าไปแอบเก็บข้อมูลที่เมืองนาย ในรัฐฉานของพม่ามาตั้งแต่ปี 2546 จนประมวลออกมาเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ความล่มสลายและความทุกข์ยากของเกษตรกรเมืองนาย อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลทหารพม่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

แม้ไม่ได้พูดถึงผลกระทบโดยตรงจากโครงการเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming ที่รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน โดยลงนามกับรัฐบาลพม่าไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2548 เพื่อให้ปลูกพืชอาหารสัตว์ และพืชพลังงานเกือบ 10 ชนิดบนพื้นที่ราว 44 ล้านไร่มาป้อนฝั่งไทย แต่ข้อมูลทั้งหมดในรายงานฉบับนี้ก็ทำให้เราตระหนักได้ทันทีว่า โครงการนี้จะไม่สร้างประโยชน์แบบ win-win อย่างที่นายกฯ ทักษิณ หรือรัฐมนตรีเกษตรหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ โฆษณาไว้แน่นอน

 

หากแต่ผลประโยชน์ของ (บริษัท) ไทยอาจต้องแลกด้วยชีวิต เลือดเนื้อ ของคนเล็กคนน้อยจำนวนมากในอีกฝากฝั่งหนึ่ง.....

 

เมืองนาย อำเภอที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน เป็นพื้นที่ทำการศึกษาที่พอจะเข้าไปเก็บข้อมูลได้ แม้กองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มจะยึดครองพื้นที่ตามเขตเทือกเขาในเมืองนี้มานานหลายปี และรัฐบาลทหารก็ออกปราบปรามกลุ่มต่อต้านมากยิ่งขึ้น

 

ผลการสำรวจ ได้จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ทุกระดับชั้น และลงสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างมาก การสำรวจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากต้องใช้ความระมัดระวัง หากทหารพม่าทราบข่าวก็หมายถึงชีวิต นายแหลง หนึ่งในทีมสำรวจเคยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว


 

 

พื้นที่แห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์ เป็นอู่ข้าวชั้นดีของผู้คน แต่ปัจจุบันนี้มีหมู่บ้านหลงเหลืออยู่เพียง 25 หมู่บ้าน จากที่เคยมีถึง 57 หมู่บ้านก่อนปี 2537 มีประชากรเหลืออยู่ประมาณ 25,000 คน ประกอบด้วยคนพม่า ฉาน ปะโอ ลีซู ลาหู่ โกก้าง และปะหล่อง ส่วนอีกราวร้อยละ 30 คาดว่าอพยพหนีข้ามมาฝั่งไทย ปล่อยให้พื้นที่เพาะปลูกอันอุดมกลายเป็นทุ่งร้างมากกว่า 25,000 ไร่

 

ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่นี้ ยากจน ไม่มีรายได้จากการเพาะปลูกมากนัก ทรัพย์สินของพวกเขาคือข้าวที่สะสมไว้ รวมทั้งปศุสัตว์ที่มีอยู่ แต่ผู้คนร้อยละ 90 ก็มีอาหารพอเพียง มีการค้าขายและแลกเปลี่ยนพืชผล-สิ่งของระหว่างคนเมืองและชาวบ้าน โดยที่การเดินทางเป็นไปอย่างเสรี

 

 

 


 

ปี 2537 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย เพราะรัฐบาลทหารพม่าจัดตั้งศูนย์รับซื้อข้าวเปลือกในเมืองนาย โดยให้ตำรวจ ทหาร เข้าไปติดประกาศคำสั่งเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนปฏิบัติตาม

 

ชาวนาทุกคนถูกบังคับให้ต้องนำข้าวมาขายที่ศูนย์เป็นจำนวน 4 ถังต่อที่นาทุก 2.5 ไร่ที่พวกเขาเพาะปลูก โดยข้าว 1 ถังมีน้ำหนักประมาณ 21 กิโลกรัม แต่ลูกจ้างในศูนย์รับซื้อกลับเอาข้าวจากชาวนาไปถึง 24 กิโลกรัมต่อถัง

 

ส่วนรัฐบาลทหารจะจ่ายค่าข้าวให้ชาวบ้านเพียง 350 จ๊าต ต่อถัง ในขณะที่ราคาตลาดจะอยู่ที่ 1,250 จ๊าตต่อถัง อีกทั้งทางศูนย์ก็ไม่รับซื้อข้าวเปลือกคุณภาพต่ำ

           

หนี้สินที่ไม่ได้ก่อ

โชคร้ายกว่านั้น ไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับผู้ที่ผืนนาให้ผลผลิตช้าหรือแม้จะมีอุบัติเหตุอะไรก็ตาม หากไม่ส่งขายข้าวในเวลาที่กำหนด พวกเขาจะถูกจับตามระเบียบ ดังนั้น ชาวนาผู้โชคร้ายเหล่านี้จึงต้องยอมซื้อข้าวเปลือกจากคนอื่นในราคาตลาด เพื่อนำมาขายให้ศูนย์ในราคา 350 จ๊าต

 

 

 

ต้อนรับทั้งน้ำตา

การซื้อข้าวเปลือกของชาวบ้านนั้น จะมีคณะผู้จัดซื้อของรัฐบาลตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ และพลันที่เห็นขบวนของพวกเขามา ชาวบ้านทั้งหลายจะต้องจัดหาอาหารมาเลี้ยงต้อนรับขบวนที่มาทั้งหมดในวันนั้น จากนั้นตำรวจจะเดินไปตามบ้านต่างๆ เพื่อ ขู่ให้ชาวบ้านขายข้าวให้ได้ตามโควตา แน่นอน ใครผลผลิตตกต่ำมีไม่เพียงพอ ก็ต้องไปหาซื้อมาให้ได้

 

ข้าวเปลือกที่ศูนย์รับซื้อจะถูกสีและจัดสรรให้กับข้าราชการ ตำรวจและทหารในพื้นที่ทุกเดือน รวมทั้งหน่วยงานซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดข้างเคียงด้วย พวกเขาทำแบบนี้ตั้งแต่ปี 2537-2546 แม้ชาวบ้านจะจ่าย ภาษี อย่างหนักหน่วงมาหลายปี แต่ก็ไม่เคยได้รับบริการตอบแทนจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้เลย  สิ่งที่เกิดขึ้นมีเพียงการส่งทหารมาประจำในพื้นที่มากขึ้น

               

โยกย้ายเพราะปลายปืน

หลังจากกองทัพเมืองไตของขุ่นส่ายอมมอบตัวในปี 2539 หลังจากนั้นชาวบ้านกว่า 300,000 คนทั่วรัฐฉานก็ถูกบังคับด้วยกระบอกปืนให้อพยพออกมาจากพื้นที่และยังมีการบังคับต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

 

ทหารของขุนส่ามีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่ว เมื่อขุนส่ามอบตัว รัฐบาลทหารก็ต้องอพยพคนลงมาอยู่ในเขตที่ควบคุมได้ เพื่อตัดการติดต่อและกันชาวบ้านเข้าร่วมกับกองกำลัง มีการบังคับให้ย้ายกันภายใน 3 วัน 5 วัน 7 วัน ซึ่งเจ็ดวันนี่ถือว่านานที่สุดแล้ว นายแหลง หนึ่งในทีมสำรวจให้ข้อมูล

 

มีการทำลายหมู่บ้านหลายแห่งบนภูเขาและอพยพชาวบ้านลงมาในพื้นที่ใกล้กับเขตเมืองนาย หมู่บ้านบางแห่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขตเมืองก็ถูกโยกย้ายเช่นกัน ในปี 2537 มีการอพยพหมู่บ้านประมาณ 32 แห่งในเทือกเขาทางตะวันออกของเมืองนาย และอีก 25 แห่งซึ่งเป็นหมู่บ้านในที่ลุ่ม ในปัจจุบัน มีหมู่บ้านที่ยังเหลืออยู่บนภูเขาเพียง 12 แห่งและอีก 13 แห่งในที่ลุ่ม ซึ่งเป็นเหตุให้ผลผลิตข้าวบนที่สูงลดลงกว่าร้อยละ 56

 

ชาวบ้านถูกบังคับให้ไปพัฒนาที่ทำกินแห่งใหม่ หรือจะเรียกว่าเป็น หมู่บ้าน ซึ่งอยู่ตามถนนใหญ่ในเขตที่ราบ หรือไม่ก็ต้องไปอาศัยอยู่แถวหมู่บ้านอื่นซึ่งใกล้กับเมือง พวกเขาไม่มีโอกาสกลับไปเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเอง ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนับสนุนกับผู้ที่ถูกโยกย้าย และโอกาสที่จะหาที่อยู่ใหม่ก็มีน้อยเต็มทน

 

ความระส่ำระสายเกิดขึ้นทั่ว จนผู้คนจำนวนมากต้องหนีไปอยู่ในป่าลึกเพื่อทำเกษตร  และมีประชาชนอีกกว่า 10,000 คน หรือราวร้อยละ 30 ของประชากรในพื้นที่  ที่คาดว่าได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา

 

นี่เป็นเพียงบทโหมโรงของความทุกข์ยากที่ชาวบ้านในพม่าได้รับมายาวนาน ก่อนที่พม่าจะเริ่มเศรษฐกิจแบบตลาดในปี 2546 และเปิดรับนักลงทุนบางส่วนให้เข้าไปดำเนินกิจการต่างๆ ซึ่งนอกจากทุนนิยมจะไม่ช่วยให้ชีวิตของประชาชนตาดำๆ ดีขึ้นแล้ว กลับยิ่งซ้ำเติมความทุกข์ยากของพวกเขาให้เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง

 

(2)

 

ชีวิตของชาวนาเมืองนาย และอีกหลายเมืองในรัฐฉานเปลี่ยนไปแล้ว นับตั้งแต่รัฐบาลทหารเริ่มเข้ามาจัดการระบบการเกษตร มีการกำหนดโควตาข้าวที่ประชาชนต้องจ่ายให้รัฐอย่างหนักหนาสาหัส รวมทั้งขับไล่ผู้คนออกจาก บ้าน ของตัวเอง ลงมากระจุกอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลทหาร

 

หากมีเพียงเรื่องเลวร้ายที่กล่าวมา อาจไม่มี ทุ่งร้างจำนวนมหาศาล และผู้คนก็อาจจะพอมีแรงดิ้นรนต่อสู้กับมรสุมเหล่านั้นได้

 

ในรายงานของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและบรรเทาทุกข์รัฐฉาน (SRDC/ Shan Relief and Development Committee) ที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ระบุว่า เรื่องเลวร้ายใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกครั้งพร้อมกับการเกิด รางรถไฟ ระยะทางเกือบ 5 กม.จากบ้านนาลินไปยังบ้านนาขาน ตำบลไม้ไฮ อำเภอเมืองนายในช่วงปลายปี 2537 ทางรถไฟสายนี้ใช้แรงงานทาสจากชาวบ้าน และมีการทำลายทุ่งนาสองข้างของทางรถไฟจำนวนมาก

 

นอกจากนั้นกองพันทหารราบที่ 248 ยังเวนคืนนาข้าวถึง 100 ไร่ซึ่งอยู่ใกล้กับค่ายทหาร รวมทั้งบังคับให้ชาวบ้านขุดสระน้ำลึก 15 ฟุตและกว้าง 100 ฟุตจำนวน 7-8 แห่ง เพื่อเอาไว้เลี้ยงปลาสำหรับทหารกินเอง ไม่มีการชดเชยให้กับชาวนาผู้สูญเสียที่ดินแต่อย่างใด

 

ขูดเลือด ขูดเนื้อ และแทะกระดูก

แม้จะเคยมีชีวิตอยู่แบบพอกิน แต่ชาวบ้านที่นี่ก็จำต้องทำความรู้จักกับข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นมาตรการบังคับของกระทรวงเกษตรและชลประทานที่ต้องการผลผลิตข้าวเพิ่ม เนื่องจากมีการยกเลิกการจัดสรรข้าวเปลือกจากรัฐบาลกลาง

 

กองพันทหารราบที่ 518 และ 248 ที่อยู่ในพื้นที่เริ่มบังคับให้ชาวนา 7 หมู่บ้านในเขตเมืองนาย ต้องปลูกข้าวนาปรังเพิ่มเติม ทำให้เกิดปัญหาการผลิตข้าวทั้งระบบล้มเหลว เพราะมีช่วงเวลาที่ซ้อนทับกัน ส่งผลให้ข้าวนาปีมีผลผลิตตกต่ำ และเกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำในชุมชนเพิ่มมากขึ้น เพราะแต่เดิมชาวบ้านจะปลูกข้าวกันตามฤดูกาลเพียงปีละ 1 ครั้ง แน่นอน ผลผลิตทั้งหมดตกเป็นของรัฐบาลทหาร

 

สำหรับกระบวนการนั้น ทางการจะเวนคืนที่ดินที่อุดมสมบูรณ์และใกล้แหล่งน้ำ รวมทั้งบังคับใช้แรงงงานชาวบ้านตลอดวงจรการผลิตข้าว โดยจะมีคำสั่งเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านทุกแห่งเพื่อให้ดำเนินการจัดคิวให้สมาชิก 1 คนของแต่ละครอบครัวหมุนเวียนกันมาทำนา ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ยกเว้นขั้นตอนการเตรียมที่นาที่จะใช้แรงงานชาย หากครอบครัวไหนไม่สามารถส่งแรงงานมาได้ ก็ต้องจ่ายเงิน 700 จ๊าต หรือไม่ก็ต้องหาคนอื่นมาทำแทนให้ได้ ไม่มีข้อยกเว้น

 

ไม่ใช่เพียงที่ดินและแรงงานที่ถูกขูดรีดไปต่อหน้าต่อตาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ชาวบ้านยังต้องจัดหาเครื่องมือการเกษตร เชื้อเพลงในขั้นตอนการเตรียมที่ดิน ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง รวมถึงต้องนำน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชนมาใช้เองด้วย สิ่งเดียวที่รัฐบาลกลางจัดหาให้คือ เมล็ดพันธุ์ผสม

 

ปี 2541 เป็นปีที่กองทัพพม่าออกคำสั่งยกเลิกการจัดสรรอาหารให้กับทหารราบ และบีบให้พวกเขาต้องหาเลี้ยงตัวเอง คำสั่งสั้นๆ นี้ทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวง นอกเหนือจากบังคับให้ทำนาปรัง ยังทำให้เกิดการเวนคืนที่ดินมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากปี 2543 เป็นต้นมา

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ กองพันทหารราบที่ 518 ได้เวนคืนที่ดินมากกว่า 25,000 ไร่ ในหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่รอบค่ายทหารและในเขตชุมชนของเมืองนาย โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด พื้นที่เหล่านี้มีทั้งที่สวนผลไม้ สวนผัก พื้นที่เพาะปลูกไม้เชื้อเพลิง และที่นาซึ่งไถคราดแต่ยังไม่ได้เพาะปลูก

 

การเวนคืนนี้เป็นไปเพื่อเปลี่ยนให้ เจ้าของที่ดินกลายเป็น ผู้เช่าชาวนาสามารถจะเลือกปลูกอะไรก็ได้ในที่ดินที่ เคย เป็นของตน แต่ต้องจ่ายค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก 3.5 ถังต่อปี นอกจากที่ดินแล้วทหารที่ลาดตระเวนผ่านมายังยึดเอาสัตว์เลี้ยงและพืชผลอื่น ๆ ไปโดยไม่มีการจ่ายเงินให้

 

สภาพการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบเลวร้ายยิ่งกว่าระบบการจัดซื้อข้าว เพราะนอกจากชาวนาจะไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการขายข้าวแล้ว พวกเขายังต้องจ่ายค่าเช่าเป็นข้าวอีกด้วย

 

นอกจากนี้ที่ดินอีก 5,000-7,500 ไร่ที่ปัจจุบันรกร้างนั้น มีสาเหตุเนื่องมาจากเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว รัฐบาลทหารได้เวนคืนที่ดินเหล่านี้ทางตอนเหนือของเมืองเพื่อดำเนินนโยบายที่พวกเขาเรียกว่า การปลูกป่า

ชาวบ้านถูกบังคับให้ปลูกไม้ยืนต้น ซึ่งปัจจุบันเหลือแต่ต้นไม้แคระแกร็น

 

ในช่วงเวลาเดียวกัน ยังมีการขายที่ดินซึ่งถูกเวนคืนอีก 2,500-3,800 ไร่ให้กับเจ้าของบริษัทผลิตสุราฉ่วยหลินหยง จากนั้นเจ้าของบริษัทได้ว่าจ้างชาวบ้านให้เป็นแรงงานทำงานให้ มีการเพาะปลูกพืชผักต่าง ๆ โดยเฉพาะถั่วเพื่อส่งออกไปยังเมืองจีน และเพิ่งเลิกไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมื่อตลาดไม่สดใสมากนัก ในปัจจุบันที่ดินเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งรกร้าง

 

มันเป็นสิ่งที่น่าตกใจอย่างมากกับตัวเลขจำนวนประชากร และหมู่บ้านที่ลดน้อยลง อีกทั้งมีไร่นาถูกละทิ้งนับหมื่นไร่เช่นนี้ ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่เมืองนายเท่านั้น ในพื้นที่ใกล้เคียง และอีกหลายพื้นที่ ในรัฐฉานภาคใต้ก็ประสบเช่นเดียวกัน นายแหลง หนึ่งในทีมสำรวจกล่าว

 

           

 

 

ใบอนุญาตเดินทางและมีชีวิต

สำหรับชาวนาที่ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม และยังยืนหยัดในอาชีพทำนา หากพวกเขามีที่ดินอยู่ไกลจากตัวเมือง พวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้พักค้างคืนในที่นาของตน ต้องเดินทางไปเช้าเย็นกลับ ไม่ว่าเส้นทางจะยาวไกลแค่ไหน

 

เส้นทางป่าเขาของพม่าบางทีอาจไม่ต่างจากถนนหลวงบ้านเรานักในบางแง่มุม เพราะชาวบ้านต้องจ่ายค่าสินบนเพื่อให้ได้รับอนุญาตเดินทางไปกลับได้ โดยจ่ายให้กับผู้ใหญ่บ้านบ้าง ตำรวจบ้าง กองพันทหารราบบ้าง หรือหากใครโชคดีก็อาจต้องจ่ายทั้งสามส่วน

 

น่าเศร้ากว่านั้น ค่าสินบนแค่ 100-200 จ๊าต ถือเป็นเงินน้อยเกินไป ชาวนาต้องให้พวกปลากระป๋อง เนื้อกระป๋องเพิ่มเติมแก่พวกเจ้าหน้าที่ด้วย นอกจากนี้ชาวนายังไม่ได้รับอนุญาตให้นำอาหารกลางวันติดตัวไปยังที่นาอีกต่างหาก ใครลักลอบและถูกจับได้ โทษจะมีตั้งแต่จ่ายค่าปรับ ถูกทุบตี หรืออาจเลวร้ายกว่านั้น

 

ไม่เพียงการเดินทางไปทำนาเท่านั้น แม้แต่การเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปเยี่ยมเยียนญาติมิตรอีกหมู่บ้านหนึ่งก็ต้องมีใบอนุญาตเช่นกัน เพราะหาไม่แล้วพวกเขาจะถูกจับกุมด้วยข้อสงสัยว่าเป็นขบถ ไม่ว่าบัตรประชาชนจะบ่งบอกชื่ออะไรก็ตาม

 

กระนั้นก็ดี มีใบอนุญาตก็ใช่ว่าจะได้ความปลอดภัยในชีวิต เพราะกองพันทหารราบและหน่วยลาดตระเวนนั้นมีการออกคำสั่งที่แตกต่างกัน หากเดินไปเจอหน่วยที่มีคำสั่งให้ยิงคนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ทันที ชาวนาก็ยังเสี่ยงต่อการถูกยิงตาย แม้ในมือจะกำใบอนุญาตที่ออกโดยกองพันฯ อีกแห่งหนึ่งไว้แน่นก็ตาม

 

เหตุผลเท่านี้ น่าจะเพียงพอแล้วที่ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ตัดใจทิ้งที่ดินเดิมอันอุดมสมบูรณ์ตามภูเขานอกเมืองให้รกร้าง

 

นาร้าง ตลาดร้าง

นอกจากนี้มาตรการจำกัดและควบคุมการเดินทางของประชาชนยังส่งผลกระทบต่อการค้าและตลาดด้วย โดยปรกติพ่อค้าจากลางเคอ (ตัวจังหวัด)จะเดินทางมาซื้อข้าวคุณภาพดีจากเขตเมืองนาย ในตลาดเกษตรกรรมที่เปิดทุกอาทิตย์ แต่ในปัจจุบัน พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกจากเมืองนายพร้อมกับนำข้าวหรืออาหารติดตัวไปด้วย โดยจะมีด่านตรวจบนถนนด้านใต้ของเมือง เส้นทางค้าขายกับเมืองต่างที่ผ่านเขตป่า ก็มีสภาพที่อันตรายมากเกินไปในปัจจุบัน

 

ลางเคอเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในการเพาะปลูกยาสูบและอ้อย แต่ไม่ได้ปลูกข้าวหรืองามากนัก ดังนั้น การจำกัดการค้าขายจึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในเขตเมืองนี้และเมืองใกล้เคียง อีกทั้งตลาดในเมืองนายเองก็ไม่มีของขาย

           

นี่คือชะตากรรมบางส่วนของหลายชีวิตที่อยู่ห่างจากเราเพียงหนึ่งชั่วโมงบิน แต่ไม่เป็นที่รับรู้ หรือแม้แต่รู้แล้วก็อาจไม่ใส่ใจ เพราะมุ่งมองแต่ผลกำไรมหาศาลที่เต้นรำอย่างยั่วยวนอยู่บนซากกองกระดูกของคนเหล่านั้น

 

ปัจจุบันคนปลูกข้าวที่นั่นต้องหาซื้อข้าวและอาหารกิน ในขณะที่ราคาอาหารและเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดมีข่าวว่า รัฐบาลทหารพม่าออกคำสั่งบังคับให้ประชาชนทั่วประเทศปลูกต้น สบู่ดำ กว่า 5 แสนไร่ โดยระบุเหตุผลว่าเพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนและลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ แต่พร้อมกันนั้นก็สอดรับกับการที่รัฐบาลไทยกำลังเพิ่มเติม สบู่ดำไปในโครงการทำคอนแทรค ฟาร์มิ่งกับเพื่อนบ้านทั้งหลาย

 

เราต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่ โดยมองว่าประเทศไทยทั้งประเทศเป็นโรงงาน ไม่ใช่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพราะแคบเกินไป หรือหากมองไกลกว่านั้น ก็ต้องมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นโรงงาน  หรือไกลไปอีกก็ต้องมองไปประเทศที่ไกลขึ้น

 

ตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษของ ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีไทยที่กล่าวเปิดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ (30 ต.ค.48)

 

......ตราบใดที่ไม่ได้ทำงานในโรงงาน ใครจะสนถ้าในนั้นเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม !

 





 โดย : ประชาไท
 วันที่ : 28/1/2549
 เข้าชม : 70
 แสดงความคิดเห็น : 0
คำสำคัญ (Tags): #contract farming
หมายเลขบันทึก: 185891เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2008 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 00:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท