การพัฒนาสมรรถนะตนเอง..สำหรับครู


ถ้าครูทุกคน ทำงานอย่างจริงจัง สอดคล้องกับรายการสมรรถนะที่สำคัญ ๆ ที่ กคศ.กำหนด ผลงานของครูจะยอดเยี่ยมแน่นอน และ ผลงานทางวิชาการ ก็จะเกิดขึ้นในกระบวนพัฒนาสมรรถนะ

       ในวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จะต้องไปบรรยายเรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะและการพัฒนางานทางวิชาการของครู” ในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรเพื่อการเลื่อนวิทยฐานะ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กทม. เขต 2 ณ โรงเรียนสารวิทยา  จึงขอนำเสนอเรื่อง การพัฒนาสมรรถนะของตนเอง สำหรับครูมานำเสนอไว้ ณ ที่นี้ เป็นเบื้องต้นก่อน เพื่อเพื่อนครูที่ผ่านมาทางช่องทางนี้ จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ระดับหนึ่งก่อน

ในการขอเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครู ครูจะถูกประเมิน 3 ด้าน คือ 1) ความเป็นคนดี....ประเมินวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ  2) ความเป็นคนเก่ง....ประเมินสมรรถนะที่สะท้อนถึงความเป็นเลิศในการปฏิบัติงาน   และ 3) ผลงานจากการปฏิบัติหน้าที่(เพียบ)(รายงานผลงานปกติในหน้าที่ และเสนอผลงานทางวิชาการ)

       เฉพาะในด้านที่ 2 คือ สมรรถนะในการปฏิบัติงาน ในระยะที่ผ่านมา ถ้าขอวิทยฐานะไม่สูงมากนัก เช่น ครู คศ.2-ชำนาญการ หรือ คศ.3-ชำนาญการพิเศษ  ครูจะถูกประเมินใน 7 สมรรถนะ คือ

        สมรรถนะหลัก

 

1. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ :  ความมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานในหน้าที่ให้มีคุณภาพ ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์  มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และมีการพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง 

2. การบริการที่ดี :  ความตั้งใจในการปรับปรุงระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ      

3. การพัฒนาตนเอง :  การศึกษา ค้นคว้า หาความรู้  ติดตามองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในวงวิชาการและวิชาชีพเพื่อพัฒนาตนเองและพัฒนางาน

4. การทำงานเป็นทีม :  การให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุน เสริมแรง ให้กำลังใจแก่เพื่อนร่วมงาน การปรับตัวเข้ากับบุคคลอื่น หรือแสดงบทบาทผู้นำ ผู้ตาม ได้อย่างเหมาะสม

 

สมรรถนะประจำสายงาน

 5. การออกแบบการเรียนรู้ : วิเคราะห์ปัญหาการเรียนการสอน แสวงหาวิธีสอนใหม่ ๆ วางแผนการสอน ใช้สื่อประกอบการสอน ปฏิบัติการสอนด้วยเทคนิคที่หลากหลาย และประเมินการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

6. การพัฒนาผู้เรียน : วิเคราะห์ศักยภาพผู้เรียนในความรับผิดชอบ พัฒนาเด็กให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งด้านสมอง จิตใจ อารมณ์ สังคม และร่างกาย

 

7. การบริหารจัดการชั้นเรียน  : บริหารจัดการชั้นเรียนอย่างเป็นระบบทั้งการจัดการสอนในรายวิชาและในบทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษา

 

ถ้าขอตำแหน่งที่สูงขึ้น คือ ครูเชี่ยวชาญ(คศ.4) หรือ เชี่ยวชาญพิเศษ(คศ.5) จะถูกประเมินเพิ่มอีก 1 รายการ คือ

 

8. การวิเคราะห์และสังเคราะห์ :  ความสามารถในการทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ แล้วแยกประเด็นเป็นส่วนย่อย ตามหลักการหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนด  สามารถรวบรวมสิ่งต่างๆ จัดทำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน  รวมทั้ง สามารถวิเคราะห์องค์กรหรืองานในภาพรวมและดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

 

       ในทางปฏิบัติ ครูจะต้องศึกษานิยามสมรรถนะต่าง ๆ ให้เข้าใจ จริง ๆ แล้ว ถ้าศึกษานิยามอย่างละเอียด พร้อมศึกษาเกณฑ์การให้คะแนนตามแบบประเมินที่ กคศ.กำหนด  ครูทุกคนจะรู้ทันทีว่าเราควรจะพัฒนาตนเองอย่างไร จึงจะสะท้อนว่า “เรามีสมรรถนะแบบเปี่ยมล้น”

 

       ผมเอง ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า ถ้าครูทุกคน ทำงานอย่างจริงจัง สอดคล้องกับรายการสมรรถนะที่สำคัญ ๆ ดังกล่าวข้างต้น ผลงานของครูจะยอดเยี่ยมแน่นอน และ ผลงานทางวิชาการ ก็จะเกิดขึ้นในกระบวนการยกระดับสมรรถนะ เหล่านี้

 

หมายเลขบันทึก: 185842เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2008 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (35)
  • ดีจังเลย
  • ตอนนี้มีคุณครูมาปรึกษามาก
  • จะแนะนำให้มาอ่านที่บันทึกอาจารย์นะครับ
  • ขอบคุณครับ
  • ขอบคุณครับ อ.ขจิต
  • เหล่านี้เป็นรายการที่ กคศ.กำหนดเป็นมาตรฐานสมรรถนะตามปกตินะครับ
  • ปัญหา คือ บางทีเราไม่ได้อ่านอย่างจริงจัง อย่างพินิจพิเคราะห์ และที่สำคัญ คือ
  • เราไม่ได้ "ติดไว้ที่ข้างกระจก ในห้องนอนของตัวเอง" แค่ติดไว้และอ่านทุกวัน สมรรถนะก็เปลี่ยนแล้ว

ขอบคุณค่ะ ได้รับการบอกจากอ.ขจิตค่ะ

กำลังขอประเมินค.ศ.2ค่ะ

ทำตามสมรรถนะ ไม่ยาก แต่บันทึกเขียนเป้นรูปร่าง ยากค่ะ สวมหมวกเกิน3ใบ3หน้าที่ 1วันก็หมดเร็วแล้วค่ะ

กำลังจัดสรรเวลาเมื่อไรเร่งเมื่อนั้นสติกระเจิงค่ะ

จะลองจัดระเบียบตัวเองนะคะ

สวัสดีครับ อ.กุลธิดา

  • คงต้องจัดสรรเวลาเพื่อตัวเองบ้างนะครับ
  • สิ่งเดียวในโลกนี้ที่ทุกคนได้รับความยุติธรรม คือ "ได้รับเวลามาคนละ 24 ชั่วโมง/วัน แบบเท่าเทียมกัน"
  • ผมต้องทำหน้าที่หลายอย่างเช่นเดียวกับอาจารย์ แต่ตั้งเป้าว่า ใน 1 ปี จะทำวิจัยปีละอย่างน้อย 3 เรื่อง  ตำรา 2 เล่ม บทความ 4 บทความ  ลูกศิษย์ที่ดูแลวิทยานิพนธ์ ต้องจบภายใน 3 ปี ร้อยละ 80   เมื่อตั้งเป้าเช่นนี้ มีทางเลือกเดียวครับ "คือนอนน้อยลง ไม่เกิน 6 ชั่วโมง/คืน"
  • ผมเชื่อว่า "การทำงานหนักเท่านั้น จึงจะสร้างตัวเองได้"
  • ขอให้อาจารย์มีกำลังใจที่ดีนะครับ

สวัสดีครับอ.ดร.สุพักตร์

  • ครูสุกำลังจะขอทำคศ.2 พอดีครับ
  • ต้องขอบพระคุณอาจารย์มากครับ
  • อาจารย์ครับ จะทำอย่างไรครับเพื่อแสดงให้กรรมการหรือที่มาประเมินได้เห็นว่า เราได้ทำตามสมรรถนะนั้นแล้ว จะจัดทำเป็นแฟ้มดีหรือไม่ครับ

 

โรงเรียนอุตรดิตถ์แวะมาศึกษาด้วยครับ

จากครั้งก่อนผมได้เข้ามาสนทนากับท่านดร.เกี่ยวกับการเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม(นอกหลักสูตร) และได้นำแนวทางที่ท่านแนะนำมาใช้ที่โรงเรียนครับ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักในความเป็นเจ้าของโรงเรียนร่วมของผู้ปกครอง ได้ประชุมผู้ปกครองแยกเป็นระดับทุกวันหยุดราชการ ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้ปกครองให้เข้มแข็ง

การทำผลงานในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นคศ.3 คศ.4 ผ่านยาก(มากๆ)ไม่เหมือนที่ผ่านๆมา ที่อุตรดิตถ์ส่งคศ.4 เกือบร้อยคนผลตกเรียบ ไม่มีให้ปรับปรุงสักรายครับ

  ปลายเดือนนี้ผมก็ได้รับเชิญไปบรรยายเรื่องนี้เหมือนกัน ก็ได้ข้อคิดกับ ดร.สุพักตร์หลายอย่าง ขอบคุณครับ
   ตอนนี้ ก.ค.ศ.ยังอิงสมรรถนะของ ก.พ.อยู่คือสมรรถนะหลัก และสมรรถนะประจำสายงาน แต่ของครูเราน่าจะต้องมีสมรรถนะเฉพาะด้วย เช่น ครูวิทยาศาสตร์กับครูภาษาไทย และครูปฐมวัย น่าจะมีสมรรถนะเฉพาะที่แตกต่างกัน
    ก.ค.ศ.เคยทำเรื่องนี้ประชุมกันหลายครั้ง ผมก็ได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้ ทำกันเสร็จแล้วก็หายเงียบไปไม่ได้มีการประกาศใช้ และในหลักเกณฑ์วิธีประเมินใหม่ที่จะใช้ใน 1 ต.ค 51 ก็ไม่ได้พูดถึงเรี่องสมรรถนะตรงๆ แต่แฝงไว้ในด้านคุณภาพการสอนและการดูแลผู้เรียน

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ครูอ้อย มาอ่าน และรับความรู้ไปเต็มร้อยแล้วค่ะ
  • เหลือแต่จะปฏิบัติได้ ครบทุกข้อ แบบเต็มร้อย หรือเปล่าเท่านั้นค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ ครูอ้อยขอบคุณแทนเพื่อนครูทุกท่านด้วยค่ะ  ที่อาจารย์นำความรู้มาให้ถึงบ้าน

เรียน ครูสุ

  • ดีใจครับ ที่เตรียมการจะทำ ให้เตรียมให้พร้อมก่อนวันที่คุณสมบัติจะครบถ้วน นะครับ อย่ารอช้า  เป็นสิทธิ์ของเรา
  • การประเมิน คศ.2 โดยทั่วไป ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด ให้บรรยายผลงานในหน้าที่ รวมประมาณ 5 หน้า  คือ 1)งานจัดการเรียนรู้  2)การพัฒนาวิชาการ และ 3)ผลที่เกิดกับผู้เรียน  อาจนำเสนอผลที่เกิดกับครู-อาจารย์และสถานศึกษาด้วยก็ได้
  • อาจจัดทำเป็น แฟ้มสะสมงาน ที่สะท้อนถึงสมรรถนะทั้ง 7 ประการ(ดูในคู่มือประเมินสมรรถนะ นะครับ  เขาจะบอกว่า "กรรมการจะดูจากหลักฐานอะไรบ้าง")  และหลักฐานที่สะท้อนถึงผลงานทั้ง 3 ประเด็น ดังกล่าวข้างต้น
  • ไม่ต้องเตรียมมากมายอะไรหรอกครับ แต่ให้จัดทำรายงาน 3-5 หน้า ไว้ให้พร้อม วันใดที่เงินเดือน หรือคุณสมบัติครบถ้วน เราจะได้ส่งทันที(จะได้เบิกค่าตอบแทนวิทยฐานะได้อย่างรวดเร็ว)

เรียน อ.โต

  • ขอบคุณครับ ที่ติดตามและเข้ามาแลกเปลี่ยน
  • ที่บอกว่ายาก ตกเรียบ  อยากให้ศึกษาข้อบกพร่องนะครับ บางทีในจังหวัดเดียวกัน  คนแนะนำกลุ่มเดียวกัน  ทำคล้าย ๆ กัน อาจมีจุดอ่อนคล้าย ๆ กัน ครับ  หรือบางทีเราทำตามแบบที่เคยทำ ๆ กันมา ไม่ค่อยมีอะไรโดยเด่น หรือพัฒนาอย่างชัดเจน  ก็อาจมีปัญหาได้

 

อ.ธเนศ ครับ

  • ในกรณีที่จะกำหนดสมรรถนะเฉพาะสำหรับแต่ละวิชาเอก  พอนั่งถกกันทีไร มักจะมีปัญหาที่ถกเถียงกัน คือ 1) สมรรถนะหลัก ๆ ก็ยังผลักดันให้เกิดได้ยาก หรือยังไม่ค่อยมีโอกาสได้ผลักดันอย่างเต็มที่ ดังนั้น พอมีคนพูดถึงสมรรถนะเฉพาะ  ประเด็นนี้ก็เลยตกไปทุกทีเลย  2) มีการถกเถียงกันว่า ในการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครูทุกวิชาเอก น่าจะใช้ไม้บรรทัดอันเดียวกัน เพื่อให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน(อาจจะแตกต่างกันบ้าง ก็ในเรื่อง  การออกแบบการเรียนรู้  และการบริหารจัดการชั้นเรียน ซึ่งมีรายละเอียดต่างกัน ในแต่ละวิชาเอก) และ 3) สมรรถนะเฉพาะของแต่ละวิชาเอก น่าจะต้องผลักดันโดยผ่านชมรม หรือสมาคมครูภาษาไทย  วิทยาศาสตร์ ฯลฯ เพื่อเป็นการยกระดับวิชาชีพของแต่ละกลุ่มเหล่านั้น มากกว่า ที่จะนำมาใช้ประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ

 

ขอบคุณค่ะอาจารย์

การอบรมวันนี้ได้สาระประโยชน์มาก

และช่วยจุดประกายให้มีความมุ่งมั่นในการทำงาน

สวัสดีค่ะอาจารย์

วันนี้นั่งฟังอาจารย์บรรยายอยู่ด้วย

ที่โรงเรียนสารวิทยา

ชอบพระคุณอย่างยิ่งค่ะที่ทำให้

อะไรๆดูง่ายไปหมด และที่สำคัญ

ทำให้ดิฉันมีกำลังใจที่จะทำงานให้สำเร็จมากยิ่งขึ้น

เดิมเคยคิดว่าค.ศ.4 คงยากแต่อาจารย์พูดดูเหมือนง่ายจัง

แล้วจะรวมกลุ่มกันเหมือนที่อาจารย์แนะนำนะคะ

วันหน้าคงต้องขอรบกวนอาจารย์อย่างแน่นอนค่ะ

ครูอ้อย ครับ

  • ขอบคุณมาก ๆ นะครับ ในวันนี้ (4 มิ.ย.51) ที่ช่วยชี้แนะแก่สมาชิกผู้เข้าร่วมสัมมนา  ผมคิดว่าครูคงได้ประโยชน์มากทีเดียว  จะอย่างไร คอยติดตามผลนะครับ
  • ถ้ามีอาจารย์ท่านใด สนใจจริง ๆ ลองช่วยให้สมัครและเข้าระบบในช่วง 5-6 มิ.ย. ก็น่าจะดีนะครับ
  • ผมคงจะรบกวนอาจารย์ให้ช่วยอีกหลายรายการ ในโอกาสต่อไป  และฝากความเคารพไปยัง ผอ.สมาน ด้วยนะครับ "ชื่นชมท่านจริง ๆ ที่ส่งเสริมครูให้มีการพัฒนาในเรื่อง ICT อย่างกว้างขวาง"

เรียน ครุแวว และ อ.preeda

  • ยินดีต้อนรับสมาชิกใหม่นะครับ
  • ขอบคุณมากครับ ที่เสริมแรง/ให้กำลังใจ
  • ลองรวมกลุ่มกัน แล้วทำอย่างต่อเนื่องนะครับ
  • ทำแบบสะสม ไปเรื่อย ๆ ไม่น่าจะยากครับ

ขอบพระคุณค่ะ..ท่านอาจารย์สุพักตร์ ที่สร้างความชัดเจนในการพัฒนาสมรรถนะตนเองสำหรับครูเพิ่มขึ้น  สำหรับตนเอง

  • รวมตัวกับพี่ที่กลุ่มสาระอีก 4 คนทำอะไรก็วางแผนไปพร้อมๆกัน ปัญหาหลักคือเรื่องเวลา...ซึ่งเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ค่ะว่า 24 ชั่วโมงเป็นสิ่งที่ทุกคนมีเท่ากัน ต้องพยายามบริหารให้ลงตัว
  • ครูวิทยาศาสตร์จะมีปัญหาเรื่องการเขียนค่ะ...จะเขียนกันสั้นๆ ตามสไตล์ครูวิทยาศาสตร์ 
  • ตนเองก็ช่วยพี่ๆ ในแง่การสืบค้นข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ตนเองถนัด 

 

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.สุพักตร์

  • ผมสมัครเป็นสมาชิกใหม่ และก็เป็นครูอีกคนหนึ่งที่นั่งฟังอาจารย์บรรยาย เรื่อง สมรรถนะการปฏิบัติงาน ซึ่งเริ่มมองเห็นภาพในการที่จะทำวิทยฐานะมากขึ้น อย่างไรผมก็ขอเป็นศิษย์อาจารย์ ดร. สักคนนะครับ
  • วันนี้ผมฟังอาจารย์บรรยายที่ ร.ร.สารวิทยา มีอยู่คำพูดหนึ่งที่ท่านบรรยาย ทำให้ผมนึกในใจว่าเหมือนเคยพบท่านและฟังท่านบรรยายที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ที่เกี่ยวกับเรื่องการอ่านหนังสือที่อาจารย์สัญญากับตนเอง พอตกเย็น เจอครูพลศึกษา ชวนเสวนา อีกวันเจอครูเกษตร ก็ชวนพูดคุย (สาดเหล้าเข้าสู่ลำคอนะ) เพราะรู้สึกว่าผมเคยได้ยินมาจากที่ไหนครั้งหนึ่งแล้ว น่าจะเป็นที่ จังหวัดปราจีนบุรี นะครับอาจารย์ (ผมย้ายสับเปลี่ยนมา)
  • ผมขอถามอาจารย์สักข้อนะครับ คือผมโดยวุฒิปริญญาตรี จบเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป แต่พอย้ายสับเปลี่ยนผมมาอยู่กับ กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา เวลาผมทำวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ผมทำผลงานในกลุ่มสาระฯสุขศึกษาได้หรือเปล่าครับ.....ตรงนี้ผมไม่มั่นใจ ปีที่แล้วผมเลยขอทางกลุ่มสาระฯวิทยาศาสตร์สอน 1 ภาคเรียน ตรงนี้ผมก็อยากทำในกลุ่มาสาระฯสุขศึกษาและพลศึกษา นะครับ

คุณ Noktalay

  • เจียดเวลา แล้วทำแบบสะสมนะครับ จะประสบความสำเร็จได้
  • ปัจจุบัน IT น่าจะช่วยเราได้มาก จะทำให้งานต่าง ๆง่ายขึ้น สะดวกในการอัฟเดท ข้อมูลประวัติ ผลงาน หรือการแก้งาน

เรียน ครูสิงห์

  • ถ้ายังสอนวิทยาศาสตร์ ร่วมกับสุขศึกษา น่าจะทำผลงานที่วิชาวิทยาศาสตร์
  • ถ้าเปลี่ยนมาสอนสุขศึกษาเต็มรูปแล้ว อาจเปิดชมรมด้านวิทยาศาสตร์ (หากสนใจจะขอในสาขาวิทยาศาสตร์) เพื่อพัฒนาเป็นผลงานทางวิชาการต่อไป
  • ถ้าต้องการทำผลงานที่กลุ่มสาระสุขศึกษาหรือพลศึกษา อาจเน้นตั้งชมรม เวชศาสตร์การกีฬา หรือทำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เวชศาสตร์เพื่อการกีฬา เป็นต้น

ขอขอบคุณอาจารย์ ดร.สุพักตร์ ครับ

  • จากที่อาจารย์ได้ชี้แนะ  ผมได้สอนพลศึกษา (กอล์ฟ) กับสุขศึกษา เป็นสาระฯ พื้นฐานจำนวน 2 ชม.ต่อสัปดาห์ในระดับชั้น ม.6 อยู่แล้ว และเปิดชุมนุมกอล์ฟ มีนักเรียนเรียน 10 กว่าคนครับ
  • ผมเอากิจกรรมชุมนุมกอล์ฟมาทำเป็นชุดการสอน อาจารย์ว่าน่าจะดีหรือเปล่าครับ เพราะกอล์ฟนั้นผมก็มีความชอบและก็สามารถถ่ายทอดให้นักเรียนได้โดยตรง
  • ส่วนชมรม เวชศาสตร์การกีฬา หรือทำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เวชศาสตร์เพื่อการกีฬา ที่อาจารย์แนะนำ ผมก็ว่าน่าสนใจนะครับ แต่กอล์ฟนั้นค่อนข้างใกล้ตัวผมมากครับ

เรียน ครูสิงห์

  • ครูทุกคน มีสิทธิ์ขอ สาขา "กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน"
  • ถ้าอาจารย์เสนอ "กิจกรรมชุมนุมกอล์ฟ" น่าจะเข้าทาง กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน หรือพลศึกษา ก็ได้
  • จะอย่างไรก็ตาม ถ้าขอทางพลศึกษา เนื่องจากมีประสบการณ์การสอนในกลุ่มนี้ ไม่นานนัก  จะต้องทำผลงานให้โดดเด่นหน่อย(หมายรวมถึง ตอนทำแผนการสอน หรือจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อการประเมินองค์ประกอบที่ 2 ด้วย)

ขอขอบคุณ....ท่านอาจารย์ ดร.มากนะครับ ที่ชี้แนะ

  • วันนี้หลังจากเลิกอบรมที่ ร.ร.สารวิทยา จากนั้นผมก็กลับมาที่ โรงเรียนในตอนเย็น พอดีได้พบกับท่านผู้อำนวย....ท่านจึงถามไถ่...เป็นอย่างไรบ้างอบรม..วิทยฐานะ...วิทยากรมีใครบ้าง.....ผมก็เรียนไปว่า อาจารย์ ดร.สุพักตร์ พิบูลย์....
  • ท่านผู้อำนวยการเลยบอกว่า....โรงเรียนเราเคยเชิญท่านมาให้ความรู้นะ.....
  • ผมเลยถึง บางอ้อเลยครับ อาจารย์ ดร.คงจะพอจำโรงเรียนที่อยู่กลางทุ่งนาได้นะครับ....เขต คลองสามวา  โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เบญจมราชาลัย ผู้บริหาร ผอ.เฉลิมชัย จันทรมิตรี...ถึงว่าผมคุ้นๆๆๆหน้าท่านอาจารย์อยู่
  • ถ้าผมสงสัยอะไรคงต้องรบกวน อาจารย์ ดร. อีกนะครับ
  • ผมฝากความระลึกถึง ไปยังท่านผู้อำนวยการด้วยนะครับ ผมจำได้ดีครับ

 

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.สุพักตร์

ตอนนี้ผมตัดสินใจที่จะทำผลงานทางวิชาการ สมรรถภาพทางกายของนักเรียน ม.6 ครับ

ผมขอคำปรึกษา ครับ

ณ ปัจุจุบันผมใช้กระบวนการทดสอบสมรรถภาพทางกายกับนักเรียน ภาคเรียนละ 2 ครั้ง คือ สัปดาห์ที่ 2ของภาคเรียน และ 2 สัปดาห์ก่อนสิ้นภาคเรียน โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานอายุของ กกท. จำนวน 8 รายการ ซึ่งทดสอบมาโดยตลอด

ผลการทดสอบ ซึ่งนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ มาตฐาน ผมก็ใช้ผลการทดสอบเต็ม(คะแนน)

ส่วนนักเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ผมก็ให้นักเรียนทราบผลและทำบันทึกการดูและสุขภาพตนเอง และรายงานผล( วึ่งนักเรียนก็มีแนวโน้มสมรรถภาพดีขึ้น ) คะแนนที่ได้ก็ดีขึ้นด้วย ส่งผลถึงผลการเรียน

อีกทางหนึ่งผม...ได้ใช้โปรแกรมของ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการทดสอบ 4 รายการ และค่อนข้างละเอียดเรื่องข้อมูลของเร่างกาย

จึงขอถามอาจารย์ ดร.ว่า

วิจัยนี้ผมก็ให้นักเรียนทดสอบในครั้งที่ 1 และนำมาประมวลผลนั้น ( จะใช้ของหน่วยงานไหนดี)เมื่อผลออกมา ถ้านักเรียนผ่านเกณฑ์ที่กำหนด (ให้คะแนนเต็ม )ส่วน น.ร.ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ผมจะให้เขารักในการออกกำลังกาย ( โดยการวิ่งเก็บรอบ วันละ 1-2 รอบ แล้วแต่นักเรียน ให้ครบจำนวน 100 รอบ ) จากนั้นให้นักเรียนมาทดสอบสมรรถภาพอีกครั้ง ก่อนสอบปลายภาค ( ถ้าผลออกมาสมรรถภาพ ดีขึ้น ) การทำวิจัยอย่างนี้ได้หรือเปล่าครับ

  • การศึกษาสมรรถนะของนักเรียน จะใช้เกณฑ์ของหน่วยงานใดก็คงไม่สำคัญครับ
  • สำคัญที่ "ชุดกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะทางกาย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6" ชุดกิจกรรมจะต้องชัดเจน สร้างสรรค์ นาสนใจ

อาจารย์ครับ โรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กไม่ถึง 100 คน มีครูไม่ครบชั้น ผู้บริหารทำผลงานขอเลื่อนวิทยฐานะเป้นผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ (คศ.4)มีโอกาสผ่ายไหม เพราะที่ผ่านมาเห้นผ่านเฉพาะโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนเยอะครับ ขอบคุณมากครับ

  • การตัดสินให้เป็นผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ ดูที่คุณภาพครับ ไม่ได้ดูทีปริมาณ ถ้าคุณภาพดีจริง ก็มีสิทธิ์ครับ
เนาวรัตน์ ตั้งยะฤทธิ์

เราจะยกระดับสมรรถนะของครู ให้มีวิทยฐานะเพิ่มขึ้น มีวิธีการอย่างไรบ้างคะ

  • ครูทุกคนต้องศึกษารายการสมรรถนะ และเกณฑ์การประเมินให้เข้าใจ แล้วพยายามฝึกตนเอง
  • ในการประเมินความดีความชอบในรอบปี โรงเรียนควรให้ความสำคัญกับ การประเมินสมรรถนะตามเกณฑ์ที่กำหนด
  • สำหรับผู้ที่ได้รับการเลื่อนวิทยฐานะแล้ว ก้ควรถูกประเมินสมรรถนะ ทุก ๆ 3 ปี

เรียน ดร.สุพักตร์

กรรมการผู้อ่านผลงานวิชาการต่างคนก็ต่างความเห็น ไม่มีมาตรฐานอันเดียวกัน

เลยไม่รู้ว่าจะเอามาตรฐานมาจากไหน

  • ทำผลงานให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ กรรมการอาจจะมีความเป็น "อัตนัย" อยู่บ้าง แต่ผมคิดว่า ในภาพรวมน่าจะโอ เค นะครับ(ถ้าผลงานเราชัดเจน)

สวัสดีครับท่า่น อาจารย์ที่เคารพอย่างสูง ฉบับที่สองครับเพิ่งหัดเล่น ลูก ป3 สอน ประทับใจคำว่า "จะพํฒนาอะไรก็แล้วแต่ต้องพัฒนาที่ คน ก่อน" ืแก้แล้วอ่านจำไม่ค่อยได้ จะพัฒนาตัวเองเพื่อลูกศิษย์ให้สมกับที่ฃื่อว่าครู อายุ54ปี ยังส้ครับ

เรียน ดร.สุพักตร์ พิบูลย์

ดิฉันเพิ่งเข้ามาเจอ..ชอบเว็บของ ดร.มาก เห็น ดร.ตอบคำถามแล้วรู้สึกดีค่ะ ดิฉันอยากสอบถามความคิดเห็นของ ดร.ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการใช้สมรรถนะหลักและสมรรถนะประจำสายงานในการประเมินวิทยฐานะครู ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

-คงจะเป็นหลักทั่วไป สมรรถนะจำนวนหนึ่งเป็นสมรรถนะทั่วไป หรือสมรรถนะร่วมของข้าราชการ ในขณะที่กรณีที่เป็นวิชาชีพชั้นสูงก็น่าจะมีสมรรถนะเฉพาะของวิชาชีพนั้น ๆ หรือถ้าเลื่อนวิทยฐานะสูงขึ้นก็น่าจะต้องมีการกำหนดสมมรถนะเพิ่มเติม ทั้งนี้เพราะในวิทยฐานะระดับสูงขึ้น อาจมีการกำหนดบทบาทหน้าที่เพิ่มมากขึ้น เช่น จากครูชำนาญการพิเศษ ขึ้นสู่เชี่ยวชาญ ก็ควรมีความสามารถเชิงวิชาการเพิ่มมากขึ้น เช่น มีความสามารถในการพัฒนาศักยภาพของเพื่อนร่วมงาน สามารถทำงานในระบบเครือข่าย สามารถบริหารจัดการชุดโครงการวิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่มากขึ้น เป็นต้น

-โดยสรุป ผมเห็นด้วยนะครับ

นายวัชระ จันทรัตน์

เรียน รศ.ดร. สุพักตร์ พิบูลย์

อาจารย์เป็นอย่างไรบ้างครับ สบายดีหรือไม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท