หมอบ้านนอกไปนอก(67): โรงเรียนของหนู


การเรียนรู้ที่มีประสิทธิผลต้องทำให้ผู้เรียนมีความสุข สนุกกับการเรียน ความสุขที่เกิดขึ้นจะไปกระตุ้นความคิดจินตนาการของผู้เรียนได้ดี ครูจึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ เป็นเหมือนคุณอำนวย ในการจัดการความรู้

 เข้าสู่สัปดาห์ที่ 35 อากาศร้อนขึ้นราว 20-25 องศาเซลเซียส ร้อนจนไม่ต้องใส่ลองจอนและเสื้อกันหนาวแล้ว แสงแดดแผดจ้าทุกวัน ผู้คนพากันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้นเริงร่ารับลมร้อนและแสงแดดกันเต็มไปหมด เสียงคนเดิน เสียงคนดังโหวกเหวกมากตามถนนหนทาง ดึกดื่นค่อนคืนยังมีคนเดินไปมาอยู่เสียงรถดังขึ้น พร้อมๆกับการมาทักทายรบกวนของเจ้ายุงในตอนกลางคืนและเจ้าแมลงวันในตอนกลางวัน เพิ่งมาถูกยุงกัดก็ช่วงนี้แหละ รู้สึกได้เลยว่าอากาศหนาวก็ดีเหมือนกัน ยุโรปไม่ค่อยร้อน ค่อนไปทางหนาว โรคเมืองร้อนที่มาจากพวกแมลงเช่น ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบเลยน้อยตามไปด้วย

การอยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัวเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขความสบายใจ แต่การให้เด็กๆอยู่บ้านเฉยๆทั้งวันตลอดเป็นสิ่งที่ยากเย็นสำหรับเด็กๆ ต้องคอยหาที่วิ่งเล่นเพื่อให้ได้ใช้พลังงานส่วนเกินให้มากเพื่อจะได้หลับง่ายในตอนกลางคืนที่กว่าจะมืดก็ปาเข้าไปสามสี่ทุ่ม การหาที่ให้เด็กๆได้มีกิจกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ตอนแรกคุยกับเฮลดีไว้ว่าจะให้เขาเข้าไปเรียนในโรงเรียนรัฐบาลของแอนท์เวิปที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง แต่เรียนเป็นภาษาดัชท์ ปรากฏว่าพอมาเข้าจริงกลับเลยช่วงเปิดเทอมสอง (เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน) โรงเรียนเขาจะไม่รับเพราะเขาจะไมได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลและอีกอย่าง ผมกับภรรยาและลูกๆก็พูดดัชท์ไม่ได้ด้วย

ผมเลยติดต่อกับโรงเรียนนานาชาติที่เคยติดต่อไว้นานแล้วคือโรงเรียนนานาชาติดาร์วินชี่ (Da Vinci International School) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านนักเดินแค่สองช่วงตึกก็ถึงแล้ว ผมติดต่อกับครูใหญ่ผู้หญิงชื่อคุณซูเตอร์ (Ms Ilse De Souter) ผ่านทางอีเมล์แล้วก็นัดไปขอพบเพื่อพูดคุยในรายละเอียดกัน พื้นที่ของโรงเรียนไม่กว้างขวางนัก แต่จัดส่วนต่างๆไว้ได้อย่างเหมาะสมลงตัว มีบอร์ดแสดงรายชื่อและรูปครูทุกคนในโรงเรียนและบอร์ดแสดงรูปและรายชื่อของนักเรียนทุกคนประกอบกับแผนที่โลกเพื่อชี้ว่าเด็กแต่ละคนมาจากที่ไหนบ้าง ครูใหญ่พาไปเดินดูชั้นเรียนของเด็กๆที่ลูกๆจะต้องเข้าไปเรียนทั้งสามระดับชั้น บรรยากาศดึงดูดใจให้น่าไปเรียนมาก ปิดท้ายด้วยการคุยกันถึงอัตราค่าเล่าเรียนที่ทำให้เราสามีภรรยาต้องคิดหนักเลย ครูใหญ่บอกว่านี่เป็นราคาพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีลูกเข้าเรียนสามคนในเวลาสามและสองเดือน

โอกาสของลูกกับรายจ่ายของพ่อแม่ เป็นสิ่งที่ต้องคิดหนักเหมือนกัน ถ้าให้ลูกเข้าเรียนก็ต้องจ่ายเงินจำนวนมากและทำให้ความเป็นอยู่ในเบลเยียมต้องประหยัดมากขึ้น เพื่อนๆหลายคนให้ความเห็นว่าช่วงเวลาสั้นๆไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอก ภาษาอังกฤษเดี๋ยวเด็กๆก็ลืมเพราะไม่ได้ใช้ เสียเงินเปล่าๆ ส่วนลูกๆเองก็ก้ำๆกึ่งอยากเรียนไม่อยากเรียน แคนบอกว่าอยู่บ้านอ่านหนังสือเองได้ไหม ไม่อยากไปโรงเรียน กลัวฟังไม่รู้เรื่อง ขิมบอกว่าอยากไปเรียนดูท่าทางน่าสนุก ส่วนขลุ่ยไม่ยอมออกความเห็นค่อนข้างจะฟังพี่สาว เด็กทั้งสามคนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แคนเพิ่งเรียนภาษาอังกฤษ (ชั้นปอห้า) แต่ก็ยังไม่ค่อยรู้อะไร

ผมกับภรรยาก็ไม่อยากบังคับลูก กลัวลูกเครียด กลัวจะเสียเงินเปล่าแล้วลูกไม่ยอมไปโรงเรียน แต่ให้อยู่บ้านลูกก็จะดูแต่การ์ตูนกับเล่นอินเตอร์เน็ต แล้วเวลาพ่อไปเรียน แม่ไปอบรมก็จะลำบากอีก อีกทั้งตอนกลับไปเรียนที่เมืองไทยก็เกรงว่าเวลาเรียนจะไม่ครบ สุดท้ายเราก็ตัดสินใจให้ลูกไปเรียนแล้วก็ค่อยๆโน้มน้าวลูกให้สนใจไปโรงเรียนนี้ พูดให้เขาเห็นถึงแประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ความน่าสนใจของระบบการเรียน และบอกเขาว่าไม่ต้องกังวลเรื่องสอบ ถือว่าไปหาเพื่อนใหม่ รู้จักเพื่อนใหม่ก็พอ ในที่สุดลูกๆก็ตกลงใจไปโรงเรียน ก็พาเขาไปหาครูใหญ่อีกครั้งเพื่อดำเนินการเรื่องใบสมัคร คราวนี้ครูใหญ่พาเด็กๆเข้าไปพบครูประจำชั้นและเพื่อนๆในชั้นเรียน พอได้เห็นสภาพในโรงเรียน เด็กๆก็เกิดความกระตือรือร้นที่จะไปโรงเรียนมากขึ้น แต่วันที่ 1-2 พฤษภาคม เป็นวันหยุดสาธารณะ (public holiday) จึงยังไม่ได้ไปโรงเรียน

ค่าลงทะเบียนต้องจ่ายเป็นเงินสด ไม่สามารถใช้บัตรเครดิตได้ โชคดีที่ช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาผมใช้จ่ายอย่างประหยัดทำให้เก็บเงินไว้ได้มากเพียงพอสำหรับค่าเรียนลูก แต่ก็ทำให้เงินที่เตรียมไว้ใช้จ่ายในช่วงที่อยู่เบลเยียมก็หวุดหวิดเหมือนกัน ดีที่ทำบัตรเครดิตมาด้วย โดยปกติแล้วค่าลงทะเบียนเรียน (School free) ในชั้นอนุบาลสอง (Kindergarten 2) อยู่ที่ 6,500 ยูโร อนุบาลสาม 8,000 ยูโร และชั้นปอห้า 10,000 ยูโร ของเราเข้าเรียนเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน อยู่ที่ 1,950 ยูโร, 2,400 ยูโรและ 3,000 ยูโร ตามลำดับ โดยของขิมลด 30 % (1,920) และของขลุ่ยลด 20 % (1,920) ส่วนแคนจ่ายเต็ม รวมแล้ว 6,285 ยูโร มีค่าชุดพละอีกคนละ 30 ยูโรและชุดนักเรียนของพี่แคนอีก 138 ยูโร ถ้าจ่ายเงินช้ากว่ากำหนดจะถูกปรับเดือนละ 25 ยูโร

จากโรงเรียนบ้านนอกในอำเภอบ้านตากสู่โรงเรียนนานาชาติที่เมืองนอกของลูกๆ เปลี่ยนแปลงเยอะมาก ปกติแล้วผมกับภรรยาไม่ได้คิดว่าจะส่งลูกเข้าโรงเรียนดังๆ อยากให้เขาเรียนใกล้ๆบ้านมากกว่า เรียนที่โรงเรียนอนุบาลรอดบำรุง เสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก เด็กใช้เวลาเดินทางน้อยมาก พ่อแม่ไปรับไปส่งได้ง่าย ขณะที่มาที่เบลเยียมนี่เสียเงินเยอะมาก แต่เราก็ไม่มีทางเลือก พอสมัครไปแล้วเราก็กลัวลูกจะเครียด แต่เขากลับไม่เครียด ในขณะที่พ่อแม่กลับเครียดและตื่นเต้นมากกว่าลูก

ผมนึกไปถึงเมื่อยี่สิบเอ็ดปีก่อน ตอนที่ผมสอบเข้าเรียนแพทย์เชียงใหม่ได้ พ่อแม่ก็ดีใจมากที่ลูกจะได้เรียนหมอแต่ในขณะเดียวกันผมก็สังเกตได้ถึงแววตาแห่งความวิตกกังวลของพ่อกับแม่ที่จะต้องหาเงินส่งให้ผมเรียน ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อยเลยสำหรับชาวไร่จนๆคู่หนึ่งที่ต้องเช่าที่เขาทำ พ่อบอกผมว่าตั้งใจเรียนเถอะลูก พ่อจะยอมเหน็ดเหนื่อยทุกวิถีทางที่สุจริตเพื่อหาเงินมาส่งลูกเรียนให้จบให้ได้ พ่อกับแม่ทำงานในไร่เหน็ดเหนื่อยมาก ผมเห็นอยู่จนชินตาตระหนักอยู่แก่ใจ ทำให้ผมกลายเป็นคนประหยัดในการใช้จ่ายเงินมาก เข้มงวดกับตัวเองมาก แต่ก็ไม่เคยเอาเปรียบใคร และก็โชคดีของผมกับพ่อแม่ที่ผมได้ทุนเรียนจากกองทุนหมอเจ้าฟ้าและกองทุนพระแม่ย่าทำให้แบ่งเบาภาระของพ่อกับแม่ไปได้มาก

การเป็นพ่อแม่คน ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ได้มากขึ้น หลายครั้งหลายหนที่พ่อแม่ต้องยอมอดเพื่อให้ลูกได้อิ่ม ยอมเหน็ดเหนื่อยเพื่อให้ลูกได้สบาย ยอมทำงานหนักเพื่อโอกาสที่ดีของลูกๆ ซึ่งลูกหลายคนก็คิดได้ ทำได้ในสิ่งดีๆ แต่บางคนก็ทำลายโอกาสดีๆที่พ่อแม่พยายามหยิบยื่นให้นั้นทิ้งไปด้วยความสนใจแต่ความสุขเฉพาะหน้า ลืมวาดหวังเพียรพยายามกับอนาคตที่ดี ผมกับภรรยาก็บอกให้ลูกทราบถึงค่าใช้จ่ายที่เราจ่ายให้เขาไปหาประสบการณ์ในโรงเรียนฝรั่ง แต่เขาจะได้ประโยชน์แค่ไหน ก็ยังไม่ทราบได้ อย่างน้อยเขาคงได้ประสบการณ์กับเพื่อนๆต่างชาติบ้าง ไม่เป็นโรคกลัวฝรั่ง กลัวคนต่างชาติอย่างที่ผมเคยเป็น

โรงเรียนนานาชาติดาร์วินชี เป็นโรงเรียนในสังกัดศูนย์นานาชาติ (Cambridge International Center) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ (University of Cambridge) ตั้งอยู่ที่ถนนเวอร์บอนด์ 67 (บ้านพักเราอยู่ที่ถนนเวอร์บอนด์ 52) สามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์32 0 3 216 12 32 หรือติดต่อทางอีเมล์ [email protected] หรือเข้าไปที่ www.da-vinci.be ก็ได้ คำขวัญของโรงเรียนคือวิชาการดีเยี่ยมในสิ่งแวดล้อมที่เอาใจใส่ (Academic excellent in a caring environment) แบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 ระดับคือ

ระดับประถมศึกษา (primary school) แบ่งออกเป็น 3 ช่วงชั้นคือช่วงชั้นอนุบาล (pre-school) มีอนุบาล 1-3 (Kindergarten 1-3) เริ่มจากเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง, 4 ปีและ 5 ปี ช่วงชั้นประถมต้น (lower primary) ป. 1-3 (Grade 1-3) ช่วงชั้นประถมปลาย (Upper primary) ป. 4-6 นักเรียนในระดับชั้นนี้เรียนตามหลักสูตรของเคมบริดจ์ (Cambridge Primary Curriculum) มีการสอบตอนจบชั้น (Primary Progression Tests) และสอบตอนจบชั้น ป. 6 (Cambridge Primary Achievement Test)

การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและเรียนภาษาดัชท์ตอน ป. 4 กับฝรั่งเศสตอน ป. 5 หลักสูตรระดับชั้น ป.1-6 ที่เรียนมีวิทยาศาสตร์ การสะกดคำ การเขียน การอ่าน จินตคณิต ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี เทคโนโลยีสารสนเทศ ศิลปะและการออกแบบ สุขศึกษาและการแสดง มีการพาเด็กไปออกพื้นที่ ชมนิทรรศกาลและจัดกิจกรรมต่างๆในโรงเรียน

หลักสูตรอนุบาลจะเป็นการพัฒนาการส่วนบุคคล อารมณ์และสังคม การสื่อสารและการใช้ภาษา การแก้ไขปัญหาตามวัย การใช้เหตุผลและการนับ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลก การพัฒนาทางร่างกายและการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

ระดับมัธยมศึกษา (Secondary school) แบ่งออกเป็น 3ช่วงชั้นคือช่วงชั้นต้น (Lower) Grade7-8 เรียนวิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วรรณคดีอังกฤษ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ภาษาดัชท์ ฝรั่งเศส พลศึกษาและการละคร ช่วงชั้นกลาง (Middle) IGCSE1-2 คำว่า IGCSEมาจาก The International General Certificate of Secondary Education และช่วงชั้นปลาย (Upper) A-level1 & A-level 2

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2551 เป็นวันหยุดพักหลังจากไปเที่ยวลักเซมเบิร์กมาเมื่อวาน วันนี้เป็นวันเกิดของภรรยา ปกติเราจะไปทำบุญที่วัดกันทั้งครอบครัว แต่ปีนี้ไมได้ออกไปวัดและไม่ได้จัดงานอะไร ผมนั่งอ่านทบทวนงานวิจัยเพื่อเตรียมตัวทำวิทยานิพนธ์ ตอนเย็นพาลูกออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น ช่วงนี้แทบไม่ได้ใช้สไกป์เลย แต่ก็ซื้อเครดิตไว้ 10 ยูโรเพื่อโทรศัพท์กลับเมืองไทยในอัตรา 0.09 ยูโรต่อนาที เพิ่งมาทราบจากริดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่ามีเว็บไซต์ที่ใช้โทรศัพท์ในอัตราที่ถูกกว่าคือVoipwise ที่สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.voipwise.com    ในอัตราค่าโทรกลับเมืองไทยแค่ 0.02 ยูโรต่อนาที และอีกที่หนึ่งคือVoipdiscount ที่สมัครช่วงแรกจะได้โทรฟรีด้วย เข้าไปที่ www.voipdiscount.com ทำให้ใช้โทรศัพท์กลับเมืองไทยได้สะดวกขึ้น แต่ต้องโทรจากเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าโทรศัพท์บ้านหรือมือถือก็ได้

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม 2551 เมื่อคืนนอนหลับไม่ค่อยดีทั้งสองคน อาจจะมาจากความกังวลเรื่อลูกจะไปโรงเรียน เช้านี้ลูกไปโรงเรียนวันแรก ผมกับภรรยาเดินไปส่งลูกที่โรงเรียนตอน 8:20 น. เดินเข้าไปส่งข้างในโรงเรียน แต่ครูไม่ให้พ่อแม่อยู่ดูลูก ให้กลับบ้านและมารับตอนโรงเรียนเลิกตอน 15:30 น. หลังจากนั้นพากันไปเดินที่ถนนเมียร์ ไปเจอคนไทยชื่อเล็ก พาลูกมาเดินเล่น สามีเป็นคนเบลเยียมมาอยู่ได้สามปีแล้ว อยากกลับเมืองไทยแต่คงยากเพราะสามีทำงานในเบลเยียม

ลูกๆเอาเอกสารจากโรงเรียนมาให้ดู เด็กๆบอกว่าไปโรงเรียนสนุกมาก แคนบอกว่าครูพาไปสวนสาธารณะที่พ่อเคยพาไป ครูให้ไปจับแมลงมาวาดรูป แต่ห้ามไม่ให้แมลงตาย เป็นของชอบของลูกอยู่แล้ว ขิมกับขลุ่ยมาสมุดประจำตัวมาให้ผู้ปกครองอ่านและลงนามตอบกลับด้วย ครูของขิมชื่อครูโอลกา (Olga) ส่วนครูของขลุ่ยชื่อครูซินเทีย (Cynthia) ครูของแคนชื่อครูแซน (San) แคนชอบครูและครูชมแคนมากในเรื่องการวาดรูป ซึ่งแคนวาดได้สวย วันนี้แคนได้ชุดนักเรียนกลับบ้านมาด้วย

ผมเองก็เครียดกลัวลูกจะเครียด เพราะตอนแรกที่ผมมาเรียนที่เบลเยียมเดือนแรกผมเครียดมากเหมือนกันเพราะฟังอาจารย์ ฟังเพื่อนๆไม่ค่อยรู้เรื่อง ทั้งๆที่รู้ภาษาอังกฤษมาบ้างแล้ว แต่พอกลับมาบ้านลูกกลับบอกว่าสนุก แม้จะฟังไม่รู้เรื่อง แต่ก็เล่นกับเพื่อน ทำตามคำสั่งครูได้ ส่วนขิมกับขลุ่ยบอกว่าไม่เห็นยากเลยฟังไม่รู้เรื่องก็พยักหน้าอย่างเดียว การสื่อสารจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้ภาษาพูดอย่างเดียว (วัจนภาษา) ภาษากาย กริยาท่าทาง (อวัจนภาษา) ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ในงานบริการทางการแพทย์ การใช้ภาษาท่าทางมีความสำคัญมากที่ผู้ป่วยและญาติสามารถรับรู้จากผู้ให้บริการได้

วันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2551 ตอนเช้าเดินไปส่งลูกแล้วก็อ่านงานวิจัยต่อ ตอนบ่ายว่างกันทั้งสองคนจึงไปจ่ายตลาดที่ไชน่าทาวน์เพื่อเตรียมของไว้ทำอาหารจัดงานเลี้ยงเพื่อนๆวันรุ่งขึ้น มี ริด้ากับเกลนด้าและพี่เกษมไปด้วย วันนี้แคนใส่ชุดนักเรียนเป็นวันแรก ดูเท่ห์ดี เป็นกางเกงสีดำขายาว เสื้อสีเทาแขนยาว ผูกเนคไทด์สีแดงเลือดหมู เสื้อกันหนาวสีแดงเลือดหมูเช่นกัน ส่วนขิมกับขลุ่ยให้ใส่ชุดตามสบาย ชั้นน้องแคนมีนักเรียน 11 คน ชั้นขิมมี 17 คน ส่วนห้องขลุ่ยมี 11 คน จำนวนนักเรียนต่อชั้นไม่มากพอๆกับที่โรงเรียนรอดบำรุงเลย ทุกเช้าประมาณ 8 โมงเช้าประตูโรงเรียนเปิด มีครูมายืนรอรับนักเรียนที่หน้าประตู ส่วนตอนเลิกเรียนก็เปิดประตูโรงเรียนแล้วมีครูมายืนส่งนักเรียนโดยผู้ปกครองต้องมารับจึงจะปล่อยเด็กออกมาได้ ประตูโรงเรียนปิดตลอดทั้งวัน ถ้าใครมาติดต่อโรงเรียนก็กดกริ่งที่หน้าประตูจะมีกล้องวงจรปิดอยู่ ครูจะดูว่าใครมาแล้วก็กดรีโมทเปิดประตูให้ ถือว่าระบบความปลอดภัยดีมาก

วันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2551 ไปส่งลูกตอนเช้า แล้วก็อ่านทบทวนวรรณกรรม วันนี้เด็กๆเรียนถึงเที่ยงวัน ตอนบ่ายไปติวสอบระบาดวิทยาให้ริดที่ห้องสมุด ภรรยากับพี่ตู่ช่วยกันเตรียมอาหาร นัดเพื่อนๆกลุ่มหนึ่งมาทานอาหารไทยที่บ้านตอนทุ่มครึ่ง มีต้มข่าไก่ ทอดมันข้าวโพด ปอเปี๊ยะทอด ผัดผักรวม น้ำพริกหนุ่มและส้มตำ ที่ริด้ากับบูโคลามาหัดทำด้วยโดยมีภรรยาเป็นคนสอน เป็นครั้งแรกที่ได้กินส้มตำที่เบลเยียม อร่อยมาก เกลนด้าทำสตูไก่ กั๊ดดัมทำอาหารอินเดีย มาสมทบด้วย เพื่อนๆที่มาร่วมงานมีเฟ็ง ริด้า เกลนด้า กั๊ดจู กั๊ดดัมและภรรยากับลูก ลอร่า มอรีนกับลูก ลาริสซ่า บูโคล่า ราณี เป็นงานเลี้ยงแบบง่ายๆเป็นกันเอง สักสี่ทุ่มก็เลิก

วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม 2551 ผมไม่มีเรียนเหมือนเดิม อ่านงานวิจัยเตรียมตัวเขียนวิทยานิพนธ์ รู้สึกว่าอ่านได้ช้ามาก สรุปประเด็นไม่ค่อยได้ ลูกไปโรงเรียน ช่วงสองสามวันนี้ คุณครูให้เด็กๆเตรียมทำของขวัญให้แม่เนื่องในโอกาสวันแม่ในวันที่ 11 ที่จะถึงนี้ ลูกๆจะมีงานประดิษฐ์มาให้พ่อกับแม่ดูทุกวัน ครูเขียนลงสมุดบันทึกให้เด็กๆทุกวันแล้วให้รายละเอียดของเด็กในแต่ละวัน โดยให้พ่อหรือแม่เขียนตอบกลับไปด้วยทุกวัน ตอนเย็นไปสนามเด็กเล่นที่เดิม

วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2551 ตอนเช้าไปส่งลูกที่โรงเรียน เราต้องเตรียมอาหารกลางวันและพักเบรกให้ลูกๆด้วย ไม่มีร้านขายขนมหรืออาหารในโรงเรียน ไม่มีของขบเคี้ยว อาหารขยะขาย ของเด็กอนุบาลครูจะตรวจสอบอาหารเด็กทุกวันว่ามีของที่ไม่ค่อยมีประโยชน์หรือไม่ อาหารที่เตรียมไปต้องมีทั้งข้าวหรือขนมปังแบบฝรั่ง นม ผลไม้และน้ำดื่ม วันก่อนครูเขียนมาบอกว่าห้ามนำขนมหวานไปกิน ให้ผู้ปกครองอ่านคำแนะนำในการเตรียมอาหารเด็กด้วย

ตอนบ่ายสองครึ่งประชุมผู้ปกครองและเปิดห้องสมุดให้ผู้ปกครองยืมหนังสือในห้องสมุดมาให้เด็กๆอ่านหรืออ่านให้เด็กๆฟัง ยืมได้จำนวนไม่จำกัด ห้องสมุดเป็นอาคารชั้นใต้ดิน มีหนังสือภาษาอังกฤษหลายประเภท มีการประชุมเพื่อจัดงานสังสรรค์แสดงวัฒนธรรมของเด็กนักเรียนที่มาจากประเทศต่างๆโดยให้มีการทำอาหารมาจำหน่าย ทำเป็นซุ้มเล็กๆ ประชุมเสร็จเด็กๆก็เลิกเรียนพอดี กลับบ้านพร้อมกัน

จากที่ฟังลูกๆเล่าให้ฟัง การเรียนการสอนในโรงเรียนดึงดูดความสนใจเด็กๆมาก สนุกกับการเรียน เข้ากับแนวคิดเพลิน (Plearn = play + learn) มีกิจกรรมวาดภาพ ประดิษฐ์ ศิลปะ นันทนาการทุกวัน ครูมีคำชมผลงานของเด็กๆทุกวัน ตามความเป็นจริง เป็นลักษณะของสุนทรียทัศนา (Appreciative inquiry) โดยเฉพาะน้องแคน มีภาพวาดที่ได้รับคำชมจากครูมาให้พ่อกับแม่ดูทุกวัน เขาสื่อสารกับเพื่อนๆและครูได้ แม้จะยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ก็ตาม ขิมกับขลุ่ยก็เช่นกัน มีภาพวาดและสิ่งประดิษฐ์กลับมาอวดพ่อกับแม่ด้วย แคนมีเพื่อนสนิทชื่อโทมัส เป็นคนเบลเยียมและอาร์เจ เป็นคนอินเดีย สไตล์ เป็นคนอเมริกา และซูนี่ เป็นคนลักเซมเบิร์ก มิตรภาพเกิดขึ้นได้ โดยภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด

วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม 2551 ตัดสินใจเริ่มเขียนวิทยานิพนธ์ เพราะอ่านๆงานวิจัยไปก็ดูเหมือนล่องลอย พอเริ่มเขียนจริงๆก็ยากเหมือนกัน เขียนบทที่สองสามได้มากพอควรและพยายามนำข้อมูลมาวิเคราะห์จากข้อมูลที่ค้นคว้าและขอมาจากเมืองไทยและการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในจังหวัดตาก โดยผมทำเป็นงานวิจัยเลย รู้สึกว่าการเขียนวิทยานิพนธ์นี่ ไม่หมูเลย ไม่ใช่อาศัยแค่ข้อมูล แต่อาศัยจินตนาการด้วย

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

23 พฤษภาคม 2551, 17.35 น. ( 22.35 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 184165เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2008 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หวัดดีค่ะ อาจารย์ คิดถึงมากๆค่ะ จำพอลล่าได้ป่าวคะ สบายดีหรือปล่าวคะ เมื่อรัยจะปิ๊กบ้านเฮา...ค๊า

หวัดดีค่ะอาจารย์ เคยไปดูงานที่ ร.พ.บ้านตาก ขอให้ทำวิทยานิพนธ์สำเร็จไวๆนะคะ

จะได้กลับมาพัฒนาบ้านนอกต่อคะ

สวัสดีครับ

ขอบคุณอาจารย์พอลล่า (แบบไทยๆต้องเป็น บัวลา ครับ) ที่เข้ามาทักทายกัน ผมสบายดีครับ ยุ่งพอควรกับการทำวิทยานิพนธ์ คิดถึงเช่นกัน ฝากความคิดถึงถึงชาว พ.ร.พ. ทุกคนด้วยครับ

สวัสดีครับคุณWutrada

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีคะ คุณหมอพิเชษ

หนูมาเรียนเชิญร่วมเขียนบันทึก AAR การใช้งาน GotoKnow.org เนื่องในโอกาส ครบรอบ 3 ปี GotoKnow.org คะ

หากพอมีเวลา รบกวนเขียนบันทึก aar สักนิดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท