ค่าย .. จุดยืน - ตัวตน - ทิศทาง : กรณีสานฝันคนสร้างป่า


อย่าให้งานค่ายอาสาพัฒนาที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้เป็นกรงขังตัวเองจากเรื่องอื่น ๆ ที่ควรต้องเรียนรู้

การไปเยี่ยมค่ายในแต่ละครั้ง   ผมมักจะทำการบ้านไปก่อนเสมอ  เริ่มจากการศึกษาภาพรวมของค่ายนั้น ๆ  ว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไร ?  มีกิจกรรมอะไรบ้าง ? รวมถึงค่ายนั้น    ตอบโจทย์ความเป็นปรัชญาการทำงานขององค์กร หรือชมรมอย่างไร ?

 

 

เช่นเดียวกันนี้  การไปเยี่ยมค่ายโครงการ สานฝันเพื่อน้อง  ของ  ชมรมสานฝันคนสร้างป่าเมื่อวันที่  ๒๔  มีนาคม  ๒๕๕๑    ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองผักแว่น  ต.สารภี  อ.โพธิ์ไทร  จ.อุบลราชธานี  ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ผมไม่อาจละเลยเกี่ยวกับการศึกษาข้อมูลดังกล่าวไปก่อนล่วงหน้าอย่างจริงจัง

 

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม  ๒๕๕๐   
ในช่วงบ่ายของวันหนึ่ง  มีนิสิตจำนวน 
  คนเข้ามาพบผมในที่ทำงาน  พร้อมกับบอกกล่าวถึงที่มาที่ไปในทำนองว่า  เป็นสมาชิกของชมรมสานฝันคนสร้างป่า   มีความต้องการที่จะจัดกิจกรรมเป็นอย่างมาก   และตระหนักดีว่าห้วงเวลานี้  เป็นห้วงเวลาที่มหาวิทยาลัยกำลังจะประกาศยุบเลิกชมรมของพวกเขา   อันเป็นผลพวงที่ตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา  ชมรมไม่ยอมจัดกิจกรรมเลยแม้แต่โครงการเดียว   จึงต้องถูกยุบเลิกไปตามข้อบังคับ ...

 

 

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเพิ่งมารักษาการในตำแหน่ง ฯ ใหม่ ๆ  ..
ผมให้ความสำคัญกับเรื่องที่พวกเขาบอกเล่าในทุกกระบวนความ    แต่ก็อดที่จะสร้างสถานการณ์ให้เขาได้รู้สึกไม่ได้ว่า 
โอกาสหาใช่จะถูกหยิบยื่นให้อย่างง่ายดายเสมอไป

 

ผมสอบถามและพูดคุยอย่างเจาะลึก  โดยเฉพาะมูลเหตุของการไม่ยอมจัดกิจกรรม  ทั้ง ๆ  ที่งบประมาณนั้น  มหาวิทยาลัยก็จัดสรรให้ไปแล้ว   ถึงจะไม่มากมายนัก  แต่ก็ใช่จะมีจำนวนน้อยจนทำอะไรไม่ได้เลย   เพราะเมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว   จำนวนเงินดังกล่าว   ก็พอเพียงที่จะเป็นต้นทุนในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างไม่ยากเย็น   ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขา  มีแรงใจที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมมากหรือน้อยเท่านั้นเอง

 

(ภาพจากโครงการป้องกันไฟป่า  มีนาคม  ๒๕๕๐)

 

อันที่จริง   ถึงแม้ผมเพิ่งจะมาดูแลงานเหล่านี้ได้ไม่นาน  แต่ก็กล้าพอที่จะบอกได้ว่า  ผมมีข้อมูลอันเป็นสภาพการณ์ของชมรมต่าง ๆ อย่างมากมายพอสมควร   เช่นเดียวกับปัญหาของชมรมนี้    ผมเองก็รับรู้มาโดยตลอด  เคยแม้กระทั่งชวนให้เจ้าหน้าที่ขบคิดว่า  ชมรมนี้จะ อยู่หรือไป ...  เพราะการประสบปัญหาในระดับแกนนำนั้น  เป็นเสมือนเรือที่ปราศจากหางเสือ .. และการเผชิญกับปัญหาภายในที่ใคร ๆ ก็ เบื่อระอา  เช่นนี้ก็ล้วนแต่จะขับให้มวลสมาชิกท้อ  และถอดใจเอาง่าย ๆ

 

เหตุแห่งการสนทนากันนั้น,  ผมต้องการชวนให้เขาได้วิเคราะห์สภาพ หรือสถานะปัญหาของพวกเขาเอง   อย่างน้อยก็อยากประเมินว่า  พวกเขารู้ซึ้งถึงปัญหาของตนเอง หรือองค์กรของตนเองหรือไม่   เพราะหากไม่เคี่ยวให้พวกเขาหยุดคิดทบทวนถึงวิถีอันเป็นชะตากรรมเหล่านั้น  ก็เท่ากับว่าผมส่งเสริมให้เขาเติบโตโดยไม่สนใจต่อการหยิบยกเอาปัญหาเก่า ๆ  มาแก้ไข .. 

 (ภาพจากโครงการป้องกันไฟป่า  มีนาคม ๒๕๕๐)

ก่อนจากลากันในวันนั้น   ผมตอบรับที่จะให้พวกเขาได้จัดกิจกรรมตามที่ต้องการ  และให้กำลังใจกับการเริ่มต้นครั้งใหม่ของพวกเขาอย่างจริงจัง  และหนักแน่น  รวมถึงการบอกกล่าวอย่างเปิดเปลือยว่า   โดยส่วนตัวของผมนั้น  ผมอยากให้ชมรมของพวกเขาเป็นทางเลือกของการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า  เพราะบรรดาชมรมในสังกัดองค์การนิสิตนั้น   เรียกได้ว่าไม่มีชมรมใดเลยที่จะลุกขึ้นมาขับเคลื่อนกิจกรรมในทำนองนี้   รวมถึงการบอกเล่าประวัติศาสตร์กิจกรรมให้พวกเขาได้รับฟังเพื่อเป็นองค์ความรู้เพิ่มเติมว่า   ตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา  มีเพียง ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ในสังกัดสโมสรนิสิตคณะวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่ยืนหยัดจัดกิจกรรมในทำนองนี้อย่างไม่ลดละ  ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ให้ความรู้ในเรื่องการปลูกป่า  อนุรักษ์ป่า , การใช้สมุนไพร,  การศึกษาวิถีป่าและสิ่งแวดล้อมในชุมชนต่าง ๆ  รวมถึงกิจกรรมที่ยึดเป็นขนบเสมอมาก็คือการ บวชป่า  ซึ่งบัดนี้ก็ดูจะเงียบหายไปแล้ว  ซึ่งเมื่อประมาณสักสี่ถึงห้าปีที่แล้ว  แกนนำหลายคนก็สนิทชิดเชื้อกับผมเป็นอย่างดี   ทุกครั้งที่พวกเขาไปออกค่ายฯ  ผมก็มักจะมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับพวกเขา  และติดตามไปเยี่ยมอยู่อย่างไม่ขาดสาย   จนครั้งนั้นพวกเขาก็เปรยว่าจะย้ายชมรม ฯ มาสังกัดกับองค์การนิสิต  เพื่อให้เป็นองค์กรในภาพรวมของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง   แต่ท้ายที่สุดก็เปลี่ยนใจกะทันหัน   โดยเลือกที่จะปักหลักอยู่ในฐานที่มั่นเดิม  เพื่อเป็นองค์กรเล็ก ๆ  ที่เข้มแข็ง  ดีกว่ามาเป็นองค์กรใหญ่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการจัดการที่อาจจะยุ่งยากในอนาคต

 

สิ่งเหล่านั้นจะจริงหรือเท็จแค่ไหนไม่สำคัญ    แต่ผมก็ให้ความเคารพต่อเหตุผลของพวกเขาอย่างไม่โต้แย้ง    แต่ก็พอจะรู้มาบ้างว่า   เหตุผลอันสำคัญที่พวกเขายังไม่ได้บอกเล่าต่อผมอย่างชัดแจ้งอีกประการหนึ่งเลยก็คือ   การต้องการที่จะอยู่กับรากเหง้าอันเป็นต้นสังกัดของพวกเขาเอง  โดยมีแกนนำในสาขาชีววิทยาเป็นขุนพลกิจกรรม  ซึ่งน่าจะง่ายต่อการนำความรู้ที่เรียนมาใช้กับการทำกิจกรรมได้อย่างไม่ติดขัด

 

(ภาพจากโครงการป้องกันไฟป่า  มีนาคม ๒๕๕๐)

 

การบอกเล่าประวัติศาสตร์กิจกรรมให้แกนนำชมรมสานฝันคนสร้างป่าในครั้งนั้น  ผมหวังแต่เพียงว่า  พวกเขาคงมีพลังพอที่จะลุกขึ้นยืนอย่างหนักแน่น  รวมถึงการมี จุดยืน  และ  รู้ตัวตน  ของตนเองว่า   แท้ที่จริงแล้วชมรมจัดตั้งมาเพื่ออะไร ? และมี ทิศทาง  การทำกิจกรรมอย่างไรบ้าง ?   ซึ่งเมื่อพิจารณาชื่อชมรมแล้วก็ชัดแจ้งเหลือเกินว่า  ชมรมเกิดมาเพื่อทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่อง ป่า..  มิใช่กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาเหมือนที่หลาย ๆ  ชมรมได้ยึดปฏิบัติกันอยู่อย่างมากมาย (และซ้ำซ้อน)  จนแทบจะหาจุดต่างในทางรูปแบบไม่ได้เอาเสียเลย

 

และการพูดคุยในครั้งนั้นก็นำไปสู่ค่ายอาสาพัฒนาในแบบฉบับของชาวสานฝันคนสร้างป่า   นั่นคือ  การลงพื้นที่จัดค่าย ฯ  ด้วยการร่วมศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนกับป่าในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแถว ๆ จังหวัดสกลนคร  มีการแลกเปลี่ยนเสวนาในเรื่องแนวทางการใช้ประโยชน์จากป่า  รวมถึงการลงแรงเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ  โดยผสานพลังระหว่างนิสิตกับชุมชน  ทั้งหนุ่ม แก่และเด็กเล็ก  ตะลุยรื้อผักตบชวาและสิ่งปฏิกูลกันอย่างยกใหญ่  ราวกับว่า  นั่นคือ งานบุญ  ดี ๆ นี่เอง  

นอกจากนั้นยังเดินเท้าเข้าไปทำแนวป้องกันไฟป่าร่วมกันระหว่างนิสิต ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่  ซึ่งถือได้ว่ากิจกรรมในทำนองนี้ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม  ... และกลายมาเป็นอีกทางเลือกของกิจกรรมที่น่าสนใจ ไม่แพ้ด้านอื่น ๆ   เลยก็ว่าได้   

และจากนั้นมา  เมื่อมีกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมในทำนองนี้  เราก็จะนึกถึงพวกเขาก่อนใครเสมอ  และพวกเขาก็ไม่เคยอิดออดที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับการทำงานเพื่อสาธารณะ  จนผมเองก็แอบชื่นชมและส่งกำลังใจไปยังพวกเขาอยู่อย่างบ่อยครั้ง

 

 

แต่การมาเยือนค่าย  สานฝันเพื่อน้อง  ของ  ชมรมสานฝันคนสร้างป่า  ในครั้งนี้  ผมกลับพานพบเจอการเปลี่ยนแปลงไปจาก จุดยืน  อันเป็น ตัวตน หรือ ทิศทาง  การทำกิจกรรมของชมรม ฯ  อย่างชัดเจน 

ผมไม่เห็นภาพกิจกรรมเดิม ๆ หลงเหลือให้พบเห็นอีกต่อไป   พวกเขาตัดสินใจทำค่ายอาสาพัฒนาในแบบที่เป็นกระแสนิยม  ทั้งการทำห้องเรียนสำหรับเด็กอนุบาล   ทำแปลงผักและขุดบ่อเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาหารกลางวัน  มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและหมู่บ้าน  ซ่อมแซมสนามเด็กเล่น  รวมถึงการทำสื่อเรียนรู้ในเรื่องยาเสพติดและอื่น ๆ  อีกจิปาถะ ....

 

ถึงอย่างไรก็ดีก็ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า  พื้นที่การออกค่ายในครั้งนี้ยังคงรูปรอยเดิม ๆ อยู่อย่างเห็นได้ชัด  ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง  กันดารและแห้งแล้ง  รายรอบไปด้วยภูเขาหลายลูก  มีต้นไม้ขึ้นหลากหลายชนิด  พื้นที่ป่าหลายแห่งเสื่อมโทรมหลายพื้นที่ถูกแผ้วถางเป็นพื้นที่การทำกิน  บางแห่งเห็นได้ชัดว่ากำลังถูกใช้ประโยชน์ในด้านธุรกิจของการ เผาถ่าน ฯลฯ

 

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับกิจกรรมในครั้งนี้อย่างเป็นกันเอง   เข้าใจและเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของพวกเขาอย่างแจ่มชัด   เพียงแต่อดใจไม่ไหวต่อการที่จะชวนให้นิสิต  ได้กลับไปขบคิดถึงประเด็นชื่อชมรมและปรัชญาชมรมของพวกเขา  ...

 

(การขนทรายจากลำธารที่ห่างจากหมู่บ้านหลายกิโลเมตร)

ผมเข้าใจดีว่าการทำค่ายในลักษณะการอนุรักษ์ป่าอาจไม่ได้รับความนิยมจากมวลนิสิต   เหมือนค่ายอาสาพัฒนาตามกระแสหลัก  ที่มักไปสร้างโน่นนี่อยู่เป็นประจำ  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า  วิถีอันเป็นกระแสหลักจะไม่จำเป็น  เพียงแต่กำลังสะท้อนให้พวกเขาได้ทบทวนถึงตัวตนของตนเอง  และกล้าพอที่จะเดินทางไปในวิถีของตนเองอย่างมั่นคง   โดยไม่จำเป็นต้องลื่นไหลไปตามกระแสนิยมของการออกค่ายอาสาพัฒนา ...  เพราะชื่อของชมรมนั้นโชว์หราอย่างเห็นได้ชัดว่าเป็นชมรมที่มุ่งจะขับเคลื่อนและเรียนรู้ในเรื่องอะไรเป็นหลักสำคัญ  ?

 

 

ก่อนจากลาในเย็นของวันนั้น  ผมไม่วายที่จะก้าวล้ำไปฝากแนวคิดกับแกนนำเหล่านั้นในทำนองว่า   อย่าให้งานค่ายอาสาพัฒนาที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้เป็นกรงขังตัวเองจากเรื่องอื่น ๆ ที่ควรต้องเรียนรู้   อย่าทำงานกันแต่เฉพาะในโรงเรียน  จนหลงลืมที่จะสร้างมิติการเรียนรู้อื่น ๆ  เข้ามาเติมเต็ม   ...  เช้าก็ไปวัด  หรือไม่ก็ออกไปช่วยชาวบ้านทำไร่ทำสวน  ศึกษาเรียนรู้  หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยน   เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับทัศนะหรือพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากป่าของชาวบ้านว่าเป็นเช่นใดบ้าง ?  และสภาพป่าจากอดีตถึงปัจจุบันแตกต่างกันกี่มากน้อย ?   ฯลฯ

 

 

นั่นคือการให้กำลังใจในแบบสไตล์ของผม ...  และหวังแต่เพียงว่า  พวกเขาจะเข้าใจในถ้อยคำเหล่านั้นบ้าง  ...

(หยวกกล้วยและทอดแหจับปลา ..คือ  อีกทางเลือกของอาหารชาวค่าย)

 

สิ่งที่ผมพูดและสิ่งที่เขาเลือกที่จะขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้  อาจไม่มีใครผิด  ไม่มีใครถูก   แต่การทบทวนตัวตนของตนเองอีกสักครั้ง  ก็สำคัญไม่ใช่น้อย 

และเมื่อทบทวนแล้ว  หากยังยืนยันที่จะปรับเปลี่ยนสถานะองค์กรไปตามกระแสหลัก   ถึงตรงนั้นผมก็ไม่ว่าอะไร  ตรงกันข้ามก็ยังยืนยันว่า   ยังคงจะติดตามให้กำลังใจและเป็นแฟนคลับพวกเขาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

 

 

  

หมายเลขบันทึก: 183229เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2008 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

อ่านแล้วทึ่งจังเลย ว่ากิจกรรมแบบนี้ คนรุ่นใหม่ๆให้ความสนใจ แบบมีส่วนร่วมกับชุมชน น่าชื่นชมนะคะ

ตอนเรียน ก็นิยมไปค่ายอาสา สร้างโน้นสร้างนี้เหมือนกัน แต่หากิจกรรมที่อนุรักษ์ธรรมชาติยาก คงเพราะไม่ได้ผลผลิต หรือ ผลงานเป็นที่ชัดแจ้ง การทำออกไป ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับความร่วมมือต่อเนื่องอย่างไรบ้างล่ะมั้งค่ะ กลุ่มนิสิต เลยเลือกที่จะทำค่ายอาสามากกว่ากัน

สวัสดีค่ะ

ชอบมากเลยกิจกรรมแบบนี้

อยากให้ เด็กเค้ารู้และเข้าใจเป้าหมายของกิจกรรมและบทเรียนที่ได้ด้วย

สวัสดีค่ะ.. :)

เรื่องเล่าชาวค่ายนี่เล่ากี่ทีก็ไม่เบื่อเลยนะคะ..

เห็นภาพที่ช่วยกวาดใบไม้ทำทางกันไฟแล้วคิดถึงเพื่อนๆ ที่เคยทำค่ายด้วยกัน..

สมัยที่อยู่ มมส. ก็เคยได้มีโอกาสออกค่ายค่ะ..

ได้ประสบการณ์ดีๆ ครบรสเลย..

จำได้ว่าครั้งนั้นไปทำทางกันไฟกันที่ภูพาน..

ฟังดูเหมือนง่าย ๆ นะคะ.. แค่กวาดใบไม้.. แต่พอทำจริงๆ ก็เหนื่อยเอาเรื่อง

แวะมาที่นี่หลายทีแล้วไม่ได้ทักทายซักที..

ดีใจค่ะที่เห็นน้องๆ สืบสานปณิธานชาวค่ายเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคมต่อไป

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดินนดิน

 

  • น่าคิดๆ  ทำให้ย้อนคิดไปช่วงเป็นลูกช้าง ไปเข้าค่าย  ..  ชื่อค่ายอาสาพัฒนาชนบท
  • ตอนนั้น ก็ยังไม่มีค่ายสานฝันปลูกป่า  เช่นกันค่ะ อาจเป็นเพราะว่า  การจัดค่ายลักษณะนี้ มีความยากลำบาก หรือต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้านหรือเปล่า คะ ? !
  • แต่  ไม่ว่าจะเป็นค่ายลักษณะใด  โอกาสหาใช่จะถูกหยิบยื่นให้อย่างง่ายดายเสมอไป
  • ทั้งในส่วนของ ผู้จัดค่าย และ ผู้เข้าค่าย   ...  การได้มีโอกาส และ ได้รับโอกาส คือเป็นสิ่งสำคัญใช่ไหมคะ   
  • และเห็นด้วยค่ะ โอกาสที่เข้ามาง่ายดาย มักจะไม่มีคุณค่า  ... ขอบคุณมุมมองดีๆ นี้ค่ะ
  • เพราะชื่อของชมรมนั้นโชว์หราอย่างเห็นได้ชัดว่าเป็นชมรมที่มุ่งจะขับเคลื่อนและเรียนรู้ในเรื่องอะไรเป็นหลักสำคัญ  ?
  • จุดยืน เป้าหมาย หรือ วัตถุประสงค์ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ในการทำกิจกรรม ต่างๆ ไม่ว่า ในส่วนองค์กร หรือชีวิตคนเรา ...  ประเด็นนี้ หากได้ทบทวน และทำความเข้าใจกันถ้วนทั่วแล้ว คิดว่า  คงไม่ยากในการปรับเปลี่ยนค่ะ
  • ชื่นชม ศรัทธา และอยากให้มี กิจกรรมทำนองนี้เยอะๆ ค่ะ เพื่อการเรียนรู้ ร่วมกับชุมชน และธรรมชาติ ได้อย่างยั่งยืน
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ ที่ให้มุมมอง แง่คิดใหม่ๆ อบอุ่นด้วยไอรักในครอบครัว และธรรมะค่ะ 

 

ลุงเอกถามหาแผ่นดินจากเพื่อนพ้อง  ว่าแผ่นดินบินไปไหน  หายจากความฝันเก่ามานานวัน 

วันนี้ได้เห็นฝันใหม่ของแผ่นดิน  ขอให้บินไปได้ดั่งฝันครับ

เป็นกิจกรรมที่ดีครับ ยิ่งหากปรับมาทำกิจกรรม ในจังหวัดมหาสารคาม หรือ พื้นที่ใกล้ มมส ยิ่งดีครับ

เป็นกำลังใจให้นะคะ..กิจกรรมดีมากๆ..สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีแก่เยาวชนและสานสัมพันธ์กับชุมชนได้อย่างดีเลยค่ะ..

ห่างหายกันไปนาน..เลยต้องแวะมาบอกว่า.."คิดถึง"นะคะ..^^

สวัสดีครับ  คุณแก่นจัง

ผมเคยถามตนเองบ้างเหมือนกันว่าช่วงใดบ้างที่เป็นช่วงแห่งความสุขของชีวิตตนเอง  ผมก็จะรู้ได้อย่างทันทีว่าเป็นช่วงของการได้ใช้ชีวิตในค่ายอาสาพัฒนา   ทุกวันนี้จึงนับเป็นความโชคดีมหาศาลที่ยังได้ทำงานในส่วนดังกล่าว  มันเหมือนกับเป็นความฝันไม่รู้จบที่ยังต้องลงมือทำ ศึกษา และเรียนรู้ไปต่าง ๆ นานา

และเห็นด้วยเช่นกันว่า  ค่ายในทำนองการอนุรักษ์นั้น เป็นค่ายที่มีตัวแปรมากมาย  ทั้งความร่วมมือของชาวบ้าน  ความรู้ของนิสิต  หรือแม้แต่การต้องอาศัยระยะยาวเพื่อให้กระบวนคิดและผลงานต่าง ๆ ได้ตกผลึกออกมาให้เห็น  และที่สำคัญก็คือ  ปัญหาปากท้องของชาวบ้านก็ดูสำคัญยิ่งกว่าเรื่องอื่น ๆ  บางทีในบางท้องที่ก็ตระหนักว่าป่ามีความสำคัญ  และก็ยังยืนยันว่า ..ปากท้องสำคัญกว่า   ดังนั้นจึงต้องถางป่าเป็นเรือกสวนไร่นา , ตัดไม้ปลูกบ้าน เลื่อยไม้ขายให้เถ้าแก่  รวมถึงเผาถ่านขาย เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยในภาคส่วนเพื่อสร้างความรู้  ความตระหนัก  และมีทางออกอื่น ๆ รองรับให้กับชาวบ้าน

...

ขอบคุณครับ

 

หวัดดีค่ะ

ทำไมภาพที่แชร์ให้ไม่เห็นมีภาพเหล่านี้ล่ะคะ มีบางภาพเท่านั้นเอง

ภาพเหล่านี้ได้บรรยากาศมากๆ แค่เห็นภาพไม่ต้องอ่านก็เข้าใจ

สวัสดีครับ ป้าแดง pa_daeng [มณีแดง คนสวย แซ่เฮ]

ค่ายนี้ผมมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทิ้งโจทย์ให้น้องนิสิตได้ถกคิดกันบ้าง   เพราะชื่อชมรมก็ชัดเจนเหลือเกินว่า "สานฝันคนสร้างป่า"   แต่การออกค่ายอาสาพัฒนาเช่นนี้กลับแทบไม่ปรากฏกิจกรรมที่เกี่ยวกับที่มาที่ไปอันเป็นจุดยืนของพวกเขาเอง

แต่ก็แน่นอนครับ,  ผมให้กำลังใจมากกว่าการติติง  และยังไม่ลืมแนะนำว่า  ให้เปลี่ยนกระบวนการไปตามสภาวะของหมู่บ้าน  การจะดุ่มเดินไปให้ความรู้  หรือชวนชาวบ้านคุยเรื่องการอนุรักษ์ป่าโดยตรงนั้นก็เป็นเรื่องต้องระมัดระวัง  เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาอีกมากกับการสร้างความรู้, รวมถึงการทำความเข้าใจกับวิถีชีวิตของชาวบ้านด้วยเช่นกัน

และเชื่อเหลือเกินว่า...  บางทีกลับมาแล้วน่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในวิถีองค์กรบ้างกระมังครับ

 

สวัสดีครับ...ดวงดาวแห่งศรัทธา

ดีใจที่เข้ามาทักทายนะครับ,  และยิ่งดีใจใหญ่เลยเมื่อรู้ว่าครั้งหนึ่งนั้นผู้มาเยือนก็เป็นผู้ร่วมชะตากรรมของค่ายที่กล่าวถึง

น้อง ๆ ยังมีพละกำลังอย่างน่ายกย่อง  สิ่งเหล่านั้นเป็นผลพวงที่รุ่นพี่บ่มเพาะไว้อย่างเข้มข้น,  เพียงแต่วันนี้  อาจดูลื่นไหลไปตามกระแสบ้าง  แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดอันใด  ขึ้นอยู่กับว่าโจทย์แห่งการเรียนรู้ครั้งนี้มีว่าอย่างไรเป็นสำคัญ ...

โชคดีกับชีวิตนะครับ

ผมเป็นกำลังใจให้

** แวะมาให้กำลังใจนะคะ ***

*** สบายดีนะคะ

เป็นกำลังใจให้คุณแผ่นดินค่ะ

งานยุ่งไหมค่ะ สู้ๆ ค่ะ

อยากเห็นบรรยาศน้องดิน แดน เปิดเทอมจัง

ขอบคุณค่ะ

 

งานยุ่งไหมคะ  ... เมื่อวานตกใจหมดเลย

เข้ามาแล้วถูกเด้งออก สงสัยระบบล่มค่ะ

แต่ดีใจ วันนี้เข้าได้แล้ว ... ติดบล็อกคะ

...  คุณแผ่นดิน สบายดีนะคะ ...

รักษาสุขภาพ เป็นกำลังใจในงานและชีวิตค่ะ

สวัสดีครับ

แวะมาชวนไปฟังเพลงครับ @184493

 

กิจกรรมดี+ภาพสวย ครับ มาเยี่ยมนะครับ

สวัสดีครับ

  • เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์มากครับ
  • สามัคคี สุด ๆ
  • เห็นความร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน
  • ชื่นชมจริง ๆ ครับ
  • เยี่ยม ครับ

สวัสดีค่ะ คุณแผ่นดิน

... น้องเจ้าจุก - น้องแดน น้องดิน เป็นไงบ้างค่ะ

... คิดถึงจังค่ะ หายแล้วไม่ได้เห็นภาพ  ..

... พักผ่อนบ้างเด้อค่า .. รักษาสุขภาพโตย

@  ขอชื่นชม  ในกิจกรรมดีๆ  ที่มีคุณค่ายิ่ง  แก่ผืนแผ่นดิน  @

 

                             

สวัสดีครับ  . poo

  • ผมเขียนบันทึกนี้ด้วยความรู้สึกผูกพันกับการก่อเกิดของพวกเขา 
  • และปีนี้  ผมเองก็หวังเหลือเกินว่าชมรมเหล่านี้จะยืนหยัดได้อย่างเข้มแข็ง  รวมถึงการต้องการให้มหาวิทยาลัยมีชมรม หรือกิจกรรมในสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
  • ทุกครั้งที่ต้องปลูกต้นไม้ ...ผมก็ไม่ลืมที่จะถามว่า  กระบวนการของการดูแลต้นไม้เป็นเช่นใดบ้าง
  • มิใช่ปลูกทิ้งไว้ตามป่าโคก  แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ดูแล  ปล่อยให้วัวควายเดินเหยียบกล้าไม้จนตายไปในที่สุด
  • .....
  • ที่ มมส , ...มีชมรมเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ป่าน้อยมาก  ด้วยเหตุนี้  ผมจึงเขียนถึงพวกเขา  เพื่อชวนให้เขาได้ทบทวนตัวเอง
  • และเมื่อทบทวนแล้ว ...ก็เป็นสิทธิ์ของพวกเขาที่จะปรับเปลี่ยน  หรือดุ่มเดินไปในทิศทางใด
  • ตรงนั้น, ผมให้ความเคารพต่อการตัดสินใจของพวกเขาอย่างแน่นอน
  • ...
  • ขอบคุณในข้อสังเกตอันงดงามที่มาเติมเต็มในบันทึกนี้นะครับ

สวัสดีครับ  ลุงเอก

ด้วยภาระอันหลากหลาย และการเผชิญกับภาวะภายในตัวตนของตนเอง จึงทำให้ผมจำต้องเก็บตัวเพื่อสะสางและจัดเรียงชีวิตให้เข้าที่เข้าทาง

ถึงวันนี้, ....
กลับมาอยู่ในถนนสายเดิมแล้วครับ

ปีกแห่งความฝันได้เริ่มสยายปีกพร้อมที่จะทะยานบินอีกครั้ง ..

...

ขอบพระคุณมากครับ

ท่าน อ.JJ

ในปีการศึกษา 2550  ถือได้ว่าเป็นปีที่จัดกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามมากที่สุดในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา  ทั้งกิจกรรมที่จัดโดยนิสิตและที่จัดร่วมกับกองกิจการนิสิต ..

ในปีที่ผ่านมา  มีโครงการลูกในบ้านหว่านในสวน  ซึ่งเป็นแนวคิดร่วมระหว่างกองกิจฯ กับองค์การนิสิต  โดยมีงบประมาณให้ชมรมต่าง ๆ มาขอรับการสนับสนุนเพื่อจัดค่ายให้บริการแก่สังคมในรายรอบมหาวิทยาลัย  ทั้งด้านกีฬา , บำเพ็ญประโยชน์  ศิลปวัฒนธรรม  วิชาการ และสิ่งแวดล้อม

ภาพรวมการประเมินผลนั้นเป็นที่น่ายินดีมาก ...เพราะได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ ..และทุกกิจกรรมก็เป็นกิจกรรมที่ชุมชนร้องขอเป็นที่ตั้ง

...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ คุณครูแอ๊ว

ตอนนี้ก็วุ่น ๆ อยู่กับการทำหนังสือเล่มใหม่ของตัวเอง  ตั้งใจจะเร่งให้เสร็จในเดือนสองเดือนนี้  แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จมั๊ย  ทั้งขั้นตอนของสำนักพิมพ์, โรงพิมพ์..และสายส่ง

สิ่งเหล่านี้ยังต้องทำอีกหลายอย่าง ..

นั่นคืออีกหนึ่งเหตุผลที่ดูเงียบหายไปด้วยเช่นกัน

...

 นุ้ยcsmsu

  • ภาพเหล่านี้รู้สึกอยู่ในกล้องของยะ - นุ
  • อีกส่วนเป็นภาพจากปีที่แล้ว ...
  • เสียดายที่ใน มมส  เรามีชมรมที่ทำกิจกรรมในด้านนี้ค่อนข้างน้อย
  • พี่เลยเสียดายเหมือนกันหากชมรมนี้จะเปลี่ยนวิถีไปตามกระแสหลักในด้านอาสาพัฒนา

สวัสดีครับ พี่อร ..Bright Lily

  • สบายดีนะครับ
  • สำหรับผมก็เพิ่งผ่านพ้นห้วงวิกฤตเล็กๆ ของชีวิต
  • และตอนนี้ก็เริ่มที่จะนับหนึ่ง นับสอง เพื่อเดินตามความฝันของตัวเองอีกครั้ง
  • ขอบคุณมาก ๆ ...
  • สำหรับกำลังใจและความห่วงใยอันล้ำค่า
  • ...
  • ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ . poo

ช่วงนี้ หรือแม้แต่ช่วงที่ผ่านมาสารภาพว่า งานยุ่งจริง ๆ ครับ  อีกทั้งพบเจอกับปัญหาบางอย่าง เลยต้องสะสางและจัดระเบียบอย่างจริงจัง

ตอนนี้ก็เข้าสู่ภาวะปกติบ้างแล้ว ...

ส่วนเรื่องน้องดินและน้องแดนนั้น  ไม่นานคงได้นำภาพชีวิตในการเปิดเรียนมาเล่าสู่กันฟัง อีกครั้ง

....

ขอบคุณครับ

ชอบภาพนี้มาก ...

หลังบ้านมีภูเขาเป็นม่านฉากที่มีชีวิต ..

ต้นกล้วยและทางเดินเล็ก ๆ ราวกับเส้นทางอันลี้ลับในดินแดนความฝันที่มีความสมถะซ่อนงำอยู่อย่างน่าค้นหา

 

สวัสดีครับ .... กวิน

ขอบคุณบทบาทของไกด์ที่นำพาให้ได้ฟังเพลงดี ๆ ...

ส่วนกิจกรรมที่ผมเขียนถึงนั้น  เป็นหมู่บ้านที่ไม่ใหญ่นัก  ค่อนข้างห่างไกลจากตัวเมือง   อยู่ติดภูเขา แต่สภาพของป่าก็ดูเสื่อมโทรมอยู่มาก  อันเป็นผลพวงของการเข้าไปทำกินเป็นหลัก

ครับ, เรื่องปากท้อง เป็นเรื่องที่สำคัญมาก  เมื่อไม่มีทางเลือกที่ดีไปกว่านี้  ผู้คนจึงยังต้องใช้ประโยชน์จากป่า  ทั้งด้วยความตระหนักและขาดการตระหนักรู้ถึงกระบวนการของการใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น

....

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีครับ ครูโย่ง

  • ค่ายนี้กินอยู่ลำบาก
  • แต่พลังชุมชนก็เข้ามาเกื้อหนุนอย่างมากมาย
  • ถึงแม้กิจกรรมจะแตกต่างไปจากค่ายที่แล้ว
  • แต่ก็ดีใจที่นิสิตมีความสุขกับการเรียนรู้ใหม่ ๆ
  • ซึ่งหมายถึงการมีความสุขกับงานที่ทำด้วยเช่นกัน
  • ...
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ..poo

ตอนนี้ก็ใกล้ช่วงปิดเทอมแล้ว  มีค่ายอาสาที่จะต้องออกสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 20 ค่าย  ผมเลยกำลังเตรียมความพร้อมเรื่องร่างกาย และเตรียมความพร้อมในเรื่องเวลา  เพราะตั้งใจจะไปเยี่ยมค่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อให้กำลังใจ, และประเมินผลอย่างเต็มที่  อันจะก่อให้เกิดกระบวนการของการพัฒนานิสิตและกระบวนการของค่ายอาสาฯ ต่อไป

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ..@..สายธาร..@ 

ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า  เป้าหมายหลักของค่ายนั้น  ชาวค่ายบรรลุกันแทบทุกคน  ซึ่งได้แก่การให้บริการสังคมนั่นเอง  แต่เป้าหมายรองนั้น  แต่ละคนย่อมได้ทั้งเหมือนและต่างกันไปโดยปริยาย  บางคนอาจได้ความรู้เรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้าน, บางคนอาจได้เกร็ดความรู้เรื่องการศึกษาในชุมชน, ได้ความรู้เรื่องการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำและต้นไม้, ได้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม, ได้เพื่อน, ได้เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี...เป็นต้น...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท