KM สัญจรครั้งที่ 3 ไปที่จังหวัดบุรีรัมย์ ณ ฐานหายโศก


KM สัญจรครั้งที่ 3 ไปที่จังหวัดบุรีรัมย์  ณ  ฐานหายโศก

                วันที่สองของการไปสัญจรครั้งนี้ได้แบ่งคณะเรียนรู้เป็น 4 คณะ เราได้อยู่ในคณะเดินทางคณะที่ 4จุดดูงานที่ 1 สุกรนั้นไซร้ ไม่ใช่หมาน้อยธรรมดาบ้านพ่อวิจิต จันทรานุวงศ์  หัวหน้าฐานการเรียนรู้บ้านหายโศก 1 อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 ฐานการเรียนรู้ในโครงการการจัดการความรู้ระดับชุมชน จ.บุรีรัมย์ ที่สคส.ให้การสนับสนุน

                หลังจากทานอาหารเช้าของวันที่ 7 มีนาคม 2549 เรียบร้อยแล้ว ก็ขึ้นรถตู้มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่บ้านพ่อวิจิต เมื่อคณะKM สัญจรเดินทางไปถึงบ้านพ่อวิจิตก็ได้พบกับ โรงแรมหมู สำหรับส่วนตัวแล้วไม่คุ้นกับกลิ่นมูลหมู ก็เข้าใจว่าเป็นกลิ่นเหม็น แต่สำหรับคนเลี้ยงสุกร และคุ้นเคยกับสุกรแล้ว กลิ่นมูลหมูที่นี่เรียกได้ว่า หอม gเพราะสูตรอาหารของที่นี่ใช้จุลินทรีย์เป็นส่วนประกอบทำให้มูลสุกรไม่เหม็น (มาก)

                พ่อวิจิต เป็นนักจดบันทึกเช่นกัน ทุกวันพ่อวิจิตจะจดบันทึกว่าในแต่ละวันมีภารกิจอะไรบ้าง เกิดปัญหาอะไรกับการเลี้ยงสุกร แต่เสียดายที่เจ้าหน้าที่โครงการฯ ไม่ได้นำลงในบล็อกให้พวกเราที่อยู่ทางกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ ได้อ่านด้วย

                ซึ่งสุกรที่พ่อวิจิตรเลี้ยงนี้ในอนาคตจะต้องแจกจ่ายให้กับลูกทีมได้เลี้ยงบ้างโดยขณะนี้พ่อวิจิตจะเป็นเสมือนครูทดลองเลี้ยงอยู่ที่บ้านพ่อวิจิต แต่ลูกทีมจะมาเรียนรู้ร่วมกันที่นี่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ส่วนช่วงระหว่างที่ไม่เจอกันก็จะใช้วิธีโทรศัพท์คุยปรึกษาเรื่องการทำการเกษตรกันมากกว่า

                จากนั้นคณะเดินทางก็ได้เดินทางมายังบ้านนายจำรัส จำเริญ ปลูกพริกพื้นบ้านโดยใช้อินทรีย์ทำให้พริกยืด นายจำรัส เล่าให้ฟังว่า ใน 1 เดือนตนจะเก็บพริกได้ 3 รอบ แต่ละรอบจะได้เก็บพริกได้ ประมาณ 60 กก.ต่อ 1 ไร่ ซึ่งราคาขายพริกอินทรีย์นี้จะได้ราคาดีถึงกก.ละ 20 บาท ซึ่งหากเป็นพริกที่ไม่ใช้สารอินทรีย์จะขายได้ราคาเพียงกก.ละ 18 บาทเท่านั้น

                สิ่งที่พิเศษสำหรับพริกของนายจำรัส ก็คือ พริกที่นี่จะมีขนาดยาวกว่าพริกที่อื่น ซึ่งสูตรปุ๋ยของนานจำรัสจะใช้ปุ๋ยสูตร โบกาชิ ซึ่งในการเดินทางครั้นนี้มีเวลาน้อย ทำให้พวกเราไม่ได้ดูสูตรปุ๋ยโบกาชิกันว่าเป็นอย่างไร และมีอะไรบ้างเป็นส่วนผสม

                อย่างไรก็ตามช่วงที่คณะนักวิจัยที่เข้าข่ายได้รับทุนวิจัยอาจารย์ใหม่ ของสกว.ลงพื้นที่ดูพริกในสวนของนายจำรัส ก็พบว่า พริกกำลังเป็นโรคเชื้อราที่เรียกว่า แอนแทคโน๊ด ก็มีการเก็บตัวอย่างพริก ต้นพริก และรากต้นพืชเพื่อหาทางช่วยนายจำรัส เป็นภาพที่น่ายินดีสำหรับเกษตรกรที่มีนักวิจัยมาช่วยแก้ปัญหาถึงในไร่

            สิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งนี้ (แม้ว่าจะไปดูกิจกรรมชาวบ้านหลายครั้ง) ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า จริงๆ อาชีพเกษตรกร ไม่ใช่เป็นอาชีพที่ไม่ต้องใช้ความรู้อะไรมากมาย หากแต่ตรงกันข้าม อาชีพเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ความรู้มากมาย ในการทำการเกษตร โดยเฉพาะเมื่อพบกับโรคพืช โรคสัตว์ แม้ว่าความรู้ส่วนใหญ่จะหาไม่ได้จากห้องเรียนก็ตาม แต่อาชีพนี้ต้องต่อสู้กับสิ่งที่พวกเขาเรียกมันไม่ถูกว่ามันคืออะไร แต่สามารถหาทางแก้ไขได้โดยหลักวิชาชีวิต

                อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรหลายราย ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโรคพืช โรคสัตว์ที่พวกเขาประสบพบเจอได้ ด้วยความไม่รู้ นี่เองทำให้พวกเขาต้องสละอาชีพไปขายแรงในเมือง ต้องสละที่ดินทำกินให้กับเจ้าหนี้หรือนายทุน 

                ดังนั้น การจัดการความรู้ ที่สคส. ทำอยู่จึงเป็นการเดินทางที่ถูกต้องที่สุดสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน ไม่ได้ยกยอองค์กร แต่กลั่นออกมาแล้วจากความคิด และประสบการณ์ ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเราเดินทางสัญจร หรือไม่ใช่ครั้งแรกที่เราคลุกคลีอยู่กับความรู้ของชาวบ้านและเกษตรกร นี่เป็น1 ในหลายสิบครั้ง แต่ครั้งนี้เองทำให้เรารู้สึกอย่างนี้จริงๆ
                 
หมายเลขบันทึก: 18255เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท