ความแปลกใจของคนที่ใช้แต่ "หัว" สัมพันธ์กับโลก เมื่อได้ไปอบรมซาเทียร์


ฝึกอยู่กับความเจ็บปวดบ้าง ยอมหลั่งน้ำตาบ้างแล้วเราก็จะพบตัวเองได้อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น ...มีความสุขขึ้น! และจะพบกับ "การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น" อย่างที่ซาเทียร์เรียกว่า Becoming More Fully Human!

เมื่อวันที่ ๘-๑๑ พ.ค.๕๑ ผมไปเข้ารับการอบรมที่จัดโดยศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่อง Using the Satir Model for Intrapersonal and Interpersonal Deveopment
โดยมีวิทยากรจากแคนาดา ชื่อ Katherine Maki-Banmen ลูกศิษย์ของ Virginia Satir
ผู้บุกเบิกด้านครอบครัวบำบัด (familytherapy) และเป็นผู้สร้างทฤษฎีทางจิตวิทยา
ที่ใช้ในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ผมเข้าใจว่าเธอเป็นนักจิตวิทยาในสายมนุษยนิยม
แบบเดียวกับ Carl Rogers วิธีการที่เธอใช้ละม้ายคล้ายคลึงกับ Rogers มาก
นั่นคือเคารพและเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ของแต่ละคนมาก ทุกคนมีศักยภาพและ
สามารถที่จะค้นพบศักยภาพภายในนี้ได้

ผศ.นพ.ธนา นิลชัยโกวิทย์ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี ทำหน้าที่เป็นผู้แปล
และเป็นวิทยากรในการฝึกปฏิบัติช่วงกลางคืนทั้ง ๓ คืน ผมสังเกตว่าคุณหมอธนา
เป็นผู้หนึ่งที่สามารถ "อยู่กับปัจจุบัน" ได้ดีมาก เพราะสามารถ "จดจ่อ" กับการแปล
ตลอดทั้ง ๔ วัน ทั้งอังกฤษเป็นไทยและไทยเป็นอังกฤษ โดยไม่หลุดเลย

การต้องจดจ่อแบบนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมกลัว คือกลัวว่าตัวเองจะไม่สามารถ "จดจ่อ" ได้
ตลอดรอดฝั่ง ผมจึงทึ่งในตัวคุณหมอธนามาก ในวันสุดท้ายตอนพักเบรก
ผมบอกคุณหมอว่าผมทึ่งมาก คุณหมอบอกว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการทำหน้าที่นี้คือ
การอยู่กับปัจจุบันนี่แหละ

การอบรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๔๐ คน เป็นนักศึกษา ป.โท ของ
โครงการจิตตปัญญา ๙ คน นอกนั้นก็เป็นอาจารย์และบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ
ของมหาวิทยาลัยมหิดลเอง มีผู้ได้รับเชิญจากเพื่อนพ้องผู้ศึกษานพลักษณ์จำนวนหนึ่ง
(รวมทั้งผมด้วย)

สถานที่จัดการอบรมคือที่เดอะรอยัล เจมส์ ลอดจ์ 2000 นครปฐม อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย
ผมขับรถจากมหาวิทยาลัยไปประมาณ ๑๐ นาที

การอบรมครั้งนี้ใช้เวลา ๔ วัน ๓ คืน (ตั้งแต่ ๙ โมงเช้าถึง ๓ ทุ่ม ทุกคืน) หัวข้อละวัน

วันแรก Iceberg - ส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำคือพฤติกรรมที่
เราแสดงออกมาให้คนอื่นเห็น แต่สิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นคือส่วนที่อยู่ลึกลงไปใต้น้ำ
ประกอบด้วย 

  1. ความรู้สึก (feeling) รวมทั้งความรู้สึกต่อความรู้สึกนั้นๆ (feeling of feeling)
  2. การมองตัวเองของเรา (perception)
  3. ความคาดหวัง (expectation)

ทั้ง ๓ อย่างนี้ เชื่อมโยงกับตัวตน(Self - I am) อันเป็นแก่นแท้ของเรา
(ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล) ผ่านทางความปรารถนาลึกๆ (yearning) ของเรา
เช่น ความรัก ความเมตตา ความเชื่อมโยงกับผู้อื่น

Iceberg Model ที่ซาเทียร์ใช้นี้ผมเคยเห็นในวิชาการจัดการความรู้มาก่อน
ใช้ภูเขาน้ำแข็งเหมือนกันแต่นำมาอธิบายคนละเรื่อง คนละวัตถุประสงค์

Iceberg Model ของซาเทียร์ทำให้ผมเข้าใจว่าลึกลงไปภายใต้พฤติกรรมภายนอก
ของเรานั้นมีเรื่องอะไรให้เราพิจารณาบ้าง และเรื่องนั้นๆ (ความรู้สึก การมองตน และ
ความคาดหวัง) เชื่อมโยงอะไรกับตนตัวของเราผ่านตัวความปรารถนาที่ลึกที่สุด(yearning)
ของเราบ้าง นั่นก็คือ มันได้ connected กับ "จิตวิญญาณ" อันเป็นสากลอย่างไรบ้าง
นั่นคือ ความจริง ความงาม ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ความเอื้ออาทร ฯลฯ
ที่เป็นความปรารถนาที่สถิตย์อยู่ในส่วนลึกที่สุดของมนุษย์ทุกคน (จะเรียกว่าพระธรรม
พระเมตตา พระเจ้า หรืออะไรก็แล้วแต่)

คำว่า CONNECTED จึงเป็น key word ของหัวข้อ iceberg

ก่อนหน้าที่จะแนะนำโมเดล Iceberg นี้ Kathy ให้เราแนะนำตัวเองกันก่อน โดยให้เรา
ลุกขึ้นเดินไปหาใครก็ได้อย่างน้อย ๖ คน เพื่อจะบอกเขาว่าเรามีความประทับใจในตัวเอง
อะไรบ้าง ๓ อย่าง บอกของเราเสร็จแล้วก็ฟังของเขาด้วย กิจกรรมนี้ทำให้ผมต้องใช้
ความคิดว่าเรามีอะไรดีๆ ที่เราพอใจตัวเองบ้าง ผมก็คิดว่า ผมใจเย็นไม่โกรธง่าย
ผมมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมโยงอะไรที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน
ให้มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันได้และผมก็(บางครั้งมีลูกบ้า)พร้อมลุยกับสิ่งที่ผมเห็นว่าถูกต้อง
โดยไม่สนใจว่าใครจะใหญ่คับฟ้ามาจากไหน

วันที่สอง Survival Coping Stances ตามทฤษฎีของซาเทียร์นี้ไม่ใช่บุคลิกภาพ (personality)
แต่เป็นพฤติกรรม (behaviour) ที่คนเราใช้กันประจำ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับภาวะไม่ปกติ
มีอยู่ ๔ stances ดังนี้

แบบแรก ตำหนิคนอื่น (Blaming - BL) เขาให้ทำท่าคนยืนเท้าสะเอวและชี้นิ้วใส่คนอื่นเป็นสัญลักษณ์ 

แบบที่สอง ให้บริการ/ช่วยคนอื่น (Placating - PL) ให้ทำท่าคนคุกเข่า
ยื่นมือออกขอความรักหรือความเห็นใจจากคนอื่นเป็นสัญลักษณ์

แบบที่สาม ใช้เหตุผล (Super Reasonable - SR) ใช้ท่าคนยืนเท้าชิด กอดอก ตัวเกร็ง แข็งทื่อ
เป็นสัญลักษณ์ 

แบบที่สี่ ไม่อยู่กับร่องกับรอย (Irrelevant - IR) ใช้ท่าคนทำท่าเต้นไปเต้นมาด้วยท่าทาง
แปลกๆ อยู่นิ่งไม่ได้ เป็นสัญลักษณ์

เธอบอกว่าทั้ง ๔ อันนี้เป็น stances หลัก ผมก็เลยเข้าใจ(เอาเอง)ว่ายังมี stances อื่นๆ อีก
เพราะเธอบอกว่าที่มาของ stances เหล่านี้มี ๓ ตัว คือ Self (S), Other (O), Context (C)
เมื่อเราปิดตัวหนึ่งหรือสองตัวหรือปิดทั้ง ๓ ตัว จะทำให้พฤติกรรมที่เราแสดงออกแตกต่างกัน
เช่น เมื่อเราปิดคนอื่น (ปิดตัว O) เปิดแต่ S กับ C เราก็จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะเราไม่
เห็นคนอื่น ผมจึงคิด(เรื่อยเปื่อย)ว่า ความเป็นไปได้ของการเปิดปิดของสิ่ง ๓ อย่าง เราทำได้
ถึง ๙ วิธี (เท่ากับ ๓ ยกกำลัง ๒) ตั้งแต่ปิดทั้งหมด เปิดบางตัวปิดบางตัว ไปจนถึงเปิดทั้งหมด

ดีที่สุดคือการเปิดทั้งหมดทั้ง S, O และ C

นั่นคือ "เห็นทั้งหมด" แล้วชีวิตเราจะสมบูรณ์

เรื่องที่ทำให้ผมแปลกใจคือการวิเคราะห์ Survival Coping Stances ตามแนวคิด
ซาเทียร์ ๒ แบบหลัง คือ แบบ SR และแบบ IR ว่ามีสาเหตุมาจาก
"อารมณ์ที่อ่อนไหว" (sensitive)
 
Super Reasonable (SR) ไม่กล้าที่จะสัมผัสกับความรู้สึกของตัวเอง (Self - S)
และของคนอื่น (Other - O) แต่ยังดีที่ยังยึดบริบท (Context - C) ไว้ได้ คือยังเล่นกับบริบท
มีเรื่องให้คิดด้วยเหตุด้วยผล  พรรคพวกที่จัดตัวเองเป็นคน ๕ ในนพลักษณ์
ที่ไปอบรมด้วยกัน เวลาให้แบ่งกลุ่มตามพฤติกรรมที่มักใช้ประจำ เขาไปเข้ากลุ่ม SR กัน
และเขาก็งงๆ กับคำอธิบายนี้ เพราะเขาเข้าใจว่าตัวเองเป็นพวกศูนย์หัว
เป็นพวกที่ไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึก คล้ายกับเมื่อฟังแล้วจะมีคำถามเกิดขึ้นว่า
"คนศูนย์หัวจะอารมณ์อ่อนไหวได้อย่างไร?"
 
Irrelevant (IR) ยิ่งหนักไปอีก คือ sensitive กว่าอีก คืออ่อนไหวที่สุด มากกว่าใครในโลก
อารมณ์อ่อนไหวมากจน "กลัว" ที่จะสัมผัสกับอารมณ์ของตัวเอง (S)
ของคนอื่น (O) ไม่กล้าที่จะผูกพันตัวเองกับบริบทใด (C) ด้วย
ผมที่เป็นลักษณ์ ๗ (เมื่อจัดตามนพลักษณ์) ก็ตัดสินใจไปอยู่กลุ่มนี้ ตอนแบ่งกลุ่ม
ซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มเล็กสุด มีแค่ ๓ คน (จาก ๔๐ คน) สักพักหนึ่งมีพรรคพวก
ที่เป็นเพื่อนลักษณ์ ๔ มาสมทบเพิ่มอีกคน (ตอนแรกเขาไปเข้ากลุ่ม Blaming - ตำหนิ แล้ว
สมาชิกในกลุ่มเขาบอกว่าไม่ใช่ หรืออย่างไรนี่แหละ จึงย้ายมา)

ที่แปลกใจก็เพราะว่า ตัวเองเคยศึกษาวิธีการจำแนกบุคลิกภาพคนแบบนพลักษณ์ (Enneagram)
มาก่อน นพลักษณ์จำแนกคนกว้างๆ ออกเป็น ๓ พวก พวกหนึ่งใช้ "กาย" (หรือท้อง) เป็นหลัก
พวกนี้พลังเยอะ อีกพวกหนึ่งใช้ "ความคิด" (หรือหัว) เป็นหลัก ส่วนอีกพวกหนึ่งใช้
"อารมณ์ความรู้สึก" (หรือใจ) เป็นหลัก เรียกว่าเป็นพวกศูนย์กาย ศูนย์หัว และศูนย์ใจ

ในแต่ละศูนย์จะมี ๓ บุคลิกภาพ รวมแล้ว ๓ x ๓ เป็น ๙ บุคลิกภาพ หรือเรียกว่าลักษณะคน
๙ ประเภท คำว่า เก้า ตรงกับบาลี(หรือสันสกฤตก็ไม่ทราบ) ว่า นพ ดังนั้น นพลักษณ์ จึง
หมายถึง ๙ ลักษณะ (ของคน)

ผมเป็นพวกศูนย์หัว ที่มี ๓ ลักษณ์ คือ ลักษณ์ ๕ (นักสังเกตุการณ์อยู่หลังกำแพง)
ลักษณ์ ๖ (ขี้ระแวง) และลักษณ์ ๗ (มีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ตลอดเวลา แต่เป็น
เฒ่าทารกที่ตะกละและขอบสนุก ขี้ลืม ไม่สามารถจดจ่อกับใครหรืออะไร ไม่รักษาสัญญา
ชอบแก้ตัว ฯลฯ)

ผมเป็นพวกลักษณ์เจ็ด ที่มักอยู่แต่ในโลกของความคิด (ขี้เพ้อฝัน) เมื่อเรียนรู้นพลักษณ์จึง
เข้าใจว่าตัวเองไม่ค่อยมี หรือเข้าไม่ถึงอารมณ์ความรู้สึก ทั้งของตัวเองและคนอื่น

อยู่ๆ ก็มาได้ยินทฤษฎีว่า คนอย่างเอ็งนั่นแหละเป็นพวกที่มีอารมณ์อ่อนไหว(sensitive)
มากที่สุดในบรรดามนุษย์ทั้งหลาย

จึงต้องแปลกใจเป็นธรรมดา!

ผมนำความแปลกใจนี้มาใคร่ครวญอยู่หลายวันหลายคืนก็เริ่มคล้อยตามแนวคิดนี้
เริ่มคิดได้ว่า ปฐมบทแห่งพฤติกรรมที่ทำให้เราไม่ยอมผูกพันกับอะไรไม่ว่าจะเป็นตัวเอง
คนอื่น หรือบริบท ก็เพราะ "จริงๆ" แล้ว เรามี "ความรู้สึก" ที่ "อ่อนไหว" มาก
แต่เรา "กลัว" ความรู้สึกทุกอย่าง เราจึงพยายามปฏิเสธความรู้สึกทุกชนิดโดยไม่รู้ตัว
ใจเราอ่อนแอมาก เราไม่สามารถ "ทน" ความรู้สึกเจ็บปวดได้ (เรื่องนี้เป็นผลกระทบจาก
ชีวิตวัยเด็กของเรา ที่เขาอธิบายในการสัมมนาวันที่สาม) เราจึงพยายาม "หนี" จากตัวเอง
จากคนอื่น และจากบริบท (เรื่องราวหรือเหตุการณ์)

เราจึงมีพฤติกรรมภายนอกเหมือนคนไม่สนใจใครจริงจัง ไม่ใส่ใจอะไรจริงจัง
ลื่นไหลไปเรื่อย บางครั้งก็ชอบเล่าเรื่องอะไรเกินจริง (exaggerated)
บางครั้งก็พยายามกลบเกลื่อนความรู้สึก ด้วยการเฉใฉไปเรื่องอื่น หรือทำให้เป็นเรื่องตลกโปกฮา
บางครั้งคำพูดที่เราสื่อสารก็ไม่ตรงกับความรู้สึกที่แท้จริง (หากเราสังเกตตัวเองให้ดี)
เพราะเรารับความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั้นไม่ได้ เราไม่กล้าเผชิญหน้ากับความรู้สึกของตัวเอง
หรือของคนอื่นอย่างตรงไปตรงมา หรือเผชิญหน้ากับสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา
คนอื่น(หากไม่สังเกตให้ดี)จะไม่รู้ว่าบางครั้งขณะที่เรา(พยายามปั้นหน้า)ยิ้มนั้น
ใจเรากำลังเจ็บปวดกำลังทุกข์อยู่ แต่เราก็พยายาม "ผ่าน" และ "ลืม" มันให้ได้โดยเร็วที่สุด
เท่าที่จะทำได้ (และก็มักลืมได้จริงๆ เสียด้วย เป็นความสามารถพิเศษของคนเหลวไหล) 

ไม่รู้คนที่เคยศึกษานพลักษณ์และเป็นคนเจ็ดอย่างผมเป็นแบบนี้บ้างหรือเปล่า?

และเมื่อผมไตร่ตรองลึกๆ ลงไปอีก ผมก็พบว่า นพลักษณ์ก็ไม่ผิดในเรื่องที่ว่า คนเจ็ดเป็นศูนย์หัว
ที่ต้องฝึกใช้ "ใจ" ในการสัมพันธ์กับคนอื่น (และกับตัวเอง) เพราะปรมาจารย์นพลักษณ์(อาจจะ)
เข้าใจอยู่ว่า แท้ที่จริงแล้วเราเป็นพวกที่มี "ใจ" อ่อนไหวมากๆๆๆๆ มากจนเรากลัว "ใจ" ของเราเอง
และของคนอื่น

ท่านจึงให้เรา "หยุด" วิ่งหนี "ใจ" (อารมณ์ความรู้สึก - ทั้งของตัวเองและคนอื่น)
หันหน้ามาเผชิญกับมันอย่างตรงไปตรงมาดูบ้าง
ฝึกอยู่กับความเจ็บปวดบ้าง ยอมหลั่งน้ำตาบ้าง
แล้วเราก็จะพบตัวเองได้อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น ...มีความสุขขึ้น!
และจะพบกับ "การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น"
อย่างที่ซาเทียร์เรียกว่า Becoming More Fully Human!

วันที่สาม Family Mapping - ครอบครัวเป็นสิ่งแวดล้อมแรกที่เราเกิดและเติบโต
เราทุกคนได้รับผลกระทบ(impact)จากครอบครัว การเรียนรู้เพื่อเอาตัวรอด (survival)
ในแบบต่าง (coping stances) เริ่มจากชีวิตในครอบครัว

เรื่องนี้ทำให้ผมเพิ่งมาเข้าใจว่า ทำไมชีวิตผมถึงไม่ค่อย connect กับอะไรจริงจัง
ผม(ถูก)ออกจากบ้านในตัวอำเภอตั้งแต่ ๔ - ๕ ขวบ เพื่อมาเรียนหนังสืออยู่ในตัวจังหวัด
จบชั้นประถมแล้วก็มาเรียนมัธยมในกรุงเทพฯ แต่ไปไม่รอด(เกเร)กลับไปเรียนมัธยมที่บ้าน
ก็ไม่ได้อยู่บ้าน เพราะโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดอยู่ในตัวจังหวัด จบมัธยมก็ได้เป็น
นักศึกษาแลกเปลี่ยนไปอยู่ต่างประเทศปีหนึ่ง กลับมาเรียนต่อก็อยู่หอพักมหาวิทยาลัยได้พักหนึ่ง
ก็ต้องไปอยู่ป่าเพราะเหตุการณ์ทางการเมือง ออกจากป่ามาก็อยู่กรุงเทพฯ เรียนต่อและทำงาน
งานที่ทำก็ต้องตระเวณไปในพื้นที่ชนบททั่วประเทศ อยู่บ้านจริงๆ น้อยกว่าการตระเวณ
จนแฟนที่แต่งงานกันบอกว่าไปเข้าคลีนิคผู้มีบุตรยากมา เธอบอกว่า
หมอสั่งให้ผมต้องหยุดออกต่างจังหวัดระยะหนึ่ง ไม่อย่างนั้นจะไม่มีลูก
แล้วเราก็ทำได้สำเร็จจนมีลูกด้วยกันถึง ๓ คน นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ดูเหมือนว่าชีวิตผม
จะยังอยู่กับ "การเดินทางออกจากบ้าน" (ราวกับถูกสาป) ผมวิเคราะห์ตัวเองให้คู่ Dyads
ที่ช่วยสัมภาษณ์ผมเพื่อช่วยทำ family mapping ให้ผม ว่าประสบการณ์นี้ทำให้ผมกลายเป็น
คนที่ "ไม่ผูกพัน" กับทั้งคนและเรื่องราว (บริบท) อะไรได้ยาวนาน จนกลายเป็นนิสัย
ซึ่งทั้งภรรยาผมสะท้อนเรื่องนี้แก่ผมตั้งแต่แต่งงานกันใหม่ๆ จนกระทั่งมีลูกแล้วผมก็ยัง
ไม่เข้าใจเรื่องนี้ เพิ่งจะมา "สำนึก" เรื่องนี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง และการสำนึกได้เรื่องนี้ก็ได้
นำมาสู่ความเข้าใจชีวิตตัวเองในเรื่องอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเริ่มสัมผัสกับ "ความสุขที่แท้จริง"
ของชีวิตตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ (รวมทั้งได้ตระหนักถึงความทุกข์และเหตุของมันไปพร้อมกันด้วย)

เขียนมาถึงตรงนี้ ผมเกิดความคิดว่าจะเขียนบันทึกประวัติชีวิตตัวเองที่มี impact ต่อพฤติกรรม
ของเรา ตามที่ได้เล่าให้คู่ฝึกฟังในวันนั้น (เสียดายไม่ได้บันทึกเสียงไว้) แต่ยังไม่บันทึกในวันนี้
เพราะวันนี้อยากเน้นเรื่อง Survival Coping Stances ก่อน

กิจกรรมนี้เป็นแบบฝึกหัดที่ Kathy ให้เราได้วิเคราะห์ผลกระทบจากครอบครัวต่อตัวเราเอง
และฝึกวิเคราะห์คนหนึ่งที่เป็นคู่ฝึกของเรา ผลัดกันทำ ใช้เวลานานมากทั้งกลางวันกลางคืน

วันที่สี่  Mandala - พลังชีวิตทั้ง ๘ ด้านของเรามีแค่ไหน เราจะจัดการพลังแต่ละด้านนั้นอย่างไร

คำว่า มันดาลา นี้ เมื่อฟัง Kathy จบแล้ว ทำให้ผมเข้าใจว่าคงจะเป็นคำเดียวกับคำว่า มณฑล ในภาษาบาลีหรือสันสฤตนี่แหละ ไม่แน่ใจ หมายถึงบริเวณที่เป็นวง มักแทนด้วยวงล้อกลมๆ ที่มีซี่ล้อเชื่อม
เข้าสู่จุดศูนย์กลาง และหมุนไปได้ ใช้แทนคำสอนด้านจิตวิญญาณในศาสนาต่างๆ
อย่างของพุทธก็เป็นวงล้ออริยมรรคที่มี(องค์)แปดซี่(แฉก) ที่เรียกว่า ธรรมจักร ที่
กระทรวงศึกษาธิการบ้านเรานำมาใช้เป็นเครื่องหมายประจำกระทรวง หรืออย่างที่เห็น
ในธงเหลืองเวลาวัดจัดงานบุญ

พลัง (Energy) ที่ว่านั้นมีทั้งพลังด้านร่างกาย (Physical) พลังด้านความสัมพันธ์ที่เรามีกับผู้อื่น 
(Interactional) พลังอารมณ์ (Emotional) พลังผัสสะ (Sensory) พลังบริบท (Contextual)
พลังหล่อเลี้ยง (Nutritional - ในความหมายที่กว้างกว่าอาหาร) พลังปัญญา (Intellectual)
และพลังจิตวิญญาณ (Spiritual)

เราทุกคนมีพลังทั้ง ๘ นี้ในตัวเอง มันล้อมรอบตัวเรา (Self) อยู่ ถ้าพลังเราสมดุลย์ ไม่สูงๆ
ต่ำๆ หรือไม่พร่อง และมีกำลังมาก มันก็จะเปล่งประกายแวววาวออกมามาก
จนคนอื่นสังเกตได้ทีเดียว

Kathy เล่าว่า เธอเองมีประสบการณ์สัมผัสกับพลังเหล่านั้นมาแล้วเวลาที่ได้เข้าใกล้บางคน
ที่เธอบอกว่า "เป็นผู้บรรลุธรรม" แล้ว (ในอินเดีย ๒ คน และไทยคนหนึ่ง)

ผมจำได้ว่าวิศิษฐ์ วังวิญญู เคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อปี ๔๘ ชื่อ มณฑลแห่งพลัง
หน้าปกเป็นรูปใบบัวคว่ำ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา จำเนื้อหาละเอียดในนั้น
ไม่ได้ แต่คงเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน

Kathy ให้เราจับคู่กัน ประเมินพร้อมเล่าให้คู่ของเราฟังว่าเราจะให้คะแนนพลังแต่ละอย่างแก่
ตัวเองอย่างไร ลองทำ rating ของตัวเองดู ตั้งแต่ 0 ถึง 10
บางอันเช่นพลังอารมณ์ ผมก็ให้คะแนนตัวเองน้อย (ใกล้ๆ ศูนย์) ในขณะที่พลัง intellectual
ก็ให้ตัวเองมากหน่อย ส่วนพลังจิตวิญญาณก็ให้ปานกลางเพราะรู้สึกว่าระยะหลังๆ เริ่มสามารถ
connect กับพลังอันนี้ในตัวเองได้มากขึ้นในเวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
และแน่นอนว่าเมื่อดูในภาพรวมแล้วผมก็เห็นความไม่สมดุลย์ คือภาพการพล็อตจุดที่สูงๆ ต่ำ
อยู่ในวง Mandala (มณฑลแห่งพลัง) ของตัวเองอยู่มาก

คำถามที่ Kathy ให้คิดต่อคือ แต่ละคนจะหาทางเพิ่มพลังในด้านที่ยังพร่องของเราขึ้นได้อย่างไร?

It's your choices!

 

หมายเลขบันทึก: 182433เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2008 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (26)

สวัสดีครับ

ชีวิตพัฒนา ต้องมีใจเป็นกำลัง

เพราะใจเป็นธรรมชาติ ที่ชอบเรียนรู้ จึงต้องออกแสวงหากันภายนอก เป็นธรรมดา

เมื่อชีวิตท่านใดสามารถควบคุมใจตนเองได้แล้ว จึงมีชีวิตที่สมบูรณ์ เหนือสิ่งที่ได้มา และอยู่เหนือสิ่งที่เสียไป เป็นอิสระทั้งปวง

ความรู้สึกที่ดี..จึงต้องมีความรู้สึกที่ทำให้ชีวิตเราปลอดภัยเสมอ

ขอให้มีสุขครับ

  • ขอบคุณสำหรับคำอวยพรครับ
  • คลิกลิงก์เข้าไปอ่านบันทึกของคุณ ดินทอง มาหลายบันทึกด้วยครับ

ขอบคุณความเห็นคุณดินทอง มีประโยชน์มากทีเดียว

"ควบคุมใจตนเองได้ เป็นอิสระทั้งปวง"

1. ทึ่งคุณหมอธนาเช่นกัน ตั้งแต่พบท่านเป็นวิทยากรแปลงานนพลักษณ์กับการหลงลืมตนเอง ในการจดจ่อ (อยู่กับปัจจุบันขณะ?)

2. About Ice Burg :ว่ากันว่าคนเราเปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ส่วนพ้นน้ำ(พฤติกรรม) แค่ 7% ที่เหลือ 93%เป็นส่วนจมใต้น้ำส่วนนี้แหละมี hiddenสลับซับซ้อนที่นำมาซึ่งพฤติกรรมภายนอกอันต้องศึกษาแหละปลดวาง ได้เรียน SATIR มา พบสิ่งประหลาดใจ+ดีใจอย่างหนึ่ง วิทยากรให้หาอาสาสมัคร The Star ทำ case ศึกษา ทำการคุยเพื่อปลดประเด็นภายใน ก่อนการคุย เราทำการร่างสิ่งที่พบในระดับต่างๆ ใน ICE Burg คือ 1.พฤติกรรม 2. ความรู้สึก 3. การรับรู้ 4. ความคาดหวัง 5. yarning 6. Self ก็ร่างออกมาสมบูรณ์ ครบทั้ง 6 ข้อ แต่หลังจากจบการคุยสักชั่วโมง มาสัมภาษความคิดความรู้สึกthe star อีกครั้งโดย checkและร่างผัง Ice burg ใหม่โดยไล่จากล่างขึ้นบน ทำให้ตัวเองประหลาดใจคือ 1. ไม่มีความคาดหวังในข้อสี่หลงเหลืออยู่สักข้อ คือความสุขเกิดจากภายในจริงๆ ตราบใดที่เรามักมีความคาดหวังเรามักมีทุกข์? 2. อันดับแรก พฤติกรรมเปลี่ยนจริงๆ ด้วยจากตอนแรก ที่ไม่สามารถกอดพ่อ พูดความในใจได้ The star เล่าว่าข้างในเขาสั่งใจออกมาเลยว่าเขาทำได้แล้ว(อภัยจากความรู้สึกปิดกั้นกับพ่อตนเอง) นี่แหละเห็นประโยชน์ของกระบวนการ SATIR เลย ก็เห็นว่าตนเองสามารถใช้ประโยชน์จากกระบวนการนี้ในการคุยกับทั้งตนเอง และคนอื่น ได้แน่ๆ 3. พบว่าคนเรามิได้deal กับภูเขาน้ำแข้งลูกเดียว มันมีหลายลูกทับซ้อนกันในเวลาเดียวกัน และต่างเวลาด้วย นี่แหละคือความยากแห่งการปลดล็อคเราจากสิ่งค้างคา

3. About Mandala ยังไม่ชัดเจน แต่ตนเองเคยไปเรียนเกี่ยวกับ Autogenic training, Subconciousmind คิดว่าจะคล้ายๆ กับ AURA หรือไม่ (AURA คือพลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าปรากฎเป็นแสงสีรอบๆ ตัวสิ่งมีชีวิต อันสัมพันธ์กับสภาวะทางกายภาพ จิตใจ อารมณ์ จิตวิญญาณ ความหมายและความสดของสีออร่าจะต่างกันไป มีทั้งระดับที่เปลี่ยนตามสภาวะ และแบบgenetic(ไม่เปลี่ยน) ว่ากันว่าผู้ที่ปฎิบัติสมาธิจะสามารถมองเห็นออร่านี้ด้วยตาเปล่าแม้ไม่ละเอียดเท่ากับกล้องที่สามารถถ่ายจับแสงออร่านี้ได้อย่างละเอียด แต่ยังไม่ศึกษาละเอียดเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเรื่องออร่า)

4. About Family coping : ได้ผ่านกิจกรรมนี้เช่นกัน ก็พบว่าการได้เล่าเรื่องตนเองโดยมองผ่านผังครอบครัวมีประโยชน์มาก ตนเองและคู่ถึงกับหลั่งน้ำตาโดยไม่ได้ตั้งใจเมื่อครั้งจับคู่กับเล่าเรื่องครอบครัวตนเอง ทำให้เห็นตัวเองมากขึ้น เห็นความสัมพันธ์ในครอบครัว และอิทธิพล ว่าเป็นตัวปิดกั้นความคิดความรู้สึกอย่างไร และแนวโน้มในการก้าวต่อไปในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งในวันนี้ที่ดีกว่าได้

น่าสนใจทีเดียวคะ กับกระบวนการ SATIR กับการนำมาใช้กับตนเอง

ขอบคุณอาจารย์เชษฐ มากคะสำหรับการแบ่งปันองค์ความรู้ดีดีที่ได้พบมา

วิธีการแบบ Satir ใช้การแสดงบทบาทสมมุติ (role play) มาก แต่ผมไม่ได้เล่าตรงนั้น เพราะมีเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้แสดงมาก

Survival Coping Stances น่าสนใจมาก !

แต่ขอยืนยันอีกครั้งว่า จากประสบการณ์การมีนิสัยเป็นคนเศร้า การได้อยู่กับความเจ็บปวดอารมณ์ด้านลบ แล้วศึกษาสิ่งนี้อย่างมีสติ มีประโยชน์ทีเดียวทั้งกับตนเองและคนอื่น

ประโยชน์กับตนเอง : ทำให้เราอ่อนโยน และได้”บทเรียนอันงดงามมีค่ามากมายจากการเรียนรู้” คุณค่าความเศร้านั่นแหละผลักดันให้ตนเองก็เห็นคุณค่าของการมีความสุขมองโลกสดใสได้ด้วยจริงๆ (วิธีคือตัวเองโชคดีที่ได้เกิดมาในพระพุทธศาสนาแค่มองเห็นความเจ็บปวด แต่ไม่ใช่ฉันเจ็บ แต่แค่เข้าใจก็ไม่มีอะไรน่ากลัวต้องหนี แค่เฝ้าดูความเจ็บ ไม่แทรกแซง แล้วปล่อยวาง)

ประโยชน์กับคนอื่นๆ : ถ้าเราเศร้าเป็นเราก็จะสามารถเข้าอกเข้าใจคนอื่นในยามที่เค้าเศร้าทุกข์ใจ คือช่วยเหลือคนอื่นในมิติทางด้านจิตใจและกายภาพได้มากในยามที่คนอื่นต้องการใครสักคน “อย่างมีประสิทธิภาพ”

ด้วยมีความเบิกบานjoyfulness +อุเบกขา

นี่คงทำให้เราเข้าใกล้ตามคำพูดอาจารย์เชษฐยกมากระมัง คือ “อันทำให้เข้าใจการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จริงๆ”

ยังอยากฟังเพิ่มเติมเกี่ยวกับ SR (หรือแม้แต่ IR หรือแบบอื่น) อีก คงต้องหาอ่านเพิ่มเติม

ขอบคุณอาจารย์มากคะ ที่สะท้อนมุมมองที่มองตนเองได้ออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ตรงpart นี้คนอ่านอ่านแล้วสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างคล้ายความรู้สึกแห่งการสำนึกรู้แห่งตนเอง? หรืออะไรสักอย่างไม่แน่ใจ? แต่เป็นการสะท้อนภายในออกมาได้อย่างน่าชื่นชมทีเดียวคะ ขอเป็นกำลังใจสำหรับก้าวต่อไปสำหรับการพัฒนาด้านในเช่นกันคะ

ผึ้ง

ลองพิจาณาบทสนทนาของ ๔ คนข้างล่างนี้ดู ถ้าคุยกันแล้ว
ออกมาแบบนี้ คิดว่าใครมีแนวโน้มใช้พฤติกรรมแบบ
BL, PL, SR และ IR ทำแบบฝึกหัดนี้แล้วคิดอย่างไร?

คนแรก : "ตรวจสอบเอกสารในแฟ้มเสียก่อนออกจากบ้านให้เรียบร้อยนะ จะได้ไม่ต้องกลับมาเอาใหม่อีกรอบ"

คนที่สอง : "มีรายการเอกสารที่ต้องใช้ ตรวจตามเช็คลิสต์ได้เลย"

คนที่สาม : "อะไรนะ...เมื่อเช้าดูข่าวจีนแผ่นดินไหวหรือเปล่า?"

คนแรก : "ไม่ได้ดู...ฉันถามว่าตรวจเอกสารในซองที่จะพาลูกไปสมัครแล้วหรือยัง?"

คนที่สี่ : "อ้อ...เมื่อคืนเห็นวางอยู่ เลยช่วยตรวจดูให้แล้วล่ะ เมื่อคืนเห็นยังไม่ได้เซ็นรับรองสำเนา เช้านี้เลยช่วยเอาไปให้เซ็นให้แล้ว"

คนที่สาม : "มีคนแก่ติดอยู่ในตึก ๔๘ ชั่วโมง กว่าจะช่วยออกมาได้...คนช่วยต้องหาวิธีป้องกันตัวด้วยการผูกเอวตัวเองไว้ให้คนอื่นดึงไว้ด้วย อย่างน้อยซากพังลงมาทับ เพื่อนจะได้ช่วยดึงขึ้นไปได้...นึกถึงตอนตึกเวิร์ลเทรดถูกถล่ม..."

คนที่สอง : "ในหนังสือพิมพ์ ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เฉินตูขึ้นถึงหมื่นสองพันคน แต่ก็ยังน้อยกว่าที่พม่ายอดคนตายแสนสองหมื่นแล้ว"

คนแรก : "เอาล่ะ เอาล่ะ ไปได้แล้วเดี๋ยวจะสาย"

 

เหมือนทำข้อสอบเลยคะ อาจารย์ ขอตอบว่า

คนที่ 1 - BL

คนที่ 2 - SR

คนที่ 3 - IR

คนที่ 4 - PL

สวัสดีค่ะอาจารย์พี่

  • ว่าจะทิ้งรอยจากการเข้ามาอ่านตั้งแต่วันศุกร์แล้วค่ะ ติดว่ามีงานด่วน อะไรๆ ก็เร่งด่วน คนที่ทำงานมีสโลแกนยอดฮิตที่เกี่ยวกับงานผู้บริหารว่า "บัดนาว" ค่ะ  (เน้นน้ำหนักทั้งสองพยางค์เหมือนใส่อารมณ์ความรู้สึกด้วย แต่ไม่โกรธขึ้ง)
  • พี่เชษฐ ค้นพบตัวเองเป็นคนลักษณ์เจ็ด น้องก็ค้นหาว่าตัวเองเป็นคนลักษณ์ที่เท่าไร แต่ไม่รู้ว่าจะใช่จริงไหมค่ะ คิดว่าตัวเองอยู่ลักษณ์ห้า พี่พอมองออกและบอกได้ไหมค่ะ ว่าใช่หรือไม่  จากเรื่องเขียน เล่าผ่านบันทึก เสียดายไม่ได้เผชิญหน้าให้วิเคราะห์นะคะ
  • ถ้ารู้ชัดว่าเป็นลักษณ์ไหน จะได้ปรับปรุงตัวเองให้อยู่ในสังคมได้ ปลอดภัย สงบใช่มั้ยคะ
  • ขอบคุณค่ะ สบายดีนะคะ

 

สวัสดี น้องดาวลูกไก่

การค้นหาตัวเองมีเครื่องมือหลายอย่าง นพลักษณ์เป็นเครื่องมือหนึ่ง มีรากฐานไปจาก

ตะวันออก(ที่เชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ) แต่ไปพัฒนา(บูรณาการ)กับจิตวิทยาตะวันตก

แล้วก็แพร่กลับมาตะวันออก บูรณาการกับศาสนาต่างๆ พี่ก็พบว่าช่วยให้คนจำนวนมาก

ได้ค้นพบ "ตัวตน" และ "แก่นแท้" ตัวเองได้ในระดับต่างๆ กัน

การใช้เครื่องมือ(ความรู้)นพลักษณ์ เพื่อค้นหาตัวตน(และแก่นแท้)ของเรา ทำได้ทั้ง

โดยการศึกษาด้วยตนเอง โดยให้ผู้ที่มีประสบการณ์ถึงขั้นช่วยคนอื่นได้โดยการทำ

"สัมภาษณ์ลักษณ์" (Type Interview) และโดยการจัดกระบวนการ(อบรม)

ถ้ามีหนังสือนพลักษณ์ที่ดีๆ สักเล่ม บอกวิธีการสังเกตตัวเองชัดเจน ลองฝึกตามนั้น

คือ ฝึกสังเกตตัวเองไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง พร้อมกับทำบันทึกประจำวันไปด้วย

ก็พอจะทำให้ตั้งสมมุติฐานได้ ตั้งไว้มากกว่าหนึ่งลักษณ์ก่อนก็ได้ แล้วสังเกตต่อไป

จนแคบเข้าแคบเข้าเหลือลักษณ์เดียว จากนั้นก็สังเกตพฤติกรรมของลักษณ์นั้น

เป็นพิเศษ

แต่ถ้าอยากให้เร็วขึ้นก็เข้าร่วมฝึกอบรมที่เขามีจัดกันทั่วไป ซึ่งมีทั้งสองสาย

สายที่เน้นการเห็นลักษณ์เพื่อประยุกต์ใช้พัฒนาความสัมพันธ์กับคนอื่นที่บ้าน

ที่ทำงานก็มี การสัมมนาในแนวทางนี้มีตลอดเวลา ของสมาคมนักฝึกอบรมก็เห็น

ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ส่วนสายที่เน้นมาทางการเห็นลักษณ์เพื่อพัฒนาชีวิตส่วนบุคคล

ทางด้านจิตวิญญาณเป็นหลัก ก็มีจัดอยู่เป็นระยะๆ ปีหนึ่ง ๔ - ๕ ครั้ง โดยมูลนิธิ

โกมลคีมทองบ้าย เสมสิกขาลัยบ้าง สมาคมนพลักษณ์ไทยบ้าง กลุ่มครูนพลักษณ์

อิสระบางกลุ่มบ้าง ลองติดตามดูในอินเทอร์เน็ต

วิธีที่ได้ผลดีจากประสบการณ์ส่วนตัวของพี่คือเข้ารับการฝึกอบรม เพราะทำให้เรา

ได้รู้จักกับคนที่ใฝ่ใจไปในทางเดียวกัน ช่วยเหลือกันได้

ยินดีที่ได้ข่าวคราว ขอให้น้องและครอบครัวมีความสุขนะ

พี่สุรเชษฐ

ผึ้ง

ถ้าพฤติกรรมแต่ละแบบเกิดจากการปิดและเปิดตนเอง S (Self) คนอื่น O (Other) และบริบท C (Context) ดังนี้

BL (Blaming) เกิดจาก S - O - C (ไม่เห็นคนอื่น)

PL (Placating) เกิดจาก S - O - C (ไม่เห็นตัวเอง)

SR (Super Reasonable) เกิดจาก S - O - C (เห็นแต่บริบท)

IR (Irrelevant) เกิดจาก S - O - C (ปิดหมดไม่มองอะไรเลย)

ลองทายซิว่าบทสนทนาต่อไปนี้ ภาพ S - O - C ของจะเป็นแบบไหน?

คุณดำ - "ดีนะที่คุณเขียวตรวจเอกสารให้ก่อนออกจากบ้าน ไม่งั้นคุณฟ้าอาจเอาไปไม่ครบ"

คุณแดง - "ใช่ ถ้าไม่มีใครช่วยตรวจให้ก่อน คุณฟ้าแกลืมแน่ แกเป็นแบบนี้ประจำ แก้ไม่ได้เสียแล้ว จะทำยังไงกับแกดี วันก่อนก็..."

คุณเหลือง - "ไม่จริง แกไม่ได้ลืมทุกครั้งหรอก ใครจะไปลืมทุกครั้ง แกช่วยทุกคนตลอด งานตัวเองก็ทำ ช่วยคนอื่นก็ช่วย วันก่อนก็..." คิดออกไหม?

 

โห ข้อสอบ entrance! ตื่นเต้น!

โห

ไม่แน่ใจคนเราคงมีหลายๆองค์ประกอบในการกระทำและการพูด

คำพูดก็ต้องมีexpression ด้วย

แต่ถ้าคร่าวๆ

ใช้ความรู้สึก ความคิด แล้วตอบว่า

ดำ -SR (ไม่แน่ใจใน expression)

แดง -BL

เหลือง PL

ฟ้า - IR

เขียว - PL (or SR) แล้วแต่แรงจูงใจ เพราะไม่มีบทพูด

ทั้งเหลืองและแดง - ไม่ใช่ทั้ง ๔ แบบที่ว่ามา
เพราะทั้งคู่ไม่ใส่ใจในบริบท แต่พุ่งความสนใจไปที่คน
(ยึดตัวคน) คือ ถ้าฝังใจว่าใครดีก็มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง (เหลือง)
ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น 
ส่วนคุณแดงก็เช่นเดียวกันถ้าฝังใจว่าใครไม่ดีก็มั่นคงไม่เปลี่ยน
แปลงไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น

ทั้ง ๒ คนนี้ไม่มองบริบท

ถ้าเขียนเป็นสัญลักษณก็จะเป็น S - O - C

เมื่อทั้งสองคนไม่ใช่ BL, PL, SR หรือ IR
เราควรจะตั้งชื่อคุณเหลืองและคุณแดงว่าอย่างไรดีล่ะ?


อาจจะแนะนำให้คุณเหลือง และแดง ลองไปศึกษา Enneagram :)

เพื่อศึกษา สังเกตุตนเอง น่าจะดี

ผึ้งว่าคนแต่ละลักษณ์ก็มีพฤติกรรมต่างกัน ในลักษณ์เดียวกันด้วย

ใช่ คนลักษณ์เดียวกันก็ไม่มีใครเหมือนใครอยู่แล้ว

โดยเฉพาะพฤติกรรมภายนอกอาจผิดแผกแตกต่างกันไปบ้าง

แต่มีลักษณะร่วมกันบางอย่าง เช่น แรงจูงใจภายใน

มีเพือนรุ่นน้องคนหนึ่งอ่านบันทึกนี้ของผมแล้วถามมา ผมเห็นว่าเป็นคำถามที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ ที่สนใจคล้ายๆ กัน จึงนำมาลงไว้ในนี้ ดังนี้ครับ

ถาม - Satir เป็นทฤษฏีทางจิตวิทยา ใช่ไหมครับ

ตอบ - ใช่

ถาม - แล้วมีไว้เพื่อการบำบัดทางครอบครัวหรือสังคม (Family therapy)ใช่หรือไม่?

ตอบ - ใช่และไม่ใช่ ซาเทียร์เป็นจิตวิทยาเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคคล โดยเน้นให้ทำความเข้าใจ "ผลกระทบ" ที่ครอบครัวมีต่อตัวเราแต่ละคน ทฤษฎีของซาเทียร์ไม่ใช่เป็นทฤษฎีทางสังคม(ใหญ่)

ถาม - ส่วนการอยู่กับปัจจุบัน หรือ "จดจ่อ" เกี่ยวข้องกับเรื่อง "ซาเทียร์"หรือไม่???

ตอบ - ผมคิดว่าไม่ (กระมัง) คือคิดว่าไม่เกี่ยวโดยตรง

ถาม - มาถึงเนื้อหาสาระ ใน 4 วัน แต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน เชื่อมโยงกันอย่างไรครับ?

ตอบ -

  • วันแรก Iceberg เป็นพื้นฐานของการเข้าใจตัวเองของปัจเจกบุคคล โดยให้เราได้ทำความเข้าตนเองว่า เบื้องหลังของพฤติกรรมที่เราแสดงออกทั้งหมดมีอะไรซ่อนอยู่ข้างใต้บ้าง
  • วันที่สอง วิเคราะห์ทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เราแสดงพฤติกรรมต่างๆ เหล่านั้นออกมา (survival coping stances)
  • วันที่สาม นำความรู้ความเข้าใจจาก ๒ วันแรก มาวิเคราะห์ผลกระทบจากความสัมพันธ์ที่สมาชิกในครอบครับมีต่อกัน โดยใช้เครื่องมือและกระบวนการที่ซาเทียร์เรียกว่า family mapping
  • วันที่สี่ จากทั้ง ๓ วันแรก ทำให้เราได้เห็นจุดอ่อน(ข้อจำกัด) และศักยภาพของเรา เมื่อเห็นอล้วเราจะพัฒนาพลังต่างๆ (๘ ด้าน) - ขึ้นได้อย่างไร

ถาม - วันที่ 2 เป็นทฤษฏีของซาเทียร์ (Survival Coping Stance) เรื่องพฤติกรรมที่ต้องเผชิญในภาวะไม่ปกติ ทำอย่างไร?ให้เป็นปกติ หรือเพื่อ "การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ" (Becoming More Fully Humen)

ตอบ - ทำได้โดย

  1. ทำความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น
  2. เชื่อมโยงตัวเองกับจิตวิญญาณ
  3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง

ถาม - วันที่ 3 ทำแผนที่ครอบครัวหรือแผนที่สังคม (Family Mapping) โดยดูที่ผลกระทบ เพื่อนำไปสู่การอยู่รอดของชีวิต

ตอบ - แผนที่ครอบครัวไม่ได้ทำเพื่อนำไปสู่การอยู่รอดของชีวิต แต่เป็นการทำให้เห็นว่าการเรียนรู้ที่จะอยู่รอดของเราแต่ละคน เป็นผลมาจากครอบครัว(คนและสิ่งแวดล้อมในครอบครัว) อย่างไร เมื่อได้ทำแล้วเราจะรู้สึกดีกับทุกคนในครอบครัว อโหสิ ให้อภัย เกิดความรัก ความเมตตา เกิดความ "เชื่อมโยง" กับทุกคน (เพราะเรารู้ว่าทำไมสมาชิกในครอบครัวเราแต่ละคนจึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น ลึกๆ แล้วทุนคนเป็นคนดี)

ถาม - วันที่ 4 เป็นการกล่าวถึง พลังชีวิตทั้ง 8 ด้าน (Mandala) ว่าแต่ละคนมีกันเท่าไหร่? แล้วจัดการอย่างไร?ให้สมดุลย์

ตอบ - จัดการโดย ๑.ลองให้คะแนนตัวเองในแต่ละด้าน จาก 1 - 10 เมื่อเห็นด้านใดบกพร่องก็หาทางพัฒนาด้านนั้นขึ้นมา อะไรที่ดี(มีพลัง)มากอยู่แล้วก็รักษาไว้หรือพัฒนาให้แกร่งกล้าขึ้นอีก พร้อมกับจัดพลังเหล่านั้นให้สมดุลย์ด้วยการไม่ละเลยด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งต้องใช้การสังเกตพิจารณาด้วยตัวเอง

งั้นถามเพิ่มคะอาจารย์

อาจารย์คิดว่ายากง่ายมากน้อยแค่ไหนคะที่จะนำ SATIR มาใช้กับตัวเอง

เพราะเห็นแบบว่าเป็นการบำบัดโดยจิตแพทย์สะส่วนมาก หรือเปล่าคะ ?

คิดว่าไม่ยากครับที่จะใช้ SATIR กับตัวเอง (คนปกติที่ไม่บ้า)

หลักสูตรที่ผมไปเข้าอบรมมาก็เป็นหลักสูตรสำหรับตัวเอง

ส่วนหลักสูตรสำหรับบำบัดคนอื่นยังไม่เคยเข้าครับ

เท่าที่ผมเข้าใจ ซาเทียร์ทำเรื่องครอบครัวบำบัดมาก

และไม่จำเป็นต้องทำโดยจิตแพทย์ด้วย

ผมเข้าใจว่าจิตแพทย์ส่วนน้อยด้วยซ้ำที่รักษาคนไข้โรคจิตด้วยวิธีแบบซาเทียร์

นักจิตวิทยาก็ใช้

นักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับการอบรมฝึกฝนดีพอก็ทำได้

ผมเข้าใจว่าจิตแพทย์ส่วนน้อยด้วยซ้ำที่รักษาคนไข้โรคจิตด้วยวิธีแบบซาเทียร์

********           ********

 

แต่มีแพทย์ไม่น้อยที่สนใจวิธี"ดูตน"แบบนี้ค่ะ

 

น่าสนใจมากคะ กำลังศึกษาเรื่องนี้พอดีเพื่อบำบัดตัวเองคะ ถ้ามีโอกาสอยากให้อาจารย์วิเคราะห์พฤติกรรมให้บ้างจังคะ

คุณเทียนครับ ถึงที่สุดคนที่จะวิเคราะห์ตนเองได้ดีที่สุดก็คือเจ้าของพฤติกรรมนั้นเองครับ (สำหรับคนปกติ) จึงขอแนะนำว่า หากสนใจจริงๆ ลองเข้าร่วมกิจกรรมตามลิงก์นี้ซิครับ http://enneagramthailand.org/webboard/index.php?topic=232.0

เคยไปเข้ารับการฝึกจิต แบบ satir มาสองหนแล้วค่ะ

เพราะทำงานด้านสาธารณสุขในชุมชน เค้าให้ไปรับแนวมาใช้กับคนไข้ของเรา

ไปหนแรก แบบไม่อยากไปสุดๆ คือว่าไม่เต็มใจนั่นหละค่ะ แตพอได้ไปฟัง

ก็แบบว่า เออ นะ ชอบเลยค่ะ อาจารย์ที่มาสอนเป็นพยาบาลจิตเวชที่พะเยาค่ะ

ท่านสรุปให้ฟังสั้นๆว่า

ความคาดหวังมากมายทำให้เกิดความทุกข์ ถ้าตัวเราคิดจะไปสอนคนอื่น

เราต้องจัดการกับตัวเราเองก่อน คิดในทางบวก ฝึกฝนตนเองให้โปร่งใส

ก็คือ S - O - C ต้องชี้ขึ้นบนทั้ง 3 อย่าง

ตอนนี้ก็นำมาใช้กับตัวเอง ฝึกตัวเองให้โปร่งใสอยู่ค่ะ

ถึงยังแอบขุ่นๆ เป็นบางครั้ง 5555 แต่ก็ยังดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะเลยคะ อิอิ

คนเราก็เท่านี้เนาะ

นั่งฟังธรรม เกิดซึ้งกับประโยคหนึ่ง ชอบมากเลยค่ะ

พระท่านว่า "ชีวิตก็เหมือนกับใบไม้ ใบอ่อนก็หล่นได้ ใบแก่ก็หล่นได้

เพราะฉะนั้นจงทำวันนี้ให้เหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต"

แวะมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

ยินดีครับ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์อ่านแล้วได้ประโยชน์มากค่ะ

ดิฉันเองเคยมีประสบการณ์เข้าอบรมมองตนในแนวนี้ มาบ้างเช่นกัน

เป็นการพัฒนาตนเองหลักสูตรหนึ่ง

ดิฉันชอบเอาตัวเองเป็น case เพื่อเรียนรู้ในห้องอบรม

วันหนึ่ง..

พออาจารย์ให้ระบายความรู้สึก ดิฉันก็พูด ๆ ไป ถึงเรื่องท่ยังค้างคาในใจ (บางอย่าง)

ดร.ทิพาวดี (อ.ผู้ฝึก ครูผู้ให้) จะถามว่า

"อดีต หรือปัจจุบัน?"

พอพูดต่อ..

อาจารย์ก็ถามอีก .."อดีต หรือปัจจุบัน?"

พอพูดต่อ..

อาจารย์ก็ถามอีก .."อดีต หรือปัจจุบัน?" หลายครั้งมาก

ตอนแรก ๆ ก็งง ๆ ว่าทำไมอาจารย์ถามเช่นนั้น ....แต่สุดท้ายก็ ถึงบางอ้อ

...รู้และเห็นเลยว่า สิ่งที่เราพูด ๆ ระบายออกมานั้นมันเป็นเพียงอดีต มันผ่านไปแล้ว

และสถานการณ์ตอนนี้ก็ดีขึ้นแล้ว

แล้วทำไม เรายังคงมานั่ง คิดติดแต่ อดีตลบ ๆ ของใครบางคน

แล้วก็มาทุกข์ รู้สึกแย่กับสิ่งนั้นอยู่ ทั้ง ๆ ที่ ตอนนี้ ทุกอย่างมันดีขึ้นแล้ว

เห็นความโง่ของตัวเองชัดมาก

สิ่งที่ดี ๆ ในอดีต ทำไมเราไม่เอามาคิด แล้วก็มีความสุข มีกำลังใจกับสิ่งนั้นหล่ะ

ทำไม เราถึงเลือก แต่สิ่งลบ ๆ

จึงเห็นตัวเองว่า สาเหตุที่เรารู้สึก ทุกข์ เศร้า เพราะวิธีคิด ย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ เรื่องที่ผ่านไปแล้วนั่นเอง

จึงเพิ่งเห็นตนเองชัด ๆ ในวันนั้น จากวิธีการที่ อ. ดร. ทิพาวดี (อาจารย์ผู้ให้) ใช้กับดิฉัน นั่นเอง

สรุป เราจะสุข หรือจะทุกข์ อยู่ที่ใจของเรา นั่นเอง ว่าเราจะตั้งใจเราไว้ตรงไหน

ตั้งไว้ตรงสิ่งดี ๆ เราก็สุข ตั้งไว้ตรงสิ่งลบ ๆ เราก็ทุกข์

อยู่ที่เราเลือก ที่จะคิดเรื่องอะไร จะจำตอนไหน ด้านบวก หรือลบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท