การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๕)


การเรียนรู้ตลอดชีวิตกับชาวนา (๑๕)


           ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๑๕ มาลงต่อนะครับ    หนังสือคือแหล่งความรู้จากภายนอก  ในรูปของความรู้ชัดแจ้ง (explicit knowledge) ซึ่งจะต้องดูดซับหรือคว้ามาทดลองใช้   และปรับให้กลายเป็นความรู้ของชาวนา


ตอนที่  15  หนังสือเล่มโปรดและแหล่งข้อมูลไร้พรมแดน
        หากกล่าวถึงเรื่องของการเรียนรู้แล้ว  ทุกคนสามารถได้ความรู้ที่มาจากหลายแหล่ง  ความรู้และข้อมูลข่าวสารส่วนหนึ่ง  สามารถค้นหาได้มาจากในหนังสือ  วารสาร  จุลสาร  หนังสือพิมพ์ต่างๆ  และอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่มาจากอินเตอร์เน็ต  ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ไร้พรมแดน  เพียงมีเครื่องคอมพิวเตอร์กับเครื่องมือสื่อสาร  ก็สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายสู่การเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆได้ทุกวินาที
        ในส่วนแรกนี้  จึงใคร่จะขอแนะนำเอกสารทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของทั้งนักเรียนชาวนาในบทบาทของ “คุณกิจ”  ซึ่งจะรู้จะเข้าใจ  เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญในบทบาทของ “คุณอำนวย”  ที่จะต้องหาวิธีการนำเสนอให้นักเรียนชาวนาเข้าถึงเนื้อหาและเข้าใจเรื่องราว  รวมทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อเราๆท่านๆทั่วไปที่สนใจจะเรียนรู้อีกด้วย


                                       
ภาพที่  92  หนังสือเล่มโปรด  :  ศัตรูธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช
        หนังสือเล่มโปรดของนักเรียนชาวนา  เล่มแรกคือ  ศัตรูธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช  ของ    ศูนย์บริหารศัตรูพืช  จังหวัดชัยนาท  กรมส่งเสริมการเกษตร  เป็นเอกสารที่ตีพิมพ์ในปี  พ.ศ.2547  พิมพ์ที่โรงพิมพ์ชุมชุมสหกรณ์การเกษตรแห่งชาติประเทศไทย  จำกัด  และเป็นเอกสารแนะนำเล่มเล็ก  จำนวน  26  หน้า  พกพาสะดวก  มีภาพสีประกอบ
        เหมาะสำหรับนักเรียนชาวนาที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้เรื่องการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี  หรือต้องการปูพื้นฐานทำความเข้าใจในเบื้องต้นเรื่องแมลง  เพราะเนื้อหานั้นได้อธิบายถึงศัตรูธรรมชาติ  ตัวห้ำ  ตัวเบียน  เชื้อจุลินทรีย์  แนะนำว่านักเรียนชาวนาควรใช้ประโยชน์จากธรรมชาติสู้กับธรรมชาติ  เอกสารคำแนะนำนี้มีประโยชน์ช่วยเสริมความรู้สร้างความเข้าใจ  และมีภาพสีประกอบ  ก็ช่วยทำให้อ่านได้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น

                                      
ภาพที่  93  หนังสือเล่มโปรด  :  มิตรและศัตรูของชาวนา
        และอีกเล่มหนึ่ง  คือ  มิตรและศัตรูของชาวนา  ศัตรูธรรมชาติของแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ  เป็นเอกสารวิชาการของกองกีฎและสัตววิทยา  เป็นเอกสารที่ตีพิมพ์ในปี  พ.ศ.2547  รหัส  ISBN  974-7623-68-4  พิมพ์ที่โรงพิมพ์ชุมชุมสหกรณ์การเกษตรแห่งชาติประเทศไทย  จำกัด  และเป็นเอกสารที่เล่มเล็ก  จำนวน  112  หน้า  พกพาสะดวก  มีภาพสีประกอบ
        เอกสารวิชาการเล่มนี้  มีรายละเอียดเข้มข้นในเนื้อหาที่เน้นเรื่องของแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ  เหมาะสำหรับนักเรียนชาวนาที่ต้องการจะได้เรียนรู้อย่างเจาะลึก  เรื่องตัวเบียนของแมลงศัตรูข้าว  ตัวห้ำของแมลงศัตรูข้าว  โรคของแมลงศัตรูข้าว  ตลอดจนมีการแนะนำการใช้ประโยชน์จากศัตรูธรรมชาติ   
        เจ้าหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” ที่จะต้องช่วยย่อยสาระความรู้ต่างให้แก่นักเรียนชาวนาอย่าง “คุณกิจ”  ให้ “คุณกิจ” ได้เข้าใจอย่างรวดเร็วนั้น  “คุณอำนวย” จะต้องคอยช่วย “คุณกิจ” แปลงสาร 

                                           
ภาพที่  94  เอกสารประกอบการเรียนรู้  เรื่องสมุนไพรและแมลง

                                         
ภาพที่  95  เอกสารประกอบการเรียนรู้  เรื่องเอพีเอ็ม  (ดูภาคผนวก  ฉ  ประกอบ)
        ในเอกสารประกอบการเรียนรู้ที่เจ้าหน้าที่จัดทำให้นักเรียนชาวนานั้น  ได้มาจากแหล่ง       การเรียนรู้ต่างๆ  และมีหลากหลายเรื่องที่จะต้องจัดทำเอกสารให้อ่านง่าย  ให้ผู้เรียนได้เข้าใจ  สามารถเข้าถึงเนื้อหาความรู้อย่างไม่ปวดหัว  นี่เป็นเรื่องสำคัญ  เจ้าหน้าที่จะต้องตั้งคำถามอยู่เสมอเมื่อจัดหาเนื้อหาประกอบว่า  จะทำอย่างไรให้นักเรียนชาวนาสามารถอ่านเอกสารประกอบ          การเรียนรู้ได้ด้วยตนเองแล้วเข้าใจในเรื่องแมลงได้ง่ายๆ 
        ส่วนข้อมูลอันเป็นความรู้จากอินเตอร์เน็ต  เพียงเลือกคลิกดูในเว็บไซด์ดีๆนั้นมีมากมายเหลือหลาย  ซึ่งเราๆท่านๆสามารถใช้ประโยชน์  เสาะแสวงหาความรู้ได้จากทั่วทุกมุมของโลก  เพียงนั่งคลิกอยู่ที่ในหมู่บ้านเล็กๆในเมืองสุพรรณ  ก็เชื่อมต่อกับแหล่งข้อมูลมหาศาลจากทั่วทั้งโลกได้แล้ว  ในประเด็นนี้  โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่อย่าง “คุณอำนวย” เป็นอย่างมาก  แล้วก็นำข้อมูลที่ได้ไปนำเสนอให้แก่นักเรียนชาวนาอย่าง “คุณกิจ” อีกทอดหนึ่ง  เป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่ต้องการพึ่งพาความรู้ความสามารถ  นำมาแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน  เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย 

                            
ภาพที่  96  เว็บไซด์  :  มหาวิทยาลัยมหิดล  www.mu.ac.th

        เว็บไซด์ตัวอย่างนี้  เป็นของสำนักงานข้อมูลสมุนไพร  คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล  คลิกเข้าไปที่  www.mu.ac.th  เป็นสารสนเทศที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร  สรรพคุณทางยา  ข้อมูลค้นหาได้ง่าย  และมีรูปภาพสมุนไพรสวยๆงามๆ  พร้อมกับคำอธิบายอย่างละเอียด
        โดยปกติแล้ว  เจ้าหน้าที่ในบทบาทของ “คุณอำนวย” จำเป็นจะต้องเป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารต่างๆที่สอดคล้องกับนักเรียนชาวนา  เจ้าหน้าที่จะช่วยเหลือเรื่องนี้แก่ “คุณกิจ” อยู่อย่างสม่ำเสมอ  เพราะ “คุณกิจ” ยังติดขัดในเรื่องเทคโนโลยีอยู่บ้าง  “คุณอำนวย” จึงเลยดาวน์โหลดข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมาให้ “คุณกิจ” อ่านเป็นประจำ 
        และนอกจากนี้  ยังมีข้อมูลอีกมากมายที่สามารถเป็นประโยชน์ร่วมกับส่งเสริมการจัดการความรู้  เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  เป็นนักเรียนชาวนาและเจ้าหน้าที่ยุคใหม่จึงต้องก้าวให้ทันกับข้อมูลอยู่ตลอดเวลา


           เห็นกระบวนการ “ดูดซับ”  (capture) ความรู้จากภายนอกไหมครับ     ส่วนนี้เป็นส่วนที่ชาวบ้านไม่ค่อยสันทัด      ยิ่งการค้นอินเทอร์เน็ต ในตอนนี้เรียกว่าชาวบ้านแทบจะทำไม่ได้เลย     ผมอยากเห็นตัวอย่างของชาวบ้านที่มีความสามารถพิเศษด้านการใช้อินเทอร์เน็ต ค้นหาความรู้เอามาใช้งาน   และ มขข. สนับสนุนให้นักเรียนชาวนาผู้นั้นทำหน้าที่ “คุณอำนวย” ให้เพื่อนนักเรียนชาวนาได้ฝึกใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตในการค้นหาและดูดซับความรู้ภายนอก เอามาปรับใช้      ผมเคยเห็นคุณลุงสมพงษ์ ชาวพิจิตร วัย ๗๐ ปี วุฒิการศึกษา ป. ๓   ใช้ตำราสมุนไพรของมหาวิทยาลัยมหิดลเล่มหนาเป็นพันหน้า     คนเหล่านี้คือ นักเรียนรู้ตลอดชีวิต อย่างแท้จริง


วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1820เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2005 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท