ความประทับใจต่อตลาดนัดความรู้ รร.จิระศาสตร์วิทยา ครั้งที่ 1
สรุปผลของตลาดนัดความรู้ครั้งนี้ได้เล่าไว้แล้วโดย ดร. ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ (link เรื่องเล่า)
ดังนั้นผมจะเล่าเฉพาะส่วนที่เป็นความประทับใจของผม ซึ่งจะเล่าเป็น 4 ส่วน ได้แก่
1. ความประทับใจต่อโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา รวมทั้ง อ.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ เจ้าของโรงเรียนและคณะครู
2. ความประทับใจต่อโรงเรียนที่มาร่วมตลาดนัด
3. ความประทับใจต่อกิจกรรม KM ที่มีอยู่แล้ว หรือต่อความคิดริเริ่มดี ๆ ที่อยู่ใน storytelling
4. ข้อเสนอแนะหากจะมีการจัดตลาดนัดความรู้แบบนี้อีก
ความประทับใจต่อโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา
ผมขับรถไปถึงหน้าโรงเรียนเวลา 8.30 น. เห็นบรรยากาศหน้าโรงเรียนตอนเช้าวันเสาร์ที่มีรถยนต์มาจอดส่งเด็กนักเรียนในเครื่องแต่งกายธรรมดาไม่ใช่เครื่องแบบนักเรียน ผมบอกตัวเองว่าโรงเรียนนี้มีชีวิตชีวาแม้ในวันหยุด ที่หน้าโรงเรียนมีเจ้าหน้าที่คอยโบกรถมาต้อนรับและบอกให้ผมเดินตรงเข้าไปตึกใน เดินเข้าไปหน่อยก็พบป้าย “ยินดีต้อนรับผู้บริหารทุกท่านสู่ ‘ตลาดนัดความรู้’ อาคาร 5 ชั้น 3” เดินตรงไปอีกหน่อยก็มีครู 2 คนเดินมาต้อนรับและบอกทาง แต่เนื่องจากผมเห็นว่าพอมีเวลาเนื่องจากตลาดนัดเริ่ม 9.00 น. ผมจึงเดินสำรวจชั้นล่างซึ่งเป็นห้องอาหาร ก็มีครูเดินมาบอกว่าประชุมที่ชั้น 3 ผมเดินขึ้นบันไดพอถึงชั้น 2 ก็เถลไถลสำรวจห้อง 2 ข้างของทางเดิน ทางขวามือเป็น “ห้องเรียนสีเขียว” สนับสนุนโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คือเป็นห้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ถัดไปเป็น “สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” และศูนย์ข้อมูลพรรณไม้ ทางซ้ายมือเป็นห้องเรียนคอมพิวเตอร์ 2 ห้อง มีเด็กอายุประมาณ 8 – 10 ขวบยืนรอยู่หน้าห้อง 5 – 6 คน ถามได้ความว่ามารอเรียนคอมพิวเตอร์ มีครูสอนจัดความเรียบร้อยอยู่ในห้อง เดินไปจนสุดอาคารพบว่ามีสติ๊กเกอร์สีแดงติดอยู่ที่พื้นเพื่อเตือนให้รู้ว่าพื้นต่างระดับ คือลดระดับลงไปประมาณ 5 ซม. บันไดขึ้นชั้นบนมีสติ๊กเกอร์ติดแบ่งครึ่ง มีลูกศรบอกทางว่าฝั่งหนึ่งเป็นทางขึ้น อีกฝั่งหนึ่งเป็นทางลง ผมลืมบอกไปว่าความรู้สึกว่าได้สัมผัสความสะอาดเรียบร้อยเกิดขึ้นตั้งแต่หน้าโรงเรียน
ขึ้นไปชั้น 3 เข้าไปในห้องประชุมซึ่งติดแอร์เย็นฉ่ำ ห้องประชุมใหญ่จริง ๆ เนื้อที่คงจะราว ๆ 1,000 ตารางเมตร จัดโต๊ะเก้าอี้แบบประชุม KM คือสร้างความรู้สึกเท่าเทียม เป็นการจัดโต๊ะเพื่อการเสวนา ไม่ใช่จัดแบบ classroom
2 ข้างห้องมีผลงานทั้งของ รร.จิระศาสตร์และของ รร.ที่มาร่วม แค่ดูผลงานและซักถามก็ได้ความรู้มากมาย
โดยแทบไม่ต้องซักถาม ผมก็สัมผัสได้ถึงความสามารถในการบริหารโรงเรียนของ อ.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ผอ.โรงเรียน สมกับที่ได้รับเลือกเป็นผู้บริหารสถานศึกษาต้นแบบเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ เห็นการบริหารแบบ empowerment และดึงศักยภาพของครูออกมาสร้างสรรค์โรงเรียน โดยคณะกรรมการ 11 คณะ และใช้ JIRASART’s Teaching Model จนได้รับรางวัลพระราชทาน 3 ระดับ (ก่อนประถม, ประถม และมัธยม) ผมจะไม่ขยายความนะครับ ใครสนใจจริง ๆ ไปดูงานเอาเอง หรือเปิดดูที่เว็บไซต์ www.jirasart.com
ความประทับใจต่อโรงเรียนที่มาร่วมตลาดนัด
ผมมีความรู้สึกว่า จ.อยุธยามี รร.ราษฎร์มากเป็นพิเศษกว่าจังหวัดอื่น ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ความประทับใจต่อเรื่องราวใน stroytelling
มีเรื่องราวดี ๆ ใน storytelling มากมาย ทั้งในการเล่าในกลุ่มใหญ่ช่วงเช้าและที่เล่าในกลุ่มย่อยตอนบ่าย ผมหวังว่าทีม ดร. ปฐมพงศ์ คงจะดึงออกมาบันทึกลงในบล็อกเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้สนใจทั่วไป โดยควรดึงออกมาเป็นเรื่อง ๆ ให้เห็นบรรยากาศของเรื่อง เขียนออกมาทีละเรื่องในแบบเรื่องเล่า
ผมจะลองยกตัวอย่างเรื่องโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนเทศบาลวัดแม่นางปลื้ม ซึ่งผมเห็นภาพการพลิกฟื้นสภาพโรงเรียนในถิ่นคนจน อยู่ในที่ลุ่มน้ำท่วมจนจัดสภาพโรงเรียนให้ได้รับรางวัลเหรียญทองในโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของกรมอนามัยได้ โดยดำเนินการแบ่งครูรับผิดชอบ 10 องค์ประกอบของโครงการ
รร.สุนทรวิทยาภูมิใจในโครงการให้ความอนุเคราะห์การศึกษาแก่เด็กชาวเขา ทำให้ได้เรียนรู้วิธีจัดการเรียนรู้ให้เด็กจากต่างวัฒนธรรมได้เรียนรู้ร่วมกัน ถ้าทาง รร.จดบันทึกเรื่องราวเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการที่เด็กอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกัน และบางครั้งทะเลาะกัน ก็จะเป็นการนำเสนอความรู้จากประสบการณ์ตรง มีคุณค่าต่อสังคมของเราอย่างยิ่ง
รร.บ้านคลองตะเคียนหมู่ 2 อยู่ในชุมชนอิสลาม คนยากจน โรงเรียนพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นโดยถามผู้ปกครองนักเรียนว่าอยากให้ลูกหลานเรียนอะไร ได้รับคำตอบว่าต้องการให้เรียนแล้วมีรายได้ จึงจัดหลักสูตรทำโรตี เชิญผู้มีความรู้มาบรรยายและสอนให้ทำ นักเรียนชั้นสูงขึ้นก็ฝึกทำโรตีที่ทำยากขึ้น และเอาไปขายในงาน ทำให้เด็กมีรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน
จากเรื่องเล่า เราสามารถ “สกัด” “ขุมความรู้” บันทึกไว้สำหรับให้เด็กนักเรียนรุ่นหลังมาเรียนรู้ แล้วทดลองทำให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ก็จะเกิด “KM นักเรียน” ขึ้น ผมหวังว่า รร.จิระศาสตร์จะได้บันทึก “ขุมความรู้” นี้เอาขึ้นบล็อกให้ได้ดูกันด้วย
ผมไม่สามารถเล่าเรื่องเล่าได้จากทุกโรงเรียน เพราะบันทึกนี้จะยาวเกินไป รอไว้อ่านจากบล็อกของ รร.จิระศาสตร์ดีกว่านะครับ
ข้อคิดเห็นสำหรับการจัดตลาดนัดครั้งที่ 2 (4 ก.ย.48)
ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือการบริหารเวลา ต้องวางแผนว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงอย่างไรจึงจะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สูงสุด และให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 6 ชม.นี้เกิดผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้ในแต่ละ รร.ที่มาร่วมสูงสุด
เพื่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติในแต่ละ รร. ผมคิดว่าควรกำหนดหัวข้อของวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไว้ล่วงหน้า เอาสาระเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเป็นหัวใจหรือเป้าหมาย ใช้วิธีการ KM เป็นเครื่องมือ ตลาดนัดแต่ละครั้งควรมีสัก 3 – 4 วง (หัวข้อ) เป็นอย่างมาก ถ้าคนเกิน 10 คนในแต่ละวงก็แตกเป็น 2 วง มีการเตรียม “คุณกิจ” ตัวจริงของแต่ละ รร.มาเล่า “วิธีเลิศ” (best practice) ของตน มีการเตรียมฝึก “คุณอำนวยกลุ่ม” และ “คุณลิขิต” ไว้ล่วงหน้า โดยคุณธวัชฝึกให้ในเช้าวันนั้น เช่นอาจนัดกันตอน 8.00 น. หรือ 7.30 น. ใช้เวลาฝึก 1 ชม.ก็พอ
ทุก รร. ที่มาร่วมจะต้องได้รับสัญญาณว่ามาร่วมในฐานะ “ผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้” คือเป็นทั้ง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ไม่ใช่มุ่งมาซับถ่ายทอดความรู้เท่านั้น เพราะจะผิดหลักการของตลาดนัดความรู้
ก่อนวันเริ่มตลาดนัด รร.สมาชิกเดิมจะต้องส่งรายงาน ว่าได้เอาความรู้จากการแลกเปลี่ยนในตลาดนัดครั้งก่อนไปปฏิบัติอย่างไรบ้าง เห็นผลอย่างไร เพื่อให้สมาชิกของตลาดนัดที่ 2 ได้รับทราบ จะได้ประหยัดเวลา ไม่ต้องรายงานในเวลาของตลาดนัด ถ้าได้นำรายงานนั้นขึ้นบล็อกให้อ่านกันได้ล่วงหน้าจะยิ่งดี โดย รร.จิระศาสตร์อาจช่วยแนะนำการอ่าน – เขียนบล็อกให้ รร.สมาชิกมีครูทำหน้าที่ อ่าน – เขียนบล็อกสัก 1 คน และทำหน้าที่สื่อสารให้ครูคนอื่น ๆ ใน รร.ได้ทราบ
ในวันตลาดนัดครั้งที่ 2 อาจจัดเวลาสัก 30 นาทีให้มีการติวเรื่องบล็อกแก่ผู้สนใจ โดยมีเป้าหมายให้รร.สมาชิกมีครูอย่างน้อย 1 คน ทำหน้าที่เป็น blogger ประจำโรงเรียน
ทาง สคส. ขอมอบหมายให้คุณธวัช หมัดเต๊ะ เป็นผู้ประสานงานกับตลาดนัดนี้ และคุณ สุภาภรณ์ ธาตรีโรจน์ เป็นผู้ช่วย
สคส. เราชื่นชมกับ “คุณเอื้อผู้กล้า” คืออาจารย์จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ผอ. รร.จิระศาสตร์วิทยาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอมอบ “เสื้อสามารถ” แก่ท่าน 1 ตัว จะนำไปมอบให้ในงานตลาดนัดความรู้ครั้งที่ 2 วันที่ 4 ก.ย.48 ครับ
และเราก็ชื่นชมกับวิญญาณนักการศึกษาของ ดร. เลขา ปิยะอัจฉริยะ ที่เห็นคุณค่าของ KM และไปร่วมตลาดนัดครั้งที่ 1 ได้ช่วยสรุปประเด็น “แก่นความรู้” จากเรื่องเล่า จึงขอสดุดีไว้ ณ ที่นี้ด้วย
สุดท้าย ขอชื่นชมหนุ่มใหญ่ไฟแรง ดร. ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ รอง ผอ. รร.จิระศาสตร์วิทยา ที่เอาเรื่องราวของตลาดนัดความรู้ รร.จิระศาสตร์ขึ้นบล็อก Gotoknow ทำให้สังคมไทยได้รับรู้เรื่องราวดี ๆ ที่น่าภาคภูมิใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอาข้อสรุปของตลาดนัดขึ้นบล็อก ภายในเวลาเพียง 1.5 ชม. หลังตลาดนัดครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง
รูปที่ 2 อ.จิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ (กลาง), รศ. ดร. นิพนธ์ กินาวงศ์ (ขวา), ดร. ปฐมพงศ์ ศุภเลิศ (ซ้าย)
รูปที่ 3 บรรยากาศห้องประชุม
รูปที่ 4 บันทึกผลงานและการปฏิบัติงานของ รร.จิระศาสตร์วิทยา “ขุมความรู้” ซ่อนอยู่ในนี้
รูปที่ 5 การประชุมกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้และบันทึก “ขุมความรู้”
วิจารณ์ พานิช
31 ก.ค.48