ผ.อ.นิคม ไวยรัชพานิช อดีต ผ.อ.สวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร


เวลานิ้วติดตอนเช้าตื่นมาผมปวดมาก ต้องดึงออกมาทีละนิ้วทรมานมาก
"วันนั้นผมตีกอล์ฟเลยครับ
ห่างแค่ 12 ชั่วโมง
ทำบ่ายวันนี้
พรุ่งนี้เช้าอีกวันหนึ่ง ผมตีกอล์ฟแล้ว"
นายนิคม  ไวรัชพานิช
ผู้อำนวยการสำนักงานสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร
                                                                         3
นักบริหาร "นิ้วล็อก"
             “เวลานิ้วติดตอนเช้าตื่นมาผมปวดมาก ต้องดึงออกมาทีละนิ้วทรมานมาก คือตอนนอนปกติผมอยากจะกางนิ้ว แต่ก็กางไม่ได้ ผ่อนคลายไม่ได้ ทำให้นอนไม่หลับตามธรรมชาติเวลานอนนิ้วก็ต้องยืดได้งอได้ แต่ผมต้องงอทั้งคืนตื่นขึ้นมาก็เลยปวด บางครั้งนั่งน้ำตาไหล น้ำตาร่วง เพราะมันปวด ปวดมาก ๆ
ข้างต้นคือคำบอกเล่าถึงอาการของโรคนิ้วล็อก โดยนายนิคม ไวรัชพานิช อดีตผู้อำนวยการเขตสาธร ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กรุงเทพมหานคร เขาคือ ผู้ป่วยนิ้วล็อกรายต้น ที่ได้รับการรักษาด้วยกรรมวิธีแบบใหม่จากนายแพทย์วิชัย วิจิตรพรกุล
ระหว่างการสนทนาในวันนั้น ผู้อำนวยการสำนักฯ ได้บรรยายถึงอาการของโรคนิ้วล็อกให้ผู้เรียบเรียงฟังอย่างเห็นภาพ สีหน้าของเขาแสดงออกถึงความเจ็บปวดในอดีต อย่างเห็นได้ชัดพร้อมกันนั้นเขาได้เล่าย้อนอดีตถึงสาเหตุอัน แท้จริงที่ทำให้ตนเองเป็นโรคนิ้วล็อกว่า
คนที่เป็นนักบริหารหรือผู้สูงอายุมักเป็นโรคนิ้วล็อกกันมากแบบผม เพราะผมต้องเซ็นหนังสือมาก เซ็นตลอดทั้งวันเซ็นตลอดเวลา ทุกวันนี้ก็ยังต้องเซ็นอยู่
กล่าวจบประโยค ผู้อำนวยการสำนักฯ ก็หัวเราะชอบใจขำขันสาเหตุของการเกิดโรคนิ้วล็อก พร้อมกันนั้นเขาได้ ยกตัวอย่างผู้บริหารระดับสูงบางคนที่ทำงานหนักจนเกินเหตุ ถึงขนาดเป็นโทษต่อร่างกาย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนหนึ่ง สมัยผู้ว่าฯ จำลอง ศรีเมือง เป็นรองผู้ว่าฯ ฝ่ายบริหาร มีแฟ้มเยอะมาก ตั้งเต็มรถเลย ต้องทำโต๊ะขึ้นมา แล้วให้นั่งเซ็น เซ็นไปเซ็นมาก็ติดไหล่ท่านติด” (หัวเราะ)
เมื่อการสนทนาผ่านพ้นไปพักใหญ่ ผู้เขียนจึงได้สอบถามถึงอาการของโรคนิ้วล็อกครั้งแรกในชีวิตว่าเป็นอย่างไรบ้าง ผู้อำนวยการสำนักฯ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
ผมเป็นโรคนิ้วล็อกมานานพอสมควร เดิมเป็นที่นิ้วชี้ด้านซ้าย เพราะไปตัดต้นไม้ ต้นไม้มันมาทับนิ้วชี้ซ้ายแตก ทำให้เกิดพังผืดขึ้นที่ปลอกเอ็น เหตุการณ์นี้เกิดมาประมาณ 10 ปีแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเพราะนิ้วติด อยู่ดี ก็ติดแล้วก็ เอาไม่ออก อีกอย่างปวดมากพอกดตรงหัวแม่มือจะปวดมาก
ผมก็ไปโรงพยาบาลหมอก็ฉีดยาให้ ฉีดเข้าไป 2 ครั้งด้วยกัน เป็นยาสลายพังผืด ก็ช่วยได้พักเดียวแล้วก็กลับมาเป็นอีก ผลสุดท้ายก็คือผมต้องไปผ่าตัด คือผ่าเปิดแผลเลย แล้วหมอก็ตัดปลอกเอ็น ผ่าเสร็จแล้วก็เย็บอีก 3 เข็มใช้เวลาพักฟื้นอีกประมาณ 2-3 อาทิตย์ถึงจะหาย ทำให้ผมทำงานลำบาก แต่ก็หายขาด ไม่กลับมาเป็นอีกเลย
จากนั้นผู้อำนวยการสำนักฯ ได้เล่าถึงกรรมวิธีในการรักษาโรคนิ้วล็อกครั้งที่ 2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต เพราะเขาต้องกลายเป็น หนูทดลองของนายแพทย์วิชัยไปโดยไม่รู้ตัว
ต่อมานิ้วโป้งขวาก็ติดอีก พอดีตอนนั้นผมอยู่เขตสาธรได้รู้จักกับคุณหมอวิชัย สมัยนั้นคุณหมอวิชัยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน เคยทำงานบริการประชาชนด้วยกันก็เลยปรึกษากับคุณหมอวิชัยว่า นิ้วโป้งขวาผมติด ผมจะทำอย่างไรดี
คุณหมอวิชัยบอกว่าตอนนี้ผมกำลังศึกษาวิธีรักษาแบบเจาะเข้าไปแล้วกรีด โดยไม่ต้องเปิดแผล ผมก็บอกว่า ผมอยากทดลอง แต่ว่าระวังหน่อยนะ เพราะเดี๋ยวจะไปตัดโดนเอ็นคุณหมอวิชัยก็บอกว่า ไม่มีปัญหาหรอกพี่ ไม่มีปัญหา เพราะถ้ากรีดเข้าไปโดนเอ็นผมจะสัมผัสได้จะรู้สึกได้
ถึงแม้ว่าในเวลานั้นสภาพจิตใจของผู้อำนวยการสำนักฯจะรู้สึกหวาดหวั่นกับกรรมวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อกแบบใหม่นี้อยู่บ้าง แต่ถึงอย่างไรเขาก็เชื่อมือนายแพทย์วิชัยอย่างเต็มเปี่ยมเพราะขณะนั้นบุคคลทั้งสองรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี
ผมเชื่อถือหมอวิชัยมากนะ เพราะเขาเป็นคนที่ชาวบ้านชื่นชอบและรักมาก เป็นคนที่จริงใจในการให้บริการประชาชนผมยินดีที่จะเป็นตัวทดลองคนแรกๆ สำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้เพราะผมเคยมีประสบการณ์ ได้รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดมาก่อนแล้ว แต่อีกใจหนึ่งก็กลัวว่าจะพลาดไปตัดเอ็นนิ้วเท่านั้นเอง
เมื่อผู้อำนวยการสำนักฯ ตกลงปลงใจเป็นหนูทดลองด้วยความเต็มใจ นายแพทย์วิชัยก็เริ่มต้นรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยกรรมวิธีแบบใหม่ในทันที
คุณหมอวิชัยก็ให้ผมไปล้างมือ แล้วฉีดยาชาให้ จากนั้นก็เจาะลงไปตรงนิ้วโป้งขวา แล้วก็กรีดๆ เสร็จแล้ว ก็ให้ผมลองขยับนิ้วดูว่าขยับได้หรือไม่ ปรากฎว่ายังขยับไม่ได้ ขยับได้หน่อยเดียว คุณหมอวิชัยก็เลยกรีดอีก เพราะยังหาแหล่งไม่ถูก กรีดเสียจนแผลระบมไปหมด มือผมบวมเปล่งเลย ผมก็เลยบอกคุณหมอวิชัยว่า โอ้โห! หมอมือผมบวมเปล่ง เลยนะเนี่ย”  ต้องกินยาแก้ปวดพักฟื้นนานหลายวันเหมือนกัน กว่าแผลจะยุบ กว่าแผลจะหาย
จากการรักษาในวันนั้นเวลาผ่านไปประมาณ 3 ปีเศษผู้อำนวยการสำนักฯ ก็ประสบปัญหาเป็นโรคนิ้วล็อกที่นิ้วอื่น อีกครั้งหนึ่ง
ผ่านไป 3 ปี ผมเป็นอีกแล้วเป็นที่นิ้วโป้งซ้ายและนิ้วก้อยซ้ายมันติด อาจจะเป็นเพราะผมขอบเล่นเกมส์ พอว่าง ไม่รู้จะทำอะไรผมก็เล่นเกมส์กด เกมส์บอย ผมถือว่าเป็นการพักผ่อน แต่พอไปต่างประเทศ ผมต้องเจออากาศหนาว อากาศเย็น ก็เป็นตัวเร่งทำให้นิ้วติดเร็วขึ้น พอกลับมาเมืองไทย ผมก็เลยไปหาคุณหมอวิชัย บอกว่าสงสัยผมจะเป็นอีกแล้ว นิ้วติดกุกกักๆ แต่ติดไม่มากเหมือนเดิมนะ แต่ก็เริ่มติดแล้ว
จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาผ่านไป 3 ปีเศษ วิทยายุทธของนายแพทย์วิชัยได้กล้าแกร่งขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้กรรมวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อกแบบใหม่ ก็ได้รับความสนใจจาก สื่อมวลชนอย่างคับคั่ง
คราวนี้คุณหมอวิชัยเริ่มชำนาญมากแล้ว คุณหมอบอกว่าผมรักษาผู้ป่วยมาหลายร้อยรายแล้ว เพิ่งออกรายการทีวีช่อง 5 ช่อง 7 และลงข่าวในหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับ
เมื่อนายแพทย์คู่ใจกลายเป็นจอมยุทธ ผู้อำนวยการสำนักฯ จึงไม่รู้สึกหวั่นใจเหมือนคราวก่อน ตรงกันข้ามจิตใจของเขากลับฮึกเหิมอย่างบอกไม่ถูก
ผมล้างมือเสร็จ หมอฉีดยาชาให้ ใช้เครื่องมือหมอฟันเจาะเข้าไปแล้วก็กรีด คราวนี้ง่ายแล้ว เพราะหมอชำนาญแล้วหมอบอกให้ผมยกนิ้วโป้งขึ้นมา แล้วก็รู้เลยว่าพังผืดอยู่ตรงไหน ใช้เวลาประมาณ 5 นาที เสร็จแล้วหมอก็เอาผ้ากอชพันไว้
ผมก็บอกหมอว่า พรุ่งนี้ผมนัดเล่นกอล์ฟนะ ... เขาตีกอล์ฟกัน ผมไปตีกอล์ฟได้ไหมเนี่ย หมอก็บอกว่า อย่าเพิ่งไปตีนะ ผมก็กลับบ้าน เอ๊ะ ! ทำไมไม่บวมอย่างที่เคยบวม แล้วก็ลองกำมือดู ก็กำได้ ลองไปจับไม้กอล์ฟดู ก็จับได้
ประโยคต่อไปนี้คือคำยืนยันถึงความมหัศจรรย์ ของกรรมวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อกแบบใหม่ ซึ่งคิดค้นโดย นายแพทย์วิชัย วิจิตรพรกุล จากปากคำของผู้อำนวยการสำนักฯ เอง
รุ่งเช้าไปถึงสนามกอล์ฟผมก็เลยบอกพรรคพวก ... ว่าผมตีได้ วันนั้นผมตีกอล์ฟเลยครับ ห่างแค่ 12 ชั่วโมง ทำบ่ายวันนี้ พรุ่งนี้เช้าอีกวันหนึ่งผมตีกอล์ฟแล้ว หลุมแรก ผมยังขยาดอยู่ แต่พอหลุมที่ 2 –3 ก็จับได้แน่นขึ้น ผมก็เลยตีจนผ้าที่หมอพันไว้หลุดไปเลย
พอตีเสร็จผมก็มองดูแผล โอ้โห! เป็นจุดนิดเดียว ไม่มีปัญหา พออีกวันก็เลยไปเล่าให้คุณหมอวิชัยฟังว่า เมื่อวานผมไปตีกอล์ฟมา ไม่มีปัญหาอะไรเลย
ก่อนจบการสนทนาในวันนั้น ผู้อำนวยการสำนักฯ ได้เล่าเปรียบเทียบการรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยวิธีผ่าตัดเปิดปากแผล กับกรรมวิธีการรักษาแบบใหม่ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพอย่างชัดเจน
ถ้าหากรักษาด้วยการผ่าตัดต้องมีการเปิดแผล เพราะต้องใช้กรรไกรลงไปตัดปลอกหุ้มเอ็น เปิดแผลประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร พอเปิดเสร็จก็ต้องง้างเปิดแผลแล้วก็ตัดพังผืด
คุณหมอท่านนั้นไปใช้อุปกรณ์ผ่าตัดเล็กที่โรงพยาบาลเจริญกรุง พยาบาลก็ฉีดยาชาให้ ผ่าเสร็จแล้วก็ต้องช่วยกันถ่างออก เพราะตัดยากมันมีเนื้อติดอยู่ ผมก็ต้องช่วยเขาถ่างแผลด้วยพอตัดเสร็จแล้วก็เย็บ ต้องใช้เวลาพักฟื้นมากกว่า 2 อาทิตย์ แผลถึงหาย แต่สิ่งที่ปรากฎหลังจากแผลหายดีแล้วก็คือแผลเป็น
การสนทนาในวันนั้นปิดฉากลงด้วยคำชื่นชมจากผู้อำนวยการการสำนักฯ ผ่านหน้ากระดาษของหนังสือเล่มนี้ ส่งต่อไปยังนายแพทย์วิชัย วิจิตรพรกุล
นี่คือความชำนาญของหมอวิชัยและการรู้จักประยุกต์ใช้เครื่องมือง่าย บวกกับเทคนิคและประสบการณ์ทำให้สามารถรักษาโรคนิ้วล็อกได้หายขาด ง่าย ไม่อันตรายเลย ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็เสร็จแล้ว กลับไปทำงานต่อได้
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 1813เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2005 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท