ถึวเวลารื้อฟื้นประวัติศาสตร์แล้ว?


ประวัติศาสตร์

เขียนบล็อคยังไม่ค่อยคล่อง  เลยลองเอาบทความที่เคยเขียนลงมติชน มาให้ลองอ่านกันก่อนนะคะ

คัดจากมติชนรายวัน
วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10773

ถึงเวลา รื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์แล้ว?
โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ



รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ มีแนวคิดที่จะส่งเสริมการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ให้มีความเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเห็นว่าเด็กนักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเรียนวิชาประวัติศาสตร์ค่อนข้างน้อย อีกทั้งเด็กทุกคนไม่ได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์โดยตรง แต่เป็นเพียงสาระหนึ่งของวิชาสังคมศึกษาเท่านั้น ทำให้จำนวนชั่วโมงเรียนไม่น่าจะเพียงพอสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ได้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าเด็กไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เท่าใดนัก แม้แต่เรื่องบุคคลสำคัญของชาติที่เด็กควรจะรู้จัก แต่เด็กบางส่วนก็ไม่รู้จัก ทำให้เห็นว่าเป็นเพราะเด็กมีชั่วโมงเรียนประวัติศาสตร์น้อยเกินไป หรือโรงเรียนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเรียนวิชานี้ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีความรักชาติ และหวงแหนชาติน้อยตามไปด้วย

ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การทำให้เด็กเกิดความรักชาติและหวงแหนชาติบ้านเมือง เป็นภาระหน้าที่ของวิชาประวัติศาสตร์ จริงๆ ? ในเมื่อวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่มุ่งศึกษาเรื่องราวในอดีต ที่สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมด้านต่างๆ ของมนุษย์ทั้งดีและไม่ดี เพื่อนำบทเรียนในอดีตมาใช้กับปัจจุบัน และเพื่ออนาคตที่ดีงาม ซึ่งหมายความว่ามนุษย์น่าจะเอาบทเรียนในอดีตมาทบทวนปัจจุบันว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในอนาคต ดังนั้น วิชาประวัติศาสตร์อาจจะกำหนดไม่ได้ว่าเรียนแล้วจะทำให้คนรักชาติมากขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่

การเรียนประวัติศาสตร์ต้องใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ที่เน้นการรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ อย่างรอบด้าน แล้วนำหลักฐานเหล่านั้นมาวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือ แล้วจึงตีความ หรือพยายามอธิบายว่าหลักฐานเหล่านั้นต้องการสื่อสารอะไรออกมา แล้วจึงอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล

ซึ่งคำอธิบายเรื่องราวใดๆ ในประวัติศาสตร์ อาจจะมีชุดของคำอธิบายเรื่องเดียวกันได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับหลักฐานและการตีความของนักประวัติศาสตร์

แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะถูกอบรมสั่งสอนให้ต้องพยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้อคติ ประสบการณ์ ความเชื่อส่วนตัวมามีอิทธิพลต่อการตีความ และอธิบายเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็ตาม แต่การตีความ หรืออธิบายเรื่องราวใดๆ ย่อมมีทัศนคติส่วนตัวของผู้ตีความปะปนมาบ้างไม่มากก็น้อย

วิธีการทางประวัติศาสตร์จะทำให้เห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าที่หล่อหลอมกล่อมเกลาให้คนเกิดความรักชาติ หรือเชื่อตามสิ่งที่รัฐบอกว่าดีหรือไม่ดี แต่หากเด็กจะเรียนแล้วเกิดความรักชาติก็ย่อมเกิดจากการคิดวิเคราะห์จนเข้าใจว่า เหตุการณ์ของชาติในอดีตที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หรือเกี่ยวเนื่องกับบุคคลที่เป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความรักชาติได้จริงๆ จนเกิดความซาบซึ้งในบทบาทและเรื่องราวนั้นๆ และถือเป็นแบบอย่างในความรักชาติก็อาจเป็นได้

หากวิชาประวัติศาสตร์ไม่ได้มีหน้าที่สอนให้เกิดความรักชาติโดยตรงแล้ว วิชาประวัติศาสตร์มีหน้าที่ทำอะไรให้เกิดกับสังคม?

ประวัติศาสตร์น่าจะเป็นวิชาที่สอนให้เด็กมองอะไรอย่างรอบด้าน หลายมุมมอง โดยใช้หลักฐานและความเป็นเหตุเป็นผลประกอบ มากกว่ามองอะไรเพียงมุมมองเดียว ซึ่งในท่ามกลางสังคมไทยขณะนี้ ที่มีการแบ่งเป็นฝักฝ่าย เกิดการเผชิญหน้ากันไม่มากก็น้อยนั้น วิชาประวัติศาสตร์อาจจะทำหน้าที่ได้ดี ในการอบรมสั่งสอนให้เด็กและเยาวชนของชาติ หรือผู้คนในสังคมรู้จักการใช้เหตุผล คิดวิเคราะห์มองอะไรอย่างหลากหลาย พยายามวางตัวเป็นกลาง (แม้ว่าความเป็นกลางไม่รู้อยู่ตรงไหนก็ตาม) ไม่เชื่อข้อมูลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างง่ายๆ แล้วคิดใคร่ครวญโดยหลักเหตุผล

ถ้าเป็นเช่นนี้ได้ วิชาประวัติศาสตร์ก็น่าจะเป็นประโยชน์ที่จะได้ทบทวนบทเรียนในอดีต เพื่อทำปัจจุบันให้ดี ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตที่มั่นคง

ปัญหาของการเรียนประวัติศาสตร์ อาจไม่ได้เกิดจากการที่มีชั่วโมงเรียนประวัติศาสตร์น้อยเกินไปหรือไม่ หรือการไม่มีชื่อวิชานี้ในสาระพื้นฐานในระดับประถมและมัธยมเท่านั้น แต่ปัญหาของการเรียนประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีต น่าจะเป็นเพราะวิชาประวัติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการหล่อหลอมกล่อมเกลาความเชื่อบางอย่างของรัฐ

ทำให้ในอดีตวิธีสอนประวัติศาสตร์จึงเน้นการท่องจำ จดจำเรื่องราวต่างๆ ที่รัฐเห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์ จึงบรรจุเรื่องราวเหล่านั้นไว้ในตำราเรียน และผู้คนก็ถูกสั่งสอนให้เชื่อกันต่อมา ทำให้มีการใช้เหตุผลต่อปรากฏการณ์ใดๆ ทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างน้อย

ดังจะปรากฏให้เห็นอยู่เสมอว่า หากมีนักประวัติศาสตร์คนใดออกมาอธิบายเรื่องราวใดๆ ขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมของสังคมแล้ว ย่อมถูกประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง โดยปราศจากการใช้เหตุผลหรือการหาวิธีการต่อสู้กันตามหลักวิชาการในวิถีทางประวัติศาสตร์

นั่นย่อมแสดงว่าเวลาที่ผ่านมาการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์เกิดความล้มเหลว เพราะเราไม่อาจทำให้ผู้คนในสังคมเข้าถึงวิธีการทางประวัติศาสตร์ได้อย่างแท้จริง

เมื่อปัญหาของวิชาประวัติศาสตร์อยู่ที่เราไม่อาจทำให้คนที่ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมาแล้ว สามารถนำวิธีการทางประวัติศาสตร์มาใช้ในการดำรงชีวิต หรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบด้าน โดยใช้เหตุและผล ตลอดจนใจกว้างพอที่จะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างแล้ว ย่อมแสดงว่าการเรียนประวัติศาสตร์ แม้ว่าจะเข้มข้นกว่าปัจจุบันมาก ก็ยังเป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไข ดังนั้น ปัญหาจึงอาจจะไม่ใช่เรื่องการเรียนประวัติศาสตร์มากหรือน้อยเท่านั้น

แต่ปัญหาคือทำอย่างไรจะให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่น่าสนใจ และเด็กสามารถนำวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปใช้ในการดำรงชีวิตได้มากกว่า

เด็กจำนวนไม่น้อยหรือแม้แต่ผู้คนในสังคมเองเมื่อได้ยินชื่อวิชาประวัติศาสตร์แล้ว อาจจะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายโดยฉับพลัน และจินตนาการว่าเป็นวิชาที่ต้องจดจำท่องจำเรื่องราวมากมาย ครูผู้สอนหากไม่ได้เรียนทางด้านประวัติศาสตร์โดยตรง ก็อาจจะเกิดความเบื่อหน่ายเช่นกัน พลอยให้วิชานี้ยิ่งน่าเบื่อหน่ายเข้าไปใหญ่

การรื้อฟื้นให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่น่าสนใจ ควรจะเริ่มต้นที่ครูผู้สอนก่อน ต้องกระตุ้นให้ครูเกิดความรู้สึกว่าวิชานี้เป็นวิชาที่สนุกน่าสนใจ ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์ให้มองอะไรอย่างรอบด้าน มีใจคอกว้างขวางมากขึ้น อีกทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

ความสนุก น่าสนใจของวิชาประวัติศาสตร์น่าจะเกิดจากความเข้าใจในลักษณะวิชา ซึ่งนอกจากกระทรวงศึกษาธิการจะเห็นความสำคัญของวิชานี้ด้วยการกำหนดให้เด็กมีชั่วโมงเรียนประวัติศาสตร์มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว

สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำควบคู่กันไปคือ จัดให้ความรู้แก่ครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ ที่อาจจะไม่ได้จบประวัติศาสตร์โดยตรง หรือจบประวัติศาสตร์มาก็ตาม ให้มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการทางประวัติศาสตร์ และจัดอบรมสัมมนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์อย่างขนานใหญ่ โดยใช้นักประวัติศาสตร์ที่วิเคราะห์เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้ดี และมีใจคอกว้างขวางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูผู้สอนประวัติศาสตร์ เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ๆ และกระตุ้นการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนทำให้ครูผู้สอนรับรู้ถึงการอธิบายเรื่องราวในประวัติศาสตร์ใหม่ๆ ให้ทันกับความเคลื่อนไหวในวงวิชาการทางประวัติศาสตร์มากกว่าจะจมปลักอยู่กับความเชื่อในอดีตในบางเรื่อง

การเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้สนุกสนาน เกิดขึ้นไม่ได้หากเรียนโดยให้ท่องจำตามตำราเรียน แต่ควรฝึกให้คิดอะไรให้แตกต่างไปจากเดิม โดยยังคงอยู่บนหลักฐานและเหตุผลที่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน การเรียนประวัติศาสตร์ให้สนุกสนาน เด็กกล้าคิดกล้าแสดงเหตุผล การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตนได้ น่าจะเป็นความสำคัญของวิชานี้ มากกว่าเพียงแค่ทำให้เด็กรักชาติมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น

เพราะไม่แน่ใจว่าเรียนแล้วจะรู้สึกได้อย่างนั้นจริงๆ หรือไม่ หรือไม่แน่ใจว่าจะเอาอะไรมาวัดความรักชาติ ใช้ข้อสอบวัดความรักชาติ? หรือจะใช้คำพูดว่ารักชาติหรือไม่ ยิ่งไม่ได้ผล เพราะเห็นกันอยู่ว่าในสังคมไทยมีผู้พร่ำพูดคำว่ารักชาติจำนวนมาก แต่การกระทำกลับตรงกันข้ามก็เห็นดาษดื่นไป

แต่ถ้าทำให้เด็กรู้และเข้าใจเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของชาติอย่างแท้จริง เพื่อทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อาจก่อให้เกิดความรักชาติได้อย่างยั่งยืน กว่าการปล่อยให้เชื่อไปตามๆ กัน แล้วเมื่อเวลาผ่านไปค่อยมารู้ทีหลังว่าสิ่งที่เคยเชื่อตามกระแสสังคมนั้น อาจเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเสมอไป

นอกจากนี้ความล้มเหลวที่ทำให้เด็กรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์น้อย ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ที่เรียกกันโก้ๆ ว่า "หลักสูตรสถานศึกษา" โดยเฉพาะวิชาสังคมศึกษา ที่บูรณาการด้วยการนำเอาวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หน้าที่พลเมืองและพระพุทธศาสนา รวมไว้เป็นวิชาเดียวกัน แล้วให้แต่ละโรงเรียนกำหนดจำนวนชั่วโมงเรียนเองว่าจะใช้เวลาเรียนต่อสัปดาห์กี่ชั่วโมง ซึ่งจะอยู่ในราว 3-5 ชั่วโมง ในแต่ละโรงเรียน จำนวนชั่วโมงก็อาจเป็นปัญหาถ้ามากเกินไป จำนวนครูอาจไม่พอ หากน้อยเกินไปก็สอนไม่ทัน เพราะเนื้อหาแต่ละระดับมีมาก แม้ว่าจะเปลี่ยนการเรียนจากเทอมเป็นปีการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นก็ตาม

อีกทั้งหลักสูตรบูรณาการแบบนี้ ทำให้ครูผู้สอนซึ่งมีความเชี่ยวชาญต่างกัน เช่น บางคนเชี่ยวชาญวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา หรืออื่นๆ อย่างใดอยางหนึ่ง ต้องมาสอนครบทุกสาระ ซึ่งต้องยอมรับว่าความเชี่ยวชาญของครูที่แตกต่างกัน มีผลต่อการรับรู้ของเด็ก

ดังนั้น หากกระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายจะส่งเสริมให้เด็กได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้นขึ้น คงไม่ใช่แค่กำหนดว่าเด็กทุกคนต้องเรียนประวัติศาสตร์อีก 1 วิชา ในขณะที่สาระประวัติศาสตร์ก็ยังถูกรวบอยู่ในวิชาสังคมศึกษา เพราะถ้าไม่ดึงสาระประวัติศาสตร์ออกมา จะยิ่งทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในสาระสำคัญและเนื้อหา และทำให้ต้องเพิ่มครูที่สอนโดยใช่เหตุ

ตลอดจนไม่เป็นการแก้ปัญหาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ เพราะครูที่ไม่เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ก็ยังต้องสอนอยู่เช่นเดิม ในขณะที่ครูส่วนหนึ่งถูกดึงมาสอนประวัติศาสตร์โดยเฉพาะ หรือครูผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยังต้องไปสอนวิชาอื่น ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาทั้งครูไม่เพียงพอ และการใช้คนไม่เหมาะกับงาน

ดังนั้น สิ่งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการควรจะทำ อาจจะไม่ใช่การหาสาเหตุว่าใครไม่ให้ความสำคัญกับวิชานี้ หรือเป็นเพราะใครที่ทำให้เด็กบางส่วนไม่รู้จักสมเด็จพระนเรศวร

แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับต้นๆ คือ ต้องส่งเสริมให้ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการทางประวัติศาสตร์มากขึ้น

รวมทั้งปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้ครูได้สอนในสิ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้

เพราะหลักสูตรตอนนี้โดยเฉพาะวิชาสังคมศึกษานั้น ทำให้ครูเหมือนเป็ด คือ ทั้งว่ายน้ำได้และบินได้ แต่ทำได้ไม่ดีสักอย่าง

นอกจากนี้หากเห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์มีความสำคัญ ก็ควรส่งเสริมให้ครูผู้สอนได้เข้าไปรับรู้ความเคลื่อนไหวในแวดวงประวัติศาสตร์ ว่าเกิดความตื่นตัวในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ และสามารถสอนให้เด็กรู้จักการนำวิธีการทางประวัติศาสตร์ไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประวัติจำวันและอยู่กับปัจจุบันได้อย่างมีความสุข เพื่ออนาคตที่มั่นคงได้ น่าจะเป็นเป้าหมายของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ มากกว่าการอบรมสั่งสอนให้เด็กเชื่อตามการหล่อหลอมกล่อมเกลาของรัฐเท่านั้น เพราะจะทำให้วิชาประวัติศาสตร์ กลายเป็นวิชาที่รับใช้การเมืองมากกว่ารับใช้สังคม

เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้เกิดคำถามว่า "ถึงเวลารื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์แล้ว?"

หน้า 9

หมายเลขบันทึก: 181166เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2008 02:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

  • ขอบคุณค่ะ  ที่นำบทความที่ดีมาให้อ่าน
  • ประวัติศาสตร์ มีค่ายิ่ง ที่เราควรศึกษา
  • การที่เราเขียนบันทึกใน G2K แห่งนี้  มันคือประวัติศาสตร์ในอนาคตค่ะ

ขอบคุณครูอ้อยนะคะ ที่เข้ามาอ่าน

ขอคำแนะนำหน่อยค่ะ ถ้าจะบันทึกเรื่องอื่นต่อ ทำยังไงคะ ยังงง ๆ อยู่ค่ะ

  • หากน้องจะเขียนเรื่องใหม่  น้องก็คลิกที่ชื่อของตัวเอง  บล็อก  เพิ่มบันทึกค่ะ
  • รออ่านอีกนะคะ

ขอบคุณนะคะพี่ สำหรับคำแนะนำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท