"ทักษิณ" ซุกงบประมาณขาดดุล มี.ค. ออกตั๋วเงินคลัง 6.8 หมื่นล.


"ทักษิณ" ซุกงบประมาณขาดดุล มี.ค. ออกตั๋วเงินคลัง 6.8 หมื่นล.
รัฐบาลทักษิณหมกเม็ดงบประมาณ วงในเผยซุกตัวเลขใช้เงินเกินตัว ปิดข้อเท็จจริง ขณะที่สำนักงบประมาณหมุนเงินหัวปั่น   ชี้เบื้องลึก "ทักษิณ 1-2" งบประมาณขาดดุลตลอด ระบุใช้วิธีเล่นซ่อนหา เปิดเอกสารแผนบริหารหนี้ "ทนง" ยันชอร์ตเงิน ต้องยืดอายุตั๋วเงินคลัง อ้างความจำเป็น ล่าสุด มี.ค. 49 ออกตั๋วเงินคลังรวดเดียว 68,000 ล้านบาท เสริมสภาพคล่องเงินสด
จากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการคลังปรับแผนเงินกู้เพื่อรักษาดุลการคลังเพิ่มอีก 80,000 ล้านบาท จาก 170,000 ล้านบาท เป็น 250,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารเงินให้เป็นไปตามสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จากประเด็นดังกล่าว     จึงเป็นข่าวออกมาว่ารัฐบาลถังแตก ทั้ง ๆ ที่ปีงบประมาณ 2549 เป็นงบประมาณสมดุล  ซึ่งรัฐบาลได้ออกมายืนยันว่าไม่ได้ถังแตก แต่เป็นเรื่องของการบริหารสภาพคล่องเท่านั้น
ต่อประเด็นดังกล่าวแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ประกาศว่า ปี 2548 เป็นปีงบประมาณสมดุลคือรายรับเท่ากับรายจ่าย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ารัฐบาลชุดนี้มีการใช้จ่ายเงินเกินหน้าตักที่มีอยู่ตามงบประมาณ โดยมีการนำเงินคงคลังในส่วนที่เตรียมไว้สำหรับจ่ายเงินเดือนและเงินบำเหน็จข้าราชการไปใช้ในโครงการประชานิยมและโครงการทัวร์นกขมิ้นต่าง ๆ ที่รัฐบาลอนุมัติตามการประชุม ครม.สัญจรในสมัยรัฐบาล "ทักษิณ 1 และ 2" รวมทั้งมีการหมุนเงินโดยการนำเงินของโครงการอื่น ๆ ที่ยังไม่เบิกจ่ายมาใช้ก่อน   "เรื่องนี้คนในสำนักงบประมาณรู้เรื่องดี ว่า จริง ๆ แล้วที่รัฐบาลประกาศว่าใช้งบประมาณสมดุลนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะขาดดุลมาตลอด ดูได้จากดุลเงินสดที่ขาดดุล ต้องออกตั๋วเงินคลังเสริมสภาพคล่องอยู่ตลอด    ล่าสุดเดือนมีนาคม 2549 ได้ออกตั๋วเงินคลังอีกจำนวน 68,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันตั๋วเงินคลังที่ออกก่อนหน้านี้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ  จนบัดนี้ยังคงต้องยืดอายุออกไปเรื่อย ๆ จำนวน 170,000 ล้านบาท"
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สาเหตุที่รัฐบาลยังปกปิดเรื่องนี้ไว้ได้ เนื่องจากว่าโดยอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีอำนาจที่จะออกตั๋วเงินคลังได้ในกรณีฉุกเฉินในเรื่องการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ  เงินบำเหน็จข้าราชการ  หากไม่มีเงินสามารถใช้อำนาจพิเศษออกตั๋วเงินคลังกู้ในระบบการเงินมาใช้ก่อนได้ จึงสามารถ    

นำมาโปะในส่วนที่ขาดได้   นอกจากวิธีดังกล่าวแล้วยังใช้วิธีเอาเงินภาษีที่เก็บได้เกินเป้าหมาย มาทำเป็นงบฯ กลางปีเพื่อไปโปะคืนย้อนหลังที่แอบเอาเงินไปใช้ก่อน และเชื่อว่าใช้เกินวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ เพราะคนนอกหรือประชาชนทั่วไปไม่รู้ว่าตัวเลขการใช้เงินเกินตัวจริง ๆ เป็นวงเงินแค่ไหน  การตัดวงเงินไปโปะที่ยืมไปก่อนหน้านั้นก็ทำได้ง่าย เพราะรู้กันเฉพาะวงในจริง ๆ   ดังนั้นแม้รัฐบาลชุดนี้จะบอกว่าทำงบประมาณสมดุล แต่จริง ๆ      งบประมาณของเราขาดดุลมาตลอด ซึ่งการที่จะจับผิดในเรื่องนี้คงจะยากมาก ต้องเป็นคนวงในเท่านั้นที่จะทราบ" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวเสริมอีกว่า ปกติงบฯ รายจ่ายต่าง ๆ  สำนักงบประมาณจะรู้อยู่แล้วว่าเป็นของใครบ้าง เมื่อเจ้าของโครงการยังไม่ทวง หรือยังไม่มาเบิกจ่าย  สำนักงบประมาณก็สามารถโยกเงินไปตรงโน้นตรงนี้ได้ก่อน ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์ชอร์ตเงินสด เพราะเจ้าของเงินไม่ได้มาเบิกพร้อม ๆ กัน  แต่รัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 ใช้เงินเยอะมาก มีการหมุนเงินโยกไปโยกมาอยู่ตลอดเวลา เมื่อเจ้าของโครงการมาเบิกจ่ายพร้อม ๆ กัน   การชอร์ตเงินสดของรัฐบาลจึงเกิดขึ้น การขออนุมัติออกตั๋วเงินคงคลังเพิ่มจาก 170,000 ล้านบาทเป็น 250,000 ล้านบาท   ในปีงบประมาณ 2549 ส่วนหนึ่งก็มาจากสาเหตุนี้
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ถ้าไปดูแผนการบริหารหนี้ของปีงบประมาณ 2549 ที่นายทนง พิทยะ รักษาการ   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อเสนอ ครม. เมื่อ 16 กันยายน 2548 ระบุถึงแผนการบริหารหนี้เงินกู้ต่าง ๆ ในปีงบประมาณ 2549     จำนวน 796,699.09 ล้านบาท ซึ่งหนี้จำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นหนี้ที่กู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยระบุชัดเจนว่า แม้ในปีงบประมาณ 2549 ได้มีการจัดทำงบประมาณแบบสมดุล แต่ในการบริหารสภาพคล่องเงินคงคลัง มีความจำเป็นต้องออกตั๋วเงินคลังและต้อง roll over (ยืดอายุ) พันธบัตรที่ครบกำหนดอีก 1 รุ่นด้วย โดยแบ่งเป็น
1. การ roll over ตั๋วเงินคลัง เป็นการบริหารเงินสดเพื่อรองรับธุรกรรมการใช้จ่ายของรัฐบาล     ณ สิ้นปี งบประมาณ 2548 มีตั๋วเงินคลังที่จะต้อง roll over 170,000 ล้านบาท
2. การ roll over พันธบัตรรัฐบาลที่ครบชำระวันที่ 24 มกราคม 2549 จำนวน 15,000 ล้านบาท แต่ได้  จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระคืน 5,000 ล้านบาท   ทั้งนี้เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องรักษาระดับงบฯ ลงทุนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จึงต้อง roll over ส่วนที่เหลืออีก 10,000 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากตัวเลขการออกตั๋วเงินคลังซึ่งรายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แสดงการกู้เงินระยะสั้นของรัฐบาล  ดังนี้  ณ พฤศจิกายน 2548 มีตั๋วเงินคลังคงค้าง 162,000 ล้านบาท,    ธันวาคม 2548  เพิ่มขึ้นเป็น 199,000 ล้านบาท   และมกราคม 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 235,000 ล้านบาท    ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2549 ทางตลาดตราสารหนี้ได้เปิดเผยว่า ได้อนุมัติรับตั๋วเงินคลังที่ออกใหม่ในเดือนมีนาคม 2549 มูลค่า 68,000 ล้านบาท เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 28-182 วัน
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายวราเทพ รัตนากร รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการชี้แจงถึงสาเหตุที่ทำให้งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ต้องขยายวงเงินกู้โดยการออกตั๋วเงินคลังมาเสริมอีก 80,000 ล้านบาท  มีเหตุผลดังนี้คือ 1) การเพิ่มขึ้นของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี          ซึ่งในปีปัจจุบันรัฐบาลมีรายจ่ายถึง 1.36 ล้านล้านบาท     2) มาตรการการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลหรือการเร่งเบิกจ่ายงบฯ ล้างท่อ      3) ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2549 รัฐบาลจะต้องจัดเตรียมเงินเพื่อโอนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น        4) ในช่วงปี 2547-2548 รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณ 30,000 ล้านบาท ในการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ และยังมีภาระที่จะต้องจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้กับข้าราชการที่เกษียณอายุ   5) รัฐบาลได้มีการเบิกจ่ายงบฯ กลางไปใช้ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ไข้หวัดนก ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 60,000 ล้านบาท     และ 6) รัฐบาลนำเงินคงคลังไปใช้ชำระหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบอายุไถ่ถอน จำนวน 27,500 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ที่เข้ามาจึงมีความจำเป็นที่ต้อง    กู้เงินจากตลาดเงินในประเทศเพิ่มเติมเพื่อใช้บริหารสภาพคล่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 ได้ใช้เงินนอกงบประมาณผ่านทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.), บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยต่างเร่งขยายสินเชื่อตามนโยบายของรัฐอย่างเข้มข้น      ณ สิ้นปี 2547 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่งมียอดเงินฝากทั้งสิ้น 1.273 ล้านล้านบาท มีการปล่อยสินเชื่อไปทั้งหมด 1.7893 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นการขยายสินเชื่อใหม่ประมาณ 597,100 ล้านบาท และเป็นยอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 1.1922 ล้านล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 111,401.68 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.34% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด  โดย ธอส.  ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 459,525 ล้านบาท มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ประมาณ 37,096 ล้านบาท คิดเป็น 8.07% ของยอดสินเชื่อคงค้าง, ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อ 380,000 ล้านบาท มียอดหนี้เสียประมาณ 19,000 ล้านบาท คิดเป็น 5% ของยอดสินเชื่อคงค้าง, ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อ 320,000 ล้านบาท มียอดหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือน อยู่ประมาณ 10,880 ล้านบาท คิดเป็น 3.4% ของยอดสินเชื่อคงค้าง (ไม่นับรวมหนี้ของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง),   ธนาคารเอสเอ็มอีหรือ ธพว. ล่าสุดได้มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 38,000 ล้านบาท  พบว่ามีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของสินเชื่อรวม     ส่วนของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ประสบปัญหาหนี้เสียเช่นเดียวกัน ณ เดือนกันยายนที่ผ่านมา    ธสน. มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 5,649 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.8% ของยอดเงินให้สินเชื่อคงค้าง
ทั้งนี้ นายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะให้ธนาคารเฉพาะกิจเร่งลดเอ็นพีแอลให้เร็วที่สุด เนื่องจากได้เร่งให้ธนาคารพาณิชย์ลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 2% ในปี 2550

ประชาชาติธุรกิจ  9  มีนาคม  2549

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 18107เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2006 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท