การจัดการศึกษาเอกชนสู่..คุณภาพ/ความเป็นเลิศ


หัวใจสำคัญของคุณภาพ/ความเป็นเลิศอยู่ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด

ทางเลือกและทางรอดของสถานศึกษาเอกชน  คำตอบคือ “คุณภาพ/ความเป็นเลิศ”

”ความเป็นเลิศทางการศึกษาหัวใจอยู่ที่ผู้เรียนสำคัญที่สุด”

          
             ในสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะกิจการโรงเรียนเอกชนไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัด ผู้บริหารย่อมมุ่งหวังสร้างความเป็นเลิศให้กับสถาบันการศึกษาของตน ผู้บริหารสถาบันการศึกษาแต่ละคนมองความหมายของ “ความเป็นเลิศ” และกลยุทธ์ที่จะนำไปสู่ความเป็นเลิศนี้แตกต่างกันไป  แต่สำหรับการประกอบธุรกิจการให้การศึกษาที่มีการแข่งขันรุนแรง ตลาดการศึกษา       ในระดับนานาชาติกำลังขยายตัวและรุกคืบเข้าสู่การเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้น เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคซึ่งได้แก่ นักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครองต้องการได้รับบริการด้านการเรียนการสอนที่มี คุณภาพสูงในระดับราคาพอสมควร

            สถาบันการศึกษาที่มุ่งหวังความเป็นเลิศในรูปของผลกำไรที่สม่ำเสมอหรือเพิ่มสูงขึ้นโดยใช้วิธีการขึ้นราคาเป็นหลักย่อมสูญเสียส่วนแบ่งตลาดและไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในทางตรงกันข้ามผู้บริหารจะต้องหันมาให้ความสนใจกับการบริหารต้นทุนแทนที่ระบบบัญชีที่ใช้อยู่จะต้องไม่บิดเบือนต้นทุนผลผลิตและต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุปสรรค โอกาสหรือช่องทางในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการดำเนินงานแก่ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องด้วย     องค์ประกอบสำคัญของความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษา ได้แก่


            ๑.    ความมีประสิทธิภาพทางด้านต้นทุน
             การประกอบกิจกรรมต่างๆของสถาบันการศึกษานั้น  ผู้บริหารจะต้องกระทำ   โดยตระหนักถึงความมีประสิทธิภาพทางด้านต้นทุนเป็นสำคัญแต่ไม่ได้หมายความว่าสถาบันการศึกษาจะต้องพยายามลดต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำสุด แต่อย่างน้อยต้นทุนก็ควรจะต่ำกว่าต้นทุนถัวเฉลี่ยของการจัดการศึกษาในระดับเดียวกัน

             ๒.   การบริหารงานในลักษณะที่มองกิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษาเป็นภาพรวม
             ผู้บริหารจะต้องเข้าใจความเกี่ยวเนื่องระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ ต้นทุนที่เกิดขึ้นในหน่วยงานหนึ่งอาจได้รับผลกระทบมาจากการตัดสินใจจากหน่วยงานอื่น

             ๓.   การให้ความสำคัญกับทุกกิจกรรมของสถาบันการศึกษา
             ความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษาจะเกี่ยวข้องกับทุก ๆ ส่วนขององค์กร ไม่เฉพาะกิจกรรมการเรียนการสอนเท่านั้น ทุกกิจกรรมมีความสำคัญที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสนใจเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นกิจกรรรมเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา งานหลักสูตรการเรียนการสอน  บุคลากร อาคาร-สถานที่  ธุรการ-การเงิน และความสัมพันธ์กับชุมชน   ตลอดจนการให้คำปรึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาด้านต่าง ๆ  ฯลฯ 
         ๔.   การพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
          ความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษาส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้บริหารเน้นการพัฒนากิจกรรมทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง โดยการให้ความสำคัญกับการบริหารกิจกรรมเพื่อลดความสูญเปล่าหรือกิจกรรมที่ไม่เพิ่มค่าให้เหลือน้อยที่สุดหรือให้หมดไป 

         ๕.   ความพึงพอใจของนักเรียน นักศึกษา
          ความเป็นเลิศของสถาบันการศึกษาจะเกิดขึ้นไม่ได้     ถ้าหลักสูตรและบริการอื่น ๆ ของสถาบันการศึกษาไม่สร้างความพอใจหรือไม่ตรงกับความต้องการของนักเรียน นักศึกษา ดังนั้นสถาบันการศึกษาจะต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ความต้องการของนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประเมินผลความพอใจของนักศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ 


การจัดองค์กรทางการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ มีแนวทางดังนี้
ก. การปรับระบบต่างๆในโรงเรียนเพื่อการพัฒนา
    ๑. ปรับระบบการบริหารจัดการ เน้นกระบวนการบริหารแบบมีส่วนร่วม
    ๒. ปรับสภาพจิตใจครูและบุคลากร โดยการสร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญ ผลักดันคุณภาพ และจัดสวัสดิการ สิทธิผลประโยชน์เกื้อกูลให้ตามสมควรเพื่อเป็นการเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ
    ๓. ปรับระบบการนิเทศและติดตามผล ในลักษณะ "กัลยาณมิตรนิเทศ" ซึ่งมีการนิเทศโดยเพื่อนครู  ฝ่ายวิชาการ และโดยผู้บริหาร เป็นต้น
    ๔. ปรับกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ในลักษณะ "การจัดการความรู้" โดยจัดให้มีการศึกษาเรียนรู้ตามสภาพจริงทั้งในและนอกห้องเรียนหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ฝึกให้นักเรียนรู้จักสังเกต ตั้งคำถาม สืบค้นหาข้อมูล จดบันทึกข้อมูล เล่าเรื่อง/ประสบการณ์ นำเสนอผลงาน และรู้จักประเมินตนเอง ฯลฯ
    ๕. ปรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยเน้นการพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคลอย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งโรงเรียนอาจจัดให้มีกิจกรรมชมรม ชุมนุม ตามความถนัด ความสนใจของนักเรียน นักศึกษาและมีครูเป็นที่ปรึกษา
    ๖. ปรับระบบการแนะแนวการช่วยเหลือนักเรียน เน้นสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน กับโรงเรียนในการช่วยกันดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีกิจกรรมการเยี่ยมบ้าน  การจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพ/แนะแนวศึกษาต่อ  การจัดกิจกรรมร่วมกันคิดไม่ให้(เด็กและเยาวชน)ผิดซ้ำสอง ฯลฯ
    ๗. ปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน โดยสำรวจ และขึ้นทะเบียนแหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและขอความร่วมมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เช่น พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์ท่องเที่ยว ชุมชนผลิตสินค้า OTOP เป็นต้น
    ๘.  ปรับสัมพันธภาพระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครองและชุมชน โดยจัดกิจกรรมร่วมกันในลักษณะ "เครือข่ายผู้ปกครอง" ร่วมกันเฝ้าระวัง ปกป้อง ช่วยเหลือ ดูแลไม่ให้นักเรียน นักศึกษามีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนไป
    ๙. ปรับระบบการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ โดยเน้นการวัดและประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) เช่น จาการสังเกต สอบถาม สัมภาษณ์ และตรวจผลงานนักเรียน      นักศึกษาจากแฟ้มสะสมงาน (Portfolio)
   ๑๐. ปรับกลยุทธ์สู่ความเป็นเลิศทางการศึกษา ในที่นี้มีกลยุทธ์สำคัญๆ ขอนำเสนอเป็นแนวทาง ดังต่อไปนี้
        - ผู้บริหารประสานใจ
        - ทอสายใยสร้างความตระหนัก
        - ชวนชักนิเทศเชิงมิตร
        - ศิษย์เรียนรู้อย่างมีความสุข
        - บุกเบิกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
        - ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่พึงประสงค์
        - สืบสานการเรียนรู้อย่างมั่นคง
        - ดำรงสัมพันธภาพที่ยืนยง
        - มุ่งตรงประสิทธิภาพและประสิทธิผล
        - พัฒนากลยุทธ์สู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ข.แนวทางการดำเนินงานพัฒนาระบบภายในโรงเรียนให้ประสบผลสำเร็จไปสู่ความเป็นเลิศ
   ๑. ศึกษาวิเคราะห์ 
   ๒. มั่นเหมาะวางแผน 
   ๓. แนบแน่นยุทธศาสตร์ 
   ๔. มีมาตรฐานเป้าหมาย
   ๕. หลากหลายสื่อ/นวัตกรรม
   ๖. น้อมนำปฏิบัติ 
   ๗. แน่ชัดควบคุมติดตาม 
   ๘. งดงามประเมินผล 
   ๙. นำยลพัฒนาปรับปรุง 
   ๑๐. รุ่งเรืองสร้างเครือข่าย


          ฉะนั้นทางเลือกและทางรอดของการศึกษาเอกชน บนเส้นทางรัฐบาลใหม่  เชื่อว่า การจัดการศึกษาเอกชนจะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากรัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุน ส่งเสริม ตามแนวทางที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และที่สำคัญคือผู้บริหารสถานศึกษาและผู้ร่วมงานทุกฝ่ายในหน่วยงาน หรือ องค์กร    จะต้องสร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญ และร่วมมือกันผลักดันคุณภาพการศึกษา เชื่อมั่นว่าการจัดการศึกษาเอกชน คงจะสามารถบรรลุผลสำเร็จก้าวไปสู่ “ความเป็นเลิศ”  ซึ่งคงไม่ไกลเกินความเป็นจริงและความเป็นเลิศดังกล่าวหัวใจอยู่ที่ “ผู้เรียนสำคัญที่สุด”
                                            ****************
               

หมายเลขบันทึก: 18037เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

นี่คือ สติ ในการประกอบการ   คือต้องตรวจสอบสภาพแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา   ผมชื่นชมมากครับ   สติ นี้จะนำไปสู่ LO ดังที่อาจารย์เขียน

วิจารณ์ พานิช

เรียน ท่าน ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช ที่เคารพอย่างสูง

กระผมขอน้อมรับข้อคิด คำชมของท่านและจะพยายามรักษาคุณภาพของการจัดการศึกษานี้ไว้ตลอดไป และหวังว่าคงจะได้รับข้อคิดคำแนะนำจากท่านในโอกาสต่อๆไปอีกครับ

                                   ด้วยความเคารพอย่างสูง
                                
                                      ปฐมพงศ์  ศุภเลิศ

เป็นประโยชน์มากๆ ครับ

สกานต์ ผลประมูล

โรงเรียนธนรัตน์อุปถัมภ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท