ผู้ว่ามอบนโยบายแนวทางการดำเนินงานโครงการ “การจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร”


KM เป็นเพียงเครื่องมือเสริมประสิทธิภาพเสริมความยั่งยืนและแก้ปัญหา KM หากตั้งไว้บนหิ้งอย่างเดียวก็จะไม่เกิดประโยชน์เราต้องนำไปปฏิบัติ

 

สัมมนาการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร  ณ หอประชุมเมืองเทศบาลนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๙ มีผู้เข้าร่วมตามเป้าหมายประมาณ  ๑,๒๕๐ คน ซึ่งการจัดสัมมนาในวันนี้ประเด็นของเรื่องก็คือการ อบรมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันของคุณเอื้อจังหวัด อำเภอ และตำบล ในเรื่องของโครงการการจัดการความรู้แก้จนเมืองนครและเรื่องของ KM ช่วงแรกผู้ว่าราชการมอบนโยบาย แนวทางการดำเนินโครงการ ซึ่งท่านผู้ว่าได้กล่าวเอาไว้ว่า โครงการนี้มีการนำเอา KM มาใช้เป็นเครื่องมือเสริมให้กระบวนการชุมชนเข้มแข็งสมบูรณ์ขึ้นเพื่อการแก้ปัญหาในการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนของพื้นที่นครศรีธรรมราชตลอดไปและได้กล่าวถึงกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ๖ ขั้นตอนซึ่งเคยเขียนเล่าให้ฟังแล้วในบล็อคเพื่อทบทวนความจำจะนำมาเขียนให้อ่านกันอีกครั้งนะคะ

กระบวนการชุมชนเข้มแข็ง

ขั้นที่ ๑ มีความเป็นประชาคม คือ แกนนำชุมชน แกนนำของหมู่บ้านจะต้องมีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ โดยมีจุดแข็งคือมีจิตสำนุกร่วมกัน ว่าจะแก้ปัญหาของหมู่บ้าน มีเข็มมุ่งอันเดียวกันว่าจะแก้ปัญหาและพัฒนาและการเป็นประชาคมที่ถูกต้องต้องหาข้อยุติ

ขั้นที่ ๒ เมื่อมีการประชุมทำประชาคมกันอย่างสม่ำเสมอก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แลกเปลี่ยนภูมิปัญญาซึ่งกันและกันหลายคน มีความสามารถที่ไม่เหมือนกัน ภูมิปัญญาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน และมีการนำ KM เข้ามาใส่ลงในกระบวนการทำให้เกิดความรู้ ๒ ส่วน คือความรู้ที่สรุปออกมาเป็นตำรา ความรู้เด่นชัด (Explicit Knowledge) และความรู้ซ่อนเร้นเป็นความรู้ที่แฝงอยู่ในตัวคน เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน เป็นภูมิปัญญา(Tacit Knowledge)

ขั้นที่ ๓ เมื่อทำบ่อย ๆ ขึ้นเริ่มมีรังสีของการพัฒนาแสดงว่าหมู่บ้านเริ่มมีศักยภาพ เพราะคนมุ่งคิดเรื่องส่วนรวมกันมากขึ้น มีการคิดการวิเคราะห์เก่งขึ้น

ขั้นที่ ๔ เรื่องแผนชุมชนพึ่งตนเอง ให้ดีจะต้องเป็นแผนชุมชนแบบพึ่งตนเองจริง ๆ ลดแนวคิดเพื่อการพึ่งพาหันมาใช้แนวคิดเพื่อการพึ่งตนเองให้มากขึ้น

ขั้นที่ ๕  ร่วมกันปฏิบัติตามแผนอย่างเต็มกำลังความสามารถ

ขั้นที่ ๖  ชุมชนมีการประเมินตัวเองทุกระยะ

และท่านผู้ว่าก็ได้กล่าวถึงเรื่อง KM อย่างผู้ที่มีความเข้าใจถ่องแท้

ท่านกล่าวว่าลักษณะของ KM จะนำเอาเข้ามาแทรกแซงในการจัดทำแผนชุมชนด้วยต้องให้เข้าใจว่าวิธีคิด ขอนำเรียนเรื่อง KM เบื้องต้นว่า คือ การนำความรู้รวบรวมภูมิปัญญานำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ความรู้จากการปฏิบัติเป็นความรู้ที่ดีที่สุดเมื่อทำกิจกรรมแล้วมีคุณภาพแล้ว เราฝึกทำเอง เช่น สมมุติว่าท่านทั้งหลาย ทำกลุ่มปุ๋ยหมักสมาชิกมี ๑๕ คนในหมู่บ้านของท่าน การทำกิจกรรมปุ๋ยหมักต้องมี ๓ หลักของ KM

๑)  มี KV คือมีวิสัยทัศน์เพื่อทำกิจกรรมว่าเป้าหมายต้องการทำปุ๋ยหมัก หมู่บ้านของเรามีสวนมังคุดใช้สารเคมีในการใส่ต้นมังคุดเพียงอย่างเดียว ดินจะเสียหาย โครงสร้างของดิน ความสมบูรณ์ของดินอาจลดลงไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องใส่ปุ๋ยหมัก เพื่อทดแทนความเสียหายของดิน เพราะว่าสวนมังคุดทุกสวนต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อบำรุงดอก บำรุงผล ขณะเดียวกันถ้าเราไม่ทำไม่ใส่ปุ๋ยหมักที่โคน เพื่อให้โครงสร้างดินสมบูรณ์จะทำได้ไม่ยั่งยืน ผมไม่ได้แย้งว่ามังคุดท่านใช้สารเคมีแต่ใช้ลักษณะพอเหมาะพอควรขณะเดียวกันต้องมาแก้ทางเรื่องการเพิ่มโครงสร้างของดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นเพราะฉะนั้นท่านรวมกลุ่มกันเพื่อทำปุ๋ยหมัก โดยมีวิสัยทัศน์ว่าจะทำให้โครงสร้างของดินสมบูรณ์ เพื่อให้รุ่นหลานได้ใช้ต่อไป นี่คือวิสัยทัศน์ของกิจกรรมเราจะทำกลุ่มปุ๋ยหมักให้ได้เท่าไร คิดว่าทำเพื่อส่วนตัวเองก่อน มิใช่คิดเพื่อทำขาย KV คือวิสัยทัศน์เพื่อการกำหนดกิจกรรมการทำ KM ต้องมี KV

๒)  มี KS การนำภูมิปัญญารวมกัน มาแชร์ ใครเก่งด้านใด การทำปุ๋ยหมักมีภารกิจย่อยคืออะไรบ้าง การมาแชร์กันในเรื่องของความรู้ เป็นการจัดการความรู้เหมือนกันกับการกำหนดวิสัยทัศน์ จะได้รับความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น หากในหมู่บ้านมีกิจกรรม ๑๐ กิจกรรม มีขุมความรู้ ๑๐ เรื่องหมู่บ้านต่าง ๆเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันก็จะเกิดความรู้ใหม่ ๆ มากมาย

๓)  มี KA เมื่อมีความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาแล้วต้องมีการบันทึกเป็นขุมความรู้ไว้ก็คือการมี KA นั่นเอง

นอกจากนี้ยังให้คำนิยามเรื่องของ

คุณกิจ คือ ผู้ดำเนินกิจกรรมการที่คุณกิจจะดำเนินกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็จะต้องมีคุณอำนวย เมื่อก่อนใช้คำว่าเจ้าหน้าที่วันนี้ก็มากันหลายส่วน เจ้าหน้าที่ภูมิภาค ส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น คุณเอื้อ เป็นผู้ใหญ่ที่สนับสนุนคุณอำนวยอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่เราจะได้จากการทำกระบวนการ KM หรือ การทำโครงการนี้ภาคประชาชนจะได้แก้ปัญหาได้ ได้กระบวนในการบูรณาการของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน หัวใจสำคัญอย่างยิ่งคือท่านทั้งหลายเป็นกำลังในการขับเคลื่อนได้เชื่อมในการพัฒนาที่ดีและเราจะได้ความยั่งยืน

และสิ่งที่อยากจะกล่าวอีก ๓ เรื่อง คือ

๑)      วันนี้เป็นการเริ่มต้นปี ๑ ทำข้อมูล ปีที่ ๒ เอา KM มาใส่ ปีที่ ๓ ติดตามเพิ่มเติมคอยแนะนำ

๒)    ตั้งใจด้วยอุดมคติที่ต้องการให้นครมีการพัฒนาอย่างแท้จริง

๓)    KM เป็นเพียงเครื่องมือเสริมประสิทธิภาพเสริมความยั่งยืนและแก้ปัญหา KM หากตั้งไว้บนหิ้งอย่างเดียวก็จะไม่เกิดประโยชน์เราต้องนำไปปฏิบัติ

บูรณาการ  เรียนรู้ (กระบวนการ บันทึกและประเมิน) เปลี่ยนแนวคิดไปสู่วิธีใหม่

 

 

หมายเลขบันทึก: 17984เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณ หทัย/จิรา ที่ Share สิ่งที่เกิดขึ้นที่นครฯ ให้พวกเราฟัง ..หลายจังหวัดคงจะอิจฉาเพราะไม่มีผู้ว่าฯ เหมือนผู้ว่าเมืองนครฯ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท