ประชุมทีมตรวจสุขภาพ


กิจกรรมตรวจสุขภาพประจำปี เป็นกิจกรรมบริการที่ไม่ใช่แคกิจกรรมช่วยสร้างเสริมสุขภาพแต่เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้าได้ด้วย

                  เมื่อวานนี้(7มีนาคม) บ่ายโมง ผมเชิญทีมงานตรวจสุขภาพซึ่งเป็นทีมคร่อมหน่วยงานทีมหนึ่ง ที่มีแกนหลักคืองานการพยาบาลพิเศษ มาพูดคุยเพื่อทบทวนย้อนหลังในลักษณะRetrospect กันว่า กิจกรรมที่ทำมามีส่วนใดที่จะต้องปรับปรุงบ้างเพื่อให้เกิดความพึงพอใจของลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยมีตัวแทนจากกลุ่มการพยาบาล งานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ งานชันสูตร งานเวชกรรมฟื้นฟู งานทันตกรรม งานรังสีวิทยา งานบริหารทั่วไป   ได้มีการพูดคุยประเด็นต่างๆกันตั้งแต่

                 ด้านการตลาด การหาลูกค้าหรือเชิญชวนหรือชักชวนหรือทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพอย่างเหมาะสมเพราะผมถือว่าบริการส่งเสริมสุขภาพก็เป็นสินค้าหนึ่งที่เราจะต้องทำให้ลูกค้าสนใจ ไม่ใช่ให้ลูกค้าสนใจแค่บริการรักษาพยาบาลเท่านั้น พี่ตุ้ยเล่าว่าตอนนี้ลูกค้ากลุ่มลูกค้าเก่าที่เป็นหน่วยงานยังคงมีเท่าเดิม ไม่เพิ่มและไม่ลดลง โดยพอถึงกำหนดเวลาเทางลูกค้าจะติดต่อมาเองเลย โดยที่เราไม่ต้องไปบอก มีหน่วยงานหนึ่งปีที่แล้วเราได้ปฏิเสธไปเพราะไม่สามารถจัดบริการให้ได้ ปีนี้ก็ยังติดต่อขอให้เราไปให้บริการอีกเพราะประทับใจการให้บริการของเรา และก็มีลูกค้ารายใหม่ที่walh inเข้ามาเองแล้วก็บอกต่อๆกันไปเพิ่มมากขึ้น ในปี 2548 ที่ผ่านมา เรามีคนไข้ที่มาตรวจโรค 70,000 กว่ารายแต่มีลูกค้าที่มารับบริการทั่วไปทางด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคถึง 60,000กว่าราย แต่ทั้งนี้การตรวจสุขภาพทั้งหมด บางส่วนเก็บเงินได้ บางส่วนให้บริการฟรีด้วย

                 ด้านโปรแกรมการตรวจสุขภาพ ซึ่งเรามี 4 โปรแกรม แต่จะมีลูกค้าบางรายที่ต้องการพิเศษไปกว่านั้น ก็จะต้องพูดคุยกับทีมให้บริการก่อนว่า เขามีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคอะไรมาก ก็ตรวจเพิ่มเติมตามความเสี่ยงนั้นๆ และเราคุยกันว่าอาจมีการปรับโปรแกรมให้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละรายเป็นแบบ Mass customization

               ด้านการจัดเวลาการตรวจ ทางงานการพยาบาลพิเศษ จะประสานกับด้านการตลาดเพื่อจัดคิวการตรวจให้ทันใจลูกค้าและสะดวกต่อทีมงานของโรงพยาบาลที่จะออกไปให้บริการได้

                ด้านทีมงานที่ออกไปให้บริการในหน่วยงานของลูกค้า เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่ขอให้เราออกไปบริการ ทำให้การจัดเวลาค่อนข้างยาก โดยทีมที่ออกไปตรวจในครั้งแรกจะประกอบไปด้วยพยาบาล 1 คน เจ้าหน้าที่ห้องบัตร 1 คน พนักงานขับรถ 1 คน เจ้าหน้าที่ห้องชันสูตร 1 คน ที่ประชุมก็ตกลงกันว่าในวันหนึ่งอาจจะต้องจัดเป็น 2 ทีมเลยเพื่อให้สามารถตรวจได้วันละ 2 หน่วยงาน จะได้ทำให้ลูกค้าไม่รอนาน โดยในส่วนของพยาบาลก็จะมาจากงานการพยาบาลพิเศษ 1 คน พยาบาลจากงานประกันสุขภาพ 2 คน จากงานสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ 2 คน จากงานห้องคลอด ห้องผ่าตัด วิสัญญี 3 คนหรือจากจุดอื่นๆของกลุ่มการพยาบาลที่หัวหน้าพยาบาลจะจัดมาให้ มาจัดเป็นตารางเวลาการออกปฏิบัติงาน จะทำให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนห้องแล็บมีเจ้าหน้าที่ 5 คน สามารถออกได้วันละ 2 ทีม (เป็นข้อเสนอจากห้องแล็บเองด้วย) ส่วนจากห้องบัตรถ้าผู้รับบริการน้อยกว่า 20 คนก็อาจจะไม่ต้องออกไป การจัดเป็นทีมคร่อมหน่วยงานที่ขอคนสนับสนุนจากงานต่างๆได้แบบนี้ ทำให้งานคล่องตัวขึ้นมาก

                 ด้านการฟังผลตรวจสุขภาพ จะให้ทางผู้รับบริการมาฟังผลที่โรงพยาบาล โดยพบกับพยาบาลเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นอีกครั้งหนึ่งก่อนแล้วไปเอ๊กซ์เรย์ ตรวจฟัน ตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจภายใน ตรวจสมรรถภาพทางกาย เมื่อได้ครบแล้วก็จะมาฟังผลและข้อแนะนำขั้นสุดท้ายที่ห้องตรวจแพทย์ มีสมุดบันทึกผลการตรวจแจกให้ไปทุกคน ขั้นตอนนี้จะต้องมีการประสานงานกันอย่างมากเพราะต้องเกี่ยวข้องกับหลายจุดบริการ

                 ด้านการเบิกจ่ายค่าบริการ ทางงานการพยาบาลพิเศษก็จะสรุปผล ค่าใช้จ่ายต่างๆให้กับงานประกันสุขภาพจัดทำเอกสารเบิกจ่าย แจ้งยอดค่าบริการพร้อมรายละเอียดไปยังหน่วยงานที่ตรวจสุขภาพ ในส่วนที่ตรวจมากกว่าที่กำหนดก็ให้มีการจ่ายเงินเอง ส่วนกลุ่มที่walk inเข้ามาเองจะต้องจ่ายเงินเองก่อนแล้วถ้ามีสิทธิเบิกได้ก็สามารถนำใบเสร็จไปเบิกจ่ายได้เอง

                  จากการจัดบริการศูนย์ตรวจสุขภาพมากว่า 5 ปีแล้ว ก็ถือว่าได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากประชาชนโดยเฉพาะหน่วยงานราชการต่างๆ โรงงาน มหาวิทยาลัยเพราะเราได้ไปให้บริการถึงที่ทำงานและไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน เป็นการสร้างความต้องการเรื่องส่งเสริมป้องกันดรคให้ประชาชนให้เขาเกิดความตระหนักและตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตนเองก่อนที่จะมีการเจ็บป่วย และส่งผลให้ทาง อบต./เทศาบลหลายแห่งได้เหห็นความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณจัดทำโครงการตรวจสุขภาพประชาชนในเขตพื้นที่ของตนเอง

                    การจัดการตรวจสุขภาพประจำปี จึงเป็นบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เป็นกิจกรรมเพื่อหารายได้เข้าโรงพยาบาลในยามที่งบประมาณจากโครงการ 30 บาทไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยสรางความสัมพันธ์อันดีระหว่างโรงพยาบาลกับลูกค้า(Customer relationship Management) และถ้าทำได้ดีจะสรางให้เกิดประสบการณ์ที่ดีของลูกค้าต่อโรงพยาบาลด้วย(Customer experience Management)

คำสำคัญ (Tags): #kmกับงานประจำ
หมายเลขบันทึก: 17975เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 11:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท