เด็กไทย ภาคไหนฉลาดที่สุด (1)


...เราๆ ท่านๆ คงจะสงสัยกันว่า เด็กไทยยุคไฮเท็ค คลิกไม่กี่ทีก็เข้าถึงข้อมูลได้ทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ตนี่ เด็กที่ไหนหรือภาคไหนฉลาดที่สุด...

เราๆ ท่านๆ คงจะสงสัยกันว่า เด็กไทยยุคไฮเท็ค คลิกไม่กี่ทีก็เข้าถึงข้อมูลได้ทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ตนี่ เด็กที่ไหนหรือภาคไหนฉลาดที่สุด

ผลการศึกษาของอาจารย์นิชรา เรืองดารกานนท์ในปี 2547 พบว่า เด็กไทยทั่วประเทศมีระดับ IQ เฉลี่ยรวมทั้งประเทศ 88 จุด

ถ้าใช้วิธีคำนวณพิเศษ โดยถ่วงน้ำหนักประชากรจะได้ระดับ IQ เฉลี่ยทั้งประเทศ 91.1 จุด

เมื่อแบ่งเป็นรายภาคพบค่าเฉลี่ยดังต่อไปนี้ กรุงเทพฯ 94.6 จุด ภาคกลาง 88.8 จุด ภาคเหนือ 84.2 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 85.9 จุด ภาคใต้ 88.1 จุด

สรุปคือ เด็กไทยอายุ 6 ปีถึงเกือบ 13 ปีทุกภาคของประเทศไทยมีระดับ IQ ต่ำกว่า 100 ถ้วนหน้า ระดับ IQ เท่านี้ไม่มีทางแข่งขันกับนานาชาติได้เลย

สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการขาดไอโอดีน เนื่องจากสถิติจากการตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะปี 2547 พบว่า คนไทยประมาณครึ่งหนึ่งขาดไอโอดีน (ที่ระดับ <100 มคก./ล.)

สถิติภาวะขาดไอโอดีน (ที่ระดับ <100 มคก./ล.) แยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ 50.1 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 58.0 % ภาคกลาง 51.7 % ภาคใต้ 29.4 % รวม 49.4 %

ไอโอดีนช่วยสร้างสมองทารกในครรภ์ และเสริมสร้างเครือข่ายเส้นประสาทของเด็กเล็ก ถ้าจะกล่าวว่า ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุแห่งความฉลาดก็ว่าได้

ถ้าเด็กในครรภ์ขาดไอโอดีนในช่วง 12 สัปดาห์แรกจะเป็นโรคเอ๋อ สติปัญญาต่ำ ไอคิวอยู่ในระดับ 40-50 เป็นไบ้ และหูหนวก

ประชาการที่ขาดไอโอดีนจะมีระดับสติปัญญา (IQ) ต่ำกว่าประชากรทั่วไป 13.5 จุด

ไอโอดีนพบมากในอาหารทะเล ยกเว้นเกลือทะเลมีไอโอดีนต่ำมาก จึงต้องเสริมไอโอดีนในเกลือทะเล

สถาบันการศึกษาที่พบนิสิตนักศึกษาเซื่องซึม เฉื่อยชา สมรรถภาพการทำงาน หรือการเล่าเรียนลดลง นิสิตของท่านอาจจะขาดไอโอดีนก็ได้

นอกจากนั้นยังควรตรวจติดตามวัด IQ นิสิตนักศึกษาเป็นรายปี การศึกษาควรทำให้คนฉลาดขึ้น IQ สูงขึ้น

ถ้าพบว่า ยิ่งเรียนยิ่งโง่ ยิ่งเรียน iQ ยิ่งต่ำลงควรหาสาเหตุ

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดี และมีไอคิวดีๆ ไปนานๆ ครับ

    แหล่งข้อมูล:

  • ขอขอบคุณ > อาจารย์แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร. เด็กจะฉลาดต้องไม่ขาดไอโอดีน. คลินิก. มีนาคม 2549 (ปี 22 ฉบับ 3). หน้า 273-276.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพ มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ > ๑ มีนาคม ๒๕๔๙ > 13 กรกฎาคม 2550.
หมายเลขบันทึก: 17972เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
   เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เมื่อเด็กไทย IQ เฉลี่ยไม่ถึง 100 ความสามารถในการแข่งขันของคนไทย ก็เลยต่ำกว่าของประเทศนอก เราคงต้องหางานให้เหมาะกับลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของคนไทย มากกว่าที่จะต้องไปทำงานเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆ จะดีไหมครับ
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์สมลักษณ์และท่านผู้อ่าน...
  • ปัญหาเด็กไทย IQ ต่ำมีแนวโน้มว่า อาจเป็นผลจากการที่คนไทยขาดไอโอดีนประมาณครึ่งหนึ่ง
  • วิธีทดสอบสมมติฐานข้างต้นคือ น่าจะรีบเสริมไอโอดีนกันทั้งประเทศ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้กินปลาทะเล ซึ่งจะได้ทั้งไอโอดีน และน้ำมันปลา(โอเมก้า-3 ที่จะเสริมสร้างสมอง)
  • และหามาตรการอื่นๆ ที่จะเสริม IQ เช่น ส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน (เช่น เล่านิทานให้เด็กฟัง ส่งเสริมให้มีห้องสมุดดีๆ ทุกพื้นที่ ส่งเสริมให้มีการตีพิมพ์หนังสือสำหรับเด็กให้มากขึ้น รณรงค์งดเหล้าที่ทำลายสมอง...
  • ปัจจุบันไม่มีประเทศใดที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องแข่งขันกับนานาชาติอีกต่อไป...
  • แนวคิดของอาจารย์ในเรื่องการหางานให้คนไทยนั้นน่าสนใจมาก คนไทยเก่งงานบริการ แต่คนชาติอื่นก็เรียนรู้เรื่องงานบริการได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น การบินไทยก็สู้สิงคโปร์แอร์ไลน์ไม่ได้ ฯลฯ
  • คนเรามีศักยภาพที่จะทำอะไรให้ดีขึ้นได้ เรื่อง IQ ก็เช่นเดียวกัน ถ้ารณรงค์ส่งเสริมกันจริงๆ แล้ว ผมเชื่อมั่นว่า เด็กไทย iQ สูงขึ้นได้แน่นอนครับ... 

ดิฉันติดตามข้อเขียนของอาจารย์โดยตลอด เพราะเป็นแบบอย่างของการเขียนที่ดีมากๆ ดังนี้

  1. อาจารย์เขียนบนฐานของข้อมูล เขียนบนฐานของผลการวิจัย
  2. มีการอ้างอิงที่มาของแหล่งข้อมูลทุกครั้ง (แม้แต่ฉลากข้างกล่องสินค้า)
  3. ใช้สำนวนเบาๆ เข้าใจง่าย ไม่หนักวิชาการ บางทีก็หยิกแกมหยอก ทั้งสังคมและการเมือง ทำเรื่องเครียดให้เป็นเรื่องสนุกได้
  4. แฝงข้อคิด เพิ่มข้อเสนอแนะ ที่เป็นตัวของตัวเองด้วย
  5. ใช้ถ้อยคำไพเราะ  สุภาพ
  6. ให้กำลังใจทุกคนเสมอ
  7. แฝงหลักคำสอนของพุทธศาสนา ในตำแหน่งที่เหมาะสม และอย่างพอดี
  8. สื่อสารแต่ในเรื่องที่ปรารถนาดีต่อทุกคนทุกฝ่าย  
  9. ขอบคุณทุกคน ทุกครั้ง
  10. ยินดี และชื่นชมกับความดี ความสำเร็จ ของทุกๆ คน

ดิฉันมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า มีผู้ติดตามข้อเขียนของอาจารย์เป็นประจำ และเป็นจำนวนมากด้วย  แม้ว่าข้อเขียนของอาจารย์ จะมีข้อ comment ไม่มาก นั่นก็เป็นเพราะมีความสมบูรณ์ในตัวดีอยู่แล้ว

สิ่งที่ดิฉันอยากจะสื่อก็คือ  สัดส่วนของจำนวนของข้อเสนอแนะ ต่อข้อเขียน  หรือจำนวนข้อเสนอแนะต่ออะไรก็แล้วแต่ ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของข้อเขียนได้เสมอไป

เหมือนที่ อ.สมลักษณ์เคยบอกดิฉันว่า  แม้ไม่ได้เข้ามาเขียนข้อคิดเห็น แต่ก็ติดตามอยู่เสมอ ซึ่งดิฉันคิดว่า ดิฉันรับรู้ได้ ใครที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ก็ย่อมรับรู้ได้ เพราะเรื่องของใจ สามารถสื่อกันด้วยใจ   

    ผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์มาลินีครับ ท่านอ.หมอวัลลภเป็นผู้ให้ความรู้กับคนทุกคน และเป็นบุคคลที่มีพื้นฐานจิตใจสูงครับ ซึ่งหาได้ค่อนข้างยากในสังคมปัจจุบัน ผมคอยเป็นกำลังใจให้อาจารย์ถ่ายทอดสิ่งดีๆ ให้พวกเราได้อ่านต่อไปเรื่อยๆ ครับ (อย่างสม่ำเสมอ) 

   ในเรื่องที่มี comment น้อยผมเห็นว่าเป็นเพราะตอนแรกๆ ท่านอาจารย์ลงบันทึกเร็วเกินไปทำให้ติดตามอ่านไม่ทัน ขณะนี้ความเร็วในการลงกำลังพอเหมาะ วันละไม่เกิน 3 บันทึก สม่ำเสมอต่อเนื่องดีแล้วครับ

 

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์มาลินี อาจารย์สมลักษณ์ และท่านผู้อ่านทุกท่าน...
  • ขอขอบคุณสำหรับข้อคิด คำแนะนำ และกำลังใจครับ
  • เรื่องที่น่าสนใจมากคือ NUQAKM blogs โตเร็วมาก ทั้งจำนวนสมาชิก บันทึก บทความ มิตรภาพ และจำนวนความคิดเห็น ทำให้เกิดชุมชนเรียนรู้ (learning community)
  • เรื่องนี้คงต้องขอขอบคุณอาจารย์ ทีมงาน สมาชิก และท่านผู้อ่านทุกท่าน
  • ยุคนี้การหา "ชุมชนเรียนรู้ (learning community)" อย่างเดียวก็ยากแล้ว
  • ทว่า... ชุมชน NUKM ก้าวไปอีกขึ้นหนึ่ง พัฒนาเป็นชุมชนแห่งมิตรภาพทางวิชาการ (mutual learning community) ที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากด้วย
  • คุณค่าของบันทึกและบทความไม่ได้ขึ้นกับจำนวนผู้อ่าน หรือผู้แสดงความคิดเห็นเพียงอย่างเดียว หากแต่ขึ้นกับคุณภาพของผู้อ่าน การนำไปใช้ และมิตรภาพดังสมการ -> ปริมาณ x คุณภาพ x การนำไปใช้ x มิตรภาพ 
  • ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณ และขออนุโมทนากับทุกท่านอีกครั้ง...
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียน blog คือ บทความที่เขียนนี้นำไปใช้ที่อื่นตามโอกาส เช่น เว็บไซต์ของโรงพยาบาล (www.lampangcancer.com) ให้วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีเขลางค์นครเป็นของขอบคุณที่นักศึกษาพยาบาลกรุณาบริจาคเลือดให้ ฯลฯ
  • ผมเชื่อมั่นว่า บทความใน NUKM หรือใน gotoknow ที่สมาชิกทุกท่านเขียนนี้... ต่อไปเมื่อมีคนค้นหา (search) ในอินเตอร์เน็ตก็จะมีผู้อ่านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สมกับที่อาจารย์ท่านเรียกว่า "เมฆความรู้"
  • เมฆความรู้ใน NUKM ก่อตัวหนาขึ้นเร็วมาก
  • ขอขอบคุณอาจารย์ ท่านผู้เขียน และท่านผู้อ่านทุกท่าน... 

เรียนท่านอ.หมอวัลลภ

   เห็นท่านอาจารย์เข้าไปในบล็อกของ อ.วิบูลย์ เขียนคำว่า "ลปรร." ผมเข้ามาทีแรกก็งงๆ ครับ พบว่าท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ เขียนคำย่อ เกี่ยวกับเรื่องของผม ผมงงอยู่ได้สัก 1-2 วัน ก็ได้คำตอบครับว่ามาจากคำว่า "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ภาษาอังกฤษ ก็มาจากคำว่า "Knowledge Sharing" หรือ "KS" หรือ "ตัวปลา" นั่นแหละครับ

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์สมลักษณ์ และท่านผู้อ่าน...
  • ได้ความรู้ใหม่ครับ เพิ่งทราบว่า "ลปรร." แปลว่าอะไร ดีใจที่มีโอกาสมา "ลปรร." ที่ NUKM
  • ขอขอบคุณอาจารย์เป็นพิเศษสำหรับการ "KS" ผ่านบล็อก
  • คนที่กล้าทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี่นับว่า ได้บุญในข้อการขัดเกลามัจฉริยะ(ความตระหนี่) ซึ่งน่าจะสงเคราะห์เข้าในหมวดศีล หรือข้อปฏิบัติ
  • ความตระหนี่มีหลายข้อ ข้อที่เรามีโอกาสขัดเกลากันผ่านชุมชนบล็อก โดยเฉพาะ NUKM น่าจะมี 2 ข้อ...
  • (1). วัณณมัจฉริยะ(ตระหนี่คำชม ไม่ยอมชมความดี หรือคุณสมบัติดีของคนอื่น)
    (2). ธัมมมัจฉริยะ(ตระหนี่ความรู้ธัมมะ) ข้อนี้น่าจะสงเคราะห์เข้ากับวิชาการอื่นๆ ได้
  • ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ...
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท