อิสรภาพ การปฏิวัติ และ การทวนกระแส


การปฏิวัติเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมวลชน การทวนกระแสเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ปัจเจกบุคคลเปลี่ยนแปลงตัวของเขาเอง เขาไม่สนใจเกี่ยวกับโครงสร้างในทางอำนาจ เขาเพียงแต่จัดการเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง ให้กำเนิดชีวิตใหม่ในตัวของเขาเอง สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจที่สุดเกี่ยวกับการทวนกระแสก็คือมันมีการทำลายไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่

       สถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ผมนึกถึงข้อความบางตอนในหนังสือ "หลุด: freedom" ของ Osho ว่า....

"อิสรภาพนั้นมีสองด้าน ด้านแรกคืออิสรภาพจากอะไร และด้านที่สองคืออิสรภาพเพื่ออะไร คนส่วนใหญ่มักให้ความสนใจในอิสรภาพแบบแรก คือเป็นอิสระจากสิ่งนั้นสิ่งนี้  อิสระจากพันธนาการที่มีอยู่ ...แต่เพื่ออะไรกันล่ะ? มันเป็นอิสรภาพทางด้านลบเท่านั้น หากท่านรู้จักแต่อิสรภาพจากอะไรบางอย่าง แสดงว่าท่านยังไม่ได้รู้จัก "อิสรภาพที่แท้จริง" ท่านรู้จักเพียงแค่ด้านลบของมัน ท่านควรจะรู้จักด้านบวกของมันด้วยเช่นกัน – เป็นอิสรภาพเพื่อที่จะสร้างสรรค์ อิสรภาพเพื่อที่จะเป็นอะไรบางอย่าง....

ประวัติศาสตร์ได้ยืนยันเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี มีผู้คนเป็นจำนวนมากที่มักไม่เคยคิดเรื่องอิสรภาพแบบที่สองนี้เลย พวกเขาคิดแต่อิสรภาพแบบแรก ทั้งนี้เป็นเพราะพวกเขาไม่มีความสามารถที่จะเห็นและเข้าใจอิสรภาพแบบที่สองนี้ได้ชัดเจน อิสรภาพแบบแรกนั้นพวกเขาเห็นได้ชัด เพราะมันเป็นโซ่ตรวนที่มัดขาพวกเขาอยู่ มันเป็นกุญแจมือที่สวมข้อมือของพวกเขาไว้ พวกเขาต้องการจะเป็นอิสระจากมัน แต่เพื่ออะไรกันล่ะ? ท่านจะใช้มือของท่านทำอะไร?

....ในสมัยที่ข้าพเจ้ายังเด็ก ข้าพเจ้ามักจะถกเถียงกับพ่อและลุงของข้าพเจ้าว่า “ผมเข้าใจดีว่าการตกเป็นทาสนั้นมันเป็นสิ่งที่น่าเกลียด มันทำให้ความเป็นคนในตัวเราลดน้อยลง มันเป็นการดูถูกตัวเอง เป็นการทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ประเด็นของผมก็คือ แล้วเราจะทำอะไรหลังจากที่เราได้เป็นอิสระล่ะ?  อิสรภาพจากอะไรนั้น มันชัดเจนอยู่แล้ว ผมไม่ได้ต่อต้านมัน ผมเพียงแค่อยากจะรู้ว่า ท่านกำลังจะทำอะไรกับอิสรภาพที่ได้มานี้ ท่านรู้ดีว่าจะอยู่อย่างไรในตอนที่เป็นทาส แล้วท่านรู้ไหมว่าจะอยู่อย่างไรในตอนที่ได้อิสรภาพ?

....แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยได้รับคำตอบจากพวกเขา พวกเขาเอาแต่พูดว่า “ตอนนี้พวกเรากำลังยุ่งอยู่กับการต่อต้าน การปฏิวัติ เรากำลังจะออกจากการเป็นทาส เราไม่มีเวลาที่จะมาพูดเรื่องอิสรภาพเพื่ออะไรหรอก” ข้าพเจ้าพูดว่า “นี่ไม่ใช่วิธีคิดตามหลักทางวิทยาศาสตร์ เพราะหากท่านกำลังรื้อบ้านเก่าที่ท่านอยู่ หากท่านเป็นคนที่ฉลาด ท่านควรจะต้องเตรียมแบบพิมพ์เขียวของบ้านหลังใหม่ไว้ให้พร้อม ก่อนที่ท่านจะรื้อบ้านหลังเก่า เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ท่านจะไม่มีบ้านอยู่ – อยู่บ้านเก่าน่าจะดีกว่า ไม่มีบ้านอยู่”

...ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในการปฏิวัติของอินเดียเคยมาพักอยู่กับครอบครัวของข้าพเจ้า – ข้าพเจ้ามักจะถกเถียงกับพวกเขาเสมอ และข้าพเจ้าก็ไม่เคยพบผู้นำแม้แต่คนเดียวที่มีคำตอบให้กับข้าพเจ้าว่าพวกเขากำลังจะทำอะไรกับอิสรภาพที่จะได้มา ...ปรากฏว่าชาวฮินดูและชาวมุสลิมต่างก็เข่นฆ่ากัน ตายเป็นล้านๆ คน กองกำลังของอังกฤษเคยควบคุมพวกเขาไว้ไม่ให้ฆ่าฟันกัน แต่พอเอากองกำลังนี้ออกไป ก็เกิดการจลาจลไปทั่วอินเดีย ชีวิตคนทุกคนต่างตกอยู่ในอันตราย เมืองถูกเผา คนในรถไฟทั้งขบวนถูกเผาทั้งเป็น ข้าพเจ้าพูดว่า “มันก็ประหลาดดี สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในสมัยที่เราเป็นทาส แต่มันเกิดขึ้นในตอนที่เรามีอิสรภาพ – ด้วยเหตุผลง่ายๆ เพียงเพราะว่าเราไม่ได้เตรียมตัวไว้รับกับอิสรภาพนี้”

ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นด้วยกับ "การปฏิวัติ" สิ่งที่ข้าพเจ้าสนับสนุนคือ "การทวนกระแส" การปฏิวัติเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมวลชน การทวนกระแสเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ปัจเจกบุคคลเปลี่ยนแปลงตัวของเขาเอง เขาไม่สนใจเกี่ยวกับโครงสร้างในทางอำนาจ เขาเพียงแต่จัดการเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง ให้กำเนิดชีวิตใหม่ในตัวของเขาเอง สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจที่สุดเกี่ยวกับการทวนกระแสก็คือมันมีการทำลายไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ บางสิ่งจะต้องถูกทำลายเพื่อจะได้มีสิ่งใหม่เกิดขึ้น  การสร้างสรรค์และทำลายมาด้วยกัน มันเสริมซึ่งกันและกัน มันไม่ได้แยกออกจากกัน เมื่อใดก็ตามที่ท่านพยายามทำให้มันแยกออกจากกัน – แสดงว่าท่านกำลังจะทำอย่างการปฏิวัติ และประวัติศาสตร์ก็จะซ้ำรอย....

ข้าพเจ้าไม่ได้ต่อต้านสิ่งใดๆ หรือใครคนใดคนหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่ต้องการให้ท่านเป็นอิสระจากบางสิ่งเท่านั้น ข้าพเจ้าต้องการให้ท่านเป็นอิสระอย่างแท้จริง"

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 17969เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2006 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

การแสวงหา independence ด้วยความคิดตรงข้ามอย่างสุดขั้วจาก dependence อาจจะทำให้ หลงทาง เพราะเข้าใจไปว่า independence ที่ได้มานั้นเป็นปลายทางความต้องการของปัจเจกบุคคลแล้ว

เพราะด้วยความเชื่อส่วนตัว

ชีวิตคือเรื่องของ interdependence ไม่มีใครที่จะอยู่อย่าง dependence หรือ independence ในทุกเรื่อง

ถ้าหาก dependence คือ เรื่องของเธอ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ก็เป็นความรับผิดชอบของ เธอ

independence เป็นเรื่องของ ฉัน เป็นเรื่องที่ ฉันได้ปลดปล่อยและรับผิดชอบทุกอย่างเอง

interdependence ก็คือเรื่องของ เรา ที่ทุกคนจะใช้ศักยภาพสูงสุด เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติ ยอมรับต่อความเกี่ยวข้องที่เป็นอยู่ระหว่างคน ธรรมชาติ สัตว์ และทุกอย่างที่ทำให้เกิดการดำรงอยู่ได้

ก็เลยมีความเห็นว่า อิสระภาพที่แท้จริง ก็น่าจะอยู่บนความเป็นไปของการยอมรับว่า ชีวิตคือ interdependence ค่ะ

 

...ชอบมากครับกับ 3 คำ ที่คุณ jc เขียนมา ขอร่วม "ต่อยอด" อีกดังนี้ ... dependence เน้นการพึ่งพิง ...ต้องอิงอาศัยอะไรบางอย่าง ...เป็นการรับฟัง เชื่อฟัง พูดได้แต่คำว่า "ใช่"  independence เป็นการปฏิเสธกรอบ ชอบพูดแต่คำว่า "ไม่" เป็นการไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับคำแรก  interdependence ก้าวข้ามคำว่า "ใช่/ไม่" ก้าวข้ามคำว่า "ถูก/ผิด" ก้าวข้ามความคิด ไม่ติดความรู้ ...ไปสู่ความเชื่อมโยงอันสวยงาม และเป็นธรรมชาติ

เห็นด้วยกับคุณ jc ครับ เรื่อง ชีวิตคือ interdependence แต่ขอเพิ่มเติมเล็กน้อยครับ เนื่องจากคำที่ใช้มันมีผลต่อระบบความคิด ความคิดในเชิง interdependence หรือน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า นำมาซึ่งกรอบความคิดในลักษณะประณีประนอม นำไปสู่การ interdependence ในรูปแบบ loose-loose situation ซึ่งจริงๆ แล้วรูปแบบ loose-loose ก็คืออีกด้านหนึ่งของ win-win ในอีกรูปแบบนั่นเอง (ในเมื่อต่างฝ่ายต่างเสีย ก็แปลว่าต้องมีคนได้ หรืออาจจะต่างฝ่ายต่างก็ได้ เพียงแต่ไม่ใช่สิ่งหรือไม่ใช่รูปแบบที่ตนเองต้องการ) สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นเหมือนกับรูปแบบของการเมืองไทยปัจจุบัน หรือความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันครับ คือความรู้สึกที่ว่าเราทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องพึ่งพิง ต้อง depend on something แม้จะรู้ว่าสิ่งอื่นๆ ก็ depend on me เช่นกัน และนำพาไปสู่การแสวงหาอิสรภาพอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

ตรงนี้เองที่ osho ไม่ได้ใช้คำว่า interdependence แต่กลับพูดถึง อิสรภาพที่แท้จริง และการทวนกระแส เพื่อไม่ให้เกิดการประณีประนอมในเชิงความคิด เพื่อให้มีอิสภาพที่แท้จริง  osho ถามต่อว่าแล้วท่านจะทำอะไรกับอิสรภาพนั้น ตรงนี้แหละครับที่ก่อให้เกิดสังคม interdependence แต่คราวนี้กลับกันแล้วครับ จาก loose-loose กลับกลายเป็น win-win เพราะฉันมี ฉันจึงให้ ไม่ใช่ว่าเพราะฉันอยากได้ ฉันจึงจำเป็นต้องแลก

ชักรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นสาวก osho เข้าไปทุกที

ขอบคุณ "คุณจุมพฎ" มากครับสำหรับ "แสงสว่าง" และความ "กระจ่าง" ....อย่างนี้แหละครับจึงจะเรียกได้ว่าเป็นแฟน osho "ตัวจริง"

คนบางคนคิดว่า การที่เขาเป้นอิสรภาพจาก สิ่งหนึ่ง             คือการที่เขาได้ทำเพื่อสิ่งนั้น แต่ไม่เคยคิดว่า"สิ่งนั้น" เพื่อตัวเอง

จะมีสักกี่คนที่จะเป็นอิสรภาพเพื่อคนอื่น หรือสิ่งอื่น

เริ่มอยากเป็นสาวก Osho อีกคนค่ะ :-)

ประเด็น interdependence ที่คุณจุมพลพูดถึงว่า เป็นเรื่องต่อยอดจากการตั้งคำถามว่า แล้วท่านจะทำอะไรกับอิสระภาพนั้น และว่าเป็นเรื่องของ win-win situation เห็นด้วยค่ะ

อยากต่อประเด็นขึ้นไปอีกหน่อยค่ะ

Osho ได้อธิบายถึงเรื่อง connection ไว้ด้วยหรือเปล่าคะ และอย่างไร (ยังไม่ได้อ่าน Osho ทั้งหมดค่ะ)

เพราะหลายครั้งที่พบว่า เวลาคนพูดถึง connection จะเป็นการมองแบบแยกส่วนว่าเป็นการเชื่อมระหว่าง independence สองหรือสามประการ ในขณะที่ ถ้าเชื่อเรื่อง interdependence แล้วconnection น่าจะเป็นมากกว่านั้น คือน่าจะเป็นเรื่องของการกลมกลืนมากกว่า เหมือนวงกลมที่สวมทับกันบางส่วน และเว้นส่วนอิสระ ที่ทำให้เกิดความเป็นเอกเทศ หรือ unique ของบุคคล น่ะค่ะ

ขอบคุณ อ.ประพนธ์ครับ ผมอ่านหนังสือของ Osho เมื่อประมาณสิบปีก่อน ตะลุยอ่านอยู่สักสิบกว่าเล่ม หลังจากนั้นก็ฝุ่นจับอยู่บนชั้นหนังสือครับ ข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ Osho พูดจึงไม่แน่นแล้วครับ ตอนนีคงพูดได้แต่ความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งได้รับอิทธิพลจาก Osho มาบ้าง ต้องยกประโยชน์ให้ท่านครับ

ผมไม่มั่นใจเรื่องความหมายเฉพาะของ connection ในความหมายของคุณ jc นะครับ แต่สำหรับ "ความคิดเห็น" ของผมต่อวิธีคิดของ Osho คือ ท่านไม่เชื่อถือเรื่อง อิสรภาพจากอะไรบางอย่าง และไม่ประณีประนอม คำว่า "อิสรภาพจาก" เป็นแนวคิดในแง่ลบ เพราะทำให้เกิดการต่อต้าน อิสรภาพจากการเมืองก็ต้องเป็นกบฎ อิสรภาพจากอาหาร อากาศ ธรรมชาติ ความตาย จึงเกิดการต่อต้านและพยายามควบคุมธรรมชาติ

อิสรภาพที่แท้จริงก็ไม่ใช่วงกลมซ้อนทับกัน แต่เป็นวงกลมสมบูรณ์ เป็นปัจเจกชนโดยสมบูรณ์ มีอิสรภาพโดยสมบูรณ์ที่จะทำอะไรก็ได้ จะตีหัวคนก็ได้ จะลักขโมยก็ได้ แต่ทำไมไม่ควรทำ ไม่ใช่เพราะเกรงกลัวบาป แต่เพราะมี vision ครับ เมื่อทำสิ่งนี้ จะก่อให้เกิดสิ่งนั้น... ฯลฯ สรุปว่าการทำชั่วไม่ใช่การได้มา แต่เป็นความสูญเสีย แม้แต่การทำความดีเพราะคิดถึงสิ่งตอบแทน ก็เป็นความคิดในแง่ลบ เพราะหมายถึงเรายัง depend on บางสิ่งบางอย่างอยู่ ในแง่นี้ เรามีอิสระที่จะทำความเลว แต่เพราะเรารู้เท่าทันมันเราจึงไม่ทำ

เรามีอิสระ เต็ม ไม่ต้องรับส่วนแบ่งจากใคร และไม่ต้องแบ่งให้ใคร เรามีสิทธ์แม้แต่ไม่กิน ไม่หายใจก็ได้ อย่างมากก็ตาย แต่ไม่มีใครแย่งอิสรภาพไปจากเราได้

แล้วทำไมเราจึงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสังคม จึงต้องทำดีกับคนหรือสิ่งรอบๆ ตัว คราวนี้คำตอบคือ "ควมรัก" ครับ ในเมื่อมิตรรักคุณเหลือเกินจึงทำสิ่งดีๆ ให้ ในเมื่อศัตรูรักคุณเหลือเกินจึงมอบบทเรียนให้ ในเมื่อธรรมชาติรักคุณเหลือเกิน ฯลฯ ทำไมเราจึงไม่ควรตอบรับความรักเหล่านั้น ใครสักคนรักคุณ แต่คุณไม่ตอบรับ ไม่ทำดีกับเขา ไม่พูดคุยกับเขา ธรรมชาติรักคุณจึงมอบดิน น้ำ อากาศ แต่คุณไม่ตอบรับ ไม่ดูแล กลับทำลายสิ่งดีๆ เหล่านั้นไป เมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ดรักคุณเหลือเกินแล้วทำไมคุณถึงไม่กิน ไม่รับ เพราะอยากมีอิสระบ้าๆ บอๆ ผู้ที่สูญเสียก็คือตัวคุณเอง เป็น vision อีกแล้วนะครับ เรื่องเดียวกับพรหมวิหารสี่ละครับ พรหมนั้นสมบูรณ์ในตนเอง ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่พึ่งพิงอะไร แต่ที่อยู่ของพรหมหรือพรหมวิหารกลับเต็มไปด้วยความรักทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

เห็นไหมครับ แนวคิดอย่างนี้เห็นแก่ตัวเหลือเกิน เป็นปัจจเจกเหลือเกิน หากใคร quote แค่มุมมองของการ "เห็นแก่ตัวอย่างที่สุด" นี่ คนฟังก็คงรู้สึกแย่แล้ว แต่ความหมายของการเห็นแก่ตัวที่สุดกลับไม่ใช่ความเลวร้าย

อีกอย่างที่อยากชี้ให้เห็นคือ Osho ไม่มองอะไรในระนาบเดียว และไม่ตอบปัญหาในเกมครับ เป็นการทลายกรอบความคิดโดยสิ้นเชิง ถามเรื่องหนึ่ง คำตอบอาจจะเป็นอีกเรื่อง ไม่ใช่แค่หมายความว่ามองในภาพรวมนะครับ การเอากบออกมาจากกะลา เราเห็นโลกทั้งใบ แต่เพราะโลกกว้างใหญ่ เราจึงอาจมองข้ามนกตัวหนึ่งที่เกาะอยู่แถวๆ นั่นกำลังเล็งกบเป็นอาหารเย็นก็ได้ครับ

โอ้วคุณจุมพฏ แจ่มแจ้งมากเลยครับ! ขอบพระคุณครับ ^_^
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท