การกระจายรายได้บนฐานของสิทธิและทรัพยากรธรรมชาติ


“...ทรัพยากรบนโลกใบนี้มีพอสำหรับคนทุกคน แต่มีไม่พอสำหรับคนโลภแม้เพียงคนเดียว ”...

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ เมษายน

เรามีนัดหมายนำเสนอ

รายงานขั้นกลางและสื่อวิดีทัศน์ของโครงการศึกษาการกระจายรายได้บนฐานของสิทธิและทรัพยากรธรรมชาติ ที่ห้องประชุมชั้น ๒๕ ตึกพญาไทพลาซา ซึ่งเป็นสำนักงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อผลักดันเชิงนโยบายความเป็นธรรมทางรายได้ ซึ่งเป็นงานของคณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยเลือกทำการศึกษาชุมชน ๖ พื้นที่ใน ๖ ภูมินิเวศ

พื้นที่ภาคเหนือ เป็นการศึกษาชนเผ่าปกาเกอะญอในพื้นที่ลุ่มน้าวาง จังหวัดเชียงใหม่ ในขณะที่พื้นที่อีสานเลือกศึกษาชุมชนตำบลสร้างถ่อน้อยในพื้นที่ป่าดงใหญ่ จังหวัดอำนาจเจริญ สำหรับภาคใต้ ศึกษาชีวิตชาวประมง ทะเลสาบสงขลา ภาคตะวันออก ศึกษาพื้นที่บ้านเปร็ดใน ตำบลห้วงน้ำขาว จังหวัดตราด ส่วนกรณีศึกษาของภาคตะวันตก คือป่าพรุแม่รำพึงที่บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนพื้นที่ภาคกลาง ชุมชนที่เลือกศึกษาคือ ชุมชนเขาราวเทียนทอง ตำบลเนินขาม จังหวัดชัยนาท

 ท่านอาจารย์ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะทำงานการกระจายรายได้บอกกับพวกเรา...ทีมทำงานว่า โครงการวิจัยเรื่องนี้แตกต่างจากโครงการอื่น ๆ ตรงที่ว่าโครงการนี้เป็น “การวิจัยเชิงสารคดี” นำเสนอเป็นสื่อวีดิทัศน์ต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้คนได้ “รับรู้” ข้อมูลความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นการขับเคลื่อนผ่านสาธารณะด้วยสื่อต่าง ๆ และการจัดเวทีต่าง ๆ ที่หลากหลาย

บทเรียนของทั้ง ๖ พื้นที่ที่เป็นกรณีศึกษา ได้ถูกนำมาถ่ายทอด เรียงร้อยเป็นเรื่องราวในลักษณะของ "Empirical Study" ในรูปแบบแสง-สี-เสียง โดยมีความยาวประมาณ ๔๐ นาที

ประเด็นสำคัญที่เราคิดว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นก็คือ การเน้นย้ำว่าพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศไทยมีปัญหาด้านทรัพยากร และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงซ้อนในหลายมิติ เกิดจากทั้ง “คนนอก” และ “คนใน” โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาของรัฐที่มุ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเอื้อผลประโยชน์เฉพาะกับคนบางกลุ่ม จนลืมไปว่า ฐานทรัพยากรที่สมบูรณ์คือ “หลักประกัน” ในชีวิตของผู้คน

การอพยพย้ายถิ่นของชาวชนบทสู่เมืองก็ด้วยเหตุแห่งฐานทรัพยากรที่ถูกทำลาย

เพราะฐานทรัพยากรคือ “ฐานชีวิต”

ความเป็นชุมชนและความมั่นคงของชุมชนจะถูกรักษาไว้ได้ ก็ด้วยการรักษา“สิทธิ” ของชุมชนในการ “เข้าถึง”ฐานทรัพยากร

การรับรอง “สิทธิชุมชน” จึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ต้อง “สร้าง” ให้เกิดมีขึ้นในสังคมไทย

การสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำสู่ความเข้มแข็งของชุมชนที่เป็นเป้าหมายการทำงานของพวกเรามานานนับสิบปี

ภาพของเสาปูนที่ปักเรียงรายแสดงเขตการถือครองของนายทุนในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาราวเทียนทอง...พื้นที่ที่เราลงศึกษายังคงติดค้างอยู่ในใจ

 “...ทรัพยากรบนโลกใบนี้มีพอสำหรับคนทุกคน แต่มีไม่พอสำหรับคนโลภแม้เพียงคนเดียว”...เป็นดั่งที่ท่านคานธีกล่าวไว้จริงหนอ

การขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่เราเสนอต่อที่ประชุมในวันนั้นคือ... (๑) การติดตาม “ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน” ที่ยังคงถูก “ดอง” (๒) การแก้ไขกฎหมายปฏิรูปที่ดินโดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านกรรมสิทธิ์ที่ดิน “สปก-๔๐๑” จากที่สาธารณะสู่มือนายทุนโดยมีเกษตรกรเป็นตัวกลาง (๓) บทบาทอำนาจหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการบริหารจัดการทรัพยากร เช่น การออกกฎหมาย Pre-emption ซึ่งเป็นกฏหมายด้านที่ดิน และสุดท้าย (๔) คือ การจัดตั้ง “กองทุนสวัสดิการด้านทรัพยากรชุมชน” ที่ควรเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐส่วนกลาง รัฐท้องถิ่น กลุ่มธุรกิจ ภาคประชาสังคม และชุมชนเอง

ท่านอาจารย์พิภพ ธงไชย ซึ่งมาร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานของโครงการด้วยในวันนั้น บอกกับเราว่า... “น่าจะขยายความข้อเสนอทั้ง ๔ ข้อนี้ และนำเสนอเข้าสู่สภา...”

เราได้แต่ยิ้มและคิดตอบในใจว่า... ตราบใดที่ข้าราชการ นักการเมือง และนายทุนนักธุรกิจ “สมรู้ร่วมคิด” กระทำ “มิชอบ” ต่อบ้านเมือง ประเทศไทยของเราก็คงจะไม่มีวันได้ออกกฎหมายที่ “ถูกต้อง” และ “ชอบธรรม” ...ตราบใดที่นิยามของการศึกษายังไม่สามารถสร้างระบบคิดสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับจิตวิญญาณ...

ความจริงที่ว่าด้วย ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...เมืองไทยเรานี้ แสนดีนักหนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ทำมาหากิน แผ่นดินของเรา...คงเป็นเพียง “นิทานโกหก” สำหรับคนรุ่นต่อ ๆไป

เพราะสิ่งที่พวกเขาจะได้เห็นและรับรู้ก็คือ...สภาพดินเลว น้ำแล้ง ป่าหมด และภาวะทุกขภาพที่เต็มแผ่นดิน...

ในขณะที่คนรวยก็ยังรวยกระจุก และคนจน...ก็ยังจนกระจาย

หมายเลขบันทึก: 179102เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2008 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • งานวิจัยพี่ตุ้มครอบคลุมทั้งประเทศเลยครับ
  • แต่ท่านนี้
  • ท่านอาจารย์พิภพ ธงไชย หรือ
  • พ่อเปี๊ยกครับ
  • น้องรู้จักเพราะเคยไปอยู่หมู่บ้านเด็กครับ
  • ขอให้พี่ตุ้มมีความสุขกับการทำงานครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์น้องขจิต

ขอบคุณค่ะ

ขอให้น้องขจิตมีความสุขกับการเรียนปริญญาเอกเช่นกันนะคะ และขอให้เรียนจบตามแผนที่วางไว้ ...จบแล้วรีบกลับมาอยู่ร่วมด้วยช่วยกันที่ม.เกษตรกำแพงแสนนะ มาช่วยพี่ตุ้มลงพื้นที่ทำงานพัฒนา ...สร้างลูกศิษย์ของเราให้เป็น "กัลยาณมิตร" เกื้อกูลพี่น้องพื้นที่ภาคตะวันตกกันนะจ๊ะ

ดูแลสุขภาพดี ๆ ด้วยจ๊ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท