สมศ.ทำให้โรงเรียนเฉื่อยจริงหรือ


โรงเรียนควรมีแนวคิดในการ Benchmarking เพื่อการยกระดับคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

.....วันที่ 26 เมษายน 2551 ผมได้ไปเป็นวิทยากรบรรยายให้กับกลุ่มโรงเรียนเทศบาลและโรงเรียนเอกชน ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเรื่อง "การพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ"  ในขณะพักกลางวัน วิทยากรท่านหนึ่งกล่าวว่า "สมศ.ทำให้โรงเรียนเฉื่อย กล่าว คือ หลังจาก ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก สมศ.แล้ว ก็จะเฉื่อยไป 4 ปี หรือ อีกนัยหนึ่ง คือ ทำให้โรงเรียนหยุดการพัฒนา"   ท่านผู้อ่าน ฟังแล้วรู้สึกอย่างไรครับ  ท่านเห็นด้วยกับวิทยากรท่านนั้นหรือไม่   สำหรับผมเอง ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ และเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดของผู้พูดมากกว่า.... หาก สมศ.เป็นแพทย์ที่มีหน้าที่ตรวจสุขภาพของเด็ก หลังจากตรวจเสร็จก็ออกใบรับรองแพทย์ว่า "สุขภาพแขงแรง"  หลังจากแพทย์รับรองแล้ว เด็กคนนี้จึงไม่ดูแลสุขภาพหรือไม่ออกกำลังกายอีกต่อไป(เพราะเห็นว่าสุขภาพแข็งแรงแล้ว ตามในรับรองของแพทย์) ท่านว่า "เด็กคนนี้(หมายถึงโรงเรียน) ทำถูกต้องแล้วหรือ"  แล้ว พ่อของเด็กคนนี้ล่ะ(ผมหมายถึงเขตพื้นที่การศึกษา หรือต้นสังกัด)จะไม่เตือนให้ลูกดูแลสุขภาพหรือสร้างเสริมความแข็งแรงของร่างกาย หรือพัฒนาร่างกายให้เติบโต-แข็งแรงยิ่งขึ้นหรือ  การที่พ่อปล่อยเช่นนี้ เป็นความบกพร่องของพ่อ หรือไม่...ผมคิดว่า การที่เด็กไม่ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงและเติบโตยิ่งขึ้น ควรถือเป็นความผิดของเด็ก(โรงเรียน)และพ่อของเด็ก(เขตพื้นที่หรือต้นสังกัด) มากกว่าการไปกล่าวโทษแพทย์ที่ตรวจสุขภาพ (ในความคิดของผม สมศ.ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตรวจภาวะสุขภาพของโรงเรียน)

.....ผมได้เขียนวิจารณ์เรื่องการเฉยเมยของโรงเรียน หรือต้นสังกัด หลังจากผ่านการประเมินจาก สมศ.มาแล้ว ในบล๊อก "แนวทางการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน/สถานศึกษา" โดยชี้ให้เห็นว่า หลังจากได้รับการประเมินจาก สมศ.โรงเรียนมักจะเฉยเมย ไม่ได้วางแผนพัฒนาแบบทันทีทันใด เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศ สำหรับโรงเรียนที่ได้รับการประเมินว่าอยู่ในระดับ "ดีมาก"   หรือก้าวสู่ "ระดับดีมาก" สำหรับโรงเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน "ระดับดี" ฯลฯ ...ทุกโรงเรียนควรวางแผนพัฒนาตนเองให้พัฒนาหรือก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดยั้งอยู่กับที่  และเขตพื้นที่การศึกษา(ในฐานะพ่อ) จะต้องดูแลให้โรงเรียนเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง(ต่อเนื่อง แปลว่า ไม่มีช่วงหยุดยั้งอยู่กับที่)  เราจะต้องเรียนรู้เรื่อง Benchmarking-การเทียบเคียงและเลียนแบบ เพื่อการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ   ถ้าเรามีคุณภาพในระดับ"ดีมาก" ในขั้นต่อไป เราจะต้องเตรียมการพัฒนาโรงเรียนให้มีความเป็นเลิศอยู่ใน 20 อันดับแรกของประเทศไทย  หากเราทำได้ เราก็จะต้องตั้งเป้าต่อไปว่า "จะต้องติดใน 5 อันดับแรกของประเทศไทยให้ได้"  หากทำได้อีก(ตามตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือ) เราอาจตั้งเป้าใหม่ว่า "เราจะต้องพัฒนาโรงเรียนให้มีความเป็นสากล ติดใน 10 อันดับแรกของเอเชีย"...หากคิดได้เช่นนี้ เราคือนักพัฒนามืออาชีพ..แล้วโรงเรียนก็จะไม่หยุดยั้งอยู่กับที่

หมายเลขบันทึก: 178901เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2008 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อาจารย์ครับในฐานะที่ผมเป็นครูเทศบาลขออนุญาตแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้นะครับ ผมเชื่อว่าอาจารย์คงจะทราบดีว่าโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนั้นมีรูปแบบโครงสร้างค่อนข้างแตกต่างกับ โรงเรียนในสังกัด สพฐ. กล่าวคือถ้าโรงเรียน สพฐ. ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการโรงเรียนเกือบทุกอย่างเราพเป็นนิติบุคคล แต่ทางเทศบาลนั้นมีขั้นตอนและลำดับชั้นที่ไมน่าจะมีเช่น เหนือจาก ผอ.โรงเรียน ก็เป็นกองการศึกษา/สำนักการศึกษา ที่คนบนกอง/สำนักฯจะถือว่าเขาใหญ่กว่าเรา มีหัวหน้าฝ่ายการศึกษา มีผอ.กองฯ มีรองปลัดดูแลกำกับกองฯ ปลัดเทศบาล รองนายกฝ่ายการศึกษา และนายกฯ

ผมมีโอกาสไปดูงาน(ไปดูจริงๆครับดูอย่างเดียวประมาณ 30 นาที แล้วก็กินข้าวเดินทางกลับ)ที่เทศบาลนครพิษณุโลก ซึ่งมีนายกเทศมนตรีเป็นสุภาพสตรี ได้ฟังท่านแสดงวิสัยทัศน์แล้วก็อดอิจฉาคนที่นั่นไม่ได้ ที่มีผู้บริหารมีวัยทัศน?กว้างไกลเห็นความสำคัญกับการศึกษาและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ขณะเดียวกันก็มีโอกาสไปดูงานการศึกษาของเทศบาลอื่นๆหลายๆที่ ก็มีความคับข้องใจว่าการเอาการศึกษามาอยู่กับท้องถิ่นนี่มันเป็นดาบสองคมที่ล่อแหหลมมาก ถ้าผู้บริหารตั้งแต่นายกฯไล่มาจนถึง ผอ.โรงเรียน ให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการพัฒนาเด็กโดยไม่ได้คิดแค่ว่า พ่อแม่เด็กเป็นฐานคะแนนทำแบบขอไปที ผลสะท้อนก็จะมีออกมาเหมือนกับที่มีวิทยากรท่านหนึ่งที่พูดว่า "สมศ.ทำให้โรงเรียนเฉื่อย" ทั้งที่มันควรจะเป็นการกระตุ้นให้โรงเรียนปรับปรุงส่วนที่ไม่เข้าที่ และต่อยอดส่วนที่ดีให้ดีไปยิ่งๆขึ้น

แต่ในทางกลับกันถ้านายกฯและทุกๆคนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญการกับการศึกษา การอ่านออกเขียนได้ และคิดเป็นกับเด็ก จะทำให้โรงเรียนในสังกัด อปท.ได้เปรียบโรงเรียนสังกัดอื่นอยู่นิดๆ(ในเรื่องงบประมาณ)

ต้องขออถัยอาจารย์นะครับที่อาจพูดนอกประเด็นบ้าง แต่สิ่งที่อยากสื่อก็คือ ทำไมวิทยากรคนนั้นถึงพูดว่า "สมศ.ทำให้โรงเรียนเฉื่อย " ก็เพราะ อปท.เรามีระบบ(ที่อาจจะ) ทำให้คนที่อยู่ในระบบกลายเป็นแบบนั้นก็ได้

ด้วยความเคารพอาจารย์ครับ

อาจารย์จิรเมธ ...ครับ

  • แนวคิด วิสัยทัศน์ของผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละแห่งคงจะแตกต่างกัน  ถ้าเราจะกระตุ้นผู้บริหารให้เห็นความสำคัญของการจัดการศึกษา อาจารย์ลองนำแนวคิดของพิษณุโลก หรืออื่น ใดที่เราเห็นว่าดีมาลิงค์ไว้ในเว็บ"ซด์ของหน่วยงานอาจารย์ เผื่อผู้บริหารจะได้เข้าไปเจอบ้าง  หรือ
  • เราคิดแนวทางการพัฒนาต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม แล้วเชิญนายก/ผู้บริหารท้องถิ่น เข้าร่วมวิพากษ์-ให้ข้อคิดเห็น จะช่วยในการปรับแนวคิดหรือวิสัยทัศน์เขาได้บ้าง  หรือ
  • เชิญเขาเป็นที่ปรึกษาโครงการที่เราคิด ในฐานะที่ปรึกษา เขาจะสนับสนุนเรา และศึกษางานของเราอย่างจริงจังมากขึ้น
  • ในกรณีของการประกันคุณภาพภายใน ส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นกิจกรรมที่โรงเรียนทำได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะด้านการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านคุณภาพผู้เรียน   ผมคิดว่าทุกโรงเรียนสามารถดำเนินการภายในได้เลย  แม้ผู้บริหารท้องถิ่นจะขาดวิสัยทัศน์(แต่เรา-ผู้บริหารโรงเรียน มีวิสัยทัศน์)   การพัฒนางานที่ดีที่สุด คือ พัฒนาในส่วนที่เรารับผิดชอบ ผมเคยเริ่มต้นชีวิตการเป็นครูประจำชั้น  การเอาใจใส่ชั้นเรียนอย่างจริงจังและเป็นระบบ ช่วยให้คนอื่นหันมาทำตามเอง โดยมีความเชื่อว่า การนิเทศที่ดีที่สุด คือ "การทำตนเป็นแบบอย่าง(Modeling)

สมศ. ทำให้โรงเรียนท้อแท้ สมศ.เป็นเครื่องชั่งที่มีมาตรฐานไม่เท่ากัน บางบริษัทผ่านแบบง่ายดาย บางบริษัทเข้มงวด มาประเมินโรงเรียนแค่ 3 วัน คงรู้ดีไม่หมดทุกอย่าง

โรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น(คงเป็นโรงเรียนประถมศีกษาในชนบทครับ)กับโรงเรียนขนาดใหญ่ควรที่จะกำหนดมาตรฐานให้แตกต่างกันครับ การที่มีครูไม่ครบชั้นก็ไม่ผ่านมาตรฐานแล้วครับ โรงเรียนก็อุตสาห์เฉียดเงินของครูในแต่ละเดือนมาจ้างครูสอนเองเพื่อแก้ปัญหาก็ไม่ได้เพราะไม่ได้จ้างจากเงินงบประมาณ

โรงเรียนของผมเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ผ่านการประเมินจาก สมศ.รอบสอง ด้วยครับ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับอีกโรงหนึ่งซึ่งขนาดเล็กเหมือนกัน โรงเรียนของผมน่าจะผ่านแต่ไม่ผ่าน เครียดมากครับ

คณะผู้ที่มาประเมินมาพักที่โรงแรมได้รับการต้อนรับอย่างดีจากผู้บริหารเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดีอย่างชัวร์ผ่านแน่นอน ผู้บริหารที่เป็นเพื่อนกับ สมศ.ก็ชัวร์เช่นกัน ผมคิดว่าการประเมินนี้เอางบประมาณไปพัฒนาโรงเรียนน่าจะดีกว่ามากๆครับ แล้วก็ให้ศึกษานิเทศก์เป็นผู้ประเมินโรงเรียนน่าจะดีกว่ามากไม่ต้องเปลืองงบประมาณ ศึกษานิเทศก์ก็ว่างงานอยู่ด้วยในขณะนี้ ขอบคุณมากครับ

เรียน ท่าน ผอ.ครูบ้านนอก

1) ผมเองเชื่อว่า การกำหนดมาตรฐานโรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนประมาณ 50,000 โรง ต้องปฏิบัติตาม โดยมีการประเมินเป็นระยะ ๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ดี น่าจะช่วยยกระดับคุณภาพโรงเรียน ขึ้นสู่มาตรฐานกลาง ได้ครับ สำหรับโรงเรียนขนาดใหญ่ก็ควรทำตนให้สูงกว่ามาตรฐานกลางของประเทศ(มาตรฐานขั้นต่ำ) โดยโรงเรียนเหล่านี้ต้องเน้นการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ด้วยกระบวนการประกันคุณภาพภายในของตนเอง

2) ในกรณีที่มีจุดอ่อนที่ผู้ประเมิน หรือบริษัทประเมิน เราก็คงจะต้องแก้ปัญหาไปเป็นระยะ ๆ ถ้าบกพร่องเรื่องผู้ประเมินก็ต้องแก้ที่นี่ละครับ ผมเองไม่เห็นด้วยที่จะต้องยกเลิก มาตรฐาน หรือยกเลิก สมศ.

3) การที่โรงเรียนไม่ผ่านการประเมินด้วยเหตุปัจจัยใด ๆ โดยเฉพาะปัญญาการขาดแคลนครู ระบบประกันคุณภาพน่าจะเป็นเครื่องมือในการผลักดันรัฐหรือเขตพื้นที่การศึกษา ให้หันมาสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้นครับ ท่านผอ.ก็คงจะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป

4) มีโรงเรียนบางโรงเรียน ในบางจังหวัด เช่นที่ สุราฎร์ธานี ที่มีครูไม่ครบชั้น แต่ได้ผลการประเมินระดับดี-ดีมาก ทุกตัวชี้วัด เราอาจจะต้องศึกษาจากกรณีศึกษาเหล่านี้บ้างครับ อาจจะเป็นประโยชน์มากขึ้น

5) ผมเชื่อว่า ท่าน ผอ.คงจะต้องเหนื่อยไปสักระยะ ละครับ ประชุม หารือกับเขตพื้นที่เป็นระยะ ๆ นะครับ น่าจะช่วยได้ หรือ ไปขอเชิญโรงเรียนใด ๆ ที่มีความพร้อมมาเป็น Buddy สักโรงก็น่าจะดีนะครับ

....ขอเอาใจช่วย ท่าน ผอ.นะครับ.........

ขอบคุณท่านอาจารย์สุพักตร์ พิบูลย์ เป็นอย่างสูงครับ ที่ได้เสนอแนะแนวทาง แต่โรงเรียนจะมีครูจำนวนเท่าไรขึ้นอยู่กับจำนวนนักเรียนด้วย ตรงนี้น่าจะแก้เกณฑ์นะครับ

กำลังจะถูกประเมินครับสิ้นเดือนมกราคมนี้ใครบอกว่าไม่ต้องเตรียมเอกสารตามมาตรฐานตัวบ่งชี้ในทางตรงกันข้ามต้องเตรียมเพื่อตอบคำถามสมศ.ให้ง่ายขึ้นผมคิดว่าอย่างนั้นนะครับ

ต้องขอคิดด้วยอีกคน สมศ.เป็นการคิดที่จะเอาอย่างฝรั่งที่ไม่ยอมดูประเภณีวัฒนธรรมของคนไทย จะพัฒนาอะไรต้องดูทั้งระบบถ้าจะคิดพัฒนาเฉพาะจุดเฉพาะที่คนที่คิดพัฒนาในแนวทางนี้ เป็นคนที่ไม่คิดแบบองค์รวม มองแค่ว่าการศึกษาไทยไม่ดีก็ต้องแก่ที่โรงเรียน ทั้งๆที่องค์ประกอบที่เป็นคำว่า"การศึกษา"นั้นมีมากมาย ฉะนั้นการมีสำนักการศึกษาจึงช่วยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นและนานต่อไปก็จะเสีย เพราะตัวองค์กร สมศ.เองก็ยังไม่มาตรฐาน จึงเป็นแนวคิดที่ผิด ท่านดร.ทั้งหลายก็จะเถียงโดยอ้างว่า ทฤษฎีเป็นอย่างโงน อเมริกาเป็นอย่างงี้ แต่ลองมาเป็นครูอย่างผมแล้วจะรู้ว่า มันไม่ใช่อย่างที่เห็นมันไม่เป็นอย่างที่คิด ครูในพื่อนที่เดี่ยวกันเขารู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร บางแห่งผัวเมียอยู่คนละโรงเรียน พอผลประเมินออกมาต้องมานั่งหัวเราะ(เยาะ)ท้องแข็ง เชื่อผมเถอะครับว่ามันล้มเหลวจริง เหมือนระบบเขตการศึกษาก็เช่นกันล้มเหลว หน่วยงานบ้าอะไรมีรองต้อง 11 คน แต่โรงเรียนขาดแคลนครู โรงเรียน(ผม)ที่มีครูชำนาญการพิเศษคณิตศาตร์ผลสัมฤทธิ์ตก ขอร้องเถอะครับอย่าไปคิดว่าฝรั่งทำสำเร็จแล้วเราจะทำสำเร็จ ประเทศเราเกิดก่อนอเมริกามาตั้งนานปานนี้อย่าว่าแต่รถยนต์เลย สามล้องเครื่องที่คุยนักคุยหนาว่าทำดีทำเด่น ในความเป็นจริงก็ยังทำไม่ได้ เพราะมัวแต่จะเอาอย่างคนอื่น ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รู้ว่าตอนนี้รู้สำนึกบ้างหรือยังที่เห็นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา ตราบใดที่คนไทยยังชอบดูละครตบจูบตบจูบ ก็อย่าคิดว่ามีสมศ.แล้วการศึกษาจะเจริญ ถ้าใครจำได้มีรายการทีวีรายการการหนึ่งคือรายการกำจัดจุดอ่อนในต่างประเทศนั้นอาจจะฮิตติดบอร์ด แต่เมืองไทยไปไม่รอดครับ เพราะมันขัดต่อนิสัยคนไทย สมศ.จึงเป็นได้แค่หน่วยงานที่มาหาผลประโยชน์เท่านั้นเอง แต่แรกเริ่มก่อตั้งองค์กร ก็บอกว่าโรงเรียนอย่าตกใจเราเป็นแค่องค์กรมาประเมินเพื่อไปสู่การพัฒนา ไม่ได้จับผิด ไม่ได้มาเพิ่มภาระงาน บัดนี้เป็นอย่างไร ครู สพฐ.รู้ดี

ขอเถอะครับการคิดเอาอย่างคนอื่น การคิดเพื่อให้แปลกกว่าคนอื่น แล้วมายกยอปอปั้นว่าดีเลิศประเสริฐศรีแล้วทำไม่การศึกษาถึงไม่ดีสักที่ เหมือน หลักสูตร ใหม่ กับหลักสูตร 03 ลองยืนยันสิว่าของใหม่ดีกว่าของเก่า

  • ครูชลมีแนวคิดแปลกดีน่ะ ลองเสนอแนวทางในการพัฒนาการศึกษาไทยสักหน่อยซิครับว่า ควรจะเป็นอย่างไร เราอาจจะได้แนวคิดดี ๆ จากครูชลก็ได้
  • ฟังดูเหมือนครูชลกำลังจะบอกว่าหลักสูตร 2503(ซึ่งลอกมาจากอเมริกาแบบ 1000 % ) จะดีกว่าหลักสูตร ปัจจุบัน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ปล่อยให้โรงเรียนคิดเอง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท