กำลังใจ กับเงินๆทองๆ แบบไหนมีอานุภาพมากกว่ากัน


พวกเราอาจจะสงสัยกันไม่มากก็น้อยว่า เงินๆ ทองๆ กับกำลังใจ... อย่างไหนมีอานุภาพมากกว่ากัน วันนี้มีผลการศึกษาวิจัยมาฝากครับ

...

พวกเราอาจจะสงสัยกันไม่มากก็น้อยว่า เงินๆ ทองๆ กับกำลังใจ... อย่างไหนมีอานุภาพมากกว่ากัน วันนี้มีผลการศึกษาวิจัยมาฝากครับ

สำนักข่าวรอยเตอร์นำผลการศึกษาจากวารสารนิวรอน (Neuron = เซลล์ประสาท เช่น เซลล์สมอง ไขสันหลัง เส้นประสาท ฯลฯ) มาตีพิมพ์ 2 รายงาน

...

การศึกษาแรกมาจากญี่ปุ่น... ท่านอาจารย์ดอกเตอร์โนริฮิโระ ซาดาโตะ (Dr. Norihiro Sadato) และคณะ แห่งสถาบันวิจัยสรีรวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ญี่ปุ่น

การศึกษานี้ใช้เครื่องตรวจสนามแม่เหล็ก-วิทยุแบบพิเศษที่ตรวจการทำงานของสมอง (functional MRI / fMRI) เจ้าเครื่องที่ว่านี้ตรวจได้ว่า ส่วนใดกำลังทำงานมาก ส่วนใดกำลังทำงานน้อย

...

สมองของคนเราไม่ได้ทำงานพร้อมกับ 100% ปกติจะ "ผลัดกันทำงาน" ยกเว้นกรณีพิเศษจริงๆ เช่น เกิดโรคลมชักรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้ ฯลฯ

สภาวะดังกล่าวอาจะเป็นอันตรายอย่างรุนแรงต่อสมองได้ เนื่องจากสมองทำงานพร้อมกันมากเกินกำลัง

...

การที่เซลล์สมองผลัดกันทำงานนี้มีส่วนช่วยให้สมองไม่ "เหนื่อย" จนเกินไปจนหมดสภาพเร็ว

สมองของนกบางชนิดที่บินไกลๆ เช่น บินข้ามประเทศ ฯลฯ คราวละหลายๆ วันมีระบบพิเศษที่เรียกว่า "หลับแบบนก" คือ ผลัดกันทำงานทีละซีกได้ เช่น ช่วงนี้ใช้สมองซีกขวานำร่องการบิน ซีกซ้ายหลับไปเลย พอซีกซ้ายที่หลับตื่นขึ้นมา... สมองซีกซ้ายจะนำร่องการบิน ซีกขวาหลับไปบ้าง ฯลฯ

...

สมองคนเรา "หลับแบบนก" ไม่ได้ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนที่ขับรถทั้งๆ ที่นอนไม่พอเกิดอาการหลับเป็นช่วงๆ เริ่มจากช่วงสั้นมากๆ (microsleep) และตามด้วยการหลับที่นานขึ้น... จนบางคนหลับไม่ตื่น (เสียชีวิต) จากอุบัติเหตุในที่สุด

สมองของคนเราทำงานโดยการสร้างสารเคมีที่เรียกว่า "สื่อสัญญาณประสาท (neurotransmitters)" เวลาทำงานมันจะสร้างสารเคมี และปล่อยสารเคมีไปสื่อสารกับเซลล์ข้างเคียง ทำให้เกิดปฏิกริยาไฟฟ้าตามมาเป็นคลื่นๆ

...

เครื่องตรวจสนามแม่เหล็ก-วิทยุหรือ fMRI ตรวจจับการทำงานของสมองเป็นส่วนๆ ได้ เนื่องจากสารเคมีที่เกิดจากการทำงานของสมองจะทำให้ความเข้มสนามแม่เหล็กเปลี่ยนไปเล็กน้อย

เมื่อนำสัญญาณขนาดน้อยๆ มาขยายคล้ายๆ กับเสียงที่ผ่านเครื่องขยาย (amplifier) จะทำให้ตรวจจับเป็นเส้นกราฟ หรือภาพสีได้

...

อาจารย์ซาดาโตะทำการศึกษาในคนที่มีสุขภาพดี 19 คน โดยทดลองให้เล่นเกมพนันแข่งกัน ใครชนะจะได้ไพ่ใบที่มี "เงินสด (เงินในเกมส์)" ให้

ผลการศึกษาพบว่า สมองส่วนตอบสนองต่อการได้รับรางวัล (reward region) ทำงานตอบสนองเป็นอย่างดีกับเรื่องเงินๆ ทองๆ

...

หลังจากนั้นท่านทดลองให้คนแปลกหน้าเข้ามาประเมินบุคลิกภาพของกลุ่มตัวอย่างทีละคนๆ โดยใช้แบบสอบถาม และชมวิดีทัศน์ (video / วิดีโอ) ที่กลุ่มตัวอย่างแต่ละคนทำขึ้น

ผลการศึกษาพบว่า เมื่อกลุ่มตัวอย่างแต่ละคนได้รับคำชม (praise) เช่น คุณนี่เป็นคนใจกว้าง-ไม่เห็นแก่ตัว (altruistic = selfishless) ฯลฯ สมองส่วนตอบสนองต่อการได้รับรางวัล (reward region) ก็ทำงานตอบสนองเป็นอย่างดีเช่นกัน

...

อาจารย์ซาดาโตะกล่าวว่า คนเราต้องการทั้งรางวัลที่เป็นรูปธรรม เช่น เงินๆ ทองๆ ฯลฯ และรางวัลทางสังคม เช่น การได้รับความชื่นชม การได้รับการยอมรับ การเป็นที่รัก (หมายถึงมีคนรัก - 'Need to belong') ฯลฯ

การศึกษาที่สองทำโดยท่านอาจารย์แคโรไลน์ ซิงค์ (Caroline Zink) และคณะ แห่งสถาบันสุขภาพจิต สหรัฐฯ

...

กลุ่มตัวอย่าง 72 คนตอบสนองต่อการเล่นเกมส์ออนไลน์ร่วมกัน (interactive computer game) โดยผู้ชนะจะได้เงิน (เงินสมมติจากการเล่นเกมส์) และมีให้รางวัลทางสังคมคล้ายๆ กับการศึกษาแรก

ผลการศึกษาพบคล้ายกับการศึกษาแรกคือ สมองส่วนตอบสนองต่อรางวัล (reward region) ตอบสนองต่อเรื่องเงินๆ ทองๆ ดีพอๆ กับรางวัลทางสังคม เช่น การยอมรับจากหมู่คณะ (social status) ฯลฯ

...

อาจารย์ท่านกล่าวว่า การได้รับรางวัลบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม เช่น เงินทอง วัตถุสิ่งของ ฯลฯ และนามธรรม เช่น การยกย่องชมเชย การยอมรับจากสังคม ฯลฯ มีผลดีต่อการทำงานของสมองคนเรา...

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการบริหารโรงพยาบาลของผู้บริหารท่านหนึ่ง ซึ่งเกษียณไปแล้ว ท่านและคณะผู้บริหารในยุคนั้นเชื่อว่า คนเราต้องการการยกย่องชมเชยอย่างเดียว ไม่ต้องการเงิน

...

ว่าแล้ว ท่านก็จัดงานประเภท "ยกย่องชมเชย" บ่อยๆ แจกประกาศนียบัตรบ้าง แจกโล่เกียรติยศบ้าง ทำอย่างนี้บ่อยๆ ทว่า... เรื่องสิทธิโดยชอบธรรมของคนอื่นนี่ "เค็มสุดๆ" เช่น ไม่ยอมจ่ายค่าเดินทางไปอบรม ประชุม วิชาการให้คนในโรงพยาบาล ฯลฯ อ้างว่า ให้เสียสละ

ช่วงนั้นเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้บริหารก่อนหน้านั้นใช้เงินโรงพยาบาลเกือบหมดก่อนเกษียณ ทำให้โรงพยาบาลไม่มีเงินบำรุงพอจ่ายค่าเวร

...

ท่านประกาศลดค่าเวรหมอไป 50% อยู่หลายปี ลดค่าเวรพยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆ 25% อีกหลายปีเช่นกัน แน่นอนว่า มีหมอลาออกบ้าง ขอย้ายไปที่อื่นบ้างมากเป็นพิเศษ

การบริหารแบบนี้เก็บเงินบำรุงโรงพยาบาลได้มาก ทว่า... ผู้เขียนลองไปถามดูว่า บุคลากรมีความพึงพอใจอย่างไรบ้าง ถามใครก็ได้รับคำตอบตรงกันว่า ไม่พอใจ แต่พูดไม่ได้ 100%

...

การบริหารที่ดีควรมีแรงจูงใจทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น ค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลา ฯลฯ และแรงจูงใจที่เป็นนามธรรม เช่น การยกย่องชมเชยโดยธรรม (ไม่ใช่ยกย่องแต่เด็กเส้น) การพิจารณาเลื่อนขั้นโดยธรรม (ไม่ใช่ให้คนอันเป็นที่รักทุกครึ่งปี) ฯลฯ

การศึกษาวิจัยนี้สอนอะไรเราหลายอย่าง เช่น พวกเราทุกคนต่างก็มี "ต้นทุนทางสังคม (social resources)" ที่จะขับเคลื่อนให้คนรอบข้าง และสังคมก้าวไกลไปในทางที่ดีได้ โดยการยกย่องการกระทำดี (appreciation) เป็นประจำ เพื่อให้คนทำดีมีกำลังใจ ฯลฯ

...

ขอเรียนเสนอให้พวกเราหันมาแสดงความชื่นชมคนอื่น โดยเริ่มจากคนรอบข้างให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และค่อยๆ เพิ่มเป็นวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร (คนเรามักจะมีความแช่มชื่นตอนอิ่มมากกว่าตอนหิว)

การแสดงความชื่นชมเวลาคนอื่นทำความดีจะช่วยกระตุ้นสมองได้ทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งผู้ให้และผู้รับ ทำให้เกิดความแช่มชื่นด้วยกันทั้งสองฝ่าย

...

ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำวิธีชมให้ได้ผลดีไว้ดังต่อไปนี้

  • ชมเรื่องจริง เช่น พบคนงาม ให้ชมว่างาม ฯลฯ
  • ไม่ชมเรื่องไม่จริง เช่น พบคนไม่งาม ไม่ควรชมว่างาม เพราะอาจก่อให้เกิดความหวาดระแวงว่า ไม่จริงใจ หรือประจบสอพลอ ฯลฯ
  • ชมส่วนดี ไม่ติส่วนเสีย เช่น พบคนไม่งาม อย่าไปติ ทว่า... ให้มองว่า คนไม่งามมีอะไรดี เช่น สวมเสื้อผ้าดี ให้ชมตรงเสื้อผ้า ถ้าเป็นคนมีน้ำใจดี ให้ชมที่น้ำใจ ฯลฯ
  • ชมการทำดีให้มากกว่าการได้ดี เพื่อให้คนทำดีมีกำลังใจ เนื่องจากคนทำดี... บางครั้งบุญยังมาไม่ถึง ยังไม่ทันได้ดี จะได้มีกำลังใจทำดีต่อไป
  • ถ้าผู้ถูกชมปฏิเสธ... บางครั้งอาจเป็นเพราะผู้ถูกชมต้องการคำชมซ้ำเพื่อยืนยัน ให้ชมซ้ำอีก 1-2 ครั้ง เพื่อยืนยันว่า ชมจริงๆ (reassure)

...

โบราณาจารย์ (ครูบาอาจารย์แต่โบราณ) ท่านสอนเรื่องการให้ไว้ว่า

  • เวลาให้วัตถุสิ่งของ ให้แถม "ใจ" ไปหน่อย เช่น ให้ด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่ให้แบบเสียไม่ได้ (ไม่เต็มใจให้) ให้ไปยิ้มไป ฯลฯ... ของขวัญจะมีค่ามากขึ้นแยะ
  • เวลาจะให้ "ใจ" ใคร อย่าให้ไปจนหมด... ให้เหลือไว้(ให้ตัวเรา)บ้าง อย่าทุ่มสุดตัว เวลาผิดหวังจะได้ไม่เสียใจมากเกิน

จริงหรือไม่ ขอฝากท่านผู้อ่านนำไปพิจารณา

...

และอย่าลืมแสดงความขอบคุณ หรือขอบใจ เมื่อคนอื่นทำอะไรดีๆ ให้เราเสมอ เพราะคนเราไม่ได้เกิดมารวยทรัพย์ทุกคน

ทว่า... พวกเราเกิดมารวยน้ำใจได้ด้วยการแสดงความชื่นชมเวลาคนอื่นทำดี และกล่าวขอบคุณ-ขอบใจ เมื่อคนอื่นทำอะไรดีๆ ให้เรา

...

เวลาเรากล่าวชมการทำดีของคนอื่น... เราจะได้ทำบุญในหมวดทานคือ "อนุโมทนามัย" เป็นการทำดีที่แสดงออกทางวาจา (คำพูด) หรือทางกาย (เขียนหรือพิมพ์) ออกมา

เวลาเรากล่าวชมการได้ดี (ผลของบุญ) ของคนอื่น... เราจะได้ขัดเกลาความตระหนี่ ซึ่งพระสัมมาสัมพทธเจ้าทรงแสดงความตระหนี่ไว้ประเภทหนึ่งคือ "วัณณมัจฉริยะ (วัณณะ = ผิวพรรณ; มัจฉริยะ = ตระหนี่)"

...

คนที่เห็นผลของบุญของคนอื่น (ไม่ว่าจะเป็นวิบาก หรือรูปที่เกิดจากกรรม) เช่น เห็นคนอื่นมีรูปงาม ฯลฯ ถ้าไม่ชม (อย่างน้อยก็ในใจ) ท่านจัดเป็นวัณณมัจฉริยะ หรือความตระหนี่คำชม

ถ้าเห็นคนอื่นทำดี และไม่แสดงความชื่นชมหรืออนุโมทนา... ท่านจัดเป็นความตระหนี่อย่างหนึ่งเช่นกัน การกล่าววาจาแสดงความชื่นชมเวลาคนอื่นทำดีจึงได้บุญในหมวดทานคือ "อนุโมทนามัย" ด้วย และได้ขัดเกลาความตระหนี่ (ขี้เหนียว) ให้เบาบางลงไปด้วยพร้อมๆ กัน ถ้าทำบ่อยๆ จะได้บุญเพียบเลย

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 

ที่มา                                                  

  • Thank Reuters > Julie Steenhuysen. Xavier Briand ed. > Praise as good as cash to brain: study > [ Click ] > April 23, 2008. // source: J Neuron.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 24 เมษายน 2551.
หมายเลขบันทึก: 178473เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2008 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท