ฝึกสมาธิทุกวัน ช่วยลดความดันเลือดสูง


ทุกวันนี้พวกเราต่างก็มีข่าวดีคือ โอกาสอายุยืนเพิ่มขึ้น ทีนี้ข่าวดีย่อมมาคู่กับข่าวร้าย... ข่าวร้ายที่ว่านี้คือ เมื่ออายุมากขึ้น คนเรามีโอกาสเป็นโรคความดันเลือดสูงมากขึ้น

...

ทุกวันนี้พวกเราต่างก็มีข่าวดีคือ โอกาสอายุยืนเพิ่มขึ้น ทีนี้ข่าวดีย่อมมาคู่กับข่าวร้าย... ข่าวร้ายที่ว่านี้คือ เมื่ออายุมากขึ้น คนเรามีโอกาสเป็นโรคความดันเลือดสูงมากขึ้น

การรักษาความดันเลือดสูงทุกวันนี้นิยมใช้ทั้งยา และมาตรการที่ไม่ใช่ยาร่วมกัน เช่น ออกกำลัง ลดปริมาณเกลือในอาหารให้น้อยลง (เกลือส่วนใหญ่มักจะมาจากอาหาร ขนม และเครื่องดื่มสำเร็จรูป) ฝึกหายใจช้าๆ ฯลฯ

...

การฝึกหายใจช้าๆ นาทีละไม่เกิน 10 ครั้ง คราวละ 15 นาทีขึ้นไปเป็นวิธีที่ช่วยป้องกัน และลดความดันเลือดสูงที่ได้ผลดีจนมีคนทำเครื่องมือฝึกหายใจออกมาขาย

ตัวเครื่องมีสายคาดอกไว้สำหรับนับความถี่ของการหายใจ ตัวเครื่องมีหูฟัง และจะคอยให้สัญญาณพร้อมเพลง

...

ถ้าเราไม่อยากเสียสตางค์เป็นพันเป็นหมื่นก็ฝึกสมาธิเองได้ เช่น หายใจเข้านับ 1-2-3 หายใจออกนับ 4-5-6-7 ฯลฯ แล้วพยายามหายใจให้เบาลง ช้าลง (ไม่เกินนาทีละ 10 ครั้ง) ทำอย่างนี้ทุกวันจะดีกับสุขภาพมาก

ถ้านับถือพระพุทธศาสนาจะนับ "พุทโธ" หรือจะนับแบบอรรถกถาวิสุทธิมรรค คือ

  • หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1
  • หายใจเข้านับ 2 หายใจออกนับ 2
  • หายใจเข้านับ 3 หายใจออกนับ 3
  • หายใจเข้านับ 4 หายใจออกนับ 4
  • หายใจเข้านับ 5 หายใจออกนับ 5

...

รอบแรกท่านให้นับ 1-5 รอบต่อไปนับ 1-6, 1-7, 1-8, 1-9, 1-10 แล้วกลับมานับ 1-5, 1-6, 1-7, 1-8, 1-9, 1-10 อย่างนี้อีกหลายๆ รอบก็ได้

การนับแบบวิสุทธมรรคนี้มีดีตรงที่ทำให้สมาธิมั่นคงมากๆ ถ้าใจลอย... ไม่นานจะนับต่อไม่ได้ก็อย่าเพิ่งตกใจ ให้กลับไปนับ 1-5 ใหม่

...

ท่านอาจารย์ดอกเตอร์เจมส์ ดับเบิลยู. แอนเดอร์ซัน (Dr. James W. Anderson) และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเคนทัคคี เลคซิงทัน สหรัฐฯ ทำการศึกษาโดยให้กลุ่มตัวอย่างฝึกสมาธิแบบ 'TM' หรือทรานเซนเดนทัล เมดิเทชั่น (trancendental meditation)

วิธีนี้กล่าวกันว่า นำมาเผยแพร่โดยอาจารย์ฤาษีจากอินเดีย ให้บริกรรม "มันตรา (mantra - ภาษาไทย = "มนตร์")" เช่น "อา-อีม" ฯลฯ ไปเรื่อยๆ คราวละ 20 นาที ทำอย่างนี้วันละ 2 ครั้ง

...

ผลการศึกษาพบว่า การฝึกสมาธิเป็นประจำทุกวันมีส่วนช่วยลดความดันเลือดได้แก่

  • ลดความดันเลือดตัวบน หรือความดันในช่วงที่หัวใจหดตัว (systolic blood pressure) ได้ 4.7 หน่วย
  • ลดความดันเลือดตัวล่าง หรือความดันในช่วงที่หัวใจคลายตัว (diastolic blood pressure) ได้ 3.2 หน่วย

...

อาจารย์แอนเดอร์ซันสรุปไว้ว่า การลดความดันเลือดจากการฝึกสมาธิทุกวันช่วยลดอัตราตาย (โอกาสตาย) จากโรคดังตาราง

...

อัตราตาย (โอกาสตาย) จากโรค ลดลงร้อยละ
หัวใจ+ระบบไหลเวียนเลือด (cardiovascular) 12-15%
เส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน (stroke) 15-20%

...

กลไกในการลดความดันเลือดจากสมาธิมีหลายอย่าง ทว่า... กลไกอย่างหนึ่งที่อาจารย์แอนเดอร์ซันกล่าวไว้คือ ชีวิตคนเรามักจะหมกมุ่นกับเรื่องเครียดๆ ซ้ำซากคล้ายๆ กับการ "พายเรือในอ่าง"

ยิ่งคิดยิ่งวน ยิ่งวนยิ่งคิด... เรื่องเล็กเลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ เปรียบคล้ายพายุหมุนน้อยๆ ที่โตขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นพายุทอร์นาโด

...

ทีนี้เมื่อเราหันมาฝึกสมาธิทุกวัน... การได้ใส่ใจ จดจ่ออยู่กับสมาธิช่วย "หยุด" กระบวนการคิดแบบ "พายเรือในอ่าง"

เมื่อหยุดพายเรือ หรือหยุดหมกมุ่นกับเรื่องเครียดๆ... จิตใจคนเราจะมีโอกาสได้พักผ่อนบ้าง เจ้าพายุทอร์นาโดเลยหมดเรี่ยวหมดแรง กลายเป็นพายุหมุนขนาดเล็ก และแผ่วเบาลงไปเรื่อยๆ

...

ความเครียดที่ดูเหมือนจะมากมายได้มีโอกาสลดลงบ้าง ความดันเลือดและความดันทุรังที่มีอยู่เลยอ่อนแรงลง

เรียนเสนอให้พวกเราหันมาฝึกสมาธิ เพื่อป้องกันหรือเสริมการรักษาโรคความดันเลือดสูงกัน

...

ฝึกสมาธิกันแล้ว อย่าลืมหัดมองโลกในแง่ดีกันบ้าง ซึ่งเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการหัดแสดงความชื่นชมคนอื่น โดยเฉพาะคนรอบข้างให้ได้อย่างน้อยวันละครั้ง จะชมเป็นคำพูด หรือจะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้

ทว่า... ถ้าเขียนแล้ว อย่าเก็บไว้คนเดียว หรือขยำกระดาษทิ้ง ให้บอกคนที่ถูกชมให้รับรู้ความปรารถนาดีจากเราด้วย

...

การฝึกสมาธิช่วยลดความดันเลือด ส่วนการฝึกแสดงความชื่นชมคนอื่นช่วยลดความดันทุรัง

ความดัน 2 อย่างนี้ทำลายโลกได้มากพอๆ กันเลย ต่างกันที่ความดันเลือดทำลายคนได้คราวละ 1 คน ส่วนความดันทุรังนั้นทำลายคนได้คราวละหลายคน ถ้าลดได้ทั้งสองอย่างจะช่วยให้สุขภาพของเราดีขึ้น และช่วยลดวิกฤต "โลกร้อน" ได้มาก

...

ถึงตรงนี้...  ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 

ที่มา                                                  

  • Thank Reuters > Anne Harding > Meditation technique can lower blood pressure > [ Click ] > April 11, 2008. / American Journal of Hypertension. March 2008.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" เป็นไปเพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่รักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอ พยาบาล เภสัชกร หรืออนามัยที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ณรงค์ ม่วงตานี + อาจารย์เบนซ์ iT ศูนย์มะเร็งลำปาง > สนับสนุนเทคนิค iT.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > 23 เมษายน 2551.
หมายเลขบันทึก: 178466เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2008 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท