...ถ้าเป็นวรยุทธ์ ก็คงจะประมาณ หมัดเมา...นั่นเอง...นั่นคือเมื่อเรียนจบครบกระบวนยุทธ์แล้ว ก็พร้อมที่จะใช้กระบวนท่าไหนได้ทั้งนั้น ไม่ยึดหลักตายตัว แต่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์...

กว่าจะสุก สวย แดง แสง เสียขนาดนี้ เจ้าต้องผ่านอะไรมาบ้างหนอ...
เมื่อวันก่อน เพื่อนรุ่นพี่ซึ่งเคยทำงานด้วยกัน โทรมาปรึกษาว่า จะต้องไปจัดการฝึกอบรม ให้แก่หน่วยงานแห่งหนึ่ง ในเรื่อง การทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งในส่วนของเนื้อหาสาระนั้น เธอแน่ใจและมีประสบการณ์ความรู้เพียงพอ แต่ไม่เคยต้องจัดการกระบวนการฝึกอบรมทั้งหมดด้วยตัวเอง จึงโทรมาปรึกษาคนไม่มีราก ซึ่งเรียนเกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฏีในการฝึกอบรมมาบ้าง
ลองพลิก ๆ ดูตำรับ ตำรา ผสมผสานกับประสบการณ์ในการจัดการฝึกอบรมตอนทำงานและตอนเรียน จึงพบว่าจัดการเรียนรู้หรือการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุด คือ การฝึกอบรม(Training)
ลองมาทำความรู้จักกับการฝึกอบรม (Training) กันนะคะ
การฝึกอบรม (Training) (Garry Mitchell,1998) หมายถึงการพัฒนาหรือฝึกฝนบุคคลให้เหมาะหรือเข้ากับงานหรือการทำงาน เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้เข้ารับการอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลง(Change) พฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ การฝึกอบรมจึงเป็นกระบวนการที่ช่วยพัฒนาบุคคล ให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างมีแบบแผนและเป็นระบบ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ(Knowledge) เจตคติ(Attitude) ทักษะประสบการณ์(Skill) ที่เหมาะสมกับภารกิจหรืองาน เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ถาวรและมีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
กระบวนการฝึกอบรมที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น มีปัจจัยหลายประการ ทั้งในด้านโครงสร้างและรูปแบบของการฝึกอบรม เนื้อหาสาระ ความคิดรวบยอดและวิธีการ สื่อต่าง ๆ โสตทัศนูปกรณ์ที่ใช้ และที่สำคัญที่จะละเลยไม่ได้คือ การสร้างแผนการฝึกอบรม เพื่อให้การฝึกอบรมประสบความสำเร็จ ภายใต้บริบทและการจัดการที่ได้ดำเนินการไว้อย่างรอบคอบและมีระบบแบบแผน
การประยุกต์หลักการเรียนรู้ 10 ข้อ กับแผนการฝึกอบรม
1. ความพร้อมและการต่อต้าน : ในการฝึกอบรมทุกครั้ง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับต้น ๆ คือ ความพร้อมและการต่อต้านจากผู้เข้ารับการอบรม บางหน่วยงานจัดการฝึกอบรม โดยไม่มีการประเมินถึงความต้องการ(Need Assessment) ของผู้เข้าอบรม ดังนั้นจึงอาจมีแรงต่อต้านและไม่ให้ความร่วมมือในการฝึกอบรม ด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินการฝึกอบรม จึงต้องมีการเลือกใช้แบบแผนการเรียนรู้ที่เหมาะสม วางแนวทางของบทเรียน ลดแรงต่อต้าน พร้อมทั้งนำเสนอวัตถุประสงค์ วิธีการเรียนรู้ การประเมินผล รวมทั้งหารูปแบบเพื่อการเข้าถึงความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง
2. การเรียนรู้แบบเชิงรุกและเชิงรับ : เน้นแนวทางการฝึกอบรมที่การลงมือปฏิบัติของผู้เรียน(Action Learning) กำหนดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีการใช้คำถามนำเข้าสู่เนื้อหาเพื่อให้เกิดการคิด และการมีส่วนร่วม โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ อาทิ เทคนิคปัญหาและการแก้ไขปัญหา การใช้เหตุและผล ฯลฯ
3. การลองผิดลองถูก : มีการจัดเตรียมบทเรียนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ ด้วยการลองผิดลองถูกโดยตนเองของผู้ฝึกอบรม และพร้อมทั้งจัดให้มีเครื่องมือสำหรับการประเมินการเรียนรู้ไว้ให้พร้อม
4. จัดความสัมพันธ์ของขั้นตอนในการฝึกอบรม : ในแต่ละช่วงของการฝึกอบรม ทั้งการเริ่มต้น นำเสนอเนื้อหา และประเมิน โดยนำเทคนิคการถามคำถาม การทำซ้ำ และการปฏิบัติ เพื่อเตรียมความพร้อมการเรียนรู้ กระตุ้นการเรียนรู้ และการเตรียมพร้อมเพื่อรับการประเมินผลการเรียนรู้จากการฝึกอบรม
5. มีสื่อสำหรับการรับรู้หลากหลาย : ในการนำเสนอและการฝึกปฏิบัติ ควรใช้วิธีการค้นหาความจริง(Socratic Method) และการบรรยายด้วยภาพและเสียง ในลักษณะทำซ้ำ(Redundancy)เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น
6. การเสนอครั้งละเรื่องเดียว : ใช้หลักการ Less is More เพื่อป้องกันการรับข้อมูลมากเกินควรและทำให้เกิดการสับสนและลืมเนื้อหา มีหลายท่านกล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า Too Much is Useless สิ่งที่มากจนเกินไปนั้น จะไม่เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้
7. การสร้างความเข้าใจ : ทุกขั้นตอนของการฝึกอบรม ต้องสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนทั้งในส่วนของสาระ วัตถุประสงค์ ระดับความรู้ความเข้าใจที่คาดหวัง ใช้คำถามเพื่อเตรียมความพร้อมกลุ่ม เสนอเนื้อหาเป็นลำดับ มีการทวนซ้ำเพื่อเสริมแรงการเรียนรู้
8. ฝึกปฏิบัติ : ในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาแล้วนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องเน้นการลงมือปฏิบัติ โดยใช้ประสบการณ์ของผู้เข้าฝึกอบรมเป็นศูนย์กลางโดยการกระตุ้น เสริมแรง และแนะนำช่วยเหลือในนำประสบการณ์ออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในกลุ่ม
9. มีการตอบสนอง : ผู้ฝึกอบรมควรมีการตั้งคำถาม อธิบายเพิ่มเติม และแก้ไขความเข้าใจที่ยังไม่ถูกต้องและไม่ตรงประเด็นให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นระยะ ๆ อย่างสม่ำเสมอ
10. ความเป็นเอกภาพ : ผู้ฝึกอบรมควรมีการดูแล สังเกต และเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคล แต่ละกลุ่ม พร้อมทั้งจัดการให้ความช่วยเหลือกลุ่มให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
คนไม่มีรากได้นำส่วนของหลักการจัดทำแผนการสอนนี้ให้รุ่นพี่ท่านนั้น พร้อมทั้งให้ข้อมูลอีกบางส่วน ซึ่งจำเป็นต่อการฝึกอบรม พร้อมทั้งระลึกและตระหนักถึงสิ่งที่ ท่านอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาในการฝึกอบรม ศาสตราจารย์ กิติคุณ ดร.รัตนา พุ่มไพศาล มักจะกล่าวเตือนเสมอว่า
"...กฎเกณฑ์ แนวคิดต่างๆ นั้น เราต้องเรียนรู้อย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะเอาไว้ใช้ได้อย่างชำนาญ และเพื่อหลีกเลี่ยงได้เมื่อจำเป็น ไม่ควรยึดถือจนอึดอัด เนื้อหาสาระก็เช่นกัน ต้องถูกต้องแม่นยำ แต่ต้องไม่มากและยึดมั่น ถือมั่น จนทำให้เกิดผลเสียต่อกระบวนการเรียนรู้ อันเป็นเป้าหมายหลักของการฝึกอบรม"
ต้องขออนุญาตยืมวาทะของท่านอาจารย์ยูมิและคุณกวินทรากร มาใช้ค่ะ
....ถ้าเป็นวรยุทธ์ ก็คงจะประมาณ หมัดเมา...นั่นเอง...นั่นคือเมื่อเรียนจบครบกระบวนยุทธ์แล้ว ก็พร้อมที่จะใช้กระบวนท่าไหนได้ทั้งนั้น ไม่ยึดหลักตายตัว แต่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์... เห็นด้วยไหมคะ ?
แหล่งอ้างอิง
The Trainer’s Handbook , The AMA Guilde to Effective Training , Third Edition,1998. By Garry Mitchell.