หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

เกี่ยวอดีตเสี้ยวหนึ่งมาเล่าให้ฟัง


หลักสำคัญที่ทำให้คนยืนหยัดมีชีวิตอยู่ได้ คือ ครอบครัวและมิตรภาพ

เมื่อมาสัมผัสตั้งแต่เริ่มเดินทางมาจนถึงบริเวณที่เห็นนี้   เริ่มเข้าใจข้อความที่จี๊ด จีรนันท์  เขียนไว้ในหนังสือของเธอและจินตนาการชัดขึ้นถึงวิถีชีวิตของเธอในช่วงเวลาก่อนที่นี่จะถูกรัฐยึดคืนมา

เธอเขียนไว้ว่า การดำรงชีวิตอยู่ 1 ปีเศษที่นี่ (ระหว่างปี 2519 2520 ) คนที่อยู่ต้องใช้แรงกาย  ทำไร่  เกี่ยวข้าว  ตำข้าว  แบกหยวกกล้วยป่ามาสับเลี้ยงหมู  ต้องอาศัยแรงใจอันแกร่งมหาศาลต่อสู้กับการคิดถึงบ้านและการทบทวนทำความเข้าใจกับตัวเองว่า พวกเขามาอยู่อย่างนี้เพื่ออะไร 

คนที่มาที่นี่มาจากทุกสารทิศ  มีชีวิตร่วมกันในป่าเขา จากบ้านเกิดเมืองนอนถึงไพรลำเนา  ด้วยพวกเขามีอุดมการณ์เดียวกัน  เมื่อออกจากป่า  หลักสำคัญที่ทำให้คนเหล่านี้ยืนหยัดมีชีวิตอยู่ได้  คือ  ครอบครัวและมิตรภาพ  แม้ฐานะครอบครัวและพื้นฐานการศึกษาจะทำให้การมีชีวิตในสังคมเมืองในระหว่างคนเหล่านี้มีความแตกต่าง จนบางคนดูราวกับคนด้อยโอกาส

 

เธอเล่าบรรยากาศการอยู่ร่วมกันของที่นี่ว่า  มีความอบอุ่น สามัคคี มีพลังศรัทธาในใจของทุกคน บ้านหลังหนึ่งที่นี่เป็นบ้านป่าแห่งแรกของเธอ  ด้วยเงื่อนไขของป่า การตัดไม้แห้งมาลงมือก่อไฟและการหุงข้าวด้วยหม้อสนาม ถือเป็น Specific  Competency ที่ทุกคนต้องมีความชำนาญ      การกินอยู่ที่นี่มีเมนูประจำ  คือ  แกงเขียวหวานบัว แกงบัวลอย  เมื่ออาหารขาดแคลนก็หุงนึ่งข้าวโพดที่โม่จนแตกร่อนครึ่งหนึ่งข้าวครึ่งหนึ่งกิน  กับข้าวมีต้มจืดม้ง  ผัดฟักทอง  ผักลวกจิ้ม  เก็บผักกูด เห็ดหูหนูจากป่ามากิน   ที่ทันสมัยคือ มีชาให้ชงดื่ม และมีบุหรี่ให้สูบด้วย   ใช้ใบชาเก็บจากดงชาป่ามาคั่วเก็บไว้ชงดื่ม  เติมรสหวานด้วยน้ำตาลม้ง ที่มีชื่อเรียกว่า "สัวท่า"   มีใบยาสูบหั่นตากแห้งไว้มวนสูบ    แลกอาหารดิบจากม้งด้วยเงินหรือสิ่งของที่ฝากซื้อจากพื้นราบที่มีติดตัว  

เธอเล่าว่า เวลามีคนบาดเจ็บที่ถูกยิงเป็นแผลใหญ่ เนื้อฉีกขาดกระจุยต้องเคลื่อนย้าย  คนเจ็บที่รักษาที่ร.พ.ที่นี่ไม่ได้จะถูกแบกหามผ่านลงมาตามภูชันๆลัดเลาะไปให้ถึงเป้าหมายจากฐานหนึ่งสู่ฐานหนึ่งข้ามจังหวัด   ด้วยเปลสนามสานด้วยหวายเส้นใหญ่ที่มีน้ำหนัก 2-3 เท่าของคนเจ็บ  ใช้คนแบกไม่ต่ำกว่า  5-7 คน  คนที่เคยไปเที่ยวที่นี่จินตนาการดูเถอะว่าคนเจ็บจะเป็นยังไง 

 

บ้านจิระนันท์

 

หมายเหตุ 

ภาพซ้ายบน  คือ  บ้านจีระนันท์      ภาพขวาบน เรือนขวาที่มีคนยืน  คือ คุกไว้ขังนักโทษที่ลักทรัพย์และข่มขืนสตรี   คุกนี้ไม่มีประตู  เปิดปิดได้โดยการยกซี่กรงขึ้นลงทีละซี่ บ้านทางซ้ายของภาพ   คือ ที่พักยามเฝ้านักโทษ   ภาพซ้ายล่าง  คือ ลำห้วยที่เดียวกับที่มีกังหันน้ำใหญ่  

 

จากบ้านที่เธอพำนักเดินถึงบ้านที่ราบมีระยะทางครึ่งชั่วโมง   การเดิน 1 ชั่วโมง ได้ระยะทาง 4 กิโลเมตร     เธอเป็นครูสอนม้ง ให้อ่านออกเขียนได้ และคิดเลขเป็น  ใช้ลานหน้าบ้านเป็นห้องเรียน มีกระดานดำใหญ่ไว้สอน    ส่วน ณ บ้านพื้นราบ หน้าที่เธอคือการจัดการให้ครอบครัวม้งที่ภรรยาไม่รู้ว่าสามีไปเป็นสหายสามารถใช้ชีวิตแบบรวมหมู่ด้วยกัน และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเด็ก  ที่นี่มีเด็กอยู่ราว 30  ชีวิต    

 

การใช้ชีวิตส่วนตัวของเธอเพื่อชำระล้างร่างกายอาศัยประปาที่ต่อท่อไม้ไผ่เป็นรางมาจากธารน้ำบนที่สูง   ใช้ลำห้วยในการชำระร่างกายบ้าง  เวลาลงห้วยใส่กระโจมอกลงอาบ  อาบน้ำ 5 วันครั้ง   การซักเสื้อผ้าใช้ผงซักฟอกซึ่งฝากเงินไปซื้อจากพื้นราบ  ยามขาดแคลนก็ประยุกต์ใช้ท่อนเครือสะบ้าทุบให้แหลกแล้วกวนกับน้ำจนเกิดฟองแทน     

 

 

7 เมษายน 2551

 

เก็บเกี่ยวมาจาก     หนังสือ "อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต เส้นทางของผู้หญิงคนหนึ่ง ณ จุดหักเลี้ยวของประวัติศาสตร์   เขียนโดย  จีระนันท์  พิตรปรีชา    

 

 

 สะบ้า

นี่คือ หน้าตา ของเจ้าลูกและต้นสะบ้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 177328เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2008 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท