หมอบ้านนอกไปนอก(63): จัดการความรู้


ความรู้เพียงน้อยนิดที่ใช้งานได้จริงมีคุณค่ามากกว่าความรู้จำนวนมากที่ไม่ได้นำมาใช้ “A little knowledge that acts is worth more than much knowledge that is idle” Kahil Gibran: The Prophet

 อากาศเริ่มคลายความหนาวเย็นลงบ้างพร้อมกับความสดใสของท้องฟ้ายามแดดเจิดจรัสในสัปดาห์ที่ 31 แดดออกทุกวันแม้จะไม่ออกทั้งวันก็ตาม ผู้คนเริ่มลดความหนาของเสื้อผ้าลงไปบ้าง หลายคนเริ่มใส่ชุดกีฬาออกมาวิ่งออกกำลังกายหรือปั่นจักรยาน ชายหนุ่มหญิงสาวเดินเกี่ยวก้อยไปตามถนน เฉกเช่นกับตายายหลายคู่ที่จูงมือกันเดินไปช้าๆอย่างมีความสุข สลับไปกับการเดินด้วยมิตรภาพอันดีของสุนัขกับเจ้าของที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมือง

วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2551 ไม่ได้ออกไปไหน นั่งปรับและเตรียมสไลด์บรรยายการจัดการความรู้ที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์วาลาเรียให้เป็นผู้บรรยายร่วม ผมเตรียมสไลด์ไว้เสนอให้อาจารย์วาลาเรียเพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆร่วมกัน โดยผมแปลบรรยายที่ผมเคยบรรยายเป็นภาษาไทยไปแต่เนื่องจากมีจำนวนมากจึงพยายามปรับลดลง

มีความเห็นที่แตกต่างกันคืออาจารย์วาลาเรียต้องการให้แยกบรรยายเนื้อหาทฤษฎีกับตัวอย่างในการปฏิบัติ ต้องแยกกันให้ชัด ในขณะที่ผมมีความเห็นว่าควรผสานทฤษฎีกับปฏิบัติลงไปด้วยกันเพื่อให้ผู้เรียนหรือผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า หลักการนั้นๆเอาไปใช้อย่างไร ตอนไหน เมื่อไหร่ จะทำให้นึกภาพในการนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น แต่สุดท้ายผมก็ตกลงทำสไลด์แยกออกเป็น 3 ชุดคือแนวคิดทฤษฎี ตัวอย่างปฏิบัติในโรงพยาบาลบ้านตากและรูปถ่ายกิจกรรมต่างๆในโรงพยาบาลบ้านตากเพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นเพราะผู้ฟังมาจากหลายประเทศที่มีบริบทไม่เหมือนของไทยเรา

วันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2551 มีเรียนตอน 11.15 น. กรณีตัวอย่างของระบบสุขภาพไทย บรรยายโดยอาจารย์กี คีเกลที่เคยเข้ามาร่วมทำโครงการอยุธยา อาจารย์กีบอกว่าบรรยายปีนี้ยากกว่าปีที่แล้วเพราะมีผู้ตรวจประเมินภายนอกร่วมฟังด้วยสองคน (ผมกับพี่เกษม) เราสองคนยอมรับว่าอาจารย์กีสามารถวิเคราะห์ความเป็นมาและความเป็นไปของระบบสุขภาพไทยได้ชัดเจนมาก คม ชัด ลึกเช่นเคย

ช่วงบ่าย กิจกรรมกลุ่มเรื่องกำลังคนสาธารณสุขที่กลุ่มมีผม ลีโอนาโด (โมแซมบิก) อลิซาเบท (ยูกานดา) บูโคล่า (ไนจีเรีย) หวงจิง (จีน) และวิลเลียม (แทนซาเนีย) เจ้าของข้อมูลที่เราช่วยกันวิเคราะห์แทนซาเนีย ช่วงแรกๆของการทำกลุ่มไปได้ช้ามากและดูไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่และดีขึ้นเมื่อเจอกันหลายครั้ง มิตรภาพต้องใช้เวลา กว่าจะเปิดใจเข้าหากันได้ การวิเคราะห์ของกลุ่มดูกว้างเกินไป อ่านแล้วสรุปปัญหาที่ชัดๆไม่ได้ อาจารย์บรูโน มาร์แชลช่วยไกด์ให้จึงปรับตรงทิศทางมากขึ้น ผมก็บอกกลุ่มไปแล้วแต่เขาไม่เชื่อ เราก็ต้องเอาตามกลุ่ม ผมคิดว่าบ่อยครั้งที่ผมเจอผลผลิตของกลุ่มที่ทำในชั้นเรียนต่ำกว่าที่ทำคนเดียว แต่ได้เรียนรู้น้อยกว่าการทำงานเป็นกลุ่ม

กิจกรรมกลุ่มเริ่มจากกำหนดประเทศที่เราต้องวิเคราะห์แล้วทำการวิเคราะห์สถานการณ์ (Situation analysis) ด้านกำลังคนเพื่อหาปัญหาสำคัญๆหรือปัญหาหลักๆ นำปัญหาเหล่านั้นมาวิเคราะห์ปัญหา (Problem analysis) เพื่อหาสาเหตุหลักหรือสาเหตุที่แท้จริง (Root cause analysis) เสร็จแล้วจึงนำสาเหตุหลักๆมาวิเคราะห์ทางแก้ไข (Solution analysis) ว่ามีแนวทางแก้ไขอย่างไรได้บ้าง จากการค้นคว้าอ่านเอกสารวิจัยเพิ่มเติมมาสนับสนุน เรียงลำดับความสำคัญและความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหามากำหนดเป็นกลยุทธ์ (HR strategy) ในการดำเนินการแก้ไข

วันอังคารที่ 8 เมษายน 2551 ช่วงเช้าเรียนเรื่อง Agenda setting โดยศึกษากรณีตัวอย่างจากองค์การแพทย์ไร้พรมแดน (MSF) ตอนบ่ายเรียนเรื่อง Home-based treatment malaria เสร็จแล้วไปคุยกับวาลาเรียเรื่องบรรยายKM ตอนแรกผมจะบรรยายคนเดียวทั้งทฤษฎีและการนำไปประยุกต์ใช้ แต่ผมเองก็เป็นกังวลพอสมควรในเรื่องภาษาและอีกอย่างคือถ้าผมพูดคนเดียว ผมก็ไม่ได้เรียนรู้ว่าอาจารย์วาลาเรียบรรยายการจัดการความรู้ในประเด็นไหนบ้าง

วันพุธที่ 9 เมษายน 2551 มีเวลา 4 ชั่วโมงสำหรับการบรรยายการจัดการความรู้ให้เพื่อนๆในชั้นเรียนกลุ่มการบริหารเชิงกลยุทธ์โดยอาจารย์วาลาเรียบรรยายก่อน 1 ชั่วโมง ในเรื่องแนวคิดหลักการทางทฤษฎี แล้วผมบรรยายต่อด้วยการนำKMลงสู่การปฏิบัติ 2 ชั่วโมงและมีการซักถามร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกันอีกครึ่งชั่วโมง เพื่อนๆให้ความสนใจดีมาก ก่อนบรรยายผมเครียดและเกร็งพอสมควร แต่อาจารย์วาลาเรียก็ให้กำลังใจได้ดีมาก แต่พอเริ่มบรรยายไปได้สักพักทุกอย่างก็เป็นไปได้ดีคล้ายๆกับตอนบรรยายเป็นภาษาไทย ตอนตอบคำถามแสดงความคิดเห็นพี่เกษมก็ช่วยเสริมได้ดีมาก พี่เกษมจึงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ฟังผมบรรยายKMเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่เคยฟังฉบับภาษาไทยเลย ช่วงบ่ายเป็นการทำกิจกรรมกลุ่มต่อ เพื่อนๆในOptionนโยบายสุขภาพหลายคนบอกว่าอยากให้บรรยายKMให้ฟังด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2551 ช่วงเช้าเป็นเวลาสำหรับกิจกรรมกลุ่มต่อ ช่วงบ่ายมีการแนะนำการเรียนระบบสุขภาพยูกานดา ที่ทางเบลเยียม สถาบันไอทีเอ็มร่วมกับรัฐบาลยูกานดา มหาวิทยาลัยในยูกานดา ศึกษาวิเคราะห์ระบบเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้ยูกานดา

วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2551 ไม่มีเรียน ปรับตารางเนื่องจากวิทยากรจากยูกานดาไม่สามารถเดินทางมาได้ทันเนื่องจากเครื่องบินมีปัญหา จึงปรับเรียนเที่ยงวัน มีพิธีเปิดโดยผู้อำนวยการสถาบัน ต่อด้วยบรรยายระบบสุขภาพโดยรวมขอยูกานดาโดยฟรานซิส รูนูมิ จากกระทรวงสุขภาพยูกานดา ต่อด้วยสถานการณ์และความท้าทายของสถานบริการสุขภาพภาคเอกชนที่ไม่หวังกำไร (Private-non-for-profit) โดยแซม โอรัช ต่อด้วยความท้าทายด้านการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพในยูกานดาโดยเฟรด เซงกูบา ที่ศึกษาวิจัยกำลังคน ผมคิดว่าเขาบรรยายได้ดี มีข้อมูลประกอบที่ชัดเจนดีมาก

เลิกเรียน 6 โมงเย็น รีบกลับบ้าน มาจัดห้องนอน จัดบ้านใหม่สองคนกับพี่เกษมเพื่อต้อนรับภรรยาและลูกๆกว่าจะเสร็จเกือบเที่ยงคืน การทำอะไรยุ่งๆแบบนี้ทำให้รู้สึกว่าเวลารอคอยสั้นลงไปเยอะ ทุกวันที่ 11 เมษายน เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของผมกับภรรยาเพราะเป็นวันแรกที่ผมพบภรรยาที่โรงพยาบาลงาว สำหรับปีนี้เป็นวันที่ภรรยาและลูกๆเดินทางออกจากเมืองไทยมาหาผมที่เบลเยียมพอดี

วันเสาร์ที่ 12 เมษายน 2551 ตื่นเช้ามาซักผ้า ทำความสะอาดบ้านพัก ทานข้าวแล้วนั่งรถรางไปขึ้นรถเมล์ที่สถานีรถไฟกลางแอนท์เวิป ไปสนามบินบรัสเซลส์ นั่งมองสองข้างถนนที่เต็มไปด้วยต้นไม้ที่กำลังผลิใบใหม่เขียวอ่อนเต็มต้น ท้องทุ่งที่ราบและเนินดินที่กำลังเพาะปลูกพืชผักหลากชนิด พอถึงสนามบินขึ้นไปรอที่อาคารผู้โดยสารขาเข้าชั้นสอง 4 โมง 45 นาที ภรรยาและลูกๆก็เดินออกมา เจ้าขิมและขลุ่ยวิ่งออกมาโดดกอดและหอมแก้มพ่อ ภรรยาและแคนเข็นกระเป๋าตามมา เราโอบกอดหอมแก้มกันด้วยความคิดถึงและความดีใจ ตอนนั่งรถเมล์กลับแอนท์เวิปน้องขลุ่ยคุยเสียงดังมาตลอดทาง น้องแคน น้องขิมก็ถามโน่นถามนี่ ลงรถเมล์ต่อรถรางจนถึงบ้านพักประมาณเที่ยงวัน

หลังจากพักผ่อนทานอาหารกลางวันกันแล้ว ก็พาออกไปเดินเล่นที่กรุนพาท ที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์เบลเยียม ลานที่เคยดูกว้างกลับแคบไปด้วยผู้คนที่มาชมงาน จนเราต้องเลี่ยงไปเดินห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตแทนแล้วก็นั่งรถรางกลับบ้าน ก่อนเข้าบ้านพาลูกๆไปเล่นสนามเด็กเล่นกันก่อน ทั้งสามคนเล่นกันอย่างสนุกสนานเหมือนไม่เหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางอันยาวนานเกือบสองวันจากตากถึงแอนท์เวิป ผมกับภรรยานั่งดูลูกเล่นอย่างมีความสุขคล้ายๆกับตอนที่เราพาเขาไปเล่นสนามเด็กเล่นที่เมืองตากบ่อยๆในวันหยุดสุดสัปดาห์

จึงเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ไทยด้วยกันอย่างพร้อมหน้าหลังจากที่เป็นแม่สายบัวรอเก้อกันมาหลายเดือน ชีวิตอิสระแบบหนุ่มน้อยหายไปกลับมาเป็นครอบครัวสุขสันต์เหมือนเดิม บ้านพักที่เคยดูกว้างแคบไปถนัดตา มาพร้อมกับความอบอุ่น ในที่สุดผมก็จัดการความรักให้มาอยู่ใกล้ๆได้สำเร็จ

การจัดการความรักไม่ใช่สำคัญเฉพาะในครอบครัวเท่านั้น ในการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) นั้นก็อาศัยการจัดการความรักไม่น้อยเลย ความรักสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของคนในกลุ่ม ในโครงการหรือในองค์การและรวมไปถึงในชุมชน สังคม การจัดการความรู้ที่เป็นเครื่องมือหนึ่งทางการบริหารกลับเป็นสิ่งที่มีพลานุภาพอย่างมากในการพัฒนางาน พัฒนาคนและพัฒนาวิธีการทำงานที่ดีขึ้นนำองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning organization: LO) หรือองค์การฐานความรู้ (Knowledge based organization) ที่สามารถอยู่รอดและรุ่งเรืองได้ในสังคมฐานความรู้ (Knowledge society) ที่ถือความรู้คืออำนาจ (Knowledge is power)

เปลี่ยนจากที่ดินแรงงานในยุคเกษตรกรรมและเงินทุนเครื่องจักรในยุคอุตสาหกรรมมาสู่ข่าวสารในยุคสังคมข่าวสาร แล้วก็เปลี่ยนไปสู่ความรู้ในเวลาอันรวดเร็วและกำลังก้าวไปสู่สังคมอุดมปัญญา (Wisdom society) ที่มองว่าความรู้ที่เอาดีเข้าตัว เอาประโยชน์แก่พวกพ้องตัวเองนั้นไม่ยั่งยืน ต้องเอาความรู้นั้นมาทำให้คนอื่นๆรู้ให้หลายๆคน กระจายความรู้เพื่อสังคม เพื่อมวลชน สลัดพ้นจากความเห็นแก่ตัวนั่นคือสังคมยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นโดยที่ความรู้ไม่ใช่อำนาจอีกต่อไปแต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้คืออำนาจ (Knowledge sharing is power) ยิ่งกว่า แบ่งปันกันให้มาก แลกเปลี่ยนกันให้เยอะ กระจายความรู้ไปให้กว้างๆ สร้างและยกระดับความรู้หรือหมุนเกลียวความรู้ (Spiral knowledge) ขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง

มีการถกเถียงกันมากมายว่าการจัดการความรู้กับองค์การแห่งการเรียนรู้ อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง อะไรสำคัญกว่ากัน แต่จากประสบการณ์ผมเห็นด้วยกับสโนเดนที่บอกว่า การจัดการความรู้เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันขององค์การแห่งการเรียนรู้ (Knowledge management is a connective tissue of a Learning organization) คือมันอยู่ด้วยกัน มันเป็นเรื่องเดียวกัน เหมือนที่นา (LO) กับต้นข้าว (KM) ที่นาสมบูรณ์ ข้าวพันธุ์ไม่ดีหรือที่นาแห้งแล้ง ข้าวพันธุ์ดี ต่างก็ไม่ได้ผลผลิตที่ดี ต้องที่นาสมบูรณ์ ข้าวพันธุ์ดี จึงจะได้เมล็ดข้าวจำนวนมาก ทำนาไม่ได้หวังจำนวนต้นข้าว แต่หวังเมล็ดข้าว เช่นเดียวกันทำKMไม่ได้หวังจำนวนครั้งหรือจำนวนกลุ่มที่ทำKM แต่หวังไปถึงผลลัพธ์สำคัญคืองานดีขึ้น คนดีขึ้นและวิธีการทำงานดีขึ้น

KMและLOเน้นความสำคัญคือคน มองคนเป็นสินทรัพย์ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย (Human as assets) เป็นทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual capital) ที่มีทั้งความสามารถ (Competency) และความมุ่งมั่น (Commitment) เป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากแต่มีพลังมาก

การจัดการความรู้และองค์การแห่งการเรียนรู้ เป็นเรื่องของคน จึงมองข้ามเรื่องใจคนไม่ได้ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะได้ใจต้องให้ใจ ส่วนสำคัญคือเชื่อใจและศรัทธา (Trust) ซึ่งกันและกัน ต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Human relationship management) นั่นคือการจัดการความรัก แต่พอจัดการความรู้ไปด้วยกันเรื่อยๆ ความรักความผูกพัน ความเชื่อใจกันก็มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้คนทำงานมีใจดวงเดียวกัน ผลักดันองค์การให้ก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างไม่หยุดยั้งได้

การจัดการความรู้ มีหลายแนวหลายระดับ มีหลายแนวทาง บางแห่งเน้นการเข้ารหัส (Codification) ที่แปลงความรู้เป็นเอกสาร สื่อ ขุมทรัพย์ที่จับต้องได้ เน้นความรู้ในวัตถุ (Explicit knowledge) แต่ผมเน้นการเข้าคน (Personalization) ที่เน้นการแลกเปลี่ยน ดึงความรู้ในตัวคนออกมาใช้งาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสองแนวนี้ต้องไปด้วยกันจึงจะครบรอบตามแนวคิดของโนนากะและทาเคอุชิหรือSECI Model แต่ควรเน้นเข้าคนมากๆหน่อยสัก 80 % เพราะความรู้ในตัวคน (ทักษะ ประสบการณ์ คอมมอนเซนส์และพรสวรรค์) เป็นความรู้เกือบ 80 % ที่ใช้ในการทำงานจริงๆ

ผมได้เขียนเอกสารวิจัยเรื่องการจัดการความรู้แบบบูรณาการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการกระทรวงสาธารณสุขในรูปแบบวิจัยปฏิบัติการ นำเสนอตัวแบบไข่แอลคาซ่า (LKASA Egg Model) จากประสบการณ์ที่ทำในโรงพยาบาลบ้านตาก ที่เรียกว่าไข่เพราะมีส่วนประกอบที่สำคัญๆอยู่ ทุกส่วนต่างก็เป็นไข่ทั้งนั้น แต่ถ้าแยกกันอยู่ก็ไม่สามารถฟักเป็นตัวเติบโตได้ ต้องรวมกันอยู่อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน นั่นคือบูรณาการกัน ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 5 ขั้นตอน ที่ไม่ใช่ขั้นบันได จะทำขั้นไหนก่อนหลังขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละแห่ง บูรณาการไม่ใช่การทำทุกอย่างให้ครบ แต่ทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องหรือเนื้อเดียวกัน ประสาน สอดคล้อง เชื่อมโยงกัน ถ้าทำเยอะแต่ทำใคร ทำมัน ต่างคนต่างทำจะเป็นบูรณากอง ไม่ใช่บูรณาการ งานจะหนักเยอะแยะเต็มองค์กรไปหมด เป็นภาระต่อเจ้าหน้าที่ ขั้นตอนทั้ง 5 ประกอบด้วย

การจัดการให้เกิดการเรียนรู้ (Learning management) เป็นบทบาทสำคัญของผู้บริหารสูงสุดและผู้บริหารจัดการความรู้ เรียกง่ายๆว่าคุณอำนวย (CKO) ต้องทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน เป้าหมายและทุกส่วนขององค์กรเชื่อมโยงส่งผลกันอย่างไร ทำทุกอย่างให้ง่ายๆ ไม่ยึดติดกรอบ ติดรูปแบบ ปรับตามสภาพขององค์กรเราเองและปรับสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้คนมีวินัย 5 ประการองค์การของแห่งการเรียนรู้ ลดความไร้ความสามารถในการเรียนรู้ขององค์กรและเขย่าองค์กรไม่ให้คนยึดติดกับสถานะเดิมๆ

การจัดการให้เกิดองค์ความรู้ (Knowledge organizing) เป็นการวิเคราะห์แยกแยะองค์ความรู้ที่องค์กรต้องมี (Knowledge Identification) และตรวจสอบว่าเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญต่อองค์กร (Knowledge audit) การแสวงหาความรู้ที่จำเป็นนั้นมาไว้ในองค์กร (Knowledge acquisition) อาจคว้าจากภายนอกหรือควักจากภายในแล้วเอามาประกอบกันเป็นองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานในองค์กร (Knowledge combination) โดยมีกลุ่มคนที่คอยช่วยจัดทำคือวิศวกรความรู้หรือคุณประกอบ (Knowledge engineer)

การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้ (Knowledge Acting) เมื่อช่วยกันคิด คว้า สร้างเป็นองค์ความรู้แล้วก็ต้องเอาไปทดลองใช้ ร่วมกันเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ว่าดีไม่ดีอย่างไร จะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ปฏิบัติทุกคนในองค์กรหรือคุณกิจ (Knowledge practitioner) เรียนรู้ทั้งจากความสำเร็จ ความล้มเหลวและหลังจากการทำงานแต่ละครั้ง ในลักษณะทำงานประจำให้ดี มีอะไรให้คุยกัน ขยันทบทวน (ของอาจารย์หมออนุวัฒน์) จนกลายเป็น Knowledge worker ได้

การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) เป็นหัวใจสำคัญของKM ที่ต้องมีแม่สื่อแม่ชักหรือคุณอำนวย (Knowledge facilitator) ที่มีบทบาทสำคัญคือLearn, Care, Share, Shine โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมทั้งเวทีจริง (F2F) และเวทีเสมือน (B2B) ใช้เครื่องมือหลากหลายเช่นเรื่องเล่าเร้าพลัง สุนทรียทัศนา สุนทรียสนทนา เพื่อนช่วยเพื่อน เป็นต้นเป็นเวทีที่ใช้เล่าเรื่องเก่าจากประสบการณ์ ไม่ใช่เล่าเรื่องอนาคตที่ฉันคิด ฉันอยากให้เป็น เป็นเวทีเชิงบวกที่เข้าใจเห็นใจไว้ใจเชื่อใจกัน

การจัดการให้เกิดคลังความรู้ (Knowledge Asset) โดยรวบรวมขุมความรู้ไว้เป็นศูนย์กลางหรือธนาคารความรู้ มีคนคอยดูแลให้เข้าถึงง่าย ใช้สะดวก ทบทวนปรับปรุงสม่ำเสมอคือคุณเก็บหรือบรรณารักษ์ความรู้ (Knowledge librarian) จัดประเภทให้ง่ายเป็นวิธีทำงาน (Best practice) นวัตกรรม (Innovation) และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ (Network expertise)

นี่คือภาพรวมเนื้อหาที่ผมใช้บรรยายในเมืองไทยและเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผมมีความเห็นว่าการพูดตัวอย่างในการประยุกต์ใช้ร่วมไปกับทฤษฎีแล้ว ช่วยสร้างความเข้าใจและทำให้ผู้ฟังเห็นภาพการนำไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายกว่าการแยกพูดทฤษฎีกับกรณีตัวอย่างและถ้าจะให้เข้าใจได้มากต้องมีเวลามากพอสมควร 1-2 ชั่วโมงจะยากและอาจได้เฉพาะบางส่วน บางเรื่องของKM เช่นเน้นเฉพาะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น ซึ่งพอกลับไปหน่วยงานก็อาจงงๆว่าจะเอาไปใช้ตรงไหน ตอนไหนเมื่อไหร่ ถ้าได้ฟัง ได้เห็นตัวอย่าง มองภาพรวมของKMออก แล้วมีการฝึกปฏิบัติด้วยก็นำไปสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น คาลิล ยิบราล ได้กล่าวไว้ในหนังสือThe Prophet ว่า ความรู้เพียงน้อยนิดที่ใช้งานได้จริงมีคุณค่ามากกว่าความรู้จำนวนมากที่ไม่ได้นำมาใช้ “A little knowledge that acts is worth more than much knowledge that is idle”

พิเชฐ  บัญญัติ (Phichet Banyati)

Verbond straat 52, 2000 Antwerp, Belgium

13 เมษายน 2551, 20.47 น. ( 01.47 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 176833เขียนเมื่อ 14 เมษายน 2008 02:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะคุณหมอ

  • ตามมาทบทวนความรู้เรื่องการจัดการความรู้ค่ะ
  • เรียนเชิญอาจารย์ติดตามงาน KM ที่หอสมุด มช. บ้างนะคะ ว่า ถูกทางหรือผิดทาง...รอดไหม หรือกลายพันธุ์ไปแล้วที่นี่ค่ะ
  • สวัสดีวันปี๋ใหม่บ้าเฮานะคะ

พี่ตามมาอ่านจากบล็อกอาจารย์วิจารณ์ค่ะ ได้ความรู้มากค่ะ ในช่วงที่นำไปใช้จริงๆจะมีปัจจัยอีกหลายอย่าง คุณหมอเพิ่มเรื่อง Critical Success Factor ให้เรียนรู้บ้างก็ดีนะคะ

สวัสดีครับน้องจิ

ขอบคุณที่มาทักทายกันอย่างสมำเสมอ อีกไม่ถึงสองเดือนก็จะกลายเป็นนิสิตแล้วนะครับ น้าหมอเข้ามาตอบช้าหน่อย เพิ่งสอบเสร็จเมื่อวันศุกร์นี้ครับ

สวัสดีครับพี่ดาวลูกไก่

ตามเข้าไปเยี่ยมชมแล้วครับ ก้าวหน้าไปมากเลย ร่วมยินดีด้วยและชื่นชมทีมคุณอำนวยของสำนักหอสมุดมอชอด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์หมออัจฉรา

ขอบคุณที่แวะมาทักทายให้ความคิดเห็นครับ ผมเองไม่ได้เข้าไปอ่านบล็อกอาจารย์หมอวิจารณ์เกือบสองสัปดาห์แล้ว เลยไม่ทราบว่าอาจารย์เขียนถึง

มีพี่พยาบาลท่านหนึ่งของบำราศชื่อสมถวิล ทำวิทยานิพนธ์เรื่องการจัดการความรู้ในตึกเด็ก เขียนได้ดีมากเลยครับ ทำให้ทราบถึงความก้าวหน้าของKMที่อยู่ในบำราศได้ดี พอดีผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่ด้วยเลยได้ทราบ น่าชื่นชมมากเลยครับ เป็นKMเพื่อพัฒนางานประจำ เป็นR2Rด้วยครับ

เรียนท่านผู้อ่านทุกท่านครับ

บทความนี้ผมตรวจพบข้อผิดพลาดเล็กน้อยในขั้นตอนที่ 1 ของโมเดลไข่คือการจัดการให้เกิดการเรียนรู้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือผู้บริหารจัดการความรู้ ไม่ใช่คุณอำนวยครับ ผมเขียนผิดไป ต้องขอประทานอภัยมา ณ ที่นี้ครับ

สำหรับผู้บริหารจัดการความรู้ ถ้าจะเรียกสั้นๆให้เข้ากับคุณอำนวย คุณกิจ คุณเก็บ คุณ (ประ)กอบ แล้วน่าจะเรียกคุณเกื้อ (หนุน)ครับ

ถ้าจะให้จำง่ายๆ ในส่วนของผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการความรู้หรือกรรมการจัดการความรู้ เป็น 5 ก กรรมการการจัดการความรู้ คือ

ก1 คุณเกื้อหนุน หรืออาจารย์วิจารณ์เรียกว่า คุณเอื้อ หรือผู้บริหารจัดการความรู้

ก2 คุณกระตุ้น หรืออาจารย์วิจารณ์เรียกว่า คุณอำนวย หรือFacilitator

ก3 คุณประกอบ หรือวิศวกรความรู้

ก4 คุณกิจ หรือ ผู้ปฏิบัติจัดการความรู้

ก5 คุณเก็บ หรือบรรณารักษ์ความรู้

นอกจากใส่ใจกับ 5 ก กรรมการแล้ว ต้องใส่ใจอีก 4 ก ในการจัดการความรู้ ว่าทำเพราะอะไร

ก1 กระแส ทำตามแฟชั่น

ก2 กระสุน ทำตามงบประมาณที่เขาจัดมาให้ทำ

ก3 กระเสือกกระสน ทำตามนโยบายบังคับ ตามที่เขาสั่งมา ดิ้นรนกระเสือกกระสนทำไป

ก4 กระสัน ทำด้วยใจรักจริง มองเห็นคุณค่าของการจัดการความรู้ ทำเพื่อประโยชน์และเป้าหมายที่แท้จริงของการจัดการความรู้

ก ที่ 4 นี่แหละครับ ได้ผลดีที่สุด มีความสุขที่สุดในการทำ ทำให้บรรลุผลดี 3 ประการได้คือ งานดีขึ้น คนดีขึ้น และวิธีการทำงานดีขึ้น ไม่ใช่แค่ดีขึ้นอย่างเดียวนะครับ ดีขึ้นเรื่อยๆด้วยครับ

วิชชุเวช เอียดเต็ม

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ดิฉันชอบแนวคิดของคุณหมอมากๆเลย ถ้ามีผู้บริหารแบบนี้ลูกน้อง Happyน่าดู น่าอิจฉาจังเลย ขอเป็นลูกศิษย์ด้วยคนนะค่ะ ขอให้เห็นแก่พยาบาลแก่ๆรุ่นเดอะด้วยเถอะ ดิฉันเคยได้ยินกิตติศัพท์ความสามารถในการบริหารจัดการของคุณหมอ จากคุณหมอท่านหนึ่งที่เคยร่วมเป็นคณะทำงานด้วยกัน จึงได้ searchหา และเมื่อได้อ่านก็เชื่อเลยค่ะว่าคุณหมอเก่งจริงๆ สามารถจริงๆ และที่นอกเหนือจากความเก่งและสามารถแล้ว คุณหมอยังเปี่ยมด้วยคุณธรรม ซึ่งหาไม่ได้ในสังคมทุกวันนี้ โดยเฉพาะชนชั้นอาชีพแพทย์ ซึ่งหาได้ยากจริงๆ ที่จะมารับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และเข้าใจคนอื่นด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์(ดิฉันได้รับประสบการณ์มาอย่างนี้จริงๆจากที่ทำงาน)จนมาเจอคุณหมอจรัส และคุณหมอพิเชฐ นี่แหละที่เป็นคุณหมอจริงๆที่พึ่งของคนไข้ และเป็นผู้อำนวยการที่พึ่งพิงของผู้ร่วมงาน และผู้ร่วมสถาบัน

สวัสดีครับ

ขอบคุณสำหรับคำชมและยินดีอย่างยิ่งสำหรับมิตรภาพครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ...จิ๊บเองค่ะที่เป็นคนไข้ของคุณหมอมา 2 ปีจะ 3 แล้ว

ดีใจ,kdค่ะที่ได้คุณหมอคอยดูแลรักษาให้...เหมือนได้เกิดใหม่เลย

ขอเอาใจช่วยคุณหมอนะค่ะ..เห็นคุณหมอทำงานหนักสู้ๆๆ เข้านะค่ะ

จิ๊บมีอะไรที่ไม่ได้ปรึกษาคุณหมอตอนเวลาตรวจ...จิ๊บขออนุญาติคุยกับคุณหมอทางนี้นะค่ะ...

รักและเคารพค่ะ....จิ๊บ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท