การเลือกกรณี (Case selection) สำหรับการใส่ฟันเทียมทั้งปาก


หลักการที่สำคัญของการใส่ฟันเทียม อยู่ที่ผู้ใส่ฟันเทียมนั้น ต้องมีการปรับตัวเพื่อการใส่ฟันเทียม และการใช้งานฟันเทียมต่อไปด้วย

 

แต่ก่อนเราเรียกฟันที่ใส่แทนฟันแท้ กันจนติดปาก ว่า ฟันปลอม แต่ตอนนี้มีการมาคุยกันใหม่ ว่า คำว่าฟันปลอมนั้น ความหมายดูท่าจะไม่เหมาะสม เพราะมีความหมายค่อนไปในทางที่บอกว่า เป็นของปลอม ไม่ใช่ของจริง แต่ฟันที่ใส่ทดแทนนั้น ก็เป็นของจริงแต่ไม่ใช่ของปลอม และอวัยวะเทียมอื่นๆ ในทางการแพทย์ เขาก็เรียกว่า ขาเทียม แขนเทียม ทางฟันเราก็เลยขอเปลี่ยนฟันที่จะมาใส่ทดแทนฟันจริงกันใหม่ ว่า เป็นฟันเทียมค่ะ เพราะฉะนั้น ฟันที่มาใส่ทดแทนฟันจริงในที่นี้ว่า ฟันเทียมนะคะ

รศ.ทพ.ดร.ปิยะวัฒน์ พันธุ์โกศล คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวันนี้ ได้อ่านเรื่อง การเลือกกรณี (Case selection) สำหรับการใส่ฟันเทียมทั้งปาก ของ อาจารย์ปิยวัฒน์ พันธุ์โกศล ที่เขียนไว้ในวารสารทันตแพทย์ ของทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย พูดถึงเรื่องการเลือกผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อใส่ฟันเทียมทั้งปาก ก็คิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องจริงๆ เพราะว่าอย่างไรทราบไหมคะ

ตอนนี้หลายท่านอาจเคยได้ยิน ได้ฟัง และอาจจะได้สัมผัส ในเรื่องของโครงการฟันเทียมพระราชทาน ว่า ทันตแพทย์ทั่วประเทศภายใต้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กลาโหม กทม. ตลอดจนเอกชน และอื่นๆ ระดมกำลังกันใส่ฟันเทียมให้ผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันไปมากแล้ว แต่เรื่องหนึ่งที่ผู้ใกล้ชิดไม่ค่อยคิดถึงผู้สูงอายุก็คือ พยายามยัดเยียดให้ได้ใส่ฟันเทียม โดยที่ผู้สูงอายุยังไม่พร้อม ทั้งเรื่องของ สภาพช่องปากที่ยังคงมีฟันผุ เหงือกอักเสบ รอยโรคในช่องปาก ฟันซ้อน ฟันเก ฟันโยก และอื่นๆ ยังมีอยู่มาก สิ่งเหล่านี้จะทำให้การใส่ฟันเทียมไม่สบาย และมีปัญหาเจ็บหลังการใส่ฟันเทียม ฟันเทียมใส่ไปแล้วเคี้ยวไม่ได้ จึงทำให้ผู้สูงอายุบางท่าน ไม่ต้องการใส่ฟันเทียม แต่ถูกลูกหลานบังคับ และบางท่านก็ไม่อยากปรับตัวเมื่อใส่ฟันเทียม

ข้อคิดนี้ อาจช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น และอาจช่วยกันชี้แจงให้ครอบครัวเข้าใจถึงจิตใจของผู้สูงอายุ เมื่อจะมาใส่ฟันเทียมด้วยกันนะคะ

อาจารย์ปิยวัฒน์ได้เล่าให้ฟังว่า

พื้นฐานที่ควรต้องคำนึงก่อนให้การรักษาแก่ผู้สูงอายุ ควรนึกถึง

  1. พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา (Psychological basis) ... คือ การมีความเข้าใจตรงกันระหว่างทันตแพทย์ และผู้สูงอายุ เช่น ภาวะประสบการณ์รอบข้าง อาชีพการงาน การสูญเสียคนใกล้ตัว หรือภาวะเกษียณอายุ จะมีผลต่อการยอมรับฟันเทียม ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมั่นใจในการใช้งานฟันเทียม และอาจรวมถึงบุคลิกลักษณะ 4 แบบ ด้วย คือ Philosophical, Exacting, Hysterical และ Indifferent
  2. พื้นฐานทางด้านการแพทย์ (Medical basis) ... บางคนต้องมีการเตรียมช่องปากเสียก่อน เช่น กรณีมีปุ่มกระดูกในปาก ถ้าใส่ฟันเทียมทับอาจทำให้เจ็บ การมีรากฟันคงอยู่ในเหงือก การมีฟันโยกคลอน และอื่นๆ ทำให้ต้องมีการถอนฟัน หรือศัลยกรรม หรือการรักษาอื่นๆ ก่อนที่จะใส่ฟันให้ผู้สูงอายุ
  3. พื้นฐานทางด้านกายภาพ (Physical basis) ... เป็นสภาพของช่องปากที่ทำให้ฟันเทียมใส่ติดแน่นอยู่ได้ในช่องปาก เช่น สันเหงือก พบว่า สันเหงือกอาจมีการละลายตัวมาก สองถึงสามเเดือนภายหลังการถอนฟัน จากนั้นจะค่อยๆ ช้าลง ทำให้การถอนฟันและใส่ฟันทันที อาจทำให้ฟันเทียมหลวมได้ในเวลาต่อมา, กรณีเยื่อบุผิวเหงือก เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ผิวเคอราตินจะบางลง ทำให้ผลในการรับแรงจากการบดเคี้ยวลดลงตามไปด้วย, แก้ม ที่ว่างระหว่างลิ้น ซึ่งเป็นทางเคลื่อนของอาหารที่เรากินเข้าไป การทำฟันเทียมใส่ก็ต้องติดแน่นพอดี ไม่ใหญ่คับปาก. เพดานแข็ง และเพดานอ่อน หรือส่วนเนื้อเยื่อที่มีความเคลื่อนไหวได้ ฟันเทียมก็ต้องไม่ไปกดทับ เพราะจะทำให้เกิดแรงดันทำให้ฟันเทียมหลุดได้ และก็อาจจะมีประเด็นอื่นๆ อีกนะคะ
  4. พื้นฐานทางด้านสรีรวิทยา (Physiological basis) ... เช่น ภาวะผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดการฝ่อของสันเหงือก ปากแห้ง, ภาวะทุโภชนาการ ทำให้ระบบการย่อยอาหารไม่ดี ภาวะข้ออักเสบก็มีผลทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้, การประสานงานของระบบกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการบดเคี้ยว และกล้ามเนื้อลิ้น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท มีผลทำให้ผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียม จะมีแรงในการบดเคี้ยวลดลง และการควบคุมการบดเคี้ยวอาจจะยากขึ้น

เหล่านี้ก็เป็นผลทำให้ผู้สูงอายุที่ต้องใส่ฟันเทียม ต้องมีความต้องการจริงๆ ที่จะใส่ด้วย เพราะแค่เพียงได้ใส่ฟันเทียมแล้ว อาจจะยังใช้งานไม่ได้ เพราะหลักการที่สำคัญของการใส่ฟันเทียม อยู่ที่ผู้ใส่ฟันเทียมนั้น ต้องมีการปรับตัวเพื่อการใส่ฟันเทียม และการใช้งานฟันเทียมต่อไปด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 17612เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2006 09:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
กฤษดา ปัญจนุวัฒน์

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ  ประสพการณ์ที่ผมทำฟันเทียมทั้งปากให้กับผู้สูงอายุ  ทำให้รู้ว่า  การปรับตัวของผุ้ป่วยด้วยความอดทนของผู้สูงอายุเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ฟันปลอมในการบดเคี้ยวอาหารได้  ทั้งนี้ก็ขึ้นกับทันตแพทย์ผู้ให้บริการด้วยว่าจำเป็นต้องเข้าใจความรู้สึกของผู้ป่วย  สภาพจิตใจ  ด้วยการให้กำลังใจในช่วงที่ผู้ป่วยเพิ่งจะใส่ฟันไปใหม่ๆ  หากผู้ป่วยใส่แล้วเจ็บ  โดยมากมักจะเป็นที่สันเหงือกด้านล่างซะมากกว่าด้านบน  เพราะสันกระดูกเรียงเล็ก  ต้องรับนำหนักมาก  ทันตแพทย์เองคงต้องให้กำลังใจด้วยการแนะนำการปรับการเคี้ยวจากอาหารที่อ่อนนุ่มแล้วค่อยๆ  ปรับไปเคี้ยวอาหารที่แข็งขึ้น  หรือพวกอาหารที่เคยทานเมื่อสมัยที่ยังมีฟันแท้  คงจะใช้เวลาสักหนึ่งหรือสองอาทิตย์หลังใส่ฟันไปแล้ว

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท